ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ขบวนการแรงงานเกาหลีใต้ในนามสมาพันธ์แรงงานเกาหลี (Korean Confederation of Trade Unions-KCTU) และนักกิจกรรมแรงงานจากองค์กรต่างๆ ได้ออกมาประท้วงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมือง และความบกพร่องของกลไกรัฐด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่สามารถปกป้องคนเสื้อแดงที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากคณะผู้ทำการรัฐประหาร 2549 ซึ่งไม่ใช่เพียงครั้งเดียวที่ขบวนการแรงงานเกาหลีออกมาเรียกร้อง เพราะแม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ยังคงต้องเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อปัญหาการละเมิดสิทธิ การปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชนด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อไป
จดหมายที่ยื่นให้แก่สถานทูตไทยประจำประเทศเกาหลีใต้ ที่กรุงโซล มีข้อเรียกร้องหลัก 2 ข้อ ดังที่พาดหัวไว้ ส่วนเนื้อหาของจดหมายปรากฎด้านล่างสุดของรายงาน
ต่อจากนั้น ทางโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยประชุมร่วมกับตัวแทนของ KCTU และองค์กรแนวร่วม ได้แก่ Workers Solidarity All Together (Korea), Korean House for International Solidarity, Asia Monitoring Resource Center (Hong Kong), Labour Action China (Hong Kong), Sedane Labour Resource Center (Indonesia) โดยโครงการฯ ได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย โดยเฉพาะจากอำนาจตุลาการที่มีอคติต่อประชาชนที่คัดค้านฝ่ายอนุรักษ์จารีต อำนาจที่เข้มแข็งของฝ่ายทหารที่กล้าใช้อาวุธสงครามยิงใส่ผู้ประท้วงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 และการรณรงค์แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไปจนถึงปัญหาของขบวนการแรงงานไทยที่แบ่งเป็นฝักฝ่ายคือ ฝ่ายที่สนับสนุนการทำรัฐประหารเพื่อขจัดอดีตรัฐบาลไทยรักไทย และฝ่ายที่คัดค้านการทำรัฐประหาร ต้องการรักษาระบบเลือกตั้งไว้ ซึ่งนำไปสู่การแตกแยกของขบวนการแรงงานไทย อันส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาแรงงานในปัจจุบัน และการรวมกลุ่มจัดตั้งที่แรงงานยังอ่อนแอทางความคิด ผู้นำไม่เข้าใจหลักสิทธิมนุษยชน และไม่สามารถเล็งเห็นผลที่ตามมาจากเลือกข้างฝ่ายก่อการรัฐประหาร ฝ่ายเสื้อเหลือง โค่นล้มรัฐธรรมนูญ ระบบการเลือกตั้ง การทำร้ายผู้ที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจรัฐ และการมีระบบยุติธรรมสองมาตรฐาน
ทางสหภาพแรงงานเกาหลี ได้เสนอแนะให้แรงงานไทยศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มากกว่านี้ ให้ทำความเข้าใจว่า สิทธิพลเมืองคืออะไร ความรุนแรงของรัฐส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างอย่างไร
ข้อสรุปที่ได้จากการประชุม คือ ขบวนการแรงงานเกาหลีจะสนับสนุนการรณรงค์เช่นนี้ต่อไป และจะสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายญาติและผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 โดยจะติดต่อสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง และจะวางแผนการรณรงค์ร่วมกันในอนาคต
21 มิถุนายน 2555
ถึง นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
สำเนาถึง เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเกาหลี
เราเขียนจดหมายฉบับนี้ในนามของขบวนการทางสังคมทั้งในประเทศเกาหลีและระหว่างประเทศเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับนักกิจกรรมแรงงาน คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข
เราขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกจับกุมคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 เขาเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิ อุทิศงานเพื่อประชาธิปไตยและขบวนการแรงงานในประเทศไทย ทั้งยังได้ร่วมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างประเทศ ในฐานะนักกิจกรรมแรงงาน นักคิดและนักหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาได้แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับขบวนการแรงงานที่เกาหลี โดยได้แปลเพลงแรงงานเกาหลี และเผยแพร่ให้ขบวนการแรงงานไทย ด้วยเหตุนี้ขบวนการแรงงานเกาหลีและขบวนการทางสังคมจึงมีความกังวลต่อสถานการณ์ปัญหาของเขาอย่างมาก
เขาถูกคุมขังด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งถูกปฏิเสธการประกันตัวและยังถูกขยายการคุมขังไปอีก เรากังวลมากที่รัฐบาลไทยใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำราบปราบปรามคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านนิตยสารเรดพาวเวอร์
นอกจากนี้ เราได้ยินมาว่า นายกรัฐมนตรีประเทศไทยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้รับการสนับสนุนจากขบวนการเสื้อแดง ยืนกรานที่จะไม่แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะไม่ได้รณรงค์หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์การเสียชีวิตของนายอำพล ตั้งนพคุณ นักโทษการเมืองวัย 62 ปี ผู้ตกเป็นเหยื่อกฎหมายหมิ่นดังกล่าวในวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 เขาถูกตัดสินจำคุกถึง 20 ปีเพราะส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือไปยังเลขานุการส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
โศกนาฏกรรมของนายอำพล ตั้งนพคุณไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่กรณีเดียว แต่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกหลายคน การประกันตัวและการรักษาพยาบาลนอกเรือนจำก็ยังคงถูกเจ้าหน้ารัฐปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงเป็นกฎหมายที่ต่อต้านประชาธิปไตยเพื่อใช้ปราบปรามขบวนการแรงงานและขบวนการทางสังคมในประเทศไทย เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักโทษการเมืองคดีหมิ่นฯและแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ ด้วย
และเราขอเตือนความจำท่านว่า ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิต่างๆ และความรับผิดชอบของปัจเจกชน กลุ่มและองค์กรของสังคมที่ส่งเสริม ปกป้องสิทธิมนุษยชนสากลและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับฉันทามติจากสหประชาชาติเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 ปฏิญญานี้เป็นการตระหนักถึงความชอบธรรมของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการจัดตั้ง รวมตัว ที่รัฐทุกรัฐต้องสร้างหลักประกันให้แก่นักกิจกรรมด้านสิทธิ ให้สามารถดำเนินกิจกรรมของตัวเองได้โดยไม่ถูกทำให้กลัว หรือถูกใช้กำลังบ่อนทำลาย
ย้ำว่า การใช้กฎหมายไปในทางที่ผิดอย่างต่อเนื่องเป็นภัยคุกคามต่อการสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ในประเทศไทย กฎหมายเช่นนี้ต้องได้รับการแก้ไข ทบทวนให้สอดคล้องกับหลักมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล
เราขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐ
1. ปล่อยนักโทษการเมืองคดีหมิ่นฯ ทุกคน รวมถึงคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข โดยไม่มีเงื่อนไขและให้สิทธิในการนิรโทษกรรม
2. แก้ไข ก.ม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 112
องค์กรผู้ร่วมลงชื่อแนบท้ายจดหมาย
1. Korean Confederation of Trade Unions (KCTU), Korea
2. Korean House for International Solidarity, Korea
3. Workers Solidarity All Together, Korea
4. Thai Labour Campaign, Thailand
5. Unified Progressive Party, Korea
6. Korea Contingent Workers Center
7. Workers' Assistance Center (Philippines)
8. Sedane Labour Resource Center (Indonesia)
9. Local Initiative for OSH Network
10. Asia Monitor Resource Centre (Hong Kong)
11. Globalization Monitor (Hong Kong)
12. Yokohama Action Research (Japan)
13. Labour Action China (Hong Kong)
14. Citizen of the Earth Taiwan (CET)
15. International Campaign for Responsible Technology (ICRT, U.S.A.)