การสร้างภาวะกดดันแก่ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ” กลางวงประชุมคณะรัฐมนตรี โดย “รมช.เกษตรฯ" "เต้น" ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในฐานะแกนนำคนเสื้อแดง และการกดดัน “ประธานรัฐสภา-สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” โดย “ส.ส./แกนนำแดง-ก่อแก้ว พิกุลทอง” เพื่อให้เดินหน้าโหวตวาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ทั้งที่การตัดสินใจสูงสุด และท้ายสุด ยอมรับปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ชะลอการลงมติ ไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยในคำร้องที่ขอให้พิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 นั้นเข้าข่ายมาตรา 68 ที่ถือเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ
หลายกระแสประเมินว่าภายในพรรคเพื่อไทยมีการงัดข้อ ระหว่าง “ส.ส. เลือดแท้ไทยรักไทย” กับ “ส.ส. แดงน้องใหม่มวลชนมาก” และส่อจุดชนวนความแตกแยก ทุกข้อสงสัย “พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย" ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะ "ประธาน ส.ส.เพื่อไทย” ...มีคำตอบ
มองปรากฏการณ์ครั้งนั้นไว้อย่างไร ?
พรรคเพื่อไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ ส.ส. แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ในกรณีของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้อง ตอนนั้นผมทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ตั้งใจปล่อยให้สมาชิกใช้สิทธิ์แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ เพราะเราเป็นพรรคการเมือง ยอมรับมีบางท่านพูดแรง บางท่านก็ไม่แรง มีหลักการ พอออกนอกหลักการ ก็ตะล่อมสักที เพื่อฟังเหตุผล แต่ท้ายสุดเมื่อมติพรรคออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องเคารพ แม้จะไม่เห็นด้วย
มองท่าทีของ ส.ส.แกนนำเสื้อแดง ที่กดดันการตัดสินใจของประธานรัฐสภา, นายกฯ อย่างไร
เป็นความเห็นที่แตกต่างกันอยู่บ้างส่วนใหญ่มองว่าควรประกาศให้ชัดเจนว่าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 แต่ท่านประธานรัฐสภาให้ชะลอไว้ เพื่อลดความขัดแย้ง อีกทั้งการตัดสินใจว่าจะให้ลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจโดยตรงของประธานรัฐสภา เมื่อท่านตัดสินใจแล้วต้องเคารพ เพราะการวินิจฉัยของประธานถือเป็นที่สุด
แต่คุณก่อแก้วก็แถลงว่ามวลชนแดงจะเลิกปกป้อง หากประธานรัฐสภาตัดสินใจที่แย้งกัน
เป็นความคิดของปัจเจกบุคคล ทั้งนี้ได้พูดคุยหลากหลาย แต่ผมในฐานะประธานในที่ประชุม ต้องดำเนินการให้สมาชิกทุกคนเห็นด้วยกับมติของพรรคด้วยใจจริง คือไม่ใช่บังคับ เราต้องมีเหตุผลชี้แจงให้สมาชิกเห็นด้วย ทั้งที่ตัวเราเองก็ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อมติพรรคเป็นอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น
มองเป็นจุดเริ่มต้นการสั่นคลอนความมั่นคงของพรรคหรือไม่
เท่าที่ฟัง ไม่น่ามีปัญหาเพราะทุกคนก็รับได้
หลังจากเกิดเรื่องนี้ มีการวิเคราะห์ว่า ส.ส. กลุ่มแดงจะขยายขุมกำลังภายในพรรคเพื่อไทย
น้องๆ ที่เป็นแกนนำคนเสื้อแดง เขากังวลว่าจะไปคุยกับประชาชนไม่ได้ ทั้งที่ไปรับปากมา ผมก็บอกว่าไม่เป็นไร ให้พูดตามความจริง ว่าเราเตรียมโหวตวาระ 3 แล้ว แต่การโหวตเพื่อจะโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันไม่ผ่าน ส่วนความแตกแยกไม่น่าจะมี
ประเด็นเสื้อแดง สร้างปัญหากับอดีตคนบ้านเลขที่ 111 ซึ่งเป็นเลือดแท้ไทยรักไทยหรือไม่
ไม่มี
แต่มีข่าวว่าอดีตคน 111 สายพิราบ เขาไม่พอใจที่คนเสื้อแดงกดดันนายกฯ, ประธานรัฐสภา
ที่ประชุม ส.ส. ไม่มีเรื่องพวกนี้ ส่วน 111 สายพิราบ อย่างคุณโภคิน พลกุล คุณภูมิธรรม เวชยชัย ก็พูดด้วยเหตุผล และคณะยุทธศาสตร์พรรคมีมติชัดเจน ให้การตัดสินใจลงมติวาระ 3 เป็นหน้าที่ประธานรัฐสภา
การตัดสินใจเรื่องสำคัญ มวลชนมีบทบาทร่วมตัดสินใจหรือไม่
เราถือว่า ผู้แทนของคนเสื้อแดง เป็นหนึ่งในกรรมการ ซึ่งกรรมการทั้งหมดมีเกือบ 30 คน
ถือว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเสียงดังที่สุดหรือไม่
ถือเป็น 1 เสียงครับ และคุยด้วยเหตุและผล
มีบางครั้งแกนนำเสื้อแดงก็ใช้มวลชนมาข่มขู่
พรรคไม่ค่อยได้รับฟังเรื่องพวกนี้ แต่หากมีเหตุผล อย่างผมเอง บางครั้งสื่อมองว่าเป็นแกนนำ เราก็ปฏิเสธว่าเป็นแค่แกนตาม หากเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผมตาม แต่หากทำไม่ถูกต้อง ผมก็ไม่ตาม
มวลชนมีส่วนกดดันให้พรรคเพื่อไทยมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งไหม
มีบ้าง หากดูในอินเทอร์เน็ต มวลชนเสื้อแดงจะโกรธแค้น เรามีหน้าที่ชี้แจงให้เขารู้ว่าได้สู้เต็มที่แล้ว
มองกระบวนการสร้างมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์ โดยนำเสื้อแดงโมเดลไปใช้อย่างไร
เป็นเรื่องการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์ทำได้ คือต้องยอมรับว่าการเมืองบ้านเราเป็นการแย่งชิงความนิยมของประชาชน
พรรคประชาธิปัตย์จะทำสำเร็จเหมือนพรรคเพื่อไทยที่สร้างมวลชนได้จำนวนมากหรือไม่
อยู่ที่การเสนอความจริง เพราะเหตุที่คนเสื้อแดงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะเขาเห็นความไม่ยุติธรรมและอยากสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์มีผู้พูดที่เก่ง ส่วนการสร้างมวลชนมองว่าทำได้ แต่ได้ไม่เท่าพรรคเพื่อไทย ยกเว้นมีการดึงดันนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสภา เพราะจะเป็นจุดที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปัตย์ สามารถจุดกระแสมวลชนขึ้นมา โดยส่วนตัวผมเป็นคนค้านไม่ให้นำร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสภา