ปชป. เตือน ‘ขุนค้อน’ ระวังคุก ! เร่งปิดจ๊อบโหวต รธน. ชี้ชัดละเมิดอำนาจศาล ‘นิติเรด-เรืองไกร’ โผล่ ต่อต้านฝ่าย ‘ตุลาการ’
ยังมีความพยายามจากบางกลุ่มที่ออกมาต่อต้าน คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้รัฐสภางดการโหวต ร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ออกไปก่อน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เนื่องจากต้องไต่สวนคำร้องจากผู้ร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหนนี้ขัดต่อบทบัญญัติและกระทำการเพื่อล้มล้างระบบการปกครองหรือไม่
นิติราษฎร์ผสมโรงค้านศาล
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นักวิชาการ คณะนิติราษฎร์ ได้ออกแถลงการณ์โดยมีสาระว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำผิดขั้นตอน เพราะเรื่องนี้ผู้ร้องจะต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ แต่ผู้ร้องได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง กรณีนี้ไม่มีบทบัญญัติใดให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการได้ แต่ต้องทำตามขั้นตอน
คณะนิติราษฎร์เห็นว่าการตีความมาตรา 68 วรรคสองของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ขัดกับหลักการตีความกฎหมายทั้งในแง่ถ้อยคำ ประวัติความเป็นมา เจตนารมณ์ ตลอดจนระบบกฎหมายทั้งระบบ เป็นการตีความกฎหมายที่ส่งผลประหลาดและผิดพลาดอย่างชัดแจ้ง
ยุรัฐสภาอย่าไปยอมท่านเปา
อาศัยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด คณะนิติราษฎร์เห็นว่า
1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องในกรณีนี้ไว้พิจารณาได้ เนื่องจากการยื่นคำร้องในกรณีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกระบวนการและขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
2. คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ จึงไม่มีผลผูกพันรัฐสภาให้ต้องรอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากรัฐสภายอมรับให้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนี้มีสภาพบังคับทางรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ย่อมส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ และมีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ-ประชาธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิงในที่สุด
‘เรืองไกร’ ร่วมผสมโรงอีกแรง
ด้าน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต สว.สรรหา กล่าวว่า ในวันที่ 5 มิ.ย. นี้ ตนจะไปถอนคำร้องจากอัยการสูงสุด แล้วนำมายื่นโดยตรงต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพราะการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 15 ธันวาคม 2551 ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 เป็นผลให้ ส.ส. ของทั้ง 3 พรรคต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วันนับจากวันที่มีคำสั่งยุบพรรค แต่จากการตรวจบันทึกการประชุมวันลงมติเลือกนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส.ส. ของทั้ง 3 พรรค ที่ไปโหวตให้เป็นการบันทึกว่างเอาไว้ ดังนั้น ส.ส. ของทั้ง 3 พรรค ยังมีสถานภาพเป็นสมาชิกพรรคที่ถูกยุบไปอยู่เช่นเดิม จึงมีประเด็นให้พิจารณาว่า การเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาของ ส.ส. ของพรรคที่ถูกยุบไป ก็เท่ากับว่ามีการละเมิดต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลเป็นเด็ดขาดผูกพันรัฐสภา และทุกองค์กร อีกทั้งจำนวน ส.ส. ของทั้ง 3 พรรค มีจำนวนมากอาจทำให้ผลของมติในวันดังกล่าวมีจำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง
“เรื่องนี้ผมส่งให้อัยการสูงสุดไต่สวนมา 2-3 ปีแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นจึงขอใช้สิทธิ์ยื่นเรื่องโดยตรงให้ศาลรัฐธรรมนูญ และหวังว่าจะเร่งพิจารณาโดยเร็วเหมือนกรณีการยับยั้งการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้” นายเรืองไกร กล่าว
ทั้งบอกว่าในยุคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล ตนรวมถึง ส.ส.เพื่อไทย เคยยื่นร้องมาแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง โดยอ้างว่าเป็นกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะเสนอเป็นญัตติจึงไม่สามารถรับคำร้องไว้วินิจฉัยได้ แต่คราวนี้ทำไมถึงรับไว้วินิจฉัย
‘นิคม’ เมินศาล-หนุนโหวตทันที
ในขณะที่ นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ได้รับการประสานจากนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล ว่าจะมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณากรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในวันที่ 8 มิ.ย. แต่วันดังกล่าววุฒิสภามีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. ที่ค้างอยู่ 4 ฉบับ ดังนั้นวันที่ 5 มิ.ย. นี้ ตนจะขอประชุม ส.ว. กลุ่มย่อยไม่เป็นทางการเพื่อหารือกันก่อน
ส่วนการลงมติในวาระ 3 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมนั้น ยังไม่ได้รับแจ้งว่าจะพิจารณาในวันไหน เพราะช่วงนี้มีหลายกรรมาธิการของวุฒิสภา เดินทางไปดูงานต่างประเทศ หากให้ลงมติกันวันที่ 8 มิ.ย. นี้เลยอาจกลับไม่ทัน และคงต้องรอให้มีการประชุมวิปสามฝ่ายก่อน อย่างไรก็ตามส่วนตัวเห็นว่ารัฐสภาสามารถลงมติวาระสามได้เลย โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนนี้ยังไม่ใช่อำนาจ ยังไม่ถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องรอให้กระบวนการในฝ่ายนิติบัญญัติเสร็จสิ้นก่อน
ห่วงท่านเปาแทรกแซงนิติบัญญัติ
นายนิคม อธิบายต่อว่า เพราะมันมีขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 150-151 ที่กำหนดให้เมื่อลงมติในวาระสามแล้ว ก่อนขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ สามารถวินิจฉัยได้เพราะมีคำร้องยื่นรอไว้อยู่แล้ว แล้วตุลาการรัฐธรรมนูญแต่ละคนจะรู้ได้อย่างไร ว่าหากลงมติในวาระสามแล้วความเสียหายจะเกิด แต่ถ้ามีการยับยั้งโดยคำวินิจฉัยของท่านจริง ความเสียหายเกิดขึ้นแน่ กระบวนการพิจารณากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ จะถูกแทรกแซงโดยฝ่ายตุลาการ
เมื่อถามว่าจะมีการรวบรวมรายชื่อ ส.ส. ส.ว. เพื่อหนุนการโหวตในวาระสาม นายนิคมกล่าวว่า คงมี ส.ว. บางส่วนที่ร่วมลงชื่อด้วย และหากมีกรณีที่เห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส.ส., ส.ว. จำนวน 1 ใน 4 สามารถเข้าชื่อส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาไต่สวนได้ ไม่เข้าใจเหมือนกันตุลาการฯแต่ละคนล้วนเป็นนักกฎหมายผู้ใหญ่ทั้งนั้น อะไรทำให้ท่านกล้าที่จะวินิจฉัยแล้วมีคำสั่งออกมาอย่างนั้น สงสัยว่าเอาประเด็นไหนมาพิจารณา “ท่านไม่อยากให้ฝนตกลงมา แล้วเอามือไปปิดฟ้าซะก่อนฝนจะตกได้หรือ”
ประชุม 8 มิ.ย. ถก ‘กม.ฟอกเงิน’
ส่วนนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล กล่าวย้ำว่าวันที่ 5 มิถุนายนนี้ ได้งดการประชุมร่วมรัฐสภา ส่วนวันที่ 6-7 มิถุนายน มีการงดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปรองดอง ต้องชะลอไปก่อน แต่ทั้งนี้ หากจะมีการประชุม ต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่าจะเปิดประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องใด เพื่อไม่ให้มีความวุ่นวายเกิดขึ้น ทั้งนี้เป็นไปได้ว่า อาจจะนำพระราชบัญญัติปรองดองไปพิจารณาในสมัยประชุมหน้า แต่ยังต้องพิจารณากฎหมายฟอกเงินที่ยังค้างอยู่ และหวังว่า จะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อพิจารณากฎหมายนี้ ซึ่งได้หารือกันไว้ว่า จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 8 มิถุนายน เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไป
เพื่อไทยพร้อมเดินหน้าลุยต่อ
วันเดียวกันนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลง ว่า พรรคได้เรียกประชุม ส.ส.ในวันอังคารที่ 5 มิถุนายน ประเด็นหารือเพื่อทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคต่อการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ซึ่งคาดว่าประธานรัฐสภาจะเรียกประชุม วันที่ 8 มิถุนายนนี้
นอกจากเรื่องรัฐธรรมนูญแล้วจะมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติวาระ 3 ไว้ก่อน รวมถึงการพิจารณากรอบเจรจาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ฝ่ายบริหารเสนอและยังค้างพิจารณาในสภา ตลอดจนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่มีการคัดค้านจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วม ที่ประชุมมีข้อสอบถามจากสมาชิกตามที่ได้กำชับให้ลงพื้นที่ในวันหยุด เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนว่า พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่ได้เอื้อประโยชน์ใครและไม่ใช่เพื่อประโยชน์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีอาญาแผ่นดินคนเดียว แต่เพื่อประโยชน์คนทั้งชาติ
โต้กลับ ‘วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์’
โฆษกพรรคเพื่อไทย ยังกล่าวว่ากรณีนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ว่า ตุลาศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนขอให้นายวสันต์กลับไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และเชื่อว่านายวสันต์เองก็รู้ดีว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ เพราะศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับคำร้องจากประชาชนโดยตรงได้กรณีเดียว แต่ประเด็นนี้ต้องผ่านอัยการสูงสุดและอัยการสูงสุดจะเป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แม้แต่หนังสือ 10 ปีของศาลรัฐธรรมนูญก็ระบุตรงกัน
“จึงอยากถามบุคคลเหล่านี้ว่า ยังจำคำพูดของตัวเองขณะเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ได้หรือไม่ ผมก็แปลกใจ ตุลาการเสียงข้างมากมีความรู้ทางกฎหมายดี แต่อ่านกฎหมายง่ายๆ อย่างนี้ไม่เข้าใจหรือแกล้งความจำสั้น ทำอย่างนี้แสดงว่ามีนัยซ่อนเร้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคดี จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งใดๆ โดยเฉพาะการสั่งรัฐสภาชะลอการลงมติ ซึ่งรัฐธรรมนูญคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3” นายพร้อมพงศ์ กล่าว
ร้องศาล รธน. แก้คำสั่งใหม่
นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า เป็นการถ่วงดุลอำนาจ จึงไม่ถูกต้อง เพราะศาลรัฐธรรมนูญกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ตุลาการเสียงข้างมากทำผิดพลาดต่อประเทศวันนี้ยังกลับตัวทัน เปลี่ยนคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ยกเลิกการรับพิจารณาคดีได้ เพราะที่ออกคำสั่งให้ประธานรัฐสภาชะลอเรียกประชุมก็อ้าง ป.วิ แพ่งเช่นกัน วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญเหมือนรัฐอิสระ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่หัวหน้าปฏิวัติที่จะออกกฎหมายใดๆ ก็ได้ แต่ต้องอยู่ใต้กฎเกณฑ์ ต้องอยู่ในอำเภอของเหตุผล ไม่ใช่อำเภอใจ
นปช. ขยับล่าชื่อถอดถอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บริเวณหน้าสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ เขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ นายปัณณวัฒน์ นาคมูล ผู้ประสานงานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมคนเสื้อแดงอุตรดิตถ์ ตั้งโต๊ะเพื่อให้สมาชิก นปช.และคนเสื้อแดง รวมทั้งชาวอุตรดิตถ์ นำสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อร่วมลงชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ที่มีคำสั่งให้ชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ออกไป
นายปัณณวัฒน์กล่าวว่า การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน มีคำสั่งออกมาเช่นนี้ เป็นสัญญาณบ่งชัดเจนและประชาชนกำลังเข้าใจว่า ตุลาการศาลกำลังถูกกระบวนการอำนาจภายนอกเข้ามาแทรกแซงไม่ให้มีการแก้ไขและพยายามขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นกระบวนการสำคัญที่จะนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตยในบ้านเมือง ซึ่งการตั้งโต๊ะเช่นนี้ นปช.และคนเสื้อแดงอุตรดิตถ์ จะจัดไปตามสถานที่สำคัญ โดยเฉพาะตลาดสดทุกอำเภอของ จ.อุตรดิตถ์
“ได้จัดทีมประชาสัมพันธ์ไปทั่วจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้กลุ่มคนเสื้อแดง และ ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมลงชื่อถอนถอดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ซึ่งจะดำเนินการ 3 วัน ไปจนถึงวันที่ 6 มิถุนายนนี้ จุดสำคัญจะเป็นตลาดนัด ตลาดสด จุดนัดรวมพลของคนเสื้อแดง เชื่อว่าจะมีประชาชนร่วมลงชื่อจำนวนมาก” นายปัณณวัฒน์ กล่าว
ทีม กม. ปชป. เปิดข้อ กม. สวน พท.
วันเดียวกัน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่นายเจริญจรรย์โกมล รองประธานสภาฯและฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยรวมถึงกลุ่มนิติราษฎร์ ออกมาระบุว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ว่าสามารถทำได้และจะดำเนินการต่อในการประชุมสภาวันที่ 12 มิ.ย. นี้ว่า กรณีนี้ถือว่าเป็นการดันทุรังตามใบสั่งของนายใหญ่ เพราะมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญ ให้สามารถดำเนินการได้ตามสมควร ขณะที่มาตรา 216 ระบุให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นี้ มีผลเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและต่อทุกองค์กร มาตรา 300 ของรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน กำหนดอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ให้สามารถออกข้อกำหนด ระเบียบวิธีพิจารณาของศาลได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ออกระเบียบวิธี ขั้นตอนการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ตั้งแต่ปี 2550 โดยในข้อ 6 ของระเบียบวิธีดังกล่าว ระบุให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิฯแพ่ง) มาใช้ได้โดยอนุโลม ซึ่ง ป.วิฯแพ่งนี้สามารถคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ตัดสินวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งในการคุ้มครองชั่วคราวนี้ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ให้กับประเทศชาติหรือผลประโยชน์ โดยรวม ตรงกันข้ามเสียอีกที่เป็นการระงับ ชะลอความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้โฟนอินมาพูดกับคนเสื้อแดงและบอกว่าสามารถทำได้ต่อไปเลย เพราะไม่มีระบุในข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญนั้นถือเป็นการโกหกเพื่อบิดเบือนข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจผิด
ห่วง ‘ขุนค้อน’ เสี่ยงติดคุก
เมื่อถามว่า หากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์หรือขุนค้อน ประธานสภา ยังเปิดการประชุมเพื่อดำเนินการต่อเพื่อที่จะโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 นายวิรัตน์กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง เราก็ต้องหาประธานสภาคนใหม่ เพราะคนเก่าเสี่ยงกับการติดคุก เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่า มีผลผูกพันต่อทุกองค์กร ถ้าจะเดินหน้าต่อเพื่อนายใหญ่ก็เสี่ยงมาก และมีแต่เครือข่ายที่ต้องการเชลียร์เอาใจนายเท่านั้นที่ยุให้ทำ เพราะเป็นคนยุ ไม่ใช่คนทำ ที่ทำทั้งหมดมีจุดประสงค์เดียวเพื่อดิสเครดิตและล้มศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนที่เขาบอกว่า ใครซื้อได้ก็เป็นพวก ใครซื้อไม่ได้ก็เป็นศัตรู ซึ่งเรื่องนี้ตนจะเอาเข้าหารือในที่ประชุมพรรค และเพื่อฟังคำชี้แนะของผู้ใหญ่ในพรรคด้วยในวันที่ 5 มิ.ย.
เตือน พท. อย่าละเมิดศาล
นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญระบุให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ และในมาตรา 300 รัฐธรรมนูญ ระบุว่าหากยังไม่ได้ตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยใช้ก่อน ทั้งนี้ในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ข้อ 6 เปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนได้ และได้นำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ได้ด้วย ดังนั้นเมื่อส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด แต่อัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการ ศาลรัฐธรรมนูญที่รับเรื่องไว้ด้วย สามารถดำเนินการสั่งการได้เลย
“การที่พรรคเพื่อไทยและประธานสภาฯจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญนั้น เข้าใจผิดหรือแกล้งเข้าใจผิด จึงขอแจ้งถ้าฝืนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้
1. มีความผิดว่าด้วยเรื่องละเมิดอำนาจศาล
2. ส่อว่าจะกระทำความผิดรัฐธรรมนูญและข้อกำหนดถูกถอดถอนได้
3. ผู้ยื่นคำร้อง 5 คนว่าได้ดำเนินการผิดรัฐธรรมนูญและข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะดำเนินการออกหมายจับผู้ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
จึงขอเตือนว่าพรรคเพื่อไทยอย่า 2 มาตรฐาน อย่าใช้เสียงข้างมากลากไป เพราะกรณี ยุบพรรคไทยรักไทย ยุบพรรคพลังประชาชน พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยต้องติดคุก นั้นคือการกระทำความผิดกฎหมายทั้งสิ้น” นายถาวร กล่าว
หนุนศาลเบรกโหวต รธน.
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ให้สัมภาษณ์ว่า คำสั่งศาลให้ชะลอการโหวตร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ออกไปก่อน เพื่อพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหนนี้ จะเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ ว่า เป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว เพราะหากปล่อยให้มีการลงมติในวาระ 3 จนถึงขั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะสร้างความเสียหาย
“ผมเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เข้าข่ายการล้มรัฐธรรมนูญ และไม่มีหลักประกันว่าจะไม่แตะต้องหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์และศาล ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่จะนำเรื่องนี้ไปหารือในการประชุมรัฐสภาวันที่ 8 มิ.ย. เพราะควรดำเนินการนอกรอบด้วยการหารือวิปสามฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อน” นายสมชาย ย้ำ
ทั้งเชื่อว่าหากฝ่ายนิติบัญญัติจะไปหักล้างคำสั่งศาล ซึ่งเชื่อว่าจะมีการแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมลงมติ ฐานขัดคำสั่งศาลอย่างแน่นอน
อภิสิทธิ์เตือนรัฐบาลอย่าดื้อ
ในขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เร่งออกพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญนิติบัญญัติ เพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและลดการเผชิญหน้าต่อกรณีที่มีมวลชนคัดค้านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ นอกจากนั้นแล้วให้ใช้เวลาช่วงที่ปิดสมัยประชุม จนถึงวันที่ 1 ส.ค. เพื่อให้ทุกฝ่ายหาทางออกให้กับประเทศ
“ผมว่าวิธีการปิดสมัยประชุมสภาฯ เป็นทางออกที่ดีที่สุด ส่วนที่รัฐบาลอ้างว่าต้องเปิดสมัยประชุมต่อ เพราะจำเป็นต้องเร่งพิจารณาร่างกฎหมายฟอกเงินนั้น ผมเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องด่วน แต่รัฐบาลไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะเลื่อนเรื่องที่เป็นปัญหาออกไป ทำให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจว่า หากเปิดประชุมสภาฯแล้ว จะเป็นการขอเลื่อนหรือเพื่อลงมติ และขณะนี้มีหลายฝ่ายกังวลว่า จะมีการแทรกการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หวั่นเกิดความวุ่นวายเพิ่ม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีอาญาแผ่นดิน วีดีโอลิงค์ บนเวทีครึ่งทศวรรษ ความจริงวันนี้ ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ปล้นอำนาจประชาชนนั้น เป็นการสะท้อนพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าต้องการแต่เรื่องเงิน ทำให้ต้องโกหกประชาชน ส่วนตัวมองว่าหากรัฐบาลดึงดันเร่งเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระสามต่อไปโดยไม่ฟังคำสั่งศาลจะทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้าง
“พ.ต.ท.ทักษิณ ทำเพื่อตัวเองแต่นำผู้อื่น มาเป็นตัวประกัน ซึ่งความจริงการปรองดองแก้ปัญหาได้ ถ้าไม่เอาเรื่องการล้างผิดคนโกง หรือคนที่จงใจทำผิดอาญา โดยไม่เกี่ยวเรื่องการเมือง หรือปลดเรื่องส่วนตัวออกไป จะไม่มีปัญหา ทุกฝ่ายสามารถพูดคุยได้ อย่างไรก็ตามความขัดแย้งที่ผ่านมา ทั้งหมดเป็นเพราะรัฐบาลเป็นตัวเร่ง และหากฝ่ายนิติบัญญัติไม่ดำเนินการตามคำสั่งของฝ่ายตุลาการ และจะเกิดความวุ่นวายเพิ่มขึ้น และอาจนำไปสู่กระบวนการถอดถอนในที่สุด” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
แฉซ้ำใช้อำนาจปั่นหุ้นจนรวย
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงตอบโต้กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุบนเวทีครึ่งทศวรรษ ความจริงวันนี้ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ว่ามีเงินกว่า 64,000 ล้านบาท ว่า ข้อเท็จจริง เมื่อปี 2540 พ.ต.ท.ทักษิณ มีเงินไม่ถึง 40,000 ล้านบาท และก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเข้าสู่การเมืองได้ถือครองหุ้นมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท และเมื่อเข้ามาบริหารประเทศ มูลค่าหุ้นดังกล่าว เพิ่มสูงขึ้นเป็น 74,000 ล้านบาท ทำให้เห็นว่าเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจปั่นหุ้นก่อนที่จะขายทิ้ง ทำให้มีเงินเพิ่มกว่า 46,000 ล้านบาท ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ถูกยึดทรัพย์
“คุณทักษิณ ไม่ต่างจากนักธุรกิจที่คิดถึง แต่ผลประโยชน์ของตัวเอง มีแต่ความละโมบ และพยายามปั่นหัวคนเสื้อแดงให้ออกมาตายแทนตัวเอง เพื่อจะได้นำเงินและทรัพย์สินของตัวเองกลับคืนมา และให้ตัวเองพ้นผิด ผมมองว่าหากให้คนเสื้อแดงตายเป็นแสนคนก็ยังไม่พอ” นายชวนนท์ กล่าว
‘เทพไท’ ชี้ 5 ปัจจัยส่อรุนแรง
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีสัญญาณจะเกิดความรุนแรงจาก 5 ปัจจัย
1. มีการปลุกปั่นคนเสื้อแดงให้ออกมาเคลื่อนไหว นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง โดยอ้างว่าจะมีการรัฐประหาร ทั้งๆ ที่ไม่มีสัญญาณอะไรมาก่อน นำมาซึ่งความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ม็อบชนม็อบ
2. มีขบวนการดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายจาตุรนต์ ฉายแสง และกลุ่มนิติราษฎร์ รวมทั้งใช้รายการของสถานีโทรทัศน์ของรัฐ ให้ออกมาโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ ที่ออกคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่ 3 ออกไปก่อน นายเทพไทกล่าวว่า
3. มีการส่งสัญญาณ ว่าจะไม่ฟังคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในวาระที่ 3 รวมทั้งจะหาช่องทางพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ต่อ ทั้งที่รู้อยู่ว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายทั้งในและนอกสภา
4. มีความพยายามยกระดับการชุมนุมจากมวลชนนอกสภา โดยเฉพาะจากกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อหลากสี ที่พร้อมหยิบคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญไปยกระดับการชุมนุม และ
5. มีการเปลี่ยนตัวผู้ควบคุมดูแลการชุมนุม โดยให้ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รักษาราชการแทน (รรท.) ผบช.ภ. มาเป็น รรท.ผบช.น. และยังมีการซักซ้อมวิธีการสลายการชุมนุมผ่านสื่อ คล้ายต้องการข่มขู่ผู้ชุมนุม
เตือน ‘ยิ่งลักษณ์’ เลิกลอยตัว
“ปัจจัยทั้งหมดน่าจะแสดงให้เห็นว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้น จึงอยากเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เลิกลอยตัวทำเป็นไม่เกี่ยวข้อง เป็นแค่พริตตี้ทางการเมืองโดยไม่ยอมแสดงจุดยืนใดๆ ทั้งต่อการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมและร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง อยากให้แสดงภาวะผู้นำ ยุติความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยการเสนอร่าง พ.ร.ฎ.ปิดสมัยการประชุมสภา เพราะผลโพลล์ชื่อดัง 2 สำนักก็ออกมาตรงกันว่า ชาวบ้านกว่าร้อยละ 70 อยากให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับไปก่อน” นายเทพไท กล่าว
บุกทำเนียบจี้ปิดสมัยประชุม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยต่อการที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาจะเรียกประชุมสภาใดๆ อีกในช่วงเวลานี้ เพราะเกรงว่าจะเป็นการเปิดช่องให้มีการนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือลักไก่นำร่าง พ.ร.บ. ล้างผิดเข้าสภาอีก ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลควรทำที่สุดในขณะนี้เพื่อความปรองดองและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองก็คือ การเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนในเรื่องของแพง และพืชผลเกษตรราคาตกต่ำ บวกกับการเร่งออก พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสภา จึงซึ่งได้มอบหมายให้เลขานุการวิปฝ่ายค้านประสานไปยังวิปรัฐบาลแล้ว โดยในเช้าวันที่ 5 มิถุนายน จะมอบหมายให้ตัวแทนวิปฝ่ายค้านไปยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้ คณะรัฐมนตรีเร่งรัดออก พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสภา โดยเร็ว
ส่วนกรณีที่อดีต ส.ส.เพื่อไทย ออกมาเรียกร้องให้ประธานสภานัดประชุมลงมติแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ทันที โดยไม่ต้องฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตนเห็นว่าประธานรัฐสภาได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ด้วยการสั่งงดประชุมวันที่ 5 มิ.ย. จึงไม่ควรเรียกร้องให้ประธานสภา SmS กลืนน้ำลายตัวเอง