สืบพยานคดี 112 ‘สนธิ’ กล่าวซ้ำถ้อยคำ ‘ดา ตอร์ปิโด’ จำเลยเบิกความ 21 ส.ค. 55

ประชาไท 26 กรกฎาคม 2555 >>>


21 ส.ค. นี้ 'สนธิ ลิ้มทองกุล' เตรียมเบิกความคดีหมิ่นฯ กรณีนำคำปราศรัย'ดา ตอร์ปิโด'ไปกล่าวซ้ำบนเวทีพันธมิตรฯ  ขณะที่ดา ตอร์ปิโดถูกคุมขังครบ 4 ปี เมื่อ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา
25 ก.ค. 55 ห้องพิจารณาคดี 908  มีการสืบพยานโจทก์คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สำนักงานอัยการสูงสุด ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อ.2066/2553 โดยในวันนี้เป็นนัดสืบพยานโจทก์นัดสุดท้าย ได้แก่ พ.ต.ท.ภูวสิษฎ์ เมฆี พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการศึกษา กองบัญชาการศึกษา  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ส่วนนัดหน้าจะเป็นการสืบพยานจำเลย โดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล จะขึ้นเบิกความในวันที่ 21 ส.ค. 55 เวลา 9.00-12.00 น.
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องการปราศรัยของนายสนธิบนเวทีพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 51 โดยนำเอาคำปราศรัยบางส่วนของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล มากล่าวซ้ำพร้อมเรียกร้องให้มีการดำเนินคดี จากนั้นจึงมีการออกหมายจับนายสนธิในวันที่ 23 ก.ค. ต่อมาวันที่ 24 ก.ค. นายสนธิพร้อมมวลชนจำนวนหนึ่งได้เดินทางเข้ามอบตัวที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล และได้รับการประกันตัว ส่วนกรณีของดารณีนั้นหลังการปราศรัยของนายสนธิ วันที่ 21 ก.ค. ผบ.ทบ.ในขณะนั้นได้มอบอำนาจให้นายทหารพระธรรมนูญไปแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับดารณี และมีการจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ที่อพาร์ตเมนท์ในวันที่ 22 ก.ค. 51 จากนั้นจึงถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กระทั่งมีคำพิพากษาล่าสุดของศาลชั้นต้นเมื่อ 15 ธ.ค. 54 ลงโทษจำคุก 15 ปี คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา ดารณีถูกคุมขังครบ 4 ปี
พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เบิกความว่า  ขณะเกิดเหตุมีเวทีปราศรัยทั้งของกลุ่ม นปก. และ พันธมิตรฯ  ซึ่งตำรวจต้องบันทึกเทปและถอดเทปทุกวัน เมื่อถอดเทปแล้วพบว่ามีความผิดก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาว่ามีมูลหรือไม่ จากนั้นจะมีการตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวน ซึ่งในคดีนี้ตนเป็นรองหัวหน้าและได้เลื่อนเป็นหัวหน้าในเวลาต่อมา เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานแล้วก็จะส่งให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้งว่าสมควรส่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็เห็นควรส่งฟ้อง
พล.ต.ต.อำนวย กล่าวอีกว่า คำสั่งแต่งตั้งและแนวทางปฏิบัติของคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ มีมาตั้งแต่ 4 มิ.ย. 50 จากนั้นมีคำสั่งปรับปรุงคณะกรรมการดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 9 ต.ค. 51 
ทนายจำเลยถามว่า มาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ปวงชนชาวไทยต้องปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถ้อยคำของนายสนธิตามฟ้องเป็นการกล่าวปราศรัยเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินคดี เพราะคดีของดารณีตำรวจดำเนินการช้า ไม่เหมือนคดีหมิ่นฯ ของนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ที่ตำรวจดำเนินการรวดเร็วใช่หรือไม่ พล.ต.ต.อำนวย ตอบว่า นายสนธิพูดเสมือนเร่งรัดให้ดำเนินคดีกับดารณี ดังที่ประชาชนต้องมีหน้าที่ปกป้องสถาบัน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีหน้าที่ในการนำข้อความหมิ่นฯ มาเปิดเผยต่อสาธารณชน อย่างไรก็ตาม ตนไม่ทราบว่าคดีของนายสมเกียรติอัยการสั่งฟ้องหรือไม่ และไม่ทราบว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ไปร้องเรียนกับ ปปช.เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนเมื่อเดือนสิงหาคม 53
ทนายจำเลยถามาว่าเจตนาของนายสนธิเป็นคนละเจตนากับดารณีใช่หรือไม่ พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่า ไม่สามารถรู้ความในใจของจำเลย แต่หากให้วินิจฉัยก็วินิจฉัยได้ทั้ง 2 ทาง อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการกระทำของนายสนธิเข้าองค์ประกอบความผิดฐานเดียวกันกับดารณี นอกจากนี้ยังเชื่อว่าจำเลยน่าจะเข้าใจความหมายของมาตรา 8 และ 112 เนื่องจากเมื่อปี 2549 จำเลยเคยได้รับคำสั่งศาล (คดีดำหมายเลข อ.3845/2549) ซึ่งศาลจำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ถอนฟ้อง โดยระบุให้จำเลยระมัดระวังการกล่าวหรือกระทำการใดๆ ที่กระทบกับสถาบัน และยังมีคำสั่งห้ามจำเลยนำสถาบันมาแอบอ้างด้วย
อนึ่ง เว็บไซต์ศาลอาญาระบุคำฟ้องในคดีนี้ว่า  เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2551 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยนี้ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีปราศรัยกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และทางอินเทอร์เน็ต โดยผ่านทางเว็บไซต์ของเอเอสทีวี ให้ประชาชนทั้งคนไทยและต่างชาติได้รับชมและรับฟังทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  มีข้อความซึ่งจำเลยนำเอาคำปราศรัยของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล  ที่พูดบนเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง อันเป็นการพูดที่มีถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถมาพูดซ้ำ มีความอาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่าบ้านเมืองที่วุ่นวายอยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำให้วุ่นวายเพื่อให้สามารถดำรงความเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป และกล่าวคำพูดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เหตุเกิดที่แขวง-เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  มาตรา 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112