มติชน 2 มิถุนายน 2555 >>>
จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับ 5 คำร้องเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้พิจารณา ทำให้ต้องชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย. ออกไป มีความเห็นของนักวิชาการสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ต่อกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้
พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีต ส.ว.ตาก
การที่ศาล รธน. มีคำสั่งให้สภาผู้แทนราษฎรระงับการพิจารณาร่างแก้ไข รธน. มาตรา 291 ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการก้าวก่ายการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตุลาการที่ออกคำสั่งดังกล่าวจึงมีลักษณะเข้าข่ายที่อาจถูกถอดถอนตามบทบัญญัติมาตรา 270 ได้ ฉะนั้น จึงขอเสนอให้มีการรณรงค์เพื่อร่วมกันเข้าชื่อถอดถอนตามกระบวนการที่ รธน. บัญญัติไว้
รัฐสภาคือตัวแทนอำนาจสูงสุดของประชาชน จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องอำนาจกนิติบัญญัติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ตามหลักการประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของอังกฤษ ซึ่งเราถือเป็นแบบอย่าง เขาถือว่ารัฐสภามีอำนาจสูงสุดตามหลัก Supremacy of Parliament
เกษียร เตชะพีระ
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภูมิปัญญาชาวบ้าน (ยืมหน่อยนะครับคุณหมอประเวศ) ของศาลรัฐธรรมนูญ
ภูมิปัญญาฯ 1) เข้าใจว่าอำนาจอธิปไตยไม่ได้แยกจากกัน ไม่ได้แบ่งฝ่ายเพื่อให้ตรวจสอบถ่วงดุลกัน พาลหลงคิดว่าตนเองไม่เพียงแต่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยฝ่ายอื่น หากสามารถเอื้อมข้ามเส้นแบ่งอำนาจไปสั่งฝ่ายนิติบัญญัติได้ตามใจชอบซะด้วย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เท่ากับละเมิดการแบ่งแยกอำนาจตามรัฐธรรมนูญ
แล้วถ้าศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่เป็นยามพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กลับมาล่วงละเมิดหลักรัฐธรรมนูญเสียเองอย่างนี้ ... จะเหลือหลักอะไรอยู่ในแผ่นดินผืนนี้ของเราอีก
ภูมิปัญญาฯ 2) หลักเสรีประชาธิปไตยเกี่ยวกับกฎหมายมี 2 ประการ คือ
ก) What the law doesn′t permit, it forbids. และ
ข) What the law doesn′t forbid, it permits.
หลัก ก) นั้นแปลว่า "กฎหมายอนุญาตจึงทำได้" ไม่ให้ทำมาก ไม่ให้ทำเพ่นพ่านซี้ซั้วเลื่อนเปื้อนเลอะเทอะ ทำได้เท่าที่กฎหมายบอกให้ทำเท่านั้น เอาไว้ใช้บังคับจำกัดกำกับควบคุมองค์กรของรัฐซึ่งมีอำนาจมาก ให้ใช้อำนาจได้เฉพาะที่อนุญาตไว้เท่านั้น
หลัก ข) นั้นแปลว่า "กฎหมายไม่ห้ามจึงทำได้" ส่งเสริมให้ทำมาก นึกอะไรสร้างสรรค์ผาดแผลงอยากทำก็ทำไปตราบเท่าที่ไม่ผิดกฎหมายหรือกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ อันนี้เอาไว้ใช้กรณีเสรีภาพบุคคล เพื่อเปิดช่องส่งเสริมให้บุคคลทำอะไรต่อมิอะไรได้เต็มที่ขอแต่ว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามไว้
แทนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะยึดหลัก ก) สมฐานะบทบาทหน้าที่องค์กรของรัฐ แต่การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญหนนี้กลับเคลิ้มคล้อยไปตามหลัก ข) ... อย่างนี้ต้องถือว่าศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติผิดฝาผิดตัว ใช้อำนาจเกินเลยผิดหน้าที่บทบาทฐานะของตนเอง
ภูมิปัญญาฯ 3) ศาลรัฐธรรมนูญหลงผิดว่ามีอำนาจสั่งการบังคับฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เอาเข้าจริงศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเรื่องละเมิดอำนาจศาล ดังนั้นหากเขาไม่ทำตามคำสั่ง ก็ทำอะไรเขาไม่ได้ (ว่ากันตามกฎหมายนะ...)
ด้านกลับก็คือประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพวิจารณ์คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญนี้ได้เต็มที่โดยชอบแบบ free fire zone !
ปิยบุตร แสงกนกกุล
นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ ส่งผลสะเทือนต่อระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 3 ประการคือ
1. ต่อไปนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้กุมชะตากรรมของ "การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" ทุกครั้ง
2. ลำดับชั้นของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ จะเสียไปทั้งหมด
3. การสั่งให้สภาระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ชั่วคราว ไม่มีรัฐธรรมนูญเขียนไว้เลย แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังสามารถไปเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ นั่นหมายความว่า อนาคตอาจมีอีก
"ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นมาเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กลับเป็นองค์กรที่ละเมิดรัฐธรรมนูญเอง แล้วจะทำอย่างไร ?"
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
นักวิชาการอิสระด้านนิติศาสตร์
ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและบรรยายวิชานี้มาก็พอควร ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตามบทบัญญัติใดตามรัฐธรรมนูญที่จะสามารถออกคำสั่งให้ระงับยับยั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาได้ ผมว่ากรณีดังกล่าวส่งผลต่อระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญตามหลักวิชา ด้วยความเคารพนะครับ หากศาลรัฐธรรมนูญยืนยันในคำสั่งดังกล่าวสิ่งที่ศาลจำต้องอรรถาธิบายให้ได้ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญมีอย่างน้อย 2 ข้อ ดังนี้
1. นี่เป็นกรณีขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจหรือไม่ ?
2. ศาลรัฐธรรมนูญสามารถอธิบายถึงหลักอำนาจสถาปนาและหลักอำนาจที่ได้รับมอบมาจากรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าวได้หรือไม่อย่างไร ?
จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ท่านอาจารย์พนัสก็ดี อาจารย์เกษียรก็ดี อาจารย์ปิยบุตรก็ดี ได้พูดไปหมดแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็น "การไม่มีอำนาจกระทำการในการตรวจสอบร่างการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ" หรือหากจะกล่าวในเชิงหลักการในทางกฎหมายมหาชนพื้นฐานก็คือ "หลักไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ" นั่นเอง
สำหรับผม ณ ที่นี้ คงจะขอกล่าวสั้นๆ แบบสรุปในเชิงทฤษฎีกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (Comparative Constitutional Law) เกี่ยวกับเรื่องอำนาจในการตรวจสอบความชอบในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (Competence of the Review of Constitutional Amendments) ในกรณีที่ "รัฐธรรมนูญมิได้มีบทบัญญัติไว้ว่าด้วยการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" ดังนี้
1. หากประเทศใดใช้ระบบการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบอเมริกัน กล่าวคือ ให้ศาลยุติธรรม (ศาลสูงสุด หรือ Supreme Court) ทำหน้าที่ในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็จะ "มีความเป็นไปได้" ที่ศาลจะเข้ามาตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้มีการบัญญัติไว้ ทั้งนี้เนื่องจากว่าในระบบดังกล่าว ศาลยุติธรรมมีเขตอำนาจในการรับคดีเป็นการทั่วไป (ทุกประเภท) อยู่แล้ว
2. หากประเทศใดใช้ระบบการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบยุโรป กล่าวคือ มีศาลเฉพาะ (ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Court) ทำหน้าที่ในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็จะ "ไม่มีความเป็นไปได้" ที่ศาลเฉพาะดังกล่าวจะสามารถเข้ามาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยปราศจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ระบุให้อำนาจไว้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะมิได้มีการบัญญัติห้ามมิให้ศาลเฉพาะ (ศาลรัฐธรรมนูญ) เข้าไปตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ในรูปแบบยุโรปนี้ ศาลเฉพาะ (ศาลรัฐธรรมนูญ) "หาได้มีเขตอำนาจเป็นการทั่วไป" เฉกเช่นเดียวกับระบบอเมริกันไม่ หากแต่เป็นรูปแบบของ "เขตอำนาจที่จำกัด หรือเขตอำนาจพิเศษ" (Limited/Special Jurisdiction) ที่ "จะต้องมีการบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ" ดังนั้น จึงมิอาจที่จะตีความไปว่าศาลเฉพาะดังกล่าวมีอำนาจโดยปริยาย (Implied Power) ในการตรวจสอบความชอบด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้นั่นเอง