คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ...กด LIKE หรือ...กฎ LOW

กรุงเทพธุรกิจ 3 มิถุนายน 2555 >>>




ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 มิได้วางหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งก่อนมีคำวินิจฉัยไว้ชัดเจน

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องของบุคคล 5 กลุ่ม ซึ่งร้องขอให้ศาลวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาอาจเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งถือเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
โดยชี้แจงว่า เหตุที่ต้องพิจารณารับคำร้องด้วยความรวดเร็วเป็นผลเกี่ยวข้องกับสถานการณ์บ้านเมือง อีกทั้งยังมีคำสั่งไปยังเลขาธิการรัฐสภา ให้ระงับการลงมติในวาระที่ 3 ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาล ขณะเดียวกันก็นัดไต่สวนคู่กรณีในวันที่ 5-6 ก.ค. นี้ จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า
1.มติดังกล่าวอยู่ในขอบเขตอำนาจซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ จะกระทำได้ อย่างไร หรือไม่
2.มติดังกล่าวส่งผลให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 ต้องหยุดไว้ก่อนหรือไม่
ประเด็น..มติดังกล่าวอยู่ในขอบเขตอำนาจซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ จะกระทำได้ อย่างไร หรือไม่
แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญหรือ “Constitutional Court ” จะมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายใดมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขัดกับสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้หรือไม่ก็ตาม  อำนาจดังกล่าวก็เป็นเพียงการทำหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักการที่เกี่ยวกับ “การทบทวนทางกฎหมาย” หรือ “The Power of Judicial Review” ดังเช่น ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของระบบการตรวจสอบและทบทวนความชอบด้วยกฎหมาย “legality” ทำให้ศาลฯสามารถเข้าไปตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย หากระบุได้ว่าการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือการออกกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญที่วางหลักไว้ สำหรับเยอรมันก็เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา
แต่การกระทำที่เกี่ยวกับความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศถือเป็นการกระทำในขอบอำนาจของรัฐบาลศาลไม่อาจเข้าไปทำการตรวจสอบได้ หากแต่ในฝรั่งเศส จะไม่มีองค์กรศาล ในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย แต่จะมีองค์กรตรวจสอบกฎหมายและรับปรึกษาความชอบด้วยกฎหมายก่อนการบังคับใช้เป็นกฎหมายเท่านั้น
ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญไทย มีคำสั่งให้เลขาธิการรัฐสภา ระงับการลงมติยกร่างรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ย่อมต้องถือว่า เป็นการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายก่อนการที่รัฐสภา จะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายซึ่งแตกต่างจากวิธีการของฝรั่งเศส ทั้งนี้ เพราะศาลฯได้ใช้อำนาจออกคำสั่ง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ประกอบมาตรา 112 อันเป็นกรณีที่ได้มีบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพร้องขอต่อศาลว่ามี  “บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ” อีกทั้งศาลฯยังได้เร่งรัดให้มีคำสั่งโดยอ้างเหตุผลว่า หากล่าช้าอาจส่งผลต่อปัญหาสถานการณ์บ้านเมืองได้ ศาลฯจึงต้องใช้อำนาจ ตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 4 และ ข้อ 17 (2) ซึ่งเป็นเพียงการออกคำสั่งตามที่อ้างว่าตนมีอำนาจแต่ก็ยังมิได้มีคำวินิจฉัย ผู้เขียนจึงมีประเด็นที่สงสัยว่า
1. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วางหลักให้บุคคลผู้ร้องต้องยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนแล้วจึงจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้  หากศาลจะพิจารณาใช้อำนาจตามข้อกำหนด ข้อ 21 ที่ระบุว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้” จึงจำเป็นต้องพิจารณาโดยเคร่งครัดว่า บุคคลผู้ร้องต้องไม่อาจใช้สิทธิด้วยวิธีการอื่นเท่านั้น จึงจะสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 112 วรรคสอง เหตุใดศาลจึงรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาทั้งที่ ยังมิได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอัยการสูงสุด
2. ต่อเมื่อข้อกำหนด ข้อ 4 มิได้ให้คำจำกัดความคำว่า “คำสั่ง” ไว้หากศาลจะมีคำสั่งใดๆ ก่อนมีคำวินิจฉัย ย่อมต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดฯ ข้อ 32 ที่วางหลักไว้ว่า “ในการพิจารณาคดีของศาล หากศาลเห็นว่าคดีใดมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ทำการไต่สวนก็ได้ ” ดังนั้น กรณีนี้ จึงเป็นประเด็นที่ศาลฯมีคำสั่ง ก่อนการนัดไต่สวนคู่ความ ทั้งที่ยังมิได้มีคำวินิจฉัยใดๆ เลย
3. ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 112 วางหลักไว้ว่า บุคคลจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ต้องมีเหตุที่ว่า “การมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ” การยกร่างรัฐธรรมนูญของรัฐสภาในวาระที่ 1 2 และ 3 จึงเป็นการกระทำก่อนที่จะมีกฎหมายบัญญัติมิใช่เป็นการกระทำที่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้แล้ว อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญฯ และข้อกำหนดวิธีการพิจารณาและวินิจฉัยของศาล ก็มิได้วางหลักเกี่ยวกับการออกคำสั่งก่อนการที่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้แต่อย่างใด เหตุใดศาลจึงใช้ดุลพินิจให้มีการออกคำสั่งดังกล่าว หรือหากจะอ้างเรื่องอื่นมาเทียบเคียงแล้วนำมาปรับใช้ก็ย่อมมีข้อสงสัยว่า เหตุใดศาลจึงไม่พิจารณาถึงความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกวินาที
โดยสรุป เมื่อบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้มีขั้นตอนซึ่งบุคคลผู้ร้องต้องปฏิบัติ ก่อนที่ศาลจะพิจารณาไต่สวนคำร้อง อีกทั้งยังก็ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญว่า มีอำนาจออกคำสั่งก่อนมีคำวินิจฉัยได้ ประกอบกับข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ก็มิได้วางหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งก่อนมีคำวินิจฉัยไว้อย่างชัดเจน ศาลจึงต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ จึงเป็นเหตุให้ศาลไม่มีอำนาจออกคำสั่งดังกล่าวและยังเป็นการก้าวล่วงต่อกระบวนวิธีพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติอีกด้วย
ประเด็น..มติดังกล่าวส่งผลให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 ต้องหยุดไว้ก่อน หรือไม่
ต่อประเด็นข้างต้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า ไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดๆ ที่เลขาธิการรัฐสภาจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ดังนั้น ท่านผู้อ่านได้โปรดพิจารณาและไตร่ตรองด้วยตนเองเถอะครับว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ท่านจะ...กด LIKE หรือ...กฎ LOW