สมชาย ปรีชาศิลปกุล: ระบอบอำมาตย์ชราธิปไตย

ประชาไท 22 มิถุนายน 2555 >>>


อำมาตย์ชราธิปไตยเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีในการครอบงำสังคมการเมืองไทยของพลังฝ่ายอำมาตย์ในห้วงระยะเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา โดยปรากฏเป็นรูปแบบและโครงสร้างในทางการเมืองที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสำคัญ
สังคมการเมืองไทยกำลังอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองประเภทหนึ่ง ซึ่งควรจะมีชื่อเรียกอย่างเฉพาะเจาะจงว่า “อำมาตย์ชราธิปไตย”
อำมาตย์ชราธิปไตยเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีในการครอบงำสังคมการเมืองไทยของพลังฝ่ายอำมาตย์ในห้วงระยะเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา โดยปรากฏเป็นรูปแบบและโครงสร้างในทางการเมืองที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสำคัญ
ในอดีตที่ผ่านมา การครอบงำทางการเมืองของฝ่ายอำมาตย์ในสังคมการเมืองจะดำเนินไปโดยผ่านพลังของสถาบันทหาร ในด้านหนึ่งจะเป็นการใช้กำลังอำนาจในการเข้าแทรกแซงระบบการเมืองด้วยการรัฐประหารที่ปรากฏอย่างต่อเนื่อง และในสภาวะ “ปกติ” ก็ด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองผ่านการแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก ซึ่งจะมีอำนาจมากไปถึงมากที่สุดผันแปรไปตามแต่ละยุคสมัย
แต่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและการขยายอิทธิพลของระบอบประชาธิปไตยในระดับโลก ทำให้การครอบงำของพลังฝ่ายอำมาตย์ไม่อาจจะดำเนินไปในรูปแบบเดิมอีกต่อไป เนื่องอาจต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านจากภายในและแรงกดดันจากนานาอารยะประเทศ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนลักษณะของการครอบงำมาสู่รูปแบบอำมาตย์ชราธิปไตย
โดยอำมาตย์ชราธิปไตยเป็นการแทรกตัวเข้ามาในการขยายตัวของพลังประชาธิปไตยในช่วงทศวรรษ 2540 อันปรากฏขึ้นพร้อมกับความตกต่ำทางด้านความชอบธรรมของนักการเมืองจากการเลือกตั้งที่ยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่อง แม้จะสามารถสร้างอำนาจนำทางการเมืองในระบบได้ จึงเป็นการเปิดทางให้กับพลังอำมาตย์เข้ามาช่วงชิงพื้นที่ของระบบการเมืองอย่างเป็นทางการในตำแหน่งขององค์กรอิสระที่ได้ถูกริเริ่มจัดตั้งขึ้นนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา อำมาตย์ชราธิปไตย มีลักษณะสำคัญที่ผันแปรไปจากอำมาตยาธิปไตย ดังนี้
ประการแรก บุคคลที่จะมาทำหน้าที่จะมิใช่มาจากแวดวงทหารซึ่งเป็นผู้ยึดกุมอาวุธยุทโธปกรณ์ในการสงครามเช่นเดิม หากจะมาจากแวดวงตุลาการเป็นสำคัญ แม้จะมีได้มีปืน รถถัง กำลังพล แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ของกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะมาจากการอ้างความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ซึ่งสามารถจะตีความ/ให้ความหมายต่อกฎหมาย และสามารถทำให้บางฝักบางฝ่ายต้องสูญอำนาจในทางการเมืองไปได้ หากพิจารณาในแง่มุมดังกล่าวนี้ก็อาจไม่มีความแตกต่างไปจากการใช้รถถังในการยึดอำนาจรัฐในเชิงเนื้อหาแต่อย่างใด
อนึ่ง ก่อนที่จะสามารถเข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระได้แทบทั้งหมดต้องดำรงตำแหน่งหน้าที่ในระดับสูงของระบบราชการ ดังนั้น จึงทำให้บุคคลต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีอายุที่สูงหรืออยู่ในวัยชราอันเป็นบั้นปลายของชีวิต หากเปรียบเทียบกับข้าราชการในฝ่ายอื่นๆ ก็เป็นช่วงชีวิตขาลงที่เตรียมตัวเกษียณอายุราชการไปเลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน แต่สำหรับคนกลุ่มนี้อาจเป็นจุดเริ่มในการป่ายปีนเข้าสู่แวดวงอำนาจทางการเมือง
ประการที่สอง การใช้อำนาจจะเข้ามาโดยผ่านองค์กรอิสระอันเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองไว้ด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการชี้เป็นชี้ตายในการแข่งขันทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่างๆ
รูปแบบของอำมาตย์ชราธิปไตยจึงมิใช่การใช้อำนาจแบบดิบๆ ในทางการเมืองเฉกเช่นเดียวกับการรัฐประหารที่ปราศจากความชอบธรรมทางการเมืองรองรับ แต่อำมาตย์ชราธิปไตยเป็นการใช้อำนาจที่มีรัฐธรรมนูญรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมือง และในกรณีที่ถูกโต้แย้งว่าไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับก็ต้องพยายามยืนยันว่าเป็นการใช้อำนาจตีความตามบทบัญญัติ (โดยหากไม่เชื่อก็สามารถเปิดอ่านรัฐธรรมนูญภาษาอังกฤษได้)
ประการที่สาม นอกจากการอ้างอิงถึงอำนาจตามกฎหมายแล้ว บรรดาบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำมาตย์ชราธิปไตยมักอ้างอิงถึงคุณลักษณะความดีความชั่วของบุคคล โดยเน้นย้ำถึงการสนับสนุนต่อการทำความดีและประณามการกระทำความชั่ว แน่นอนว่าการให้คำอธิบายเช่นนี้ย่อมก็สามารถกระทำได้ แต่ปัญหาก็คือว่าบุคคลที่เป็นคนดีก็มักอยู่แค่ในแวดวงของอำมาตย์ชรา และคนชั่วอยู่คือบรรดานักการเมืองเห็นแก่ตัว
สิ่งที่ติดตามมาก็คือหากบุคคลใดเป็นคนชั่วในทรรศนะของอำมาตย์แล้วก็จะต้องถูกกำจัดไป ไม่ว่าจะด้วยวิถีใดๆ ก็ตาม จะโดยชอบรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่สำคัญ ขอให้เพียงเป้าหมายดี วิธีการจะเป็นอย่างไรก็ไม่สำคัญ เพราะฉะนั้น หากถึงที่สุดแล้วถ้าจำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญก็ย่อมกระทำได้เพื่อปราบหมู่มารในสังคม
พร้อมกันไปก็มีการสร้างระบบการตรวจสอบแบบเข้มข้นกับนักการเมือง ขณะที่กับบรรดาอำมาตย์ด้วยกันแล้วไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเกิดขึ้นแต่ประการใด ถึงจะมีเรื่องฉาวโฉ่นานัปการเกิดขึ้น ไม่ว่าการใช้เส้นสายฝากงาน การวินิจคดีแบบไร้หลักวิชา แต่นั่นก็เป็นการใส่ร้ายจากฝ่ายตรงกันข้าม คนดีๆ อย่างพวกเราจะกระทำความชั่วได้อย่างไร คนดีย่อมดีวันยังค่ำไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบแม้แต่น้อย
แน่นอนว่าปัญหาสำคัญของระบอบอำมาตย์ชราธิปไตยก็เช่นเดียวกันกับระบอบอำมาตยาธิปไตยในรูปแบบเดิมคือ เป็นการแทรกตัวเข้ามาครอบงำสังคมการเมืองไทยโดยที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือจุดยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด ทั้งในด้านที่มา การตรวจสอบ การควบคุม อำมาตย์ชราสามารถดำเนินการในเรื่องด้านได้ตามแต่ใจต้องการ
อันเป็นปมประเด็นถกเถียงสำคัญว่าสถาบันที่ใช้อำนาจทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับประชาชนแม้แต่น้อยได้หรือไม่ หรือลำพังเพียงการเป็น “คนดี” ก็สามารถดำรงสถานะอยู่ได้ในสังคมการเมืองไทยได้โดยไม่ต้องถูกแตะต้องแต่อย่างใด