วีรพัฒน์ ปริยวงศ์: ผ่าทางตันโหวตวาระ3

ข่าวสด 24 กรกฎาคม 2555 >>>


...ยึดหลักกฎหมายอยู่เหนือการเมือง แต่จะต้องให้กฎหมาย นำไปสู่สภาวะทางการเมืองที่น่าปรารถนา...
คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับ 'ศุกร์ 13' ยังสร้างความมึนงงให้กับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย
โดยเฉพาะปัญหาการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จะเดินหน้าก็เสี่ยง จะถอยหลังก็ไม่ได้ ขณะที่ภายในพรรคเองก็มีทั้งเสียงเชียร์ให้โหวตต่อ และเปลี่ยนมาแก้รายมาตราแทน
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ ซึ่งเคยชำแหละศาลรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมา เสนอทางออกจาก 'กับดัก' ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
นายวีรพัฒน์จบนิติศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 1 เรียนต่อที่ ม.ฮาร์วาร์ด ได้รับรางวัลฟูลไบรต์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

แนวทางที่รัฐบาลรอฟังกฤษฎีกาก่อน

แม้กฎหมายจะกำหนดชัดเจนว่าคำวินิจฉัยมีผลตั้งแต่วันที่อ่าน แต่ควรรอเอกสารให้ชัดเจนก่อน การยึดเพียงโฆษกศาลรัฐธรรม นูญแถลงหรืออ่านจากเอกสารข่าวคงไม่ได้ แต่ศาลเองก็ควรจัดทำและเผยแพร่คำวินิจฉัยทันที คำวินิจฉัยต้องทำเสร็จแล้วจึงนำมาอ่าน ไม่ใช่อ่านฉบับย่อแล้วค่อยไปแก้ไขปรับปรุงและลงมติ
ที่ตลกมากคือคำวินิจฉัยส่วนตน กฎหมายเขียนชัดว่าต้องทำให้เสร็จเป็นลายลักษณ์อักษรและแถลงต่อที่ประชุมตอนเช้าก่อนอ่านคำวินิจฉัย จึงเป็นไม่ได้ว่าขอเวลาอีก 60 วันไปทำคำวินิจฉัยส่วนตน รัฐบาลจึงไม่ผิดเพราะต้องรอคำวินิจฉัยศาลที่มาช้า

ประเด็นที่ศาลเปิดช่องให้ร้องหากมีการกระทำขัด ม.68 อีก

วุ่นวายมากเพราะศาลตีความมาตรา 68 ไว้กว้างมาก แม้ครั้งนี้บอกว่าไม่ได้ล้มล้างการปกครองฯ แต่อนาคตจะมาร้องในประเด็นนี้อยู่ดี เรื่องนี้จะเป็นปัญหาทางการเมือง
ศาลตีความนอกกฎหมายไปแล้ว เป็นการตีความแบบที่พ้นปริมณฑลของกฎหมายตั้งแต่วันที่ศาลวินิจฉัยรับคำร้องนี้ไว้ ปัญหานี้แก้โดยกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้ความแยบยลทางการเมืองด้วย

คำวินิจฉัยครั้งนี้สังคมมองว่ากำกวม

ความกำกวมย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือที่จะลดน้อยลง จากองค์กรตุลาการที่มีอำนาจชี้ขาดทางกฎหมาย ทุกคนต้องฟัง มาเป็นองค์กรกึ่งที่ปรึกษาคือ พอบอกไปแล้วคนจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ กลายเป็นที่ปรึกษาของรัฐสภาไป ทั้งที่ให้ประธานรัฐสภามานั่งชี้แจงต่อศาลแล้ว หากอนาคตศาลมีคำวินิจฉัยออกมาก็จะมีการตีความอีกว่าเป็นคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำ

พรรคเพื่อไทยแตกเป็น 2 แนวทาง คือโหวตต่อวาระ 3 และแก้รายมาตรา

การเดินหน้าโหวตต่อวาระ 3 ไม่ผิดกฎหมายเพราะมาตรา 291 บอกว่าให้ทำ 3 วาระ และศาลรัฐธรรมนูญก็บอกแค่ควรทำประชามติ แต่เป็นการทำถูกกฎหมายที่ไม่ค่อยฉลาด ใช้กฎหมายแบบแข็งทื่อ สร้างความวุ่นวายตามมา คือจะมีคนบอกว่าขัดอำนาจศาลหรือไม่ จะมีคนตีความว่าคำวินิจฉัยมีผลผูกพันต่อรัฐสภา ครม. ก็วุ่นวายอีก
ส่วนการแก้รายมาตราก็มีปัญหา ครั้งนี้เป็นการแก้ทั้งฉบับ แก้โครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ให้ประเทศออกจากอำนาจ คมช. ซึ่งต้องแก้หลายจุด เกิดปัญหาหลายจุด
คนแก้คือรัฐสภาจะเน้นแก้แต่ประโยชน์ตัวเอง เช่น ปรับเขตเลือกตั้ง อำนาจ ส.ส. และ ส.ว. ฯลฯ แต่เรื่องที่เป็นของประชาชน สิทธิชุมชน เสรีภาพของสื่อ หรือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะไม่ถูกแก้
อีกทั้งต้องใช้เวลามาก รัฐสภามีเรื่องอื่นต้องทำมากมาย ทำไมไม่ให้คนที่ประชาชนเลือกมาทำหน้าที่นี้

ทางออกของปัญหานี้

ผมมองว่าเราจะทำอย่างไรที่จะยึดหลักกฎหมายอยู่เหนือการเมือง แต่จะต้องให้กฎหมายนำไปสู่สภาวะทางการเมืองที่น่าปรารถนา
เรื่องประชามติถามประชาชนก่อน ฟังดูดี แต่กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ อาจทำผิดกฎหมายได้ ดังนั้น ประเด็นประชามติที่ศาลแนะนำว่าควรทำ ต้องใช้อำนาจของสภาที่มีอยู่แล้ว คือการให้ ส.ส. ส.ว. ลงพื้นที่
ส่วน ส.ว.สรรหา ไปฟังความเห็นจากสาขาวิชาชีพที่ตัวเองได้รับการสรรหา เพื่อถามว่าเห็นชอบให้เดินหน้าต่อในวาระ 3 เปิดให้มี ส.ส.ร. ได้หรือไม่ ได้ความอย่างไรก็มาอภิปรายกัน ถ้าสภาฟังแล้วว่าประชาชนไม่เห็นด้วยจริงๆ อาจเปลี่ยนใจไม่เดินหน้าต่อ คือเดินหน้าต่อในวาระ 3 แต่ทำให้มตินั้นตกไป
แต่ถ้าประชาชนบอกว่าอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยากจะพ้นๆ คมช.ไปเสียทีก็ลงมติในวาระ 3 ไปเลย จะได้ประโยชน์ทุกฝ่าย คือ
1. รัฐสภาทำตามกฎหมายว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำ 3 วาระ
2. ความกดดันทางการเมืองลดลง ฟังศาลแต่ทำในรูปแบบที่ไม่ขัดกฎหมาย และ
3. ประชาชนได้ประโยชน์จากการลงพื้นที่ของ ส.ส. ส.ว. ได้บอกว่าอยากให้แก้เรื่องไหน
แต่อาจเกิดข้อโต้แย้งว่า ส.ส. เป็นพวกเสียงข้างมากในสภา เสียงส่วนใหญ่ก็ต้องให้แก้อยู่ดี ก็ต้องบอกว่าระบบตัวแทนในสภาต้องไว้วางใจและให้เกียรติเพราะมาจากประชาชน
หากทำอะไรที่ประชาชนไม่ต้องการจะถูกลงโทษจากประชาชน คือไม่เลือกเข้ามาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

มีวิธีการอื่นอีกหรือไม่

ถ้าตรงนั้นยังไม่ชัดเจนก็ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น เช่น รัฐสภาประกาศว่าหลังลงมติวาระ 3 แล้ว วันที่ประชาชนไปเลือกตั้ง ส.ส.ร. หากไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ให้กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน
ถ้าคะแนนไม่ประสงค์ลงคะแนนมาเป็นเป็นอันดับหนึ่ง รัฐสภาก็จะให้คำมั่นว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอีกรอบเพื่อยกเลิกการมี ส.ส.ร.
แต่หากการลงคะแนนไม่เป็นอันดับหนึ่ง ต้องให้เกียรติประชาชนคนอื่นที่ต้องการแก้ด้วย แม้ว่าการไม่ลงคะแนนจะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่จะมีผลทางการเมืองหากรัฐสภาประกาศให้คำมั่นออกมา หรือหากการไม่ลงคะแนนยังไม่ชัดเจนอีก ก็ให้คนที่ไม่ต้องการแก้มาลงสมัคร ส.ส.ร. ประกาศจุดยืนเลยว่าต้องการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ถ้าคนเหล่านี้ได้รับเลือกไปแล้วมีเสียงเสียงข้างมาก ก็สามารถประกาศลาออกจาก ส.ส.ร. ร่วมกัน และหาก ส.ส.ร. มีจำนวนไม่ครบกึ่งหนึ่ง จะส่งผลให้ ส.ส.ร. ชุดนั้นสิ้นไปตามมาตรา 291 ที่ได้รับการแก้ไข
ฉะนั้นยังมีขั้นตอนที่ประชาชนออกความเห็นได้โดยไม่ต้องลงประชามติ ซึ่งมีปัญหาไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะอำนาจการทำประชามติเป็นของ ครม. จะให้ ครม. ไปทำแทนสภาได้อย่างไร หรือการตรากฎหมายใหม่แต่ก็จะมีปัญหาอีกว่า การตรากฎหมายที่เล็กกว่ามาแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร มันทำไม่ได้ในหลักทฤษฎี และยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจเข้ามาด้วย
คือจะต้องใช้เงินทำประชามติครั้งละ 2,500 ล้านบาท ถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ เอาเงินไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ อีกทั้งคุณภาพของประชามติถามว่า การทำประชามติวันนี้ให้ประชาชนเลือกอะไร วันนี้ไม่มีตัวเลือกให้ประชาชน จากเหตุผลทั้งหมดจึงไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐสภาจะต้องทำประชามติ
พรรคเพื่อไทยต้องพิจารณาดีๆ อย่าให้เหมือนตอนชะลอการลงมติวาระ 3 สรุปแล้ววาระ 3 ต้องเดินต่อ แต่ต้องเดินแบบมีหลักการ

รัฐบาลเสียงข้างมากแต่ขยับอะไรไม่ได้

เป็นปกติของการแย่งชิงอำนาจระหว่างผู้ต้องการกลับไปสู่รัฐธรรมนูญปี 2540 กับผู้ที่ต้องการปกป้องรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่สร้างมากับมือ
คำถามคือพรรคเพื่อไทยจะเล่นเกมนี้อย่างไร ถ้าทำแบบทลายด่าน เลือดกระเด็นเลือดสาด จะไม่ต่างจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ เกิดความวุ่นวาย แต่หากยอมอย่างเดียว คนเสื้อแดงก็ไม่ยอม วิธีที่จะประนีประนอมคือ เมื่อมีกับดักต้องเดินอย่างระมัดระวัง อะไรที่ยอมได้ก็ยอม

การผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดอง และนิรโทษกรรม

พ.ร.บ.ปรองดอง มีปัญหามากในเรื่องข้อกฎหมาย คือการคืนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพัน
หากไปตรากฎหมายที่ล้มล้างคำตัดสินของศาล จะทำผิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและผิดรัฐธรรมนูญด้วย ถ้าพ.ร.บ. ปรองดองออกมา มีการร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะตีตกไป
ส่วนการนิรโทษกรรมเป็นอำนาจของรัฐสภาอยู่แล้ว แต่มีข้อห่วงใยว่าหากนิรโทษกรรมโทษร้ายแรงทั้งหมดจะขัดกฎหมายยุติธรรม และมีการถกเถียงกัน
ข้อเสนอของผมคือให้ออกเป็นกลางๆ เริ่มจากเปิดเผยความจริงใครฆ่าใคร หากคนทำสำนึกผิด ให้กราบขอโทษญาติผู้เสียชีวิต ผู้เสียหาย กฎหมายที่ออกมาเพื่อการปรองดองก็อาจจะให้เป็นโทษรอลงอาญาเอาไว้ ไม่ใช่การนิรโทษกรรม