ประชาไท 2 มิถุนายน 2555 >>>
“ . . . .ก็ยังมีเพื่อนผมอีกคนหนึ่ง ได้คุยกับผม ท่านเป็นนายทหาร เป็นชั้นนายพล ต้องพูดว่า การปฏิวัติครั้งหนึ่ง ๆ พวกคณะปฏิวัติร่ำรวยกันมหาศาล ถ้าใครปฏิวัติแล้วมีเงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ถือว่ามือตกมาก ทำให้ผมมีความรังเกียจในการปฏิวัติรัฐประหารมากมายเหลือเกิน”
ข้างต้นเป็นคำกล่าวของนายโสภณ จันเทรมะ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ในระหว่างการอภิปรายในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนให้ต่อต้านการทุจริต” เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและการปราบปรามการทุจริตระดับสูง รุ่นที่ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งผู้เขียนได้เข้าศึกษาและจบการศึกษาไปแล้ว
ที่เป็นเช่นนี้ คงเป็นเพราะว่าในการทำรัฐประหารครั้งหนึ่ง ๆ คณะรัฐประหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงิน และไม่ต้องได้รับการตรวจสอบ ตัวอย่างเช่น คณะรัฐประหารสามารถเบิกเงินจากคลังหลวงออกมาใช้สอยตามอัธยาศัย เพื่อการยึดอำนาจ การรักษาอำนาจที่ยึดมา และเผื่อไว้เพื่อการหนีออกนอกประเทศ หากรัฐประหารนั้น ๆ กลายเป็นกบฏ แต่หากสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ก็ได้เงินไปใช้สบาย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องส่งคืนคลัง
โดยนัยนี้รัฐประหารก็คือการทุจริตในรูปแบบหนึ่ง เป็นการโกงเงินของประเทศชาติและประชาชน เอาไปใช้เพื่อการยึดอำนาจให้กับกลุ่มของตนโดยไม่ต้องส่งคืนคลังหลวง ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าไม่เคยมีรัฐประหารครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่แสดงรายรับรายจ่ายเพราะถือเป็นความลับแห่งชาติ แต่ในความเป็นจริงก็คือความลับในการปฏิบัติการยึดอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์ของตนเองเป็นสำคัญ
ที่ร้ายแรงไปกว่านั้นก็คือรัฐประหารเป็นการกระทำทุจริตที่กลับกลายเป็นว่าถูกต้องตามกฎหมาย เพราะมีอำนาจเหนืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการของประชาชนที่ถูกล้มล้างไปเพราะอำนาจรัฐประหาร นอกจากการทุจริตแล้ว ยังสามารถสั่งฆ่า สั่งยึดทรัพย์ หรือสั่งทำลายหรือให้รางวัลแก่ใครก็ได้โดยเสมือนชอบด้วยกฎหมาย และสุดท้ายคณะรัฐประหารเองรวมทั้งการกระทำทั้งปวงของคณะรัฐประหารก็มักได้รับการนิรโทษกรรมไปในที่สุด
อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงนั้น รัฐประหารก็คือความเถื่อนหรืออนารยะ เพราะรัฐประหารกระทำการด้วยการใช้กำลังอาวุธมาล้มล้างรัฐธรรมนูญ และยึดอำนาจอธิปไตยไปจากปวงชนชาวไทย ในระหว่างทำการ คณะรัฐประหารมักจะหาข้ออ้างมากมายเพื่อสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจเดิมที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่การใช้กำลังพลและกำลังอาวุธที่เหนือกว่ามาเอาชนะจนสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ และทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นฝ่ายกบฏหรือฝ่ายที่ไม่ชอบธรรม ย่อมแสดงถึงความเถื่อน และความไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐของคณะรัฐประหารเอง และด้วยกำลังพลและกำลังอาวุธที่เหนือกว่า จึงปิดปากวิญญูชนได้ (ชั่วคราว)
โดยที่ธรรมชาติสำคัญของการรัฐประหารก็คือการใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบและไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงิน จึงกลายเป็นบ่อเกิดของการทุจริตและประพฤติมิชอบ ผู้ที่ต้องการอำนาจและผลประโยชน์ที่ชิงความได้เปรียบเหนือบุคคลอื่น จึงต้องเข้าหาคณะรัฐประหารซึ่งมีอำนาจสูงสุด การทุจริตต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นตามมา และด้วยเหตุนี้ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คณะรัฐประหารหรือผู้เผด็จการต่าง ๆ จึงมักกลายสภาพเป็นทรราช ที่ถือเอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้งมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ
ยิ่งกว่านั้น หลังจากการทำรัฐประหาร ผู้ที่ได้ประโยชน์หรือ ‘ส้มหล่น’ ก็คือผู้ที่ร่วมปลุกปั่นสร้างสถานการณ์ให้เกิดรัฐประหาร บุคคลเหล่านี้ก็จะได้รับลาภยศ ถูกแต่งตั้งให้เป็นตุลาการบ้าง กรรมการในองค์กรอิสระที่ถูกอำนาจรัฐประหารครองงำบ้าง รือสภา ‘เปรซิเดียม’ (เอาไว้ออกกฎหมายเข้าข้างพวกเดียวกัน) ที่แต่งตั้งกันเองโดยคณะรัฐประหารตามอำเภอใจโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง หรือไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน บุคคลเหล่านี้ได้อำนาจมาจากปากกระบอกปืนของฝ่ายรัฐประหารโดยแท้ นี่คืออีกบริบทหนึ่งของการโกงกินทรยศต่อชาติ
ดังนั้นเราจะไปตั้งความหวังว่าจะมีคณะรัฐประหารใดกระทำการเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญเหนือผลประโยชน์ของกลุ่มของตนเฉกเช่น "พระเอกขี่ม้าขาว” นั้น ย่อมเป็นความหวังที่เลื่อนลอย เป็นความหลงผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว หรือเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของคณะรัฐประหารและสมุนของคณะรัฐประหารนั้น ๆ เท่านั้น เพราะเนื้อแท้ของการัฐประหารก็คือการแย่งชิงผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ใช่การอภิวัฒน์เช่นการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ที่คณะราษฎรกระทำการเพื่อประเทศไทยโดยตรง
ที่สำคัญรัฐประหารสร้างความวิบัติซ้ำซ้อนให้กับประเทศไทย ทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยตกต่ำ กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนเช่นประเทศด้อยพัฒนาระดับล่าง ๆ ของโลก ที่มักใช้กำลังอาวุธขู่เข็ญเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ แทนที่จะรอคอยการเปลี่ยนแปลงตามกลไกทางการเมืองเช่นอารยะประเทศ ทำให้เกียรติภูมิของประเทศลดลง โอกาสการลงทุนของชาวต่างประเทศในไทยก็ลดน้อยลงไปด้วย อาจกล่าวได้ว่าการทุจริตอื่นอาจส่งผลเสียเฉพาะจำนวนเงินที่ปล้นหรือลักไป แต่รัฐประหารจะส่งผลเสียเป็นเท่าทวีต่อประเทศชาติ ถ้าประเทศไทยเกิดรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ไทยก็จะตกต่ำยิ่งกว่าพม่าที่เพิ่งเริ่มมีประชาธิปไตย
คนไทย (บางส่วน) ไม่ควรหลงผิดไปเห็นดีเห็นงามกับอำนาจนอกระบบ จนสร้างความแตกแยกให้กับคนในชาติ ไทยควรเข้าสู่สังคมอารยะ รู้จักเกรงใจประชาชนเจ้าของประเทศ เลิกคิด เลิกส่งเสริมการทำรัฐประหารกันได้แล้ว