พท. เรียกประชุมวาง 3 ทางหลังคำวินิจฉัยศาล รธน.

เดลินิวส์ 14 กรกฎาคม 255 >>>




เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (14 ก.ค. ) ที่พรรคเพื่อไทย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์  รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคเพื่อไทยได้หารือกันหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า
1. เห็นว่าผู้ร้องต้องยื่นต่ออัยการสูงสุด ไม่อย่างนั้นเกิดความวุ่นวายแน่นอน เพราะหากใครเป็นรัฐบาล เกิดมีฝ่ายตรงข้ามอยากจะเตะถ่วงดึงเกม แล้วหากไปร้องกันเป็น 1,000 เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญจะทำงานไหวหรือไม่ เราจึงคิดว่าต้องยื่นอัยการสูงสุดเพื่อกลั่นกรองก่อน
2. ไม่เห็นด้วยที่ศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามาพิจารณาในแนวทางนี้ เพราะการยกร่างหรือการแก้ไขในม.291 ไม่ได้เขียนว่าต้องทำประชามติ หรือ รัฐธรรมนูญปี 50 ก็ยกร่างเขียนก่อนแล้วค่อยทำประชามติและ 3. ศาลรัฐธรรมนูญสับสน ไม่กล้าฟันธงว่าจะใช้คำว่าอะไรกันแน่ เช่นคำว่าควร ตกลงว่าจะให้ทำหรือไม่ทำ ถ้าศาลจะชัดเจนต้องเขียนว่าต้องทำประชามติก่อนเราจะได้ไม่ต้องไปตีความว่าคำว่าควรนั้นจะต้องทำหรือไม่ทำ
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเราจะทำตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ส่วนความเห็นของศาลนั้น ต่อไปพรรคเพื่อไทยจะเรียกประชุมในวันที่ 16 ก.ค. โดยพรรค มี 3 ทางออกในเบื้องต้นคือ
1. เดินหน้าลงมติวาระ 3 ต่อไป 
2. ทำประชามติ เพราะ ม.291 ไม่ได้ระบุว่าต้องทำประชามติ และ
3. การแก้ไขเป็นรายมาตรา หลายคนแสดงความเห็นใน ม.68 เรื่องอำนาจที่ประชาชนที่ต้องร้องตรงต่อศาล ตนเห็นว่าควรแก้ไขในข้อนี้เพื่อความชัดเจน เป็นข้อแรก
ส่วนพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการในแนวทางใดนั้นคงต้องรอความชัดเจนมติของ ส.ส. ในการประชุมพรรคในวันที่ 16 ก.ค. ก่อน ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการที่พรรคตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 ก.ค. เพื่อศึกษาสถานการณ์  เราพบสืิ่งผิดปกติในตลาดหลักทรัพย์ เพราะก่อนอ่านคำวินิจฉัยดัชนีหุ้นตกลงกว่า 20-30 จุด แต่พอศาลอ่านคำวินิจฉัยจบ เป็นเวลาปิดตลาดหุ้น กลับพบว่าตลาดหุ้นดีดขึ้นมาบวก 12 จุด  กำลังคิดว่ามีกลุ่มใดไปช้อนซื้อหุ้นในเวลาดังกล่าว เพราะอาจจะรู้ว่าคำวินิจฉัยว่าจะออกมาอย่างไร เลยช้อนซื้อหุ้น โดยมีนักการเมืองเป็นนอมินีไปช้อนซื้อหุ้นลอตใหญ่ ตนขอเรียกร้องไป กลต. ให้ตรวจสอบว่ามีใครบ้างที่ไปช้อนซื้อหุ้นขนาดใหญ่  โดยข้อมูลเบื้องต้นเป็นหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์  จึงอยากจะให้ตรวจสอบว่ามีคนได้ประโยชน์จากผลการตัดสินของศาลวานนี้หรือไม่ 
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า วันที่ 17 ก.ค. สภาผู้แทนราษฎรจะเรียกประชุมส.ส 246 คนของพรรคเพื่อไทยไปประชุมในฐานะผู้ถูกร้อง เพื่อกำหนดท่าทีว่าสภาจะทำหน้าที่อย่างไรในฝ่ายนิติบัญญัติ และประธานวุฒิสภาก็จะเรียกประชุมวุฒิสภาเอง