'พท.' อัด 'ปชป.' ตั้งเวทีขวาง พรบ.ปรองดอง

คมชัดลึก 2 มิถุนายน 2555 >>>




"เพื่อไทย" อัด "ปชป." ตั้งเวทีลานคนเมืองขวาง พ.ร.บ.ปรองดอง จวก “ชวน-บัญญัติ-อภิสิทธิ์” จับมือทำลายรัฐบาล อัด พธม. ปิดทางเข้าออกสภา เข้าข่ายเป็นกบฏ จี้ตำรวจถอนประกันคดีก่อการร้าย ข้องใจศาล รธน. รับคำร้องร่างแก้ไข รธน. ของ ปชป. ชี้ไม่มีอำนาจรับเรื่องโดยตรงจากประชาชนได้ ต้องให้อัยการสูงสุดเป็นคนส่งเรื่องให้

วันที่ 2 มิ.ย. 55 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีพรรคประชาธิปัตย์จะจัดเวทีคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ลานคนเมือง วันนี้ว่า เป็นเรื่องน่าผิดหวังสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่มักอ้างว่ายึดมั่นในระบบประชาธิปไตยและรัฐสภาแต่กลับไม่ใช้เวทีรัฐสภาดำเนินการ ไปใช้เวทีนอกสภามาล้มล้างและทำลายรัฐบาล ตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า จะคัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดอง ทั้งในและนอกสภานั้น ทั้งนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกเรียกเป็นสุภาพบุรุษการเมือง แต่กลับเปลือยกายล่อนจ้อนทำลายรัฐบาลทุกวิธีการ วันนี้นายอภิสิทธิ์ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำ ปล่อยให้ลูกพรรคเป็นอันธพาลการเมือง และยังพูดให้ท้ายอีก จึงควรแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก อยู่ไปก็อายเปล่า ๆ วันนี้จะส่งปี๊บ 3 ใบไปให้นายชวน นายบัญญัติ และนายอภิสิทธิ์ใช้คลุมหัวตอนขึ้นเวทีที่ลานคนเมือง แม้แต่นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังบอกว่า หากเป็นหัวพรรคประชาธิปัตย์จะไม่พูดให้ท้าย แต่จะขอโทษประชาชน แม้ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ จะพูดได้ดี แต่ไม่มีสิทธิไปดึงเก้าอี้ประธานสภา
ส่วนกรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดล้อมรัฐสภาไม่ให้ ส.ส. เข้าสภาเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดอง เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. นั้น เข้าข่ายทำความผิดฐานก่อกบฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ แบ่งแยกราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกบฏต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ที่สำคัญแกนนำพันธมิตรมีคดีก่อการร้ายที่ได้รับการประกันตัว จึงสมควรถูกถอนประกันหรือไม่ กระบวนการดังกล่าวเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างฝ่ายค้านกับกลุ่มพันธมิตรเพื่อล้มรัฐบาล  ส่วนกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา แจ้งงดการประชุมรัฐสภาในวันที่ 5 มิ.ย. และงดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 6-7 มิ.ย. นั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยสามารถรอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ได้ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ซึ่งพรรคจะให้ ส.ส. ไปทำความเข้าใจกับประชาชนว่า กฎหมายดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่ได้ถูกมัดมือชกให้สนับสนุนตามที่เป็นข่าว
นายพร้อมพงศ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ทวิตข้อความว่า นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ จะไปพบนายสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา นักจัดรายการข่าวชื่อดังเพื่อขอให้จัดรายการให้เป็นกลางนั้น น่าจะเป็นการกดดันสื่อ ที่ผ่านมาแสดงพฤติกรรมดิบเถื่อนถ่อยในสภาไม่พอ ยังออกมาข้างนอกอีก จึงอยากให้สมาคมสื่อออกมาปกป้อง รวมถึงให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนออกมาแสดงความเห็นเพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองลุแก่อำนาจกดดันสื่อมวลชน

เพื่อไทยข้องใจศาล รธน. รับคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปชป.

นายพร้อมพงศ์ กล่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้พิจารณา ทำให้ต้องชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย. ว่า การรับคำร้องดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ระบุว่า จะต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งทั้ง 5 คำร้องของพรรคประชาธิปัตย์และแนวร่วมได้ยื่นให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว ดังนั้นต้องรอให้อัยการสูงสุดทำความเห็นก่อนจะรับคดี ไม่สามารถนำคำร้องมายื่นโดยตรงได้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องดังกล่าวไว้จึงขัดรัฐธรรมนูญชัดเจน ทั้งนี้การที่ประชาชนจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ มีกรณีเดียวคือ ตามมาตรา 112 กรณีที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่อาจยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติของกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยทางอื่นได้แล้ว นอกจากนี้รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ได้ให้อำนาจประชาชนและศาลรัฐธรรมนูญที่จะยื่นและรับคำร้องที่ประชาชนยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
นายพร้อมพงศ์ กล่าวอีกว่า ในฐานะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา การกระทำของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการรับ 5 คำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา จึงเป็นการกระทำผิดต่อตำแห่งหน้าที่ราชการ อาจเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และอาจถูกยื่นถอดถอนได้ เพราะเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญที่ชัดเจนมาก ทั้งนี้อดีตคณบดีนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ก็มีความเห็นในทำนองว่า การรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เข้าข่ายขัดกฎหมาย