ข่าวสด 25 มิถุนายน 2555 >>>
การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ 'ใบแดง' เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 'เก่ง' การุณ โหสกุล ส.ส.กทม. เขต 12 พรรคเพื่อไทย ฐานใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หาก ส.ส. ที่โดนใบแดงไม่ใช่นายการุณ เสียงวิพากษ์วิจารณ์อาจจะอื้ออึงกว่านี้
คำถามที่พุ่งตรงใส่ กกต. ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับตัวบุคคล แต่หากสงสัยในมาตรฐานการพิจารณาวินิจฉัย
ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมเกิดความคลางแคลงใจใน 'มติ' ของ กกต.
จิตติพจน์ วิริยะโรจน์
กมธ.กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา
ในแง่ กกต.มีเจตนาเร่งรีบตัด สินการให้ใบแดงของ ส.ส.เพื่อไทย กรณีปราศรัยใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จกับอีกฝ่ายหรือไม่นั้น ผมคิดว่าคงไม่เป็นเช่นนั้น
เพราะหลังจากการเลือกตั้ง (3 ก.ค. 2554) การวินิจฉัยชี้ขาด ส.ส. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นั่นหมายถึงกรอบเวลาภายในกำหนดสิ้นเดือนมิ.ย.นี้แล้ว
ขณะที่การทำหน้าที่ของ กกต. ด้วยมติ 3 ต่อ 2 อ้างเสียงประธาน กกต. เพิ่มขึ้นอีกเสียงเพื่อให้มติเป็นที่ชี้ขาดนั้น ก็เป็นสิทธิ์ที่ กกต. พึงกระทำได้ตามอำนาจ มาตรา 8 ตาม พ.ร.บ.ประกอบว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งเช่นกัน
แต่ในเรื่องความเหมาะสมก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะอันที่จริง กกต. สามารถชะลอเลื่อนไปวินิจฉัยในอีกสัปดาห์ก็ยังทัน รอให้ครบ 5 องค์ กกต. ก่อนก็ไม่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ส่วนจะมีเหตุผลอย่างไรคงไปหักห้ามไม่ได้ ซึ่งอำนาจ กกต. มี แต่อยู่ที่จะทำหรือไม่มากกว่า
เมื่อเรื่องถูกส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งย่อมมีความพร้อมและความครอบคลุมในการตรวจสอบข้อมูลหลักฐานที่แน่นอนกว่าศาลชั้นต้นอย่าง กกต. อีกทั้งองค์คณะศาลที่เป็นผู้วินิจฉัยมีการสลับปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา โอกาสวิ่งเต้นจึงน้อยกว่า ซึ่งเป็นที่มาของระบบวินิจฉัยชี้ขาดโดยเฉพาะนั่นเอง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในระยะยาว
ปกติ 3 ฝ่ายอำนาจจะคอยถ่วงดุลแต่ไม่แทรกแซงกันและกัน แต่ กกต. กลับทำหน้าที่ทั้งตุลาการและฝ่ายบริหารในคราวเดียวกัน ตั้งแต่การจัดการเลือกตั้งและยังคอยชี้ขาดให้ใบเหลือง ใบแดง ซึ่งควรแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ให้ขาดจากกัน
จำนวน 5 เสือ กกต. ในปัจจุบัน คอยคานอำนาจดูแลจัดการเลือกตั้งถือเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว แต่การวินิจฉัย ชี้ขาด ส.ส. พรรคการเมือง ควรจัดศาลเลือกตั้งเข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะจะดีกว่า
เช่นเดียวกับศาลล้มละลาย ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ที่แตกออกมาเฉพาะจากศาลยุติธรรม โดยมีองค์คณะที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่นนี้ กกต.ก็จะไม่ถูกครหา หรือวิพากษ์วิจารณ์ว่าก้าวก่ายการเมืองดัง 5-6 ปีที่ผ่านมาได้อีก
กิตติศักดิ์ ปรกติ
คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ถ้าการวิจารณ์ว่ากันตามเหตุผลก็เป็นเรื่องที่วิจารณ์ได้อยู่แล้ว ต้องดูว่า กกต. ให้เหตุผลการให้ใบแดงนายการุณ ว่าอะไร
ข้อกล่าวหาที่ระบุเป็นการกล่าวร้ายป้ายสีอันเป็นเท็จ หาก กกต. พิสูจน์ ว่าเป็นเท็จจริงก็มีอำนาจในแง่กฎหมายเขียนไว้
สมมติอีกฝ่ายพิสูจน์ได้ว่ามีการกล่าวร้ายในทางเป็นเท็จ เลยขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็น ซึ่งการแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์อาจใช้ถ้อยคำที่รุนแรงได้แต่ต้องไม่เป็นการดูหมิ่น เหยียดหยามศักดิ์ศรี ลดทอนความเป็นมนุษย์
แต่การแสดงออกในเชิงชักจูงใจให้เห็นด้วย ให้ลงคะแนนทำได้ แต่การกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นเท็จ ถ้ากฎหมายห้ามไว้ กกต. เห็นว่าเข้าเกณฑ์ กกต. ก็ทำหน้าที่เหมือนตำรวจ อัยการ ตัดสินเบื้องต้นแล้วส่งเรื่องให้ศาล
ปัญหาที่น่าสนใจที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้คือ มีกรณีอื่นทำนองเดียวกัน มีการกล่าวเท็จดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีระดับเดียวกันแล้ว กกต.ไม่ดำเนินการ ถึงจะน่าให้วิพากษ์วิจารณ์ ข้อเท็จจริงคล้ายกันแต่ปฏิบัติไม่เหมือนกัน อธิบายได้หรือไม่
ส่วนข้อกังวลว่าประเด็นนี้จะทำให้ต่อไปในการเลือกตั้งจะเกิดการร้องเรียนด้วยข้อกล่าวหานี้จำนวนมากนั้น กกต. ก็มีหน้าที่ต้องอธิบายว่าเกณฑ์ของกกต.คืออะไร ทำอะไรได้แค่ไหน อย่างไร
ไม่อย่างนั้นต่อไปไม่มีใครรู้ว่าอะไรบ้างที่ทำได้ เป็นการวางมาตรฐานให้ชัดเจน การตัดสินของ กกต.ต้องมีเกณฑ์ชัดเจน
ส่วนข้อสังเกต กกต.เร่งพิจารณาทั้งที่ไม่ใช่เรื่องด่วน และมี กกต.บางคนติดภารกิจ ถามว่าแล้วครบองค์ประชุมหรือไม่ ต้องว่ากันตามกฎหมายก่อน ไม่ใช่ใครไม่พอใจอะไรก็ไม่ประชุมแล้วเป็นผลให้ไม่ได้ทำงานกัน
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนที่ร่วมประชุม แต่อยู่ที่คนไม่มาประชุม ถ้าครบองค์ประชุมแล้วก็เป็นหน้าที่ต้องทำงาน แต่ถ้ามีเหตุผลโต้แย้งได้ว่าที่ไม่ได้เข้าเพราะไม่แจ้งล่วงหน้า เรียกประชุมฉุกเฉินทำให้เข้าร่วมไม่ได้เพราะติดเรื่องด่วน ต้องดูว่ามีเหตุผลและข้อโต้แย้งหรือไม่
เรื่องการใช้สิทธิของประธานในการชี้ขาดมติต่างๆ ต้องดูเป็นเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้หรือเปล่า แต่เรื่องสมควรไม่สมควรเป็นคนละเรื่องกัน
การวิจารณ์เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ทำได้ แต่ถามว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ เมื่อทำตามกฎเกณฑ์กติกาแล้วเขามีเจตนากลั่นแกล้งหรือไม่ ถ้าปรากฏหลักฐานว่าทำไปเพื่อกลั่นแกล้งก็ไปยกเลิกมติได้
แต่หากข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าทำขัดกฎหมายก็ไม่ใช่เรื่องกลั่นแกล้ง ก็ต้องไปถาม 2 เสียง ที่ไม่ให้ใบแดงว่าถ้ากฎหมายกำหนดและปรากฏชัดเจน ทำไมไม่เห็นด้วย เว้นแต่ข้อเท็จจริงไม่ชัดเจน
ปัญหาอยู่ที่ข้อเท็จจริง ถ้าไม่ได้บิดพลิ้ว กลั่นแกล้ง ก็เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติหน้าที่
สดศรี สัตยธรรม
กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ
ที่ผ่านมาการปราศรัยด้วยการโจมตีกันมีมาตลอด กกต. พิจารณากันเป็นกรณีว่าที่ถูกร้องเข้ามาส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงของฝ่ายตรงข้ามหรือไม่
กกต. ไม่ได้พิจารณาการปราศรัยหรือการหาเสียงที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในคะแนนนิยมของฝ่ายตรงข้ามของนาย การุณ เป็นคดีแรก แต่ทำมาหลายคำร้อง
ทั้งการร้องว่ามีพรรคการเมืองเผาบ้านเผาเมือง หรือมีพรรคการเมืองสั่งฆ่าประชาชน แต่เมื่อเราเห็นว่าไม่มีมูล หรือไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอก็ยกคำร้อง
กรณีของนายการุณ ดิฉันเห็นว่าสมควรยกคำร้องนั้นมีประเด็นใหญ่คืออัยการไม่ได้สั่งฟ้องในคดีนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่ดิฉันใช้พิจารณาร่วมด้วย รวมถึงยังมีความเห็นของเลขาธิการ กกต. และ กกต.กทม. เจ้าของสำนวนก็เสนอยกคำร้อง
แปลกใจว่าทำไมเรื่องนี้ต้องเป็นประเด็นใหญ่โต เพราะยังต้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งให้ชี้ขาด ขณะนี้ทุกคนต่างยึดข้อมูลของตัวเองมั่วไปหมด ไม่มีความเห็นที่ถูกต้องแท้จริง ควรรอว่าศาลจะมีคำพิพากษาอย่างไรดีกว่า
วันที่ 20 มิ.ย. มีเรื่องให้ที่ประชุม กกต.พิจารณาจำนวนมาก ทั้งการเลือกตั้ง ส.ส. และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น แม้ว่าจะมี กกต. 4 คนเนื่องจากนายสมชัย จึงประเสริฐ ติดภารกิจ ก็ต้องประชุมกัน
หากเลื่อนก็ต้องเลื่อนทั้งหมดกว่า 20 สำนวน จะเลือกว่าเลื่อนสำนวนนี้หรือไม่เลื่อนสำนวนนี้ไม่ได้ เพราะจะเป็นการเลือกปฏิบัติ
เมื่อคะแนนเสียงออกมาเท่ากันที่ 2 ต่อ 2 เสียงนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานในที่ประชุมก็จึงต้องออกเสียงอีก 1 เสียงตาม พ.ร.บ.กกต. เพื่อชี้ขาด
การลงคะแนนเสียงของ กกต. จะเป็นวิธีลับ ไม่มีใครรู้ว่าใครจะออกเสียงอะไร ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นใบแดงหรือจะยกคำร้อง มารู้ตอนสำนักการประชุมรวมคะแนนแล้วว่าเสียงออกมา 2 ต่อ 2 เสียง จึงเป็นหน้าที่ประธานที่ประชุมชี้ขาด
เนื่องจากนายอภิชาตได้ออกเสียงไปตั้งแต่ครั้งแรกว่าเป็นใบแดง อีกเสียงหนึ่งของนายอภิชาตจึงเป็นใบแดง จึงเป็นที่มาของเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2
ส่วนเสียงครหา มติ กกต. ที่ผ่านมามีธงในใจนั้น สังคมเข้าใจผิด กกต.อาจมีธงในใจแต่ไม่มีใครรู้ว่าอีกคนคิดอย่างไร ทุกคนออกเสียงแบบอิสระ ไม่มีการล็อบบี้กันก่อนลงคะแนนว่ากันไปตามพยานหลักฐาน
กกต .แต่ละคนไม่เคยเดินไปหากันที่ห้อง เจอกันแต่ในห้องประชุม จนมีคนพูดกันว่า กกต. ชุดนี้ไม่ถูกกันหรืออย่างไร