ขอ "มติ" เบิกทางหักดิบศาล รธน.

โพสท์ทูเดย์ 8 มิถุนายน 2555 >>>




วัดใจกันวันนี้ ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา วาระรับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญกรณีศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่าผลสุดท้ายจะออกหัวออกก้อยอย่างไร
แนวทางความเป็นไปได้มีหลายตัวเลือก ทั้งแบบสุดลิ่มทิ่มประตู
ประการแรก คือ ใช้เทคนิคทางสภาใช้เสียง 2 ใน 3 ของดเว้นข้อบังคับการประชุม ดึงวาระการลงมติวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาทันที อย่างที่ “ประชาธิปัตย์” ดักคอ
ทว่าทางเลือกนี้ออกจะสุดโต่ง และเร่งเชื้อกระแสคัดค้านจากสังคมให้ขยายความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และขัดต่อตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติ
ทางเลือกถัดมา ตามแนวทางปฏิบัติปกติ คือ พิจารณาตามวาระ “รับทราบ” ที่จะเปิดให้สมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. ส.ว. อภิปรายความคิดเห็นต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญแบบเปิดกว้าง แล้วเสร็จสิ้นวาระรับทราบโดยไม่มีการลงมติใดๆ
อีกทางเลือกที่เป็นไปได้ คือ ไม่พิจารณาลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะให้ที่ประชุมอภิปราย ก่อนลงมติว่าจะ “ปฏิบัติตาม” หรือ “ไม่ปฏิบัติตาม” คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ส่งมายังรัฐสภาให้รอการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย 5 คำร้องเรียน
ประเด็นถกเถียงทางข้อกฎหมายระหว่าง “นิติบัญญัติ” และ “ตุลาการ” ทำให้ทั้งสองฝั่งไม่อาจผลีผลามทำอะไรสุ่มเสี่ยงเวลานี้ เพราะหากพลาดพลั้งย่อมส่งผลถึงการ “ถอดถอน” หรือ “ยุบพรรค”
สัญญาณล่าสุด “วัฒนา เซ่งไพเราะ” โฆษกส่วนตัว “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ก่อนการพิจารณาวาระตามมาตรา 190 เรื่องกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ 6 ฉบับ “สมศักดิ์” จะหารือสมาชิกรัฐสภาว่าจะชะลอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 หรือไม่
หลังหารือแล้วจะไปฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ก่อนตัดสินใจอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร จากนั้นจะเอาเหตุผลมาผนวกกับฝ่ายกฎหมายรัฐสภา และฟังเหตุผลในฝ่ายที่เห็นต่างกับศาลรัฐธรรมนูญ
สอดรับกับท่าทีของ “เจริญ จรรย์โกมล” รองประธานสภา ที่เห็นว่าหากการอภิปรายเรื่องดังกล่าวมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน มีความเป็นไปได้ที่ประธานรัฐสภาจะถามความเห็นจากที่ประชุมเพื่อลงมติเห็นควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หากจะเดินหน้าต่อก็นัดประชุมครั้งต่อไปด้วยวาจาได้ทันที
ดูรายละเอียดสาเหตุที่ “เพื่อไทย” ไม่อาจดึงดันหักดิบลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที เพราะเหตุผลทางด้านอารมณ์มวลชน และข้อกฎหมายที่ยังไม่เคยมีบรรทัดฐานชี้ขาดมาก่อน
แม้สภาจะเปิดตำรางัดตอบโต้คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ไล่เรียงว่า “คำสั่ง” ดังกล่าวไม่เป็นไปตาม “คำวินิจฉัย” ศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 216 จึงไม่มีผลผูกพันต่อสภา
ไปจนถึงอำนาจคุ้มครองชั่วคราวนั้น ทางสภาชี้แจงว่า รัฐสภามิใช่หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น จึงไม่อยู่ในสภาพบังคับตามมาตรา 213 อีกทั้งคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งต่อเลขาธิการสภา ไม่ได้มีคำสั่งต่อประธานรัฐสภา หรือรัฐสภา
ทว่า “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญเอง ออกมาระบุว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีผลผูกพันต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216 ประกอบมาตรา 213 นั้นเป็นเรื่องความเห็นทางกฎหมาย
   “ทางสภาจะดำเนินการอย่างไรก็เป็นเรื่องของสภา ซึ่งก็ต้องรับผิดชอบกันเอง ถ้ามีเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรคในเวลาต่อมา ซึ่งทางศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถก้าวล่วงได้”
อ่านเกม “เพื่อไทย” วันนี้ จึงต้องการมติที่ประชุมร่วมรัฐสภาเป็น “หลักประกันความเสี่ยง” ที่หวังใช้เสียงข้างมากดึงดันเดินหน้าลงมติวาระ 3 โดยไม่ต้องฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากติดขัดเป็นเรื่องฟ้องร้อง ถอดถอน ยุบพรรค ก็จะใช้มติรัฐสภาไปต่อสู้ทางกฎหมาย
อีกด้านยังต้องการใช้เวทีรัฐสภาอภิปรายรุมถล่มศาลรัฐธรรมนูญตามที่ “เพื่อไทย” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นำทีมเปิดสงครามน้ำลาย คู่ขนานไปกับเวทีเสื้อแดงนอกสภา หลังจากทั้ง “เพื่อไทย” และ “เสื้อแดง” ผนึกกำลังแยกกันถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
รวมทั้งยังได้ขยายแผลรุมถล่ม “ตุลาการภิวัตน์” เข้ามาแทรกแซง “นิติบัญญัติ” เพิ่มน้ำหนักให้การรื้อโครงสร้างศาล องค์กรอิสระ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามความต้องการเพื่อไทย
ไม่ต่างจากทางฝั่ง “ประชาธิปัตย์” เรียกประชุมประเมินสถานการณ์วานนี้ วิเคราะห์ว่า “เพื่อไทย” เตรียมใช้เวทีถล่ม “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นหลัก ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็จะใช้สิทธิอภิปราย สนับสนุนให้ดำเนินการตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งจะสะท้อนข้อเท็จจริงว่า ที่ผ่านมารัฐสภาก็ปฏิบัติตามคำสั่งมาแล้วด้วยการเลื่อนการประชุมรัฐสภา ซึ่งมีกำหนดเดิม 5 มิ.ย. แต่ก็เลื่อนออกไป จนถึงวันที่ 8 มิ.ย. ก็ยังไม่บรรจุวาระการลงมติในวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่ใช่การมาถกเถียงกันว่ารัฐสภาจะปฏิบัติตามหรือไม่ เพราะประธานรัฐสภาก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งไปแล้ว
ส่วนหากมีการหักคอให้ลงมติใดๆ ทางพรรคประชาธิปัตย์ยังยืนยันเจตนารมณ์คัดค้าน และจะไม่ร่วมลงมติที่จะมีผลผูกพันให้นำไปใช้อ้างอิงดำเนินการต่อไป
ทางฝั่ง ส.ว. เวลานี้เสียงสะท้อนจากกลุ่ม 40 ส.ว. ยังเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องรีบด่วนเร่งร้อนอะไร เพราะรัฐธรรมนูญเขียนกรอบแค่ลงมติวาระ 3 ต้องห่างจากวาระ 2 ไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่ไม่ระบุว่าจะลงได้ถึงเมื่อไหร่ จึงไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อร้องเรียนให้เรียบร้อยค่อยพิจารณาลงมติวาระ 3 ก็ไม่สาย
ที่สำคัญ ความเสี่ยงที่ติดร่างแหถูกยื่นถอดถอนไปกับ “เพื่อไทย” หากดึงดันหนุนกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่สนใจคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นอีก “ปัจจัย” ที่ ส.ว.ไม่อาจเอาเก้าอี้สถานะตัวเองมาเสี่ยงโดยไม่จำเป็น
ก้าวย่างของ “เพื่อไทย” ในรัฐสภาวันนี้จึงสุ่มเสี่ยง เพื่อเป้าหมายเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ