วรเจตน์ ภาคีรัตน์: "สื่อ" พิฆาต "นิติราษฎร์" ?

มติชน 25 มิถุนายน 2555 >>>




สื่อจำนวนหนึ่งก็จงใจที่จะบิดเบือนข้อเสนอหรือเลือกชูบางประเด็นให้แรงเกินความเป็นจริง
สื่อจำนวนนี้ก็จะมีธงอยู่แล้ว ที่นิติราษฎร์ทำไปนั้น ทำไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ
คุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯหรือวัตถุประสงค์ในแง่ทำลายล้างสถาบันบ้าง
ดังนั้นภาพที่สื่อนำเสนอเป็นภาพของการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่ารายงานข่าว


วรเจตน์ ภาคีรัตน์

หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19กันยายน 2549 ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยืนอยู่แถวหน้าในแวดวงนักวิชาการเมืองไทย ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน พร้อมกับแสดงความคิดเห็นที่สั่นสะเทือนวงการกฎหมายไทยอยู่บ่อยครั้ง
ปี 2554 "วรเจตน์"และเพื่อนคณาจารย์ในรั้วสถาบันเดียวกัน รวมกลุ่มก่อตั้ง "คณะนิติราษฎร์" เพื่อเคลื่อนไหวแสดงพลังทางวิชาการ เสนอแนวทางหยุดยั้งระบอบรถถังล้มล้างรัฐธรรมนูญ
เมื่อนักวิชาการในนามคณะนิติราษฎร์ เสนอให้ลบล้างผลพวงจากพิษร้ายของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมทั้งเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยบทบัญญัติการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อพระมหากษัตริย์
ประเด็นการขับเคลื่อนให้แก้ไขมาตรา 112 ทำให้ "นิติราษฎร์" ถูกสื่อมวลชนหลายค่ายนำไปขยายผลต่อทางสังคมจนกลายเป็นความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลาย
จนทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่านักวิชาการคณะนิติราษฎร์ในฐานะที่เป็นแหล่งข่าวสถานะหนึ่ง จะถูก "สื่อมวลชน" และ "สังคม" รุมเข้าขย้ำอยู่เวลานี้จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย "ขวา" พิฆาต "ซ้าย" ให้บานปลายกลายเป็นเหตุการณ์ก่อน 6 ตุลาคม 2519 ภาค 2 ในอนาคตหรือไม่
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2555 สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นในหัวข้อการปรองดอง 1 ในประเด็นที่สอบถามมีคำถามที่ว่า "สื่อมวลชนควรทำอย่างไรจึงจะทำให้การปรองดองสำเร็จ" โดยประชาชน 2,249 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 46.8 เห็นว่า สื่อควรนำเสนอข่าวที่เป็นกลาง เที่ยงตรง น่าเชื่อถือ นำเสนอข่าวอย่างรอบด้านทุกแง่มุม ร้อยละ 29.32 เห็นว่าไม่นำเสนอข่าวในเชิงกระตุ้นให้สังคมแตกแยก
"วรเจตน์" หนึ่งในหัวหอก "คณะนิติราษฎร์" ใบหน้าซึ่งบาดแผลและรอยฟกช้ำเริ่มจางหายหลังถูกพี่น้องฝาแฝดทำร้ายร่างกาย เปิดใจผ่าน "ราชดำเนิน" ถึงห้วงอารมณ์ที่ตกเป็นข่าวเกรียวกราวและต้องถูกลากให้เข้าไปอยู่ในวังวนความขัดแย้งจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน

มองปรากฎการณ์การนำเสนอข่าวคณะนิติราษฎร์ที่มุ่งลบล้างผลพวงรัฐประหารและแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาอย่างไร
การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนต้องแยก คงไม่ใช่สื่อมวลชนทุกฉบับเสนอข่าวในลักษณะเราวิพากษ์วิจารณ์ได้ สื่อบางฉบับเสนอข่าวได้ตรง สื่อจำนวนหนึ่งก็เสนอข่าวไม่ตรงในมิติที่แตกต่างกัน บางฉบับเสนอข่าวสั้นเกินไปทั้งที่ประเด็นละเอียดอ่อน นักข่าวอาจไม่มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่นำเสนออย่างเพียงพอ ดังนั้นไปสรุปก็จะเก็บความได้ไม่ตรงกับที่นำเสนอ เป็นปัญหาในเชิงคุณภาพของตัวนักข่าวมากกว่า ประกอบกับประเด็นละเอียดอ่อนด้วย พอสรุปโฟกัสเฉพาะบางเรื่อง จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด
ส่วนสื่อจำนวนหนึ่งก็จงใจที่จะบิดเบือนข้อเสนอหรือเลือกชูบางประเด็นให้แรงเกินความเป็นจริง สื่อจำนวนนี้ก็จะมีธงอยู่แล้ว ที่นิติราษฎร์ทำไปนั้น ทำไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯหรือวัตถุประสงค์ในแง่ทำลายล้างสถาบันบ้าง ดังนั้นภาพที่สื่อนำเสนอเป็นภาพของการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่ารายงานข่าว ผมจัดกลุ่มของสื่อที่มีความบกพร่องในการนำเสนอออกเป็น 2 กลุ่ม
ในแง่การเล่นประเด็นนี้ในหน้าหนังสือพิมพ์จริงๆไม่ได้เฉพาะตัวสื่อมวลชนเสนอข่าวเท่านั้น แต่ผมหมายถึงคอลัมน์นิสต์ด้วย ที่แสดงความคิดเห็น ระหว่างเนื้อข่าวกับการแสดงความเห็นมันเป็นเรื่องแยกกัน ในแง่เนื้อข่าวต้องเสนอเนื้อข่าวไปตามความเป็นจริงอย่าไปใส่สีตีไข่ ชูบางเรื่องให้มันแรงไปจากความจริง เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน แล้วพูดไปปากต่อปากทำให้เกิดความเสียหายได้ ส่วนคอลัมน์นิสต์ปัญหาเกิดจากตัวคอมลัมน์นิสต์เองอคติ  เป็นเรื่องที่คนอ่านต้องประเมิน นอกเหนือจากอคติแล้วก็ยังมีในแง่ความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่เสนอให้ลึกซึ้งการค้นคว้าให้รอบด้าน ผมคิดว่าจะยังไม่ดีพอ ทำให้คุณภาพการเขียนคอลัมน์ในแง่การวิเคราะห์หลายคอลัมน์ก็มีคุณภาพค่อนข้างต่ำ เปรียบเทียบกับประเด็นที่เรานำเสนอ โอเค..สื่อจำนวนหนึ่งที่เสนอข่าวค่อนข้างตรงก็ยังมีอยู่ เมื่อดูปริมาณที่ออกไปในกระแสไม่นับสื่อหนังสือพิมพ์หมายถึงทีวีด้วยกลุ่มนี้อาจจะน้อยกว่า

อาจารย์กำลังมองว่าหนังสือพิมพ์เสนอข่าวคณะนิติราษฎร์จนทำให้สังคมเกิดความเกลียดชัง

ส่วนหนึ่งเป็นอย่างนั้น ในแง่การพาดหัวหรือเล่นประเด็นข่าวคือประเด็นที่พูดคุยละเอียดอ่อนโดยสภาพของเรื่อง เมื่อละเอียดอ่อนความระมัดระวังในแง่สื่อนำเสนอก็ต้องมีค่อนข้างเยอะ ถ้าจะเสนอต้องเสนอให้หมด ตัวอย่างเราพูดประเด็นว่าให้พระมหากษัตริย์ต้องสาบานหรือปฏิญาณ ว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง พูดแบบนี้ภาษาทางกฎหมาย แต่สื่อนำเสนอว่านิติราษฎร์ไปไกลถึงขนาดเรียกร้องให้กษัตริย์ต้องปฏิญาณ เรียกให้พระมหากษัตริย์สาบานว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญสมมุติเขียนเท่านี้ โดยเหตุที่ประเด็นละเอียดอ่อนพอถูกเสนอเพียงสั้นๆไม่ครบ ความเข้าใจก็ไปไกลกันใหญ่ แต่ถ้านำเสนอครบ อย่างที่ผมพูดว่าให้พระมหากษัตริย์สาบานหรือปฏิญาณ หมายถึงก่อนเข้าสู่ตำแหน่งก่อนขึ้นครองราชย์ แต่ไม่ได้หมายถึงให้พระมหากษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ไปแล้วมาสาบาน
เรานำเสนอเพื่อเป็นกุศโลบายในการป้องกันรัฐประหารว่าการกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องสาบานและจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญมันเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่าประมุขของรัฐ แม้แต่พระองค์เองยังให้สัตย์ปฏิญาณจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากแม้ทหารจะฉีกรัฐธรรมนูญก็เท่ากับไม่เคารพประมุขของรัฐและบีบบังคับให้พระองค์นั้นกระทำผิดคำสัตย์สาบาน เห็นไหมครับ ถ้าออกแนวทางนี้ภาพหรือความรู้สึกของคนจะออกมาอีกแนวทางหนึ่ง
ประเด็นบางเรื่องพอตกคำว่า "ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง" หรือ "ก่อนขึ้นครองราชย์" ประเด็นจะเปลี่ยนไปเลย คือคนจะนึกถึงในหลวงรัชกาลปัจจุบันทันที ทั้งที่ในหลวงพระองค์ท่านขึ้นครองราชย์ไปแล้ว เราไม่ได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับย้อนกลับไป แต่เรามุ่งหมายในอนาคตข้างหน้าเราหมายถึงว่าจะทำรัฐธรรมนูญแล้วก็ให้มีบทบัญญัติที่อื่นเขามี
ประเด็นคอลัมน์นิสต์จะเกี่ยวโยงกัน เขียนที่เราเสนอเป็นเรื่องของประธานาธิบดีบางคนนึกถึงประธานาธิบดีให้สัตย์สาบานก่อนเข้ารับตำแหน่ง อย่างนี้แปลว่าคอลัมน์นิสต์จะไม่เข้าใจข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์อย่างถ่องแท้ยังขาดความรู้คือไม่เคยไปค้นคว้า ในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหลายประเทศนั้น รัฐธรรมนูญในประเทศของยุโรปทั้งหมดเวลาพระมหากษัตริย์จะขึ้นครองราชย์ พระมหากษัตริย์จะต้องมีการสาบานก่อนเข้ารับตำแหน่งว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ อันนี้เป็นหน้าที่ ทางรัฐธรรมนูญ จะไม่เขียนว่าเป็นเรื่องของประธานาธิบดี เพราะบางประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขก็ทำแบบนี้ทั้งนั้น พอไม่ครบขาดความรู้บวกอคติหรือเสนอ (เสียงดัง) ไม่ครบปัญหาจะตามมาหมดเลย

มีสื่อจำนวนมากเสนอข่าวอย่างที่อาจารย์ว่ามากน้อยแค่ไหน

ผมว่ามีเยอะเลยนะสื่อจำนวนว่า มากพอสมควรเสนอประเด็นลักษณะนี้ ไม่ต้องนึกถึงสื่อบางค่ายที่มีลักษณะอย่างนี้ที่ชวนเชื่อ ซึ่งผมไม่นับว่าเป็นสื่อเพราะเป็นการใส่อคติของตัวเองลงไปในเนื้อข่าวและแง่ของการพาดหัวมาก พอใส่อคติในเนื้อข่าวและการพาดหัวข่าวก็จะทำให้คนเกลียดกัน ดังนั้นคนเกลียดกันส่วนหนึ่งมาจากท่าทีของสื่อการพาดหัวของสื่อที่ใช้ถ้อยคำที่ปลุกเร้าอารมณ์ของสื่อด้วย ในแง่นี้ผมไม่พบว่าองค์กรวิชาชีพสื่อทำอะไรที่รักษาเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อเลย
เช่น สื่อฉบับหนึ่งเอารูปผมไปใส่เป็นหน้าลิงแล้วแปลงชื่อผมว่าเป็นลิงหลอกเจ้าอย่างนี้ ผิดจรรยาบรรณสื่อมากเกินไป ในแง่การเสนอไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ยังเป็นการกระตุ้นให้คนเข้าใจผิด แต่อันนี้วัตถุประสงค์ของเขาอยู่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การโฆษณาชวนเชื่อแล้วเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งจะทำอีกฝ่ายก็จะทำด้วย และจะทำให้คนเกลียดกัน และเกิดเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบางประเทศที่สื่อเป็นแบบนี้ เรากำลังเดินตามรอยนั้น

รู้สึกอย่างไรเมื่อสื่อบางค่ายเรียกอาจารย์ว่า "วรเรด" หรือ "วรเจี๊ยก"

คงไม่มีใครชอบแบบนี้ เพราะว่าผมไม่เป็นนักการเมือง และผมไม่ใช่ผู้นำมวลชน จึงไม่ทำให้ผมมีผลประโยชน์ทางการเมืองใดๆทั้งสิ้น แม้แต่ทางวิชาการผมไม่เคยมีผลประโยชน์เรื่องพวกนี้ ทีนี้ถ้าสื่อทำแบบนี้กับผมก็ไม่เป็นธรรมกับตัวผมเอง ห่วงว่าความไม่เป็นธรรมของสื่อจำนวนหนึ่งที่มีต่อผมมันมากจนไม่ต้องพูดถึง เพราะเขาสามารถเสนออะไรที่เป็นเท็จได้ตลอดเวลา เขียนว่ารับเงินรับทองช่วยเหลือคุณทักษิณได้อย่างนี้ตลอดเวลา ไม่รู้ทำอย่างไรเพราะผมไม่มีสื่อในมือ ก็เป็นคนไม่มีอิทธิพลใดๆก็เป็นอาจารย์มาสอนหนังสือธรรมดา
ความคิดความอ่านของผมหลายอย่างคนก็สนใจ ทีนี้แย้งความคิดความอ่าน สื่อไม่แย้งด้วยเหตุผล ผมไม่มีปัญหาถ้าแย้งกับผมด้วยเป็นเหตุเป็นผล เพราะผมไม่เคยด่าทอสื่อใดๆอยู่แล้ว ผมก็นำเสนอของผมไปตามที่ผมเห็นอย่างเปิดเผยไม่ได้หลบๆซ่อน และผมก็เคยท้าทายข่าวลือเรื่องโน้นนี้ก็ไม่จริง

บริบทการนำเสนอข่าวของสื่อบางค่ายจะเทียบเคียงได้กับเหตุการณ์ในอดีตอย่าง 6 ตุลาคม 2519 ที่สื่อมีส่วนปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งได้หรือไม่
สื่อจำนวนหนึ่งกำลังเข้าใกล้แบบนั้น และอาจเป็นแบบนั้นไปแล้วด้วย อาจจะเป็นอดีตหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งที่เน้นพวกขวาจัด เป็นพวกซึ่งมุ่งทำลายคนซึ่งตนเห็นว่าเป็นศัตรูโดยไม่เลือกวิธีการใดๆทั้งสิ้น ผมมีความรู้สึกว่าสื่อจำนวนหนึ่งจะเป็นแบบนั้น เสนอข่าวแบบทำลายล้างไม่เสนอข่าวแบบสร้างสรรค์ ทำลายล้างโดยอ้างว่าตัวเองทำเพื่อคุณธรรมดีงามซึ่งไม่จริง เพราะคนที่อ้างว่าทำเพื่อคุณธรรมดีงามจะไม่ทำร้ายคนอื่นแบบนี้ สิ่งที่เขาทำอยู่ที่อ้างว่าธรรมนำหน้า เป็นตะเกียงส่องสว่างไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

สื่อต้องเสนอข่าวอย่างไรให้เกิดความยอมรับและศรัทธา

สื่อที่เสนอตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น การพาดหัวข่าวก็พาดไม่ให้หวือหวา พาดแบบปกติในทางข้อเท็จจริงแล้วเวลาเสนอข่าวก็รายงานให้ครบถ้วนสมบูรณ์พอแล้ว คนอ่านก็อ่านข่าวแล้วไปตัดสินใจเอาเอง ผมคิดว่าอันนี้น่าจะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสุดของสื่อมวลชน คือการซื่อสัตย์ต่อสิ่งซึ่งตนได้มา แล้วเสนอออกไปตามนั้น

คิดว่ามีสื่อที่เสนอข่าวรอบด้านอย่างที่ว่าหรือไม่

ผมว่ามี มีคอลัมน์นิสต์ที่ลึกในแง่ข้อมูล และมีจิตใจเป็นธรรมทำการบ้านเวลาจะมาสัมภาษณ์ผม ผมก็รู้ว่าใครทำการบ้านไม่ทำการบ้านโดยดูจากการถามคำถามเทคนิคทางกฎหมายต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในข้อเท็จจริง จะมีนักข่าวจำนวนหนึ่งไม่ทำการบ้านถามแบบพื้นๆผิวๆ ในขณะที่นักข่าวอีกจำนวนหนึ่งศึกษามาดี การถามของเขาจะเจาะลงไปในเรื่องเนื้อหา ผมอยากให้มีนักข่าวแบบหลังเยอะๆในสังคมไทย

ในฐานะเป็นแหล่งข่าวเลือกให้ข่าวกับสื่อบางค่ายหรือไม่

แน่นอน (ตอบทันที) เราเป็นปุถุชนคนธรรมดา สื่อบางค่ายผมไม่ให้สัมภาษณ์ เพราะเมื่อให้สัมภาษณ์แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะตัดคำสัมภาษณ์เราไปออกช่วงไหน คือการให้สัมภาษณ์ถ้าเป็นแหล่งข่าวก็ต้องไว้เนื้อเชื่อใจกับนักข่าวที่มาให้สัมภาษณ์ผมมีประสบการณ์ไม่ค่อยดีกับนักข่าวบางค่ายบางสำนัก เวลาให้สัมภาษณ์ไปแล้วก็ไปพาดหัวลักษณะเสียหาย ไม่ใช่เฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์แต่ยังมีทีวีบางค่ายก็เป็น สัมภาษณ์ยาวหลายนาทีแต่ไปตัดออกช่วงสั้นๆในช่วงไม่สำคัญแล้ว คนที่ดูทีวีก็ดูเฉพาะช่วงนั้น ผมก็ไม่ให้สัมภาษณ์เพราะผมรู้สึกว่าไม่แฟร์ (ยุติธรรม) สำหรับผมแบบนี้ คือลักษณะการทำข่าวไม่ตรงไปตรงมา มันมีแง่ความรู้สึก ดังนั้นมีสื่อจำนวนหนึ่งที่ผมไม่ให้สัมภาษณ์
ถามว่ามีเลือกให้สัมภาษณ์ไหม เมื่อก่อนผมไม่เลือกแต่หลังๆผมก็เลือก และผมรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องให้สัมภาษณ์สื่อซึ่งตั้งป้อมด่าผม เพราะผมไม่รู้จะคุยกับเขาทำไมเพราะไม่มีประโยชน์ นอกจาก (เสียงดัง) บางทีล่าสุดมีสื่อบางสำนักที่ด่าผมก็ไปดักรอผมบรรยายไปดักแต่เช้าก็ให้สัมภาษณ์ก็ไปทดลองดูว่าจะลงข่าวอย่างไร แต่ข่าวที่ลงบางทีก็ลงตรงแต่ไปพาดหัวอีกแบบหนึ่ง บางทีก็เห็นใจนักข่าวสัมภาษณ์แล้วลงตรง แต่ว่าคนพาดหัวคนหนึ่งก็ไม่รู้ว่าทำให้คนที่ทำข่าวในวิชาชีพทำให้ทำข่าวยาก บางทีแหล่งข่าวก็ไม่มีจิตใจจะให้สัมภาษณ์

อาจารย์รู้สึกไม่เป็นธรรมจากการเสนอข่าวของสื่ออยากจะเรียกร้องอะไรไปยังสมาคมวิชาชีพสื่อหรือไม่

จริงๆไม่ต้องเรียกร้อง เพราะสมาคมวิชาชีพน่าจะรู้ตัวของเขาเอง ว่าเขาควรทำอะไร สมาคมองค์การวิชาชีพตั้งขึ้นมาดูแลมาตรฐานการประกอบวิชาชีพในสาขาของตัว ควรที่จะเห็นรู้ว่ามาตรฐานแง่การนำเสนออยู่ตรงไหนใครที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐาน เอาล่ะแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผมพูด แต่สื่อต้องนำเสนอในสิ่งที่ผมพูดอย่างตรงไปตรงมาแล้วโต้แย้งในสิ่งที่ผมพูดด้วยเหตุด้วยผลของสื่อ แต่ถ้าเกิดสื่อฉบับไหนไปบิดสิ่งที่ผมพูดหรือนำเสนอข่าวไม่ครบเลือกบางเรื่อง ไม่เลือกบางเรื่องในบริบทที่มันใหญ่มากๆจะเป็นปัญหา ซึ่งผมรู้ว่าองค์การวิชาชีพสื่อก็รู้ว่าควรทำอย่างไร แต่เรื่องนี้อาจเป็นปัญหาความอ่อนแอในวงการวิชาชีพสื่อมวลชนไทย ความไม่เข้มแข็งการไม่สามาถยืนยันในหลักการพื้นฐานของวิชาวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ได้

อาจารย์ถูกฝาแฝดทำร้ายด้วยการชกต่อยนั้นต้นเหตุเกิดจากการกระตุ้นผ่านการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนหรือไม่
เรื่องที่ฝาแฝดทำร้ายผม โอเคก็มาจากสื่อนำเสนอ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมแล้วมาจากอิทธิพลของสื่อน่าจะมาจากพวกไปรษณียบัตรด่าทอต่างๆจากสิ่งที่สื่อนำเสนอมากกว่า ส่วนเรื่องฝาแฝดทำร้ายผมในความรู้สึกผม เขาไม่น่าทำเองโดยตัวเขาเองแต่น่าจะรับใบสั่งมาให้ทำ การประเมินว่ารับใบสั่งมาให้ทำ ก็ต้องไปประเมินถึงคนอยู่เบื้องหลังที่ให้ใบสั่งมาให้ทำว่าคนที่อยู่เบื้องหลังการสั่งมาให้ทำนั้นไม่เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวแต่อาจเป็นคนที่อาจเสียประโยชน์จากสิ่งที่ผมได้นำเสนอไปตั้งแต่เรื่องการลบล้างผลพวงการรัฐประหารจนถึงเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่เรื่องโดดเด่นไปตรงปัญหาที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย
ดังนั้นเรื่องนี้อาจส่วนหนึ่งจากคนเสียประโยชน์จากการที่ผมแสดงความคิดเห็น แล้วเขาเก็บความไม่พอใจไว้อยู่ในระดับหนึ่ง เมื่อเรื่องมันซาลงก็ส่งผลให้มาทำร้ายผม ถึงแม้คนฝาแฝดจะไม่ได้รับว่าใครเป็นคนสั่งก็ปกติ แต่ผมประเมินจากสิ่งที่เขาทำแวดล้อมจากคำให้สัมภาษณ์และโน้มเอียงโดยเชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะอยู่ข้างหลังมากกว่า ถ้าเป็นแบบนั้นจริง อิทธิพลสื่อนำเสนอนั้นอาจจะมีไม่มากแต่ว่าเป็นเรื่องเสียประโยชน์มากกว่า แต่ที่มีผลจริงๆคือคนที่เกลียดชังผมพร้อมทำร้ายผมก็จะมี

หลังเกิดเหตุการณ์ถูกรุมทำร้ายังคงให้สัมภาษณ์สื่ออยู่หรือไม่

ก็ให้สัมภาษณ์อยู่ในเรื่องที่ควรให้สัมภาษณ์แต่ตอนนี้ยังไม่มีเรื่องประเด็นใดเพิ่มเติม เรื่องมาตรา 112 คงมีรวบรวมประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมดแล้วตอบอีกที ก็คงหาโอกาสเหมาๆแล้วผมจะพูดด้วยการจัดเสวนารวบรวมจากสื่อวิจารณ์แล้วเปิดให้ถามอยากถามอะไรก็ถาม ผมไม่มีปัญหาตอบทุกอย่างตรงไปตรงมา ผมบริสุทธิ์ใจไม่มีผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น

อิทธิพลการนำเสนอข่าวของสื่อทั้งการพาดหัวที่แฝงอคติ ถือเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการของนักวิชาการในนามคณะนิติราษฎร์หรือไม่
ผมคิดว่าคุกคาม มันเป็นเรื่องคุกคามอยู่แล้วโดยสภาพ เพราะว่าจริงๆเราต้องเข้าใจแบบนี้ก่อนว่าสิ่งที่นิติราษฎร์เสนอไปบนพื้นฐานของกรอบทางวิชาการมีเหตุมีผลรองรับ มีตัวอย่างต่างประเทศรองรับมีเหตุผลทางวิชานิติศาสตร์หลายเรื่องรองรับชัดเจน ที่เราเสนอก็เสนอเหตุผลว่าทำไมต้องเป็นอย่างนี้ มีคนเคยโทรศัพท์เข้ามาที่วิทยุรายการหนึ่งจะตัดคอนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ออกให้หมด อ.วีระ (นายวีระ ธีระภัทรานนท์ หรือ "วีระ ธีรภัทร") ก็ถามว่าเรื่องอะไร คนโทรฯก็บอกว่าเกี่ยวกับ 112 คุณวีระก็ถามว่ารู้ไหมว่าเสนออะไร เขาก็ตอบกลับมาว่าไม่รู้เลยนี่คือปัญหามากๆพอถามจี้คนที่เกลียดผม พอถามว่ารู้ไหมว่าเสนออะไรบ้างความเห็นของเขาก็ไม่รู้เรื่องแต่เกลียด อยากจะทำร้ายอยากจะฆ่า (เสียงดัง) แปลว่าความรับรู้ของคนกลุ่มนี้กระพ่องกระแพ่งของสื่อมวลชนใช่ไหม
คือสมมุติเป็นแบบนี้แล้วสังคมก็จะไม่มีใครกล้าพูดอะไร ทั้งที่ควรพูดแล้วพูดแบบตรงไปตรงมาด้วย และไม่ต้องกลัวว่าจะไปทำร้ายใคร ไม่เห็นด้วยก็เอาเหตุผลมาหักล้างกัน เหตุผลอีกฝ่ายหนึ่งดีกว่าของนิติราษฎร์ก็จะตกไปไม่มีใครเอาด้วย ผมไม่เห็นว่าจำเป็นต้องใช้วิธีการพาดหัวข่าวรุนแรงมุ่งให้เกิดความเกลียดชัง หรือใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันเลย เพราะผมไม่ได้เป็นนักการเมือง ซึ่งก็เป็นคนสอนหนังสือทั้งนั้นไม่ได้มีอิทธิพลใดๆในทางการเมืองด้วยซ้ำ ก็เห็นอยู่แล้วบางข้อเสนอบางพรรคการเมืองก็ไม่เอาด้วย มันก็พิสูจน์ด้วยอยู่แล้วว่าเราไม่ได้เกี่ยวพันอะไรด้วยกับใครเขา เราทำด้วยตัวเราเองโดยบริสุทธิ์ใจ การที่สังคมไม่เห็นด้วยแต่ตราบเท่าแสดงความไม่เห็นด้วยบนพื้นฐานเหตุผลและเรื่องนี้สื่อมวลชนต้องทำให้เห็นอย่างมีคุณภาพ สื่อจะมีบทบาทนำสังคมได้ด้วย

ปรากฏการณ์นิติราษฎร์เสนอแก้ไขมาตรา 112 เสนอลบล้างผลพวงการรัฐประหาร สรุปแล้วเป็นเพราะความขัดแย้งของสังคมหรือความขัดแย้งที่เกิดจากสื่อมวลชนนำเสนอกันแน่
มันผนวกกัน เพราะพื้นฐานจริงๆก็คือความขัดแย้งของสังคมอยู่แล้ว แต่ว่าความขัดแย้งสังคมทำให้แรงขึ้นโดยบทบาทของสื่อมวลชนและรวมถึงบทบาทนักวิชาการด้วยส่วนหนึ่ง แต่ว่าโดยหลักความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ด้วยความแตกแยก ถูกทำให้แรงขึ้นโดยโทนการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน สื่อเลือกเสนอบางประเด็นและไม่เลือกเสนอบางประเด็น พูดง่ายๆปัญหาสุดท้ายของสังคมเราคือ การที่สังคมไทยเลือกพูดบางเรื่องและเงียบในบางเรื่อง อันนี้คือปัญหาใหญ่มากๆ การเลือกพูดบางเรื่องและไม่พูดในบางเรื่องนั้นในด้านหนึ่งเท่ากับทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น และทำให้ความขัดแย้งระหว่างผู้คนมีมากขึ้น วิธีการเดียวคือต้องพูดได้ทุกเรื่อง สื่อต้องรายงานรอบด้าน อย่างผมนำเสนอไปนั้นก็ไม่ต้องกลัวอะไรเลย ถ้าผมทำอะไรผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดีระบบกฎหมายบ้านเมืองมีอยู่

ถ้าสื่อมวลชนยังคงเลือกข้างทางการเมืองและเสนอข่าวตอกย้ำภาพความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอยู่ต่อไปจะเกิดปรากฎการณ์อะไรในแวดวงวิชาการ
ก็อาจจะมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งจะเลี่ยงไม่พูดเรื่องเหล่านี้ไปเลยสังคมจะขาดมุมมองอื่นๆที่ทำให้สังคมนั้นแข็งแกร่งทางสติปัญญา ถ้าสังคมไหนขาดนักวิชาการที่กล้าจะพูดในเรื่องที่สังคมมองไม่เห็นหรือสังคมไม่กล้าพูดหรือสังคมพูดง่ายๆยังไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น ความรู้ความก้าวหน้าจะเกิดขึ้นไม่ได้ สังคมนั้นจะกลายเป็นสังคมที่มืดบอดในทางสติปัญญาไป แต่ถ้าเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นและพิสูจน์กัน ความคิดเห็นไหนไม่ได้เรื่องไม่ได้ความคนตรึกตรองไปก็ตกไปเอง ความคิดไหนดีเถียงกันมีพลังของเหตุของผลก็เป็นความคิดขึ้นมานำสังคม สังคมก็จะมีความแข็งแกร่งทางสติปัญญาแล้วสังคมแบบนี้เป็นสังคมที่พึงปรารถนาในระบอบประชาธิปไตย

อยากฝากอะไรหรือข้อเสนอแนะทิ้งท้ายอะไรไปถึงสื่อมวลชนที่อาจเลือกข้างไปแล้วบ้าง

ผมว่าเขารู้อยู่แล้วเขารู้จรรยาบรรณพื้นฐานอยู่แล้วเพียงแต่ทำตัวให้ตรงตามจรรยาบรรณพื้นฐานวิชาชีพให้ตรงไปตรงมา ผมไม่ได้พูดว่าตัวผมแตะต้องไม่ได้นะครับ ผมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ไม่มีปัญหา ความคิดผมไม่เป็นปัญหาแต่ขอให้เป็นธรรม เวลาผมวิพากษ์วิจารณ์ใครก็นำเสนอเหตุผลไม่เคยก้าวล่วงส่วนตัวใครเลย พูดง่ายๆคือน่าจะมีสุภาพบุรุษในการต่อสู้ทางความคิด