ศาล รธน. นัด 13 ก.ค. ฟังคำวินิฉัยกรณีร่างแก้ไข รธน.

สยามธุรกิจ 6 กรกฎาคม 2555 >>>


ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ไต่สวนคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเป็นวันที่สอง เป็นฝ่ายผู้ร้องอีก 8 ปาก กำหนดวินิจฉัยในวันที่ 13 ก.ค. 55 เวลา 14.00 น.
สำหรับบรรยากาศ การไต่สวนพยานในกรณีรับพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่นั้น เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
โดยครั้งนี้จะเป็นของฝ่ายผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นวันที่สองของการสอบพยาน สำหรับพยานฝ่ายผู้ถูกร้องในครั้งนี้ ที่ศาลได้มีการเปิดเผยรายชื่อมา ประกอบไปด้วย
1. นายวัฒนา เซ่งไพเราะ ผู้แทนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ พยานปากแรก
2. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
3. นายโภคิน พลกุล
4. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ
5. นายอุดมเดช รัตนเสถียร
6. นายสามารถ แก้วมีชัย
7. นายชุมพล ศิลปอาชา และ
8. นายภราดร ปริศนานันทกุล
การไต่สวนวันนี้ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีเพียง 8 คน หลังจากเมื่อวานนี้ (5 ก.ค.) นายจรัญ ภักดีธนากุล ได้ประกาศถอนตัวออกไปก่อนหน้านี้ทั้งนี้
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ขึ้นบัลลังก์ไต่สวนพยานผู้ถูกร้องกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ โดย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องฟังว่า สาเหตุที่องค์คณะศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนล่าช้า เนื่องจากมีประเด็นเกิดขึ้น โดยจะขอชี้แจงดังนี้ประเด็นที่ 1 กรณีที่ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัวจากองค์คณะศาลฯ เนื่องจากการกล่าวหาว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย เกี่ยวกับการเป็นคณะกรรมการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งที่ประชุมไม่อนุญาต เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะให้อนุญาตได้ เพราะได้ยกเว้นไว้แล้วตามข้อกำหนด ส่วนประเด็นที่ 2 ตนได้ถูกเปิดคลิปลงบนเว็บไซต์ยูทูบ ซึ่งเป็นคำพูดของตนที่ระบุไว้เมื่อปี 54 (เขาใหญ่ ) เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีดังกล่าวนี้ ผมได้ขอตัวออกจากการเป็นตุลาการฯ แต่ที่ประชุมก็ไม่อนุญาต
จากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องเมื่อเวลา 10.00 น. โดยไต่สวนนายโภคิน พลกุล สมาชิกพรรคเพื่อไทย และอดีตประธานรัฐสภาเป็นปากแรก
นายโภคิน ยืนยันว่าคำร้องนี้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดดำเนินการกลั่นกรองก่อนชั้นหนึ่งก่อน เพราะมาตรา 68 วรรคที่ระบุคำว่า "ผู้ทราบ" ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าจะรับรู้ถึงการกระทำของผู้ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจริง
ดังนั้นรัฐธรรมนูญถึงได้มอบหมายให้อัยการสูงสุดเป็นผู้วินิจฉัยก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยมีคำสั่งเมื่อปี 2549 เป็นแนวทางบรรทัดฐานเอาไว้ตามกรณีที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ในฐานะอดีต ส.ส.พลังประชาชน ยื่นขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 อีกทั้งในบทบัญญัติก็ไม่มีประเด็นใดระบุให้สามารถยื่นได้ 2 ทาง
   “ส่วนข้อกล่าวหาว่า ขณะที่เนื้อหา มาตรา 68 ระบุถึงความผิดว่าต้องการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไปล้มล้างการปกครอง และได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขณะนี้การพิจารณาของรัฐสภาเพิ่งผ่านวาระ 2 รัฐธรรมนูญยังไม่ได้ถูกแก้แม้แต่คำเดียว ดังนั้นข้อเท็จจริงเมื่อมาสู่ศาลคือยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็คิดกันเองว่าอาจจะไปแก้แล้วเป็นความผิด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้จินตภาพมาลงโทษปัจจุบัน หรือสมมุติว่ารัฐสภาผ่านวาระ 3 ผลคือให้มีแค่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งจะไปยกร่างอย่างไรยังไม่มีใครรู้ ก็มีแต่การคาดเดา” นายโภคิน กล่าว
นายโภคิน กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ระบุว่า ในมาตรา 291 ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น รัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไม่เคยมีบทบัญญัติว่าด้วยการห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2540 ได้บัญญัติห้ามแก้ไขใน 2 ประเด็นคือ รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เขียนล้อมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองและรูปแบบของรัฐ ไม่เข้าใจว่าข้อหาดังกล่าวไปเอาความคิดจากที่ไหนที่ห้ามแก้ไขทั้งฉบับเพราะถ้าห้ามแก้ไขทั้งฉบับจะบัญญัติห้าม 2 ประเด็นไว้ทำไม เขียนห้ามแก้ไขทั้งฉบับไปเลยไม่ดีกว่าหรือ ไม่เพียงเท่านี้การแก้ไขมาตรา 291
ทุกขั้นตอนเป็นเหมือนเมื่อครั้งพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 โดยยึดโยงประชาชนชัดเจนผ่านการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ก็นำกลับไปให้ประชาชนลงการประชามติ ถ้าบอกว่าต้องทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน คิดว่าไม่ถูกต้องเพราะเหมือนเป็นการทำให้รัฐธรรมนูญหนึ่ง มีความสูงส่งกว่ารัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญทุกฉบับมีสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเหมือนกัน ถ้าคิดแบบนี้รัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหารเป็นรัฐธรรมนูญต่ำที่สุดใช่หรือไม่
จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ผู้ร้องซักถามพยานได้ โดยช่วงหนึ่งนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้องที่สาม ซักว่าภายหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วจะทำให้รัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐสภาชุดปัจจุบันมีสถานะคงอยู่ต่อไปใช่หรือไม่ ซึ่งนายโภคิน ตอบว่า ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ส.ส.ร. จะให้มีเนื้อหาอย่างไร ในอดีตก็เคยมีการระบุในบทเฉพาะกาลว่าให้รัฐบาลและรัฐสภาดำรงอยู่ต่อไปจนกว่าจะครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือ กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันที จึงไม่บรรทัดฐานตายตัว
ต่อมาการซักถามและการตอบชี้แจงระหว่างทั้งสองคนเริ่มดุเดือดมากขึ้น เมื่อนายวิรัตน์ ถามว่า "ในฐานะที่อาจารย์โภคินเคยเป็นอดีตประธานรัฐสภาสมัยรัฐบาลไทยรักไทยจึงมีความรักใคร่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาตลอดใช่หรือไม่" และ"สมัยดำรงตำแหน่งประธานสภาฯได้ลงมติสนับสนุนให้พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯใช่หรือไม่" นายโภคิน ชี้แจงว่า "รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากเสียงข้างมากในสภา ทำให้การใช้สิทธิงดออกเสียงย่อมหมายถึงการไม่เห็นด้วย ผมไม่อยากดัดจริตเพราะตอนหาเสียงก็สนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีผมไม่อยากหลอกตัวเอง"
เป็นผลให้ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้กำชับทั้งสองฝ่ายว่า "ไม่อยากให้ถามในประเด็นลักษณะนี้อีกเพราะข้อเท็จจริงเหล่านี้รู้ๆกันอยู่ว่าใครพรรคพวกใคร และการชี้แจงของพยานรายนี้ก็เป็นการให้ความเห็นเชิงวิชาการไม่มีความจำเป็นต้องสอบถามข้อเท็จจริงแบบนั้น นอกจากนี้ ขอฝากไปยังทั้งสองฝ่ายว่าเวลาจะพูดไม่ต้องพูดว่าตุลาการศาลที่เคารพเพราะออกไปข้างนอกพวกท่านก็ด่าพวกผมอยู่ และที่นี่ก็ไม่ใช่สภา"
ต่อมานายวรินทร์ เทียมจรัส ผู้ร้องที่สี่ ได้ซักถาม โดยประเด็นสำคัญหนึ่งคือการระบุว่าประชาชนมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 212 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ละเมิดสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และฝ่ายผู้แก้ไขใช้กฎหมาย ใช้หลักเกณฑ์ใดมาแก้รัฐธรรมนูญขอให้พูดให้ชัด
โดยนายโภคิน ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 212 เป็นคนละเรื่องกับกรณีดังกล่าว เพราะการร้องตามมาตรา 212 ต้องเป็นกรณีที่สิทธิของคนผู้นั้นถูกละเมิดโดยการออกกฎหมาย แต่การแก้ไขมาตรา 291 ต้องเป็นการร้องตามมาตรา 68 ที่ระบุความผิดว่าต้องเป็นการใช้สิทธิล้มล้างการปกครอง และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบ อีกทั้งการแก้ไขมาตรา 291 เป็นอำนาจของ 2 สภาคือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2550 ยังรองรับให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 5 หมื่นคนเข้าชื่อขอแก้ไขได้ ส่วนที่ถามว่าใช้อำนาจตามมาตราใด ใช้หลักเกณฑ์ใดมาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ก็มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญเปิดให้แก้ไขตัวเอง หลักเกณฑ์ก็เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ ถ้าคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อย่างนั้นรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เป็นการล้มล้างด้วย
ขณะที่ตลอดช่วงบ่ายของการเบิกความและถูกซักค้านของผู้ถูกร้อง นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ในฐานะพยาน ชี้แจงว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ โดยรัฐสภา เป็นการดำเนินการโดยชอบ ไม่มีเจตนาล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการใช้สิทธิ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ควรกระทำเมื่อมีความชัดเจนในการกระทำ ไม่ใช่ใช้จิตนาการ พร้อมย้ำถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อความเป็นประชาธิปไตย เพราะไม่ได้มาจากการรัฐประหาร
ด้านนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เบิกความถึงการดำเนินการเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญในนามพรรคว่า เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพรรคที่เห็นว่า สาระในบางมาตราของรัฐธรรมนูญ ขาดความเป็นประชาธิปไตย เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเมืองพร้อมย้ำพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่มีแนวคิดล้มล้าง ซึ่งเป็นเพียงการคาดการณ์ของผู้ถูกร้อง
นายชุมพล ศิลปอาชา ได้เบิกความต่อศาลช่วงหนึ่งว่า คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องดังกล่าวมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 โดยผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลโดยตรงเพราะต้องผ่านของอัยการสูงสุด ร่างแก้ไขของชาติไทยพัฒนา มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ถือว่ามีความเหมาะสมที่สุดเพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งดีกว่าการใช้ในรูปแบบของคณะกรรมการหรือคณะบุคคลที่ขาดการยึดโยงประชาชน และเป็นไปไม่ได้เลยที่ ส.ส.ร. จะเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครอง มันทำไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
   "ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้นต่อให้วางระบบอย่างไรก็มีช่องโหว่เช่นกัน อย่างเช่นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาก็มีการคิดหลายรูปแบบแต่สุดท้ายก็มีการครอบงำได้ทั้งนั้น ดังนั้น ถ้าจะใช้รูปแบบไหนเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญก็ควรใช้รูปแบบ ส.ส.ร." นายชุมพล กล่าว
จากนั้นนายชุมพล ได้กล่าวพาดพิงกระบวนการสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งนายชุมพลได้ยกเอกสารอ่านต่อหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้พยายามส่งคนเข้าไปกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญโดยประสานงานผ่านนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในฐานะ ส.ส.ร. ขณะนั้น กระทั่ง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ได้ดำรงตำแหน่งประธาน กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้นายสุพจน์ ซึ่งอยู่บนบัลลังค์ศาลรัฐธรรมนูญได้ขออนุญาตนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อประท้วงในกรณีที่นายชุมพลได้กล่าวพาดพิง โดยระบุว่า "ทราบได้อย่างไรผมเข้าไปล็อบบี้ท่านมีหลักฐานอะไร" ทำให้นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอความร่วมมือให้นายชุมพลสรุปคำชี้แจงให้อยู่ในประเด็น ซึ่งนายชุมพล ยินดีที่ส่งเอกสารที่นำมาชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
เมื่อเข้าสู่โอกาสให้ฝ่ายผู้ร้องได้ซักถามปรากฏว่านายชุมพลมีสีหน้าเคร่งเครียดและตอบคำถามอย่างมีอารมณ์เป็นระยะและบางครั้งก็ตอบโต้เพื่อเลี่ยงตอบคำถามว่า "ผมไม่ขอตอบ" "คำถามไม่อยู่ในประเด็น" หรือ "คำถามถามยาวเกินไป"
โดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ถามว่า จริงหรือไม่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โทรมาหานายบรรหาร ศิลปอาชา หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ซึ่งนายชุมพล ตอบว่า "เรื่องนี้ผมไม่รู้ ผมอยู่ประเทศฝรั่งเศสกำลังพรีเซ็นต์งานเอ็กซ์โปอยู่"
พล.อ.สมเจตน์ ถามจี้ว่า "สมมติถ้าบุคคลจะลงสมัคร ส.ส.ร. ในจังหวัดสุพรรณบุรีต้องใช้เงินเท่าไหร 2 ล้านใช่หรือไม่แล้วใครจะเป็นคนลงทุนเพราะ ส.ส.ร. เข้ามาทำงานไม่กี่เดือนแต่จะมีเงินเดือนเท่า ส.ส. และ ส.ว." นายชุมพล กล่าวแบบหัวเสียว่า "ไม่ทราบ แล้วถ้าลงสมัคร ส.ส.ร.ภาคใต้ ต้องใช้เงินเท่าไหร่ละ"
ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาชี้แจงเป็นปาก ที่ 4 ในฐานะผู้ถูกร้อง โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาการล้มล้างการปกครอง ว่า เป็นข้อกล่าวหาที่รับไม่ได้ เพราะตลอดชีวิตทางการเมือง อยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีความคิดในการล้มล้างการปกครอง ขณะที่การทำหน้าที่ในฐานะประทานรัฐสภา ต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ในการกำกับการประชุม และไม่มีความพยายามที่จะเร่งรัดกระบวนการพิจารณา แต่ทางกลับกัน ก็ควบคุมการประชุมด้วยความอลุ่มอะล่วย โดยเปิดให้สมาชิกพิจารณาถึง 15 วัน ถือเป็นประวัติศาสตร์การเมือง ที่ใช้เวลาพิจารณากฎหมายยาวนานที่สุด
ส่วนข้อกล่าวหา เรื่องมาตรา 291 ที่ให้อำนาจประธานรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย ความถูกต้องของรัฐธรรมนูญ นั้น นายสมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า จะไม่ใช้ดุลพินิจโดยลำพัง ซึ่งในระหว่างการรอลงมติวาระ 3 เพื่อให้เกิดความสบายใจในการตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบ ความถูกต้อง โดยจะตั้งกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลางมาเป็นผู้ใช้ดุลพินิจ เช่น อาจให้เสนอชื่อคณบดีคณะนิติศาสตร์ของสถาบันการศึกษาต่างๆ และให้สังคมร่วมตรวจสอบ เพื่อให้ได้บุคคลที่เป็นกลาง โดยจะยึดคำตัดสินของคณะกรรมการ เพื่อให้ทุกอย่างถูกต้องตามทำนองครองธรรมซึ่งยืนยันว่า การทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง โดยยกกรณีความเห็นต่าง กับพรรคเพื่อไทย เรื่องการลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่พรรคเพื่อไทย ให้เดินหน้ากระบวนการต่อ พร้อมทั้งมีการนำเรื่องนี้ไปหารือ เพื่อหาแนวร่วมในการยื้อการลงมติวาระ 3 ของรัฐธรรมนูญ แลร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติออกไป ซึ่งชี้ชัดว่า ไม่ได้รับใบสั่ง จากคนทางไกล โดยพฤติกรรมนี้เป็นการหารือตามกระบวนการปกติของการเมือง ตามระบอบประชาธิไตยทั้งนี้พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ผู้ร้องที่ 1 ได้ซักค้าน โดยยกพฤติกรรมในอดีต ว่ายังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 3 เบิกความต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวยืนยันว่า พรรคเพื่อไทย กรรมการบริหารพรรค ไม่มีทางกระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย พร้อมจะพิทักษ์ปกป้องสถาบันเต็มที่ ตามข้อบังคับ และยุทธศาสตร์ของพรรค อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารภายในพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด
จากนั้น นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ตัวแทนฝ่ายผู้ร้อง ซักถามถึงประเด็นที่ นายยงยุทธ เป็นหัวหน้าพรรค แต่ทำไมไม่ได้เป็น นายกรัฐมนตรี นั้น เป็นคำสั่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช่หรือไม่ นายยงยุทธ กล่าวตอบโต้ว่า ไม่มีกฎหมายข้อใดห้ามที่จะให้ ส.ส. ลำดับอื่น ที่ไม่ใช่หัวหน้าพรรค มาเป็นนายกรัฐมนตรี
สำหรับการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้อง เรื่องคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิฉัยตามมาตรา 68 ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำการเบิกตัวพยานฝ่ายผู้ถูกร้องปากที่ 6 คือ นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ขึ้นชี้แจงว่าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีเจตนาสุจริต ไม่ได้ต้องการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังเป็นการเลียนแบบการแก้ไขเรื่องในอดีต ซึ่งเป็นทางที่ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การได้มาของ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง และการสรรหา ก็ไม่สามารถกำหนดตัวบุคคลได้ เพราะผู้เลือก ส.ส.ร. คือประชาชนจากทั่วประเทศ
เมื่อเวลา 20.00 น. นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะผู้แทนนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายรัฐมนตรี เบิกความพยานฝ่ายผู้ถูกร้องเป็นปากสุดท้ายว่า คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายว่าให้มีการแก้รัฐธรรมนูญตามนโยบายที่แถลงไว้ หากไม่มีการกระทำตามนโยบายก็จะเป็นการผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะไม่ให้มีการดำเนินการที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ และ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่า คิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะยังคงให้มีเนื้อหาลักษณะมาตรา 68 แบบนี้อีกหรือไม่ เช่น ห้ามยกเลิก นายอัชพร ตอบว่า อาจจะไม่สามารถทำได้เพราะจะไปขัดกับมาตรา 291 ให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้อีก แต่หากต้องการจะห้ามแก้จริงๆอาจเพิ่มเงื่อนไขในการแก้ให้ยากขึ้นเช่นให้มีเสียงให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการรับฟังการไต่สวนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องแล้ว โดยระบุว่า หากทั้งสองฝ่ายมีคำให้การเพิ่มเติมให้ส่งเป็นเอกสารภายในวันที่ 11 ก.ค. 2555 และกำหนดวินิจฉัยในวันที่ 13 ก.ค. 2555 เวลา 14.00 น.
   "ถ้ายืดเยื้อออกไปก็ไม่เป็นผลดี รวบรัดก็ถูกตำหนิว่าตั้งธงไว้แล้ว ไม่ว่าจะทำอย่างไรคงโดนด่าอยู่ดี ตุลาการฯตัดสินใจวินิจฉัยวันที่ 13 ก.ค. เชื่อว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม" นายวสันต์ กล่าว