พลันที่ข่าวประชาสัมพันธ์ของศาลรัฐธรรมนูญข่าวที่ 16/2555 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ได้เผยแพร่ในเวบไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ เนื้อหาที่โดดเด่นมากที่สุดในข่าวฉบับนี้คือเนื้อหาในวรรคที่สองของหนังสือข่าวที่ระบุว่า
“ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ให้สิทธิแก่ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยให้มีสิทธิสองประการ คือ หนึ่งเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ และสองยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว....”
แน่นอนว่าในวงการนักกฎหมายการใช้การตีความกฎหมายดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ การตีความดังกล่าวเป็นการตีความโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งล้วนแต่เป็นนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูงในสาขาวิชาที่ได้ร่ำเรียนมาบวกด้วยประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวกับการใช้การตีความกฎหมายที่มีมาอย่างยาวนาน หาไม่แล้วคงไม่ได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอันสำคัญของประเทศชาติเป็นแน่แท้
เมื่อได้อ่านข่าวประชาสัมพันธ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้บรรยายการตีความมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ หากไม่ได้อ่านหรือติดตามผลงานของศาลรัฐธรรมนูญมาบ้างคงจะเกิดความประหลาดใจมากว่าในกรณีนี้ ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามช่องทางที่กำหนดไว้ในมาตรา 68 นั้น หากอ่านถ้อยคำตามเนื้อหาของกฎหมายแล้วย่อมตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่า ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องในกรณีนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แก่ อัยการสูงสุด เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม อย่างที่เรียนไว้แล้วว่าด้วยผลงานที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญ การตีความว่าผู้ที่ทราบถึงการกระทำตามมาตรา 68 นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดแล้วให้อัยการสูงสุดยื่นต่อศาล หรือสามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้โดยตรง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกและน่าตื่นเต้นประการใด แม้ว่าการตีความดังกล่าวจะขัดต่อถ้อยคำที่เป็นลายลักษณ์อักษรของมาตรา 68 ที่ใช้คำว่า “และ” ไม่ได้ใช้คำว่า “หรือ”
การตีความว่าผู้ที่ทราบถึงการกระทำดังกล่าวนั้นมีสิทธิสองประการนั้น คำถามที่ตามมาก็คือถ้าสามารถยื่นคำร้องได้โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วจะกำหนดให้สามารถยื่นผ่านอัยการสูงสุดอีกด้วยเหตุอันใด ก็เท่ากับว่าบทบัญญัติมาตรา 68 ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีสิทธิยื่นคำร้องโดยเฉพาะที่กำหนดให้ยื่นผ่านอัยการสูงสุดนั้น เป็นส่วนเกินที่ไม่ควรมีในการตรากฎหมาย (ในที่นี้คือรัฐธรรมนูญ) เพราะด้วยการใช้การตีความกฎหมายแล้ว หากกรณีใดจะกำหนดผู้มีสิทธิยื่นคำร้องแตกต่างกันเป็นสองกรณีแล้ว ย่อมมีเหตุผล และที่สำคัญคือต้องให้ทั้งสองกรณีนั้นสามารถใช้บังคับได้ในทางข้อเท็จจริงด้วย หาไม่แล้วก็เท่ากับเป็นการแสดงถึงความสามารถของผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 เอง ว่าร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะฟุ้งเฟ้อเกินไปหรือไม่ โดยร่างเพื่อกำหนดให้ผู้ที่ทราบถึงการกระทำตามมาตรา 68 นั้น มีสิทธิสองประการคือยื่นเองต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือยื่นผ่านอัยการสูงสุดเพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกต่อหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเหตุใดจึงไม่กำหนดให้ผู้ที่ทราบถึงการกระทำดังกล่าวสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แต่เพียงอย่างเดียว จะกำหนดให้สิทธิไปยื่นผ่านอัยการสูงสุดเพื่ออะไรอีก
อย่างไรก็ตามด้วยผลงานของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจึงไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดการตีความเรื่องผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญนั้นจะปรากฏออกมาตามในข่าวประชาสัมพันธ์ของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยที่สุดก็มีความรู้สึกที่ดีว่าศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายไปในทางที่ให้สิทธิแก่ประชาชนมากขึ้นดังเช่นในกรณีนี้ที่ตีความให้สิทธิสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงได้ ต่อไปนี้ก็ย่อมเป็นการง่ายขึ้นที่จะมีการยื่นคำร้องตามมาตรา 68 ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องไปยื่นผ่านอัยการสูงสุดตามความเข้าใจแบบดั้งเดิมแต่ประการใด น่าเสียดายอยู่ตรงที่ว่าการใช้การตีความดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลที่อาจจะเพิ่มความเข้าใจได้ว่าเหตุใดจึงตีความเรื่องสิทธิในการยื่นคำร้องตามมาตรา 68 ที่แตกต่างไปจากความคิดความเข้าใจแบบดั้งเดิม อาจเป็นเพราะข้อจำกัดในเรื่องของเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ที่ไม่สามารถกล่าวโดยละเอียดได้
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามต้องขอฝากเรียนรบกวนไปยังประธานศาลรัฐธรรมนูญ (นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์) “และ/หรือ” เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (นายชวนะ ไตรมาศ) รีบเร่งดำเนินการเข้าไปแก้ไขข้อมูลในเวบไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ www.constitutionalcourt.or.th ในส่วนของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อ “การใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ยังคงปรากฏเอกสารพีดีเอฟที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญที่มีชื่อไฟล์เอกสารว่า “concourt3.pdf” ในส่วนของ “(3) การพิจารณาวินิจฉัยกรณีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (มาตรา 68 และมาตรา 237) ซึ่งปรากฏอยู่ในหน้าที่สามของเอกสารดังกล่าวเนื่องจากในช่องหัวข้อ “ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง” ยังคงระบุว่าเป็น “อัยการสูงสุด” เพียงผู้เดียวอยู่ และในช่องหัวข้อ “วิธีการและเงื่อนไข” ยังคงระบุว่าผู้ที่ทราบการกระทำดังกล่าวมีสิทธิยื่นเรื่องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้นอยู่
จริงอยู่ว่าแม้ว่าแนวการวินิจฉัยมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมนูญที่มีในวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมาจะเป็นแนวความคิดแนววินิจฉัยใหม่ หาไม่แล้วเอกสารที่ชื่อ “concourt3.pdf” คงปรากฏแล้วว่าผู้มีสิทธยื่นคำร้องต่องศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีช่องทางสองประการ คือยื่นเองหรือยื่นผ่านอัยการสูงสูด ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลสอดคล้องกับแนวการใช้การตีความใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็นสมควรที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ “และ/หรือ” เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเร่งรีบดำเนินการสั่งการให้มีการแก้ไขข้อมูลให้สอดคล้องกัน โดยในการสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลดังกล่าวนี้
1. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ หรือ
2. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือ
3. เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลดังกล่าว ให้สอดคล้องกับ “แนวการตีความ(ใหม่)” ในส่วนของมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมนูญ
ท้ายที่สุดนี้ จึงขอให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ/หรือ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญรีบเร่งดำเนินการแก้ไข ข้อมูลในเวบไซต์ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความสับสนหรือความเข้าใจผิดในการใช้การตีความกฎหมาย อันจะเป็นการวางแนวการใช้การตีความกฎหมายอันเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่งโดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นคุโณปการอันหาได้ยากยิ่งในวงการนิติศาสตร์ไทยต่อไป
ด้วยความเคารพอย่างสูง |