นิธิ เอียวศรีวงศ์: ละครที่พระเอกไม่ขึ้นเวที

มติชน 26 มิถุนายน 2555 >>>


การแพ้โหวตของพรรค พท. ในสภา เรื่องให้นำญัตติ "อื่น" นอกวาระการประชุมมาพิจารณาลงมตินั้น ผมแน่ใจว่าไม่ใช่อุบัติเหตุ หลายคนในพรรคเพื่อไทยรู้อยู่แล้วว่าจะต้องแพ้โหวต แต่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถแถลงความจริงได้ ก่อนจะมาถึงการโหวต จึงเต็มไปด้วยเรื่องที่น่างุนงงหลายเรื่อง
ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจไปตามเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคแล้วว่า จะไม่มีการลงมติรับวาระที่สามของการแก้ รธน.มาตรา 291 นายกฯเห็นว่าจะต้องประคองมิให้บ้านเมืองเกิดความแตกร้าวมากไปกว่านี้
ฝ่ายต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีพรรค ปชป. เป็นหัวเรือใหญ่ มีนักการเมืองที่ได้รับแต่งตั้งในวุฒิสภาหนุน และมีกลุ่มเสื้อหลากสีซึ่งประกอบด้วยคนหลายประเภทร่วมด้วย แต่ขอให้สังเกตด้วยว่า แกนนำของ พธม. ประกาศแล้วว่า เขาต่อต้านการนำคุณทักษิณกลับบ้านโดยไม่ต้องรับผิดทางอาญา ฉะนั้น เขาจึงต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง แต่เขาไม่ต้านการแก้ไข รธน. ยกเว้นแต่เมื่อ รธน. ใหม่จะไปล้างผิดให้คุณทักษิณเท่านั้น
ประเมินจากพลังต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้บ้านเมืองแตกร้าวไปกว่านี้จริงหรือไม่ ผมคิดว่าคงเถียงกันได้ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ข้อสรุปง่ายๆ อย่างที่ท่านนายกฯอ้าง
จริงหรือที่ว่า หากผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญต่อไป จะทำให้เกิดความแตกร้าวในบ้านเมืองมากขึ้น และถ้าจริง ใครจะแตกกับใคร
เรื่องของเรื่องมันมากกว่าการประเมินผิด ท่านนายกฯอ้างว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์เตือนไว้ว่า ถึงผ่านร่างแก้ไข ม.291 ได้ เมื่อทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธย คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องขององคมนตรีก็จะไม่ผ่านเรื่องให้จะยิ่งเป็นวิกฤตทางการเมืองชนิดที่ถูกเรียกว่าคิลลิ่งโซนแก่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไปเลย
คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีอำนาจเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไร ไม่แปลกที่คณะองคมนตรีจะตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาทำความเห็นเบื้องต้นต่อเรื่องที่พระเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษา รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.ด้วย แต่คณะกรรมการชุดนี้ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะยับยั้งร่าง พ.ร.บ. ที่สภาทูลเกล้าฯ ได้ และไม่ว่าจะทำความเห็นอย่างไร อย่าว่าแต่กรรมการชุดที่อ้างถึงเลย แม้แต่คณะองคมนตรีเองก็ไม่มีอำนาจจะยับยั้งได้เช่นกัน
อันที่จริง สภาไม่ได้ส่งร่าง พ.ร.บ. ให้แก่องคมนตรี หากต้องส่งผ่านสำนักราชเลขาธิการขึ้นไปโดยตรง สมมุติว่าร่าง พ.ร.บ. ตกมาถึงองคมนตรี เพราะทรงปรึกษา ก็เป็นเรื่องภายในของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงเลือกจะปรึกษาหารือ และไม่ว่าคณะองคมนตรีจะมีความเห็นอย่างไร ก็ต้องถวายความเห็นนั้นต่อพระมหากษัตริย์อยู่นั่นเอง ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะเก็บเรื่องนั้นไว้โดยไม่ถวายคืน อีกทั้งเป็นพระราชอำนาจที่จะมีพระบรมราชวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง เพราะต้องทรงรับผิดชอบทางการเมืองต่อพระบรมราชวินิจฉัยนั้นๆ
เพราะจะมีพระบรมราชวินิจฉัยอย่างไรก็ตาม พระบรมราชวินิจฉัยนั้นก็เป็นของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ขององคมนตรี รัฐธรรมนูญให้อำนาจสภาไว้ว่าอาจทบทวนร่าง พ.ร.บ. ที่ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยได้ จะรับพระบรมราชวินิจฉัย หรือจะไม่รับก็ได้
หากคณะกรรมการกลั่นกรองขององคมนตรีก็ตาม องคมนตรีก็ตาม มีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่จะยับยั้งร่างกฎหมายในนามของพระบรมราชวินิจฉัยได้ จะมีรัฐสภาทำไม จะมีการเลือกตั้งทำไม จะมีฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งทำไม หรือพูดให้ถึงที่สุด จะมีรัฐธรรมนูญไปทำไม มีคณะองคมนตรีเพียงคณะเดียวก็พอแล้ว
น่าตกใจที่ ครม. ชุดซึ่งไร้เดียงสาต่อระบอบประชาธิปไตยถึงเพียงนี้ คือผู้นำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือที่จริงรัฐธรรมนูญได้ถูกแก้ไปแล้ว โดยนำเอาร่างรัฐธรรมนูญของ ร.7 ซึ่งไม่เคยนำมาใช้เลย กลับขึ้นมาใช้ อย่างไม่มีใครรู้ตัวเลย
ข้ออ้างของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคที่จะไม่ผ่านร่างแก้ไข ม.291 ในวาระสามนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่มีพื้นฐานในระบอบการเมืองรองรับ และคณะกรรมการฯก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มีพื้นฐาน แต่ต้องอ้างอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อไม่ให้ผ่านวาระสามให้ได้ และเพื่อสยบเสียงคัดค้านของรัฐมนตรีบางคน "ชัดเจนนะคะ"
อันที่จริงสัญญาณว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ผ่านวาระสามเห็นได้มาก่อนการประชุม ครม. นัดนั้นเสียอีก นับตั้งแต่ข้อเสนอปิดสมัยประชุม หรือยอมรับข้อเสนอของฝ่ายค้านที่จะไม่มีการลงมติใดๆ หลังการปรึกษาหารือเกี่ยวกับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญครั้งแรก (โดยไม่มี ส.ส.รัฐบาล ลุกขึ้นมาคัดค้านข้อเสนอนั้นสักคนเดียว) ฯลฯ แต่เพราะกระแสคัดค้านแนวทางนี้ทั้งในพรรค ในกลุ่มเสื้อแดง และในกลุ่มผู้สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังกระหึ่มขึ้น จึงต้องนำเข้าปรึกษาใน ครม. เพื่อส่งสัญญาณให้ชัด
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเช่นนี้ย่อมเป็นภาระทางการเมืองด้วย เพราะสร้างความผิดหวังอย่างใหญ่หลวงให้แก่มวลชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย มวลชนเหล่านี้ไม่ได้มีแต่เสื้อแดง ยังมีคนนอกอีกจำนวนอักโขอยู่ที่เห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ คมช. การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับการสนับสนุนกว้างขวางกว่ากฎหมายปรองดองเสียอีก
พรรคจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ระหว่างเขาควายเช่นนี้ ในที่สุดก็ตัดสินใจเล่นละคร เพื่อให้เสียงไม่มีทางพอจะผ่านวาระสาม จากนั้นมาจนถึงบัดนี้ ทุกอย่างเป็นการแสดง
ในวันประชุมสภา ส.ส.เพื่อไทย ขาดประชุม 12 คน ไม่ลงคะแนน 1 คน ไม่ตอกบัตร 2 คน เป็น 15 เสียงที่ทำให้มั่นใจได้ว่า เพื่อไทยไม่มีวันชนะโหวต
แม้แต่ที่เข้าร่วมประชุมและโหวตสนับสนุน ก็อาจมีละครแทรกอยู่ด้วย เช่นเมื่อ คุณพีรพันธุ์ พาลุสุข กำลังจะเสนอให้มีการลงมติ ผู้ประท้วงจนหยุดคุณพีรพันธุ์ลงได้ ก็คือ ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยเอง ซึ่งอภิปรายแกว่งไปแกว่งมาระหว่าง มติพรรคกับคะแนนเสียงของตนเอง ในที่สุดผู้ที่เสนอให้ลงมติกลับเป็น ส.ว.มุกดาหาร เหตุใดข้อเสนอนี้จึงไม่ได้มาจาก ส.ส.เพื่อไทย ซึ่งแม้จะอภิปรายกันยืดยาว แต่ไม่เคยเสนอให้ลงมติเลย
เมื่อผลการโหวตออกมาเช่นนี้ ละครฉากต่อไปก็คือ การแสดงความผิดหวังขุ่นเคือง คุณทักษิณ โทร. มาต่อว่าคุณบรรหาร ทั้งๆ ที่ ส.ส.ชาติไทยพัฒนา 11 คนที่เข้าประชุม ได้โหวตลงคะแนนสนับสนุนทุกคน ทำไมคุณทักษิณไม่โทร.ไปต่อว่าลูกพรรคเพื่อไทยซึ่งทำให้คะแนนเสียงขาดหายไปถึง 15 เสียง แต่เพราะเป็นละคร ก็ย่อมปรับความเข้าใจกันได้ง่าย
เป็นหน้าที่ของแกนนำเสื้อแดงในท้องถิ่นบางคน ต้องหา "แพะ" ให้คนเสื้อแดงได้ระบายความโกรธแค้นบ้าง คนเหล่านั้นคือประธานสภา และ ส.ส.เพื่อไทย 15 คนซึ่งทำให้เสียงขาดหายไป ถึงกับขู่ว่าพรรคไม่ควรส่งคนเหล่านี้ลงสมัคร ส.ส. ในนามของพรรคอีกต่อไป แต่ในความเป็นจริง "แพะ" เหล่านี้รับใช้พรรคเสียยิ่งกว่านักแสดงละครในสภาเสียอีก
ผมเชื่อโดยไม่มีหลักฐานรูปธรรม และได้เคยแสดงความเชื่อเช่นนี้มาแล้วว่า ได้มีข้อตกลงกันเรียบร้อยแล้วระหว่างฝ่ายอำมาตย์และคุณทักษิณ ว่าคุณทักษิณจะ "กลับบ้าน" ได้ในเงื่อนไขอะไรบ้าง หนึ่งในเงื่อนไขนั้นคือไม่แก้รัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ผมจึงอยากเดาต่อไปด้วยว่า ถึงอย่างไรวาระสามของร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ม.291 ก็ต้องตกไป แต่จะตกอย่างไรนั้นผมเดาไม่ถูก
ละครทั้งหมดที่นำแสดงโดยพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ ก็เพื่อตอบสนองเงื่อนไขตามข้อตกลงนั่นเอง
อยากได้ทักษิณ ก็อย่าเอารัฐธรรมนูญ อยากได้รัฐธรรมนูญ ก็อย่าเอาทักษิณ ดีเหมือนกันนะครับที่สถานการณ์นำเรามาถึงทางเลือกนี้ "ชัดเจนนะคะ" ว่าเราควรเลือกอะไร
ผู้บริหารพรรคเพื่อไทยและ ส.ส. อีกจำนวนหนึ่งได้เลือกแล้ว และในการเลือกด้วยการแสดงละครของพวกเขา ได้ทิ้งอะไรให้แก่เราในสังคมไทย อย่างน้อยสามอย่าง
1. ได้เกิดบรรทัดฐานขึ้นแล้วว่า ตุลาการมีอำนาจที่จะแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้ ถึงจะมีการเลือกตั้งโดยเสรีต่อไปข้างหน้า ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ฝ่ายชนชั้นนำจะใช้เพื่อควบคุมฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งได้ตลอดไป
2. บรรทัดฐานอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับก็คือ คณะองคมนตรีมีอำนาจกำกับควบคุมฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติอย่างเด็ดขาด ยิ่งกว่านั้นยังมีอำนาจควบคุมสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย เพราะอาจส่งหรือไม่ส่งเรื่องใดขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ได้ ตามแต่วินิจฉัยของตนเอง
3. แต่ก็มีมรดกที่ดีอยู่บ้าง นั่นคือหากมวลชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงหรือไม่ สามารถ "อ่าน" ละครเรื่องนี้ได้แตก ก็จะเป็นบทเรียนว่า การสนับสนุนพรรคการเมืองเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองของตนนั้น จะสนับสนุนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูอย่างไรก็ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ต้องพัฒนาสมรรถภาพขององค์กรมวลชนที่จะกำกับควบคุมเครื่องมือนั้นให้ได้ มิฉะนั้น เครื่องมือก็จะรับใช้ตัวมันเอง แทนที่จะรับใช้มวลชนผู้สนับสนุน