สำนักข่าวอินโฟเควสท์ 11 กรกฎาคม 2555 >>>
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 13 ก.ค. กำลังถูกจับตามองจากประชาชนไทยและนานาชาติว่าเป็นศุกร์ร้ายหรือศุกร์ดี โดยเฉพาะนักลงทุนรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังมองว่าการวินิจฉัยจะทำให้การเมืองมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นหรือคลี่คลายในทางที่ดี เพราะวันนี้นักลงทุนชะลอการลงทุนอยู่ ดังนั้นในวันที่ 13 ก.ค. นี้ ขอให้มวลชนไม่ว่ากลุ่มเสื้อสีใดหรือสนับสนุนใครไม่ควรเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญ ควรอยู่ในพื้นที่ตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดมือที่สามสร้างความวุ่นวายตามมา
โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีกระบวนการกดดันศาล เพราะเห็นได้จากการไต่สวนพยานที่ผ่านมาไม่มีมวลชนคนเสื้อแดงไปกดดัน แต่กลับเป็นพรรคประชาธิปัตย์เองที่เป็นฝ่ายสร้างกระแสข่าวกดดันผ่านการพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ทั้งนี้ขอปฏิเสธว่าการแถลงข่าวของเพื่อไทยไม่ใช่เพื่อกดดันศาล แต่จำเป็นต้องชี้แจงไม่ให้เป็นทฤษฎีทาสีที่กำแพงแล้วคนเชื่อตาม หากไม่แก้ข้อกล่าวหาจะเป็นผลเสียต่อพรรค
นายพร้อมพงศ์ ยังกล่าวถึง ทีมทนายความของพรรคที่เตรียมยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ว่า พรรคมีความมั่นใจว่าผู้ร้องที่ยื่น 5 คำร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด อีกทั้งการแก้ไขมาตรา 291 โดยตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เพื่อทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำได้ เพราะมาตรา 291 ไม่ได้ห้ามไว้ โดยในอดีตเคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2491 จนมาเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2539 โดยแก้ไขมาตรา 211 จนมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ความเห็นเมื่อครั้งเป็นกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่า รัฐธรรมนูญ 2550 ว่าสามารถทำได้ สอดคล้องกับนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยให้ความเห็นในทางเดียวกันว่าสามารถแก้ไขมาตรา 291เพื่อให้มี ส.ส.ร. ได้
นายพร้อมพงศ์ มองว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจรัฐสภา ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญดำเนินการตามขั้นตอนของการเสนอญัตติพิจารณาวาระที่ 1 จนมีการตั้ง กมธ.และลงมติในวาระที่ 2 ทั้งยังเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายอย่างเต็มที่เป็นเวลา 15 วันไม่ใช่พวกมากลากไป