วรพล พรหมิกบุตร: การต่อสู้ปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติและประชาชน

ไทยอีนิวส์ 18 มิถุนายน 2555 >>>




วิกฤตศาลรัฐธรรมนูญที่ปะทุรุนแรงขึ้นในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ที่ผ่านมา (จนหลายคนบ่นอีกครั้งว่า “เกินทน”)
ประกอบกับเหตุการณ์ที่กดดันให้ประธานรัฐสภายังไม่สามารถบรรจุวาระการประชุมเพื่อลงมติในขั้นตอนวาระ 3 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 (ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวดำเนินไปอย่างถูกต้องชอบธรรมตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น) ทำให้เห็นได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้คืบหน้าผ่านการลงมติวาระ 3 ในรัฐสภายังเป็นเรื่อง “เกินกำลัง” สำหรับ ส.ส.เพื่อไทย จำนวนมากเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรบวกกับสมาชิกวุฒิสภาจำนวนราว 40 กว่าคนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว
แม้ว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะถูกชี้มูลประเด็นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจากบุคคลและผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก (แต่เป็นผู้ไม่มีตำแหน่งหน้าที่โดยตรงในการวินิจฉัย เช่น นักวิชาการและอดีตอัยการรวมทั้งนักการเมืองระดับชาติ) ว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเองเป็นผู้ใช้อำนาจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาครา 68  แต่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและแนวร่วมกลุ่มผู้ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีพื้นที่ทางกฎหมายและเงื่อนเวลาผ่อนคลายมากขึ้นในการสรรหาวิธีการอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา ซึ่งอาจรวมทั้งทางเลือกในการกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก ยุบสภา ยุบพรรคเพื่อไทย หรือมาตรการสุ่มเสี่ยงเด็ดขาดขั้นรัฐประหาร
เป็นที่คาดหมายได้ล่วงหน้าว่า การดำเนินการต่อไปของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันและแนวร่วมต่างๆ ของตนจะมีจุดมุ่งหมายที่ไม่เป็นมิตร (ศัตรูทางการเมือง) กับการดำเนินนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมทั้งนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดังนั้น, ในสภาพการณ์ที่ “เกินกำลัง” ส.ส.เพื่อไทย และแนวร่วมสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ของประเทศที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและไม่เห็นด้วยกับการลุแก่อำนาจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญโดยผู้มีอำนาจตุลาการและผู้มีอำนาจในองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องแสดงบทบาทของประชาชนในฐานะที่เป็น “เจ้าของอำนาจอธิปไตย” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีบทบัญญัติรับรองสิทธิของประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สิทธิดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขทางกฎหมายฉบับใดริดลอนได้ตราบเท่าที่การใช้สิทธิดังกล่าวของประชาชนดำเนินไปด้วยวิธีการตามรัฐธรรมนูญ ภายในกรอบกฎหมายอื่น  และโดยมีเนื้อหาการใช้สิทธิที่ถูกต้องชอบธรรม
ดังนั้น  ในสถานการณ์วิกฤตศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (ซึ่งจะมีการเติมปัญหาอื่นให้เป็นวิกฤตเพิ่มเติมมากขึ้นอีกโดยบุคคลประเภทสรรหาแต่งตั้งในองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ) ประชาชนจำเป็นต้องประกาศและเคลื่อนไหวใช้สิทธิในการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยและต่อสู้กับอำนาจไม่เป็นธรรมที่คุกคามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนสามารถกำหนดวิธีการต่าง ๆ ตามแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม 3 ส่วนประกอบกัน ดังนี้ :
(1) ประกาศการใช้สิทธิของประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในรัฐสภาต่อไป การพิทักษ์รัฐธรรมนูญดังกล่าวหมายความโดยเฉพาะเจาะจงในสถานการณ์ปัจจุบันว่าเป็นการพิทักษ์ความศักดิ์สิทธิ์ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมิให้อำนาจตุลาการใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญอย่างลอยนวล
(2) ประกาศความพร้อมในการต่อสู้ตอบโต้กับกลุ่มอำนาจใด ๆ ที่แสดงการขัดขวาง รวมทั้งที่จะแสดงการขัดขวางเพิ่มเติมเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ตามกระบวนการทางรัฐสภาต่อไป
(3) ประกาศและเตรียมความพร้อมในการต่อสู้ตอบโต้กับความพยายามกระทำผิดร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญ (การรัฐประหาร) ต่อเนื่องไปพร้อมกัน

วันที่ 17 มิถุนายน 2555