เหตุผล 10 ประการ ที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ โดย ดร. จารุพรรณ กุลดิลก

Facebook พรรคเพื่อไทย (PT cybertalk) 10 กรกฎาคม 2555 >>>




วันนี้ ดร.จารุพรรณ กุลดิลก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ได้นำเสนอเหตุผล 10 ประการที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้
1. รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เป็นไปตามหลัก นิติรัฐ (Due Process) นิติธรรม (Rule of Law) มีที่มาจากการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยคณะรัฐประหาร สภาร่างล้วนมาจากการแต่งตั้ง และการทำประชามติอยู่ภายใต้กระบอกปืน ทหารยืนประจำการทุกหมู่บ้าน ทุกหน่วยการลงประชามติ อาวุธสงครามครบมือ โดยคมช.ซึ่งเป็นรัฐบาลในขณะนั้นบอกประชาชนว่าให้รับ ๆ ไปก่อน แล้วค่อยแก้รัฐธรรมนูญทีหลัง
2. เป็นที่ทราบกันดีทั่วโลกว่า รัฐธรรมนูญ เป็นกติกากลางของประชาชนทุกคน ต้องมีเนื้อหาที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย ไม่ใช่บ่อเกิดแห่งความขัดแย้ง แต่ขณะนี้คนสามารถตีความเนื้อหาในรัฐธรรมนูญไปได้ต่างๆนานา แม้แต่ตุลาการรัฐธรรมนูญเองก็ตีความแตกต่างกัน ดังที่เห็นในมาตรา 68 อันโด่งดัง กลายเป็นสาเหตุของความขัดแย้งทั้งแผ่นดินในขณะนี้
3. เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2550 ให้อำนาจที่ไม่สมดุล อำนาจของฝ่ายตุลาการมากเกินไป จนประเทศเดินหน้าไม่ได้ ฝ่ายนิติบัญญัติ และ ฝ่ายบริหาร อ่อนแอ ไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระได้
4. อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (กกต., ปปช., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, กรรมการสิทธิมนุษยชน) เป็นองค์กรที่เป็นอิสระไปจากอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทย ไม่ยึดโยงกับประชาชน และไม่มีหนทางที่จะตรวจสอบอำนาจเหล่านี้ได้
5. ที่มาของตุลาการรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน มาจากการแต่งตั้งของ คมช. และ สนช. ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 300 ต้องถามว่าเมื่อไหร่กาลจะหมดเสียที และทุกวันนี้ไม่มีกฎหมายที่ถูกต้องในการดำรงตนอยู่ มีแต่ระเบียบข้อบังคับที่ศาลรัฐธรรมนูญออกเอง ชงเอง กินเอง ชี้เป็นชี้ตายองค์กรอื่น ผิดหลักการแบ่งแยกอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย
6. ไม่มีรัฐธรรมนูญที่ไหนบนโลกให้อำนาจตุลาการในการยุบพรรคการเมือง เป็นการทำให้การเมืองอ่อนแอ ประชาชนอ่อนแอ ประเทศเดินหน้าลำบาก
7. ไม่มีรัฐธรรมนูญที่ไหนบนโลกนิรโทษกรรมแก่คณะรัฐประหาร ให้การก่อกบฏต่อประชาชนเป็นเรื่องที่ยอมรับได้
8. บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2550 แสดงให้เห็นถึงความเป็นเผด็จการอย่างชัดเจนที่อยากจะสร้างองค์กรใหม่ แต่งตั้งใครต่อใคร ยืดอายุการทำงานให้พวกพ้องของตนได้ตามอำเภอใจ เป็นการทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยวอย่างที่ไม่เคยปรากฎที่ไหนบนโลกมาก่อน
9. การวนเวียนของอำนาจพรรคพวกเดียวกันในรัฐธรรมนูญ 2550 กึ่งหนึ่งของวุฒิสมาชิก มาจากการคัดสรรจากฝ่ายตุลาการ ส่วนฝ่ายตุลาการก็มาจากวุฒิสภา ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ผิดการแบ่งแยกอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง
10. การถอดถอนตุลาการรัฐธรรมนูญ องค์กรตุลาการ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะต้องถอดถอนโดยวุฒิสมาชิก 3 ใน 5 ซึ่งจำนวนวุฒิสมาชิกครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งของตุลาการ เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ได้ ผิดหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างร้ายแรง