“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรายอมรับว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดสมบูรณ์ที่สุด แต่เรามองว่า มันเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดของการกลับคืนมาแห่งอำนาจของประชาชน การที่เราลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะให้ผลดีคือ ยุติระบบปฏิวัติรัฐประหารทันที คมช.สิ้นสภาพทันที ส่วนว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ดี มีข้อบกพร่อง มีบางจุดหลายจุดที่ท่านนำเสนอมานี้ ...การแก้ไขผมก็อยากจะให้เราทำแบบเมื่อปี 2540 เราเสนอให้ 5 หมื่นคนเท่านั้น แล้วก็ ส.ส. ในสภา 1 ใน 4 เท่านั้น เสนอแก้ไขมาตราเดียว แบบที่เราเริ่มทำในปี 2540 แล้วให้กระบวนการนั้นจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นใหม่”
นั่นคือคำกล่าวของ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อครั้งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในการดีเบตก่อนลงประชามติ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2550
แต่เมื่อวันศุกร์ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กลับพูดกับสื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 “ก็เห็นว่าเป็นไปได้เหมือนกัน (ที่จะเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)....เพราะรัฐสภาชุดนี้พิจารณากฎหมายแบบขายขาด แล้วโยนภาระให้สสร. ก็ต้องเสียเงินเลือกตั้ง สสร. มาให้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีกรอบว่าไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ต้องไม่แตะนะ ถ้าเขาร่างมาแล้วแตะล่ะ ใครจะทำไม อ๋อไม่เป็นไร มีประธานสภาเป็นผู้วินิจฉัย แต่ถ้าประธานสภาเห็นว่าให้ลงมติเลย เวลานั้นศาลรัฐธรรมนูญจะทำอะไรได้อีก เพราะเมื่อมีผลเป็นการลงประชามติไปแล้ว"
นี่เป็นคำพูดที่ฟังแล้วรู้สึกว่า ไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร ก็กวนน้ำให้ขุ่น เพราะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับแบบปี 2540 ก็มองเป็น “ขายขาด” “โยนภาระ” จะให้มี สสร. เลือกตั้ง ก็บอกว่าต้องเสียเงินเลือกตั้ง นี่ถ้าให้มี สสร. เลือกกันเองแบบ 2540 ก็คงบอกว่า “บล็อกโหวต”
ถามว่าอะไรคือ “ระบอบ” และการ “ล้มล้างระบอบ” ในความคิดวสันต์ คุณคิดว่า สสร. จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ หรือแก้รัฐธรรมนูญให้ประเทศนี้ไม่มีพระมหากษัตริย์ แล้วประชาชนยังลงประชามติหรือ บ้าไปหรือเปล่า
วสันต์ลองยกตัวอย่างหน่อยสิว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ล้มล้างระบอบ” จะออกมาอย่างไร
ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เปิดกว้าง วางรูปแบบได้หลากหลาย เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ให้มี กกต. มีศาลรัฐธรรมนูญ ให้วสันต์มานั่งเป็นประธานอยู่ตอนนี้ แล้วคุณถือสิทธิอะไรจะมาห้ามแก้นั่นแก้นี่ ถือสิทธิอะไรที่จะผูกขาดว่า “ระบอบ” ต้องไปเป็นอย่างที่คุณชี้
เฮ้ย ถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว
ถ้าอ่านทางคำพูดของวสันต์ก็ชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังต่อรอง ขอมีอำนาจตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติ สอดรับกับข้อเสนอของ “10 อรหันต์” กรรมการที่ปรึกษาของผู้ตรวจการแผ่นดิน ก่อนหน้านี้
ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญจะมามีอำนาจเหนือการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนได้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อตุลาการชุดนี้มีอำนาจและที่มาจากรัฐธรรมนูญที่กำลังจะถูกแก้ไข รัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร ซึ่งข้อบกพร่องสำคัญที่จรัญไม่ได้พูดไว้ตั้งแต่ต้นคือ การวางกลไกให้ตุลาการเข้ามายึดครององค์กรอิสระนั่นเอง
ถามว่า ถ้า สสร. จะให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ พวกคุณจะชี้อย่างไร
วสันต์อ้างว่าเป็นเรื่องตลก ที่เมื่อมีข้อกล่าวหาว่าล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญ กลับไม่มีใครปฏิเสธ แทนที่จำเลยจะชี้แจงข้อกล่าวหา กลับมาเล่นงานศาลรัฐธรรมนูญ
ก็เพราะศาลรัฐธรรมนูญทำเกินอำนาจไงครับ พอถูกวิจารณ์คุณกลับเฉไฉว่า คนไม่รู้กฎหมายมาวิจารณ์ ไปอ่านดูเสียบ้าง ไม่ใช่แค่นิติราษฎร์ ไม่ใช่แค่เสื้อแดง คุณสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตตุลาการ อดีต ปปช. ยังชำแหละเสียเละ
รัฐธรรมนูญ 2550 วางกลไกให้ตุลาการเข้ามายึดครององค์กรอิสระ โดยหวังจะให้ “คนดี” ใช้อำนาจชี้ขาดการเมือง แต่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องของประชาชน การใช้อำนาจตุลาการต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ใช่ความเชื่อถือตัวบุคคล ไม่ใช่ว่าเป็นคนดีแล้วจะใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ
กกต.เพิ่งแจกใบแดง “เก่ง" การุณ ด้วยมติ 2 ต่อ 2 แต่ประธานคือ อภิชาต สุขัคคานนท์ ใช้อำนาจประธานชี้ขาด เมื่อ 2 ปีที่แล้ว กกต.มีมติยุบพรรคประชาธิปัตย์ 4 ใน 5 ขาดอภิชาตคนเดียว แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็ยกคำร้องโดยอ้างว่านายทะเบียนพรรคการเมือง (อภิชาต) ยังไม่ลงความเห็น แถมทำประหลาด คือ ตอนแรกแจ้งว่า ขาดอายุความ แต่ต่อมาคำวินิจฉัยกลางกลับบอกว่า ตุลาการ 1 คนเห็นว่าขาดอายุความ อีก 3 คนเห็นว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ลงความเห็น
ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนดี มีประวัติสัตย์ซื่อ แต่คุณพูดถูกอยู่ประโยคหนึ่ง “ถ้าเชื่อถือในบุคคล ก็ไม่ต้องมีกฎหมาย”