การเมืองวันต่อวัน สร้างความอึดอัดและความหดหู่ใจให้แก่เรามาก เพราะจะเห็นแต่ความขัดแย้ง มีผู้วิจารณ์ว่า พรรคการเมือง "อาละวาดแย่งของเล่น" ในสภา ศาลก็ถูกวิจารณ์ว่า "เหาะเหินเกินลงกา" หรือถูกสงสัยว่าอาจจะทำตาม "คำขอร้องของใคร" การเมืองไทยในระยะสั้นคงต้องเป็นเช่นนี้ไปสักระยะหนึ่ง คงจะเป็นเพราะกระบวนการเจรจาต่อรองทางการเมืองต้องใช้เวลา
หากเราจะ มองไปยาวๆ และสำรวจตรวจดูความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ณ ระดับรากหญ้า และการเมืองท้องถิ่นด้วย เราจะได้อีกภาพหนึ่งที่พอจะทำให้ใจชื้นขึ้นได้บ้าง เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางบวกเกิดขึ้นหลายประการ ล้วนแต่บอกให้เห็นว่า กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเมืองเป็นวงกว้าง (อ่านประชาธิปไตย) ได้ลงรากแน่นหนามากขึ้นและน่าจะชี้หนทางสู่เสถียรภาพในระยะยาวแก่สังคมไทย
หนึ่ง คือ ผลการเลือกตั้งทั่วไปทั้ง 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2544 ได้ตอกย้ำว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการระบบรัฐสภาประชาธิปไตย (อย่ามัวไปตระหนกตกใจว่าทั้ง 5 ครั้ง พรรคทักษิณชนะแทบจะขาดลอย) จากมุมมองของพัฒนาการสู่กระบวนการประชาธิปไตย เราอาจวิเคราะห์ว่าผลลัพธ์ดังกล่าว ทำให้ข้ออ้างของฝ่ายต่อต้านพรรคการเมืองที่ว่าพรรคทักษิณชนะเพราะการซื้อ เสียงนั้น หมดน้ำยาหรือเสื่อมมนต์ขลังไป
แบบแผนการออกเสียงเลือกตั้ง ที่มีเสถียรภาพมากขึ้นนั้นเป็นเพราะว่า มวลชนให้ความสนใจกับการเลือกตั้งมากขึ้น เนื่องจาก พวกเขาได้รับประโยชน์จากการเมืองดังกล่าว การซื้อเสียงขายเสียงยังไม่หมดไปเสียทีเดียว แต่ก็ได้ลดความสำคัญลงมาก
การ เมืองเลือกตั้งมีความสำคัญยิ่งขึ้นในระดับท้องถิ่น ตรงนี้เราเห็นได้ แม้ว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จะยังต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการจากภาคราชการก็ตาม แต่ได้มีพัฒนาการทางบวกเกิดขึ้นมากมาย กิจการที่เคยทำที่ส่วนกลาง เริ่มมีการโยกย้ายมาทำที่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมาก หมายความว่า องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นจะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ และในระยะยาว น่าจะช่วยลดภาระของรัฐบาลส่วนกลางลงไป ทำให้สามารถให้เวลากับการทำงานในประเด็นระดับชาติอื่นๆ ที่ยุ่งยากกว่าได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม
สองคือ สื่อสารมวลชนมีความหลากหลาย และได้ช่วยสร้างเสริมสังคมไทย ให้มีความตื่นตัวทางการเมืองเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ เทคโนโลยีด้านการสื่อสารได้ช่วยลดทอนภาวะที่รัฐบาลไทยเคยผูกขาดสื่อโทรทัศน์ และวิทยุเกือบจะเด็ดขาดลงไปบ้าง ขณะนี้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นผ่านสื่อสารออนไลน์หลายรูปแบบ (Social network) อีกทั้งเคเบิลทีวี และวิทยุชุมชน ทำให้พวกเขามีโอกาสรับรู้ข่าวสารที่หลากหลาย และเปิดช่องการอภิปรายถกเถียงกันในประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวางมากขึ้น
สามคือ ยุทธศาสตร์การอิงสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อการเมืองถึงคราวต้องทบทวน และยังได้ส่งผลสะท้อนกลับที่ไม่เป็นคุณ ความน่าเชื่อถือของกลุ่มที่พยายามใช้ยุทธศาสตร์นี้ลดลงโดยตลอด โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ อีกทั้งไม่อาจก่อตั้งพรรคการเมืองที่เป็นชิ้นเป็นอันได้กองทัพยังคงเป็น ปัจจัยเสี่ยงในการเมืองไทย แต่กองทัพเองก็เสี่ยงเหมือนกันถ้าจะทำรัฐประหารอีก ยกเว้นเสียแต่ว่าจะมีสถานการณ์พิเศษจริงๆ อย่างไม่คาดฝันเกิดขึ้น พรรคเพื่อไทยเองก็ดูเหมือนตระหนักดีว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันให้กองทัพอยู่อย่างสบายๆ โดยไม่แทรกแซงหรือแซะเก้าอี้ เป็นกลยุทธที่ดีที่สุด
สี่คือ รัฐบาลที่โอบรับโลกาภิวัตน์เพื่อให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต ขณะเดียวกันก็ทำให้ประชาชนระดับล่างมีรายได้สูงขึ้นเพื่อเป็นฐานของตลาดภาย ในควบคู่กับตลาดภายนอก ล้วนเป็นผลดีกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยิ่งการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น (ดังที่กล่าวมาข้างต้น) ได้มากเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีกับนักธุรกิจและเศรษฐกิจมากเท่านั้น โดยสรุป พัฒนาการทางการเมืองดีๆ หลายประการได้ลงรากลึกในสังคมไทยแล้ว
แม้ว่า "อุบัติเหตุ" อาจเกิดขึ้นได้อีก แต่สิ่งดีๆ ที่กล่าวมา ส่อว่าการเมืองไทยมีแนวโน้มจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาว และจะเป็นผลดีกับนักธุรกิจและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน