"ธิดา" เมิน ปชป. ปูดเจรจาลับ-หยั่งใจอำมาตย์ หนังม้วนเก่ากำลังกลับมา !!

มติชน 20 มิถุนายน 2555 >>>




บรรยากาศการเมืองร้อนระอุกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการพบปะกันระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ บุคคลอันเป็นภาพตัวแทนของแกนนำ 2 ขั้ว ที่ทำให้หลายคนคิดว่านี่คือจุดเริ่มต้นของความปรองดอง
แต่ท้ายที่สุด รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และ นปช. ก็ได้ข้อสรุปว่า เครือข่ายอำมาตย์ไม่ได้ต้องการปรองดองกับพวกเขาอย่างจริงจัง นำมาสู่ข้อวิจารณ์ระหว่างกันเองของพรรคและมวลชน
มติชนทีวีออนไลน์ พูดคุยกับ "ธิดา โตจิราการ" แม่ทัพหญิงแห่งขบวนคนเสื้อแดง  ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.

การที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่งคน มาเจรจาให้ประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล จะทำให้ นปช. หมดความไว้วางใจ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่

ไม่ใช่เรื่องความไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ เพราะ คุณทักษิณ ก็คือ คุณทักษิณ พรรคเพื่อไทยก็คือพรรคเพื่อไทย ส่วน นปช. ก็คือ นปช. เรามีเรื่องใหญ่ร่วมกัน แต่ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันทุกคน
ส่วนที่นายสุเทพออกมาพูด จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่นั้น นปช. ไม่เชื่อนายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว เพราะเคยพูดบิดเบือน เช่น กรณีสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงรวมถึงเรื่องการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม
และถ้าหากมีการพูดคุยกันจริงของสตรีสูงศักดิ์ 2 คน กับบุรุษอีก 1 คน ก็ไม่เห็นจะมีอะไรมากมาย เพราะคนที่อยู่ระดับบนของสังคมไทย มักจะมีโอกาสวิสาสะกันได้อยู่แล้ว อาจจะ ด้วยการมีผู้ประสงค์ดี หรือเป็นพ่อสื่อเป็นเรื่องธรรมดา หากเกิดขึ้นจริง ก็น่าจะเป็นการส่งสัญญาณทางบวกมากกว่า

มอง “จุดร่วม” และ “จุดต่าง” ระหว่างพรรคเพื่อไทยและเสื้อแดงอย่างไร

ความเห็นส่วนตัว ได้แบ่งแนวร่วม เป็นหลายชั้น สำหรับคุณทักษิณและคณะรวมถึงพรรคเพื่อไทยและแกนของคนเสื้อแดง เป็นแนวร่วมชั้นใน เป็นแนวร่วมที่ใกล้
หลักการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง เป็นหลักการที่ต้องใช้แน่นอนอยู่แล้ว เพราะองค์กรเราก็มีความหลากหลาย
แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง เราต้องรู้ว่า แต่ละคนอยู่ตรงไหนของความสัมพันธ์ นี่ย่อมไม่ใช่เป็นเอกภาพแน่นอน เพราะพรรค ก็เป็นองค์กรต่างหาก ไม่ใช่ นปช. เขามีการนำต่างหาก เหมือนของ นปช. เราก็มีการนำต่างหาก และยุทธศาสตร์ 2 ขา เราเป็นคนคิด ไม่ใช่พรรคคิด ถ้าเราเข้าใจหลักการนี้ เราก็จะไม่มีปัญหา
พรรคเพื่อไทย หรือคุณทักษิณ อาจจะเห็นเป็นยุทธศาสตร์ขาเดียว แต่เราว่าของเราเองเป็น 2 ขา เพราะฉะนั้น เมื่อ มองเป็น 2 ขาและเขาเป็นแนวร่วมที่อยู่ใกล้ชิด แต่ก็ยังมีระยะห่าง ว่า เป็นแนวร่วมชั้นในที่ใกล้ชิดกับไข่แดงแค่ไหน ขณะที่มีแกนนำบางคนก็ วิ่งเข้าวิ่งออกจากความใกล้ชิดไข่แดง  แม้แต่แนวร่วมก็มีระยะห่างทั้งชั้นในชั้นนอก นี่คือการนำเสนอวิธีการมองความสัมพันธ์

มวลชนจัดเป็นความสัมพันธ์แบบไหนกับ วงในไข่แดง นปช.

มวลชนเสื้อแดง ถือว่า เป็นอันเดียวกันกับ นปช. ไม่ใช่แนวร่วม แต่เป็นอันเดียวกัน ที่อยู่ภายใต้แกนนำและหลักนโยบายของ นปช. ถ้าเขาไม่เห็นด้วย กับ นปช. แต่เขาก็ยังเป็นคนเสื้อแดงได้ เพราะ นิยามคนเสื้อแดง รักความยุติธรรมรักประชาธิปไตย รักคุณทักษิณก็ได้ ไม่รักก็ได้  ทีนี้ ถ้าเป็น นปช. ก็ต้องยึดหลักนโยบายและการนำของ นปช.

พัฒนาการของ นปช. คิดว่า ตอนนี้โครงสร้างเป็นอย่างไร

เราเป็นแนวร่วมที่มีลักษณะเป็นองค์กร ไม่ใช่รวมกันหลวมๆ แต่ก็พัฒนาการ มาจากร่วมกันหลวมๆ ทีนี้พอทะเลาะกันมาก เราก็แก้ปัญหาการทะเลาะ จึงเขียนหลักนโยบาย เป็นข้อตกลงกันว่าเราจะเดินไปด้วยกันภายใต้แนวทางที่เราตกลงกันอย่างนี้ นี่คือ แนวร่วมที่เป็นรูปการ 

หากพรรคเพื่อไทยถูกยุบได้ แล้ว นปช. จะมีจุดจบในรูปแบบใดหรือไม่

พรรคเพื่อไทย เดี๋ยวก็คงถูกยุบอีกในไม่กี่วันนี้ (หัวเราะ) แต่เขาก็สามารถไปตั้งพรรคใหม่ ส่วนเราไม่ได้อยู่ในระบบกฎหมายนี้ เพราะเราอยู่ในองค์กรประชาชน จะยุบก็ต่อเมื่อองค์กรนี้ ไม่ใช่องค์กรต่อสู้ของประชาชนอีกต่อไป ถ้ายุติการต่อสู้ ก็คือ การยุบนั่นเอง เพราะชื่อ ไม่มีความหมาย คำพูดไม่มีความหมายเท่ากับการปฏิบัติ
ถ้าองค์กรนี้เลิกต่อสู้ในแนวทางประชาชน ก็ยุติบทบาทไปโดยปริยาย คนอื่นยุบเราไม่ได้ อยู่ที่เรายุบตัวเอง ไม่มีศาลไหนยุบ (หัวเราะ) การต่อสู้ของคนเสื้อแดง จึงเป็นหลักประกันที่สำคัญ เพราะอย่างไรเราก็ไม่ถูกยุบ

พอใจท่าทีของ ส.ส.เพื่อไทย ในภาวะที่ ฝ่ายนิติบัญญัติอย่างรัฐสภา ถูกคานอำนาจจากศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ที่จริง ส.ส. หลายคนก็แสดงท่าทีดีกว่าที่เราคิด เพราะเท่าที่ทราบ ส.ส. ส่วนใหญ่ที่ต้องการเดินหน้า และ นักวิชาการส่วนใหญ่ ก็ไม่เห็นด้วยกับ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่แน่นอน ก็ต้องมี ส.ส. จำนวนหนึ่งที่อาจจะเฉยๆ หรือขาดประชุม เราต้อง เข้าใจว่าพรรคเพื่อไทย ก็คือพรรคการเมืองธรรมดา
พรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคปฏิวัติ ไม่ได้ประกาศ ว่าเป็นพรรคมวลชนพรรคปฏิรูป แต่เป็นพรรคที่ถูกกระทำ จากการรัฐประหาร จำเป็นต้องต่อสู้ให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้น
ข้อดีคือภาวะวิสัย บีบให้เขาต้องเป็นพรรคในฝ่ายประชาธิปไตย แต่ไม่ได้หมายความว่า เขาเป็นฝ่ายประชาธิปไตยทุกคน ในนั้นอาจจะมีอำมาตย์ตั้งเยอะแยะ หรือจริงๆ อาจจะเป็นสีเหลือง ในนั้น อาจจะมีคนที่คิดถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตน แต่เมื่อถูกกระทำเหมือนกัน ก็ต้องสู้กัน แบบนักเลงก็ได้ ฉะนั้น จึงรู้สึกว่า ส.ส. ทำได้ดีกว่าที่คิดเพราะนักวิชาการออกมาชี้ทางจำนวนมาก ทำให้เขาเชื่อมั่นขึ้น คงเบื่อที่จะถูกกระทำ เพราะเขาถูกยุบพรรคครั้งแล้วครั้งเล่า และประสบการณ์ จากการต่อสู้ที่ผ่านมาทำให้เขาเข้าใจว่าหนังม้วนเก่ากลับมาฉายอีกรอบแล้ว
เขามองเห็นว่า เครือข่ายระบอบอำมาตย์นั้น  ไม่ใช่อะไรที่ คิดว่าการเจรจาจะสามารถยุติการเคลื่อนไหวของระบอบอำมาตย์ ที่จะให้คืนหรือคายอำนาจให้กับประชาชน มันเป็นไปไม่ได้

ประเมินการนำของพรรคเพื่อไทยอย่างไร

ส.ส.เพื่อไทย ส่วนมาก ก็แสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันแต่ ก็ต้องมีบ้างที่หวั่นไหวหรือแกล้งลืม ซึ่งไม่เป็นไร ปัญหาอยู่ตรงการนำของพรรค ที่ชี้ทางว่า อันนี้ต้องทำ หนึ่ง สอง สาม คือ ข้อแรกไม่ไปหักกับตุลาการรัฐธธรรมนูญ ข้อสองก็คือ ยังไม่ลงมติวาระ 3 สามก็คือ เพียงแต่บอกว่าสิ่งที่ตุลาการรัฐธรรมนูญทำนั้น ทางฝ่ายนิติบัญญัติไม่รับ แม้ไม่รับด้วยคำพูด แต่สุดท้ายก็รับในทางปฏิบัติ ก็คือหยุด
ฉะนั้น ดิฉันมองว่ามาจากการนำของพรรค ซึ่งไม่ทราบว่า เป็นคณะยุทธศาสตร์หรือใคร แต่ก็เป็นการตัดสินใจของแกนนำพรรค ที่คิดว่าเลือกใช้การถอย เพราะเดินไปข้างหน้าก็กลัว แม้กองเชียร์จะบอกให้เดินไปข้างหน้า ลุย ก็กลัว จึงขอหยุด เพื่อใช้เกมเดียวกันกับศาลรัฐธรรมนูญ คือหยุดรอ แต่หยุดรอคอยเพื่ออะไร ก็ไม่เหมือนกัน
ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ เป็นคำสั่งของแกนนำพรรค ไม่ใช่คำสั่งประธานสภาด้วยซ้ำ คือ มีการนำที่ระบุว่าให้ทำแบบนี้
สำหรับการแสดงออกของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการแสดงในฐานะพรรคการเมืองของเครือข่ายระบอบอำมาตย์ ซึ่งในเครือข่ายมีอีกมายมายรวมถึงองค์กรอิสระ สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำ เป็นการจงใจทำลายรัฐสภา แสดงว่า บทบาทของเขาในรัฐสภานั้นจบแล้ว เขาทำจนสิ้นสุดกำลังจะเข้าวาระ 3 แล้ว ยังแพ้ จึงต้องทิ้งระเบิดพลีชีพ ยอมเสียภาพลักษณ์ ตัวเองก็เจ็บและอาจจะตายในฐานะพรรคการเมือง จึงเล่นบทใหม่ คาดหัว “สายล่อฟ้า” เป็นหัวหน้าม็อบ จงใจให้ระบบรัฐสภา ไม่สามารถเดินต่อไปได้ การทำเช่นนี้ เป็นเกมส์สอดรับที่เสนอต่อตุลาการ

อาจารย์ประเมินว่า แกนนำพรรคเพื่อไทย ตัดสินใจถูกหรือผิด ที่ให้ถอย

เป้าหมายของพรรคคือ ต้องการให้รัฐบาลอยู่ได้นานที่สุด ส่วนเป้าหมายของ นปช. คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงให้สังคมนี้เป็นประชาธิปไตย เมื่อเป้าหมายไม่เหมือนกัน การปฏิบัติก็ไม่เหมือนกัน เป้าหมายที่ต้องการเป็นรัฐบาลให้นานที่สุด ก็ต้องเลือกทางถอย แต่เป้าหมายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ ก็ต้องเลือกทางเดินไปข้างหน้า เพราะว่าเราถอยมามากแล้ว ต้องเดินไปข้างหน้า
คือเขาถอยเพื่อยืน ส่วนเราลุกเพื่อก้าวไปข้างหน้า เพราะถูกกระทำมาตลอดเวลา แต่เขาก็มีสิทธิจะคิดเพราะมีแกนนำต่างหากจาก นปช.

เป้าหมายต่างกันขนาดนี้ ทำไมไม่แตกหักกับพรรค

มันไม่จำเป็น เพราะต้องแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง คือเรากับพรรค ก็ต้องไม่ใช่เผด็จการ เพื่อนเราไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกับเราทุกอย่าง เขาเองก็อาจจะไม่ชอบใจที่เราทำหลายๆ อย่าง เช่น เราไปถอดถอนตุลาการ หรือนัดชุมนุมวันที่ 24 มิ.ย. เขาอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ เช่นเดียวกับที่เราไม่เห็นด้วย ทำไมเขาถึงหยุด ขณะคนเสื้อแดงให้ไปต่อ
การที่พรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาล ก็เป็นสัญลักษณ์ ว่าเรายังพอมีอำนาจส่วนหนึ่ง ที่ได้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ฉะนั้น การที่เขารักษารัฐบาลให้อยู่ต่อ ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับเรา เพราะเราก็ไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลถูกล้มไป
ฉะนั้น เราก็ต้องให้เกียรติรัฐบาล เขามีสิทธิจะคิด แต่เราก็ต้องส่งเสียงเตือนเหมือนกันว่า เพื่อนทำอะไร มันก็เกี่ยวกับเรานะ ไม่ใช่เพื่อนทำไปเองเสร็จแล้วเราลำบากไปด้วย เพราะสรรพสิ่งสัมพันธ์กัน เหมือนเขาส่งเสียงเตือนเรา ไม่ชอบใจในสิ่งที่เราทำ เราก็ทำเป็นหูทวนลม พอเราไปเตือนเขา เขาก็ทำเป็นหูทวนลม แต่เราจะเป็นศัตรูกันด้วยเรื่องแค่นี้เหรอ ก็ไม่ใช่ เรายังต้องจับมือกันสู้ จึงจำเป็นต้องละเว้นบางเรื่องที่ไม่ใช่หลักการสำคัญ

เส้นทางการปรองดองจะเป็นอย่างไรต่อไป

ตั้งแต่เริ่มต้นที่รัฐบาลอาจจะไปคุยไปปรองดองหรือไปฟังเพลง แล้วมาจนกระทั่งคุณทักษิณบอกว่า ไม่เอาเรือแล้ว จะขึ้นรถ จนกระทั่งถึงครั้งนี้ มันก็สะท้อนความแตกต่างและยุทธศาสตร์ ในการก้าวเดินต่อไป แต่ตอนหลัง คุณทักษิณ แกกลับมาแล้ว ร้องเพลงรู้เขาหลอก
เมื่อเขาเป็นรัฐบาล ก็เป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ ฉะนั้น เขาจะไปเจรจาต้าอวยกับใคร เพื่อให้บรรยากาศดี ก็โอเค หรือเพื่อทำให้การบริหารราบรื่น ก็โอเค เพราะเวลาเขาบริหาร เขาก็ต้องบริหารสีเสื้อต่างๆ ฉะนั้น จะมาให้ถูกใจสีเสื้อดียวไม่ได้ เราจึงจำเป็นต้อง เว้นระยะห่างกับเขา
ฉะนั้น  เกมที่เรียกว่า คุยกับชนชั้นนำด้วยกัน แม้เราไม่ชื่นชม แม้เราไม่เชื่อ แต่เรา ต้องอนุญาตให้เขาทำ เช่น เขาไปฟังเพลง หรือเขาไปรดน้ำอวยพร เขามีสิทธิ ไปฟังเพลง ไปรดน้ำอวยพร เราต้องเข้าใจ ว่า ในฐานะผู้บริหาร เขาเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ เขาไม่ใช่รัฐบาลของคนเสื้อแดงอย่างเดียว
ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะไม่รู้สึกตีโพยตีพาย ไม่รู้สึกเหมือนโลกจะถล่ม เพราะเรารู้ว่า เราคือใคร เขาคือใคร เหมือนเวลาเรามีเพื่อน ถ้าเพื่อนสนิท เราอาจจะผิดหวังมากหน่อย แต่เขาก็คือ คนอีกคนหนึ่ง เป็นอีกองค์กรหนึ่ง เขามีสิทธิที่จะตัดสินใจ แต่ ยกตัวอย่าง ถ้าเมื่อไหร่ คุณทักษิณ มาเป็นแกนนำ นปช. หรือ เป็นประธาน นปช. แล้วบอกว่าขอไปฟังเพลง หรือขอไปรดน้ำ นั่นละ เป็นเรื่องแน่ ฉะนั้น เรื่องนี้ คนเสื้อแดงเข้าใจ  มันอยู่คนละบทบาท เข้าใจก็ต้องเตือนเพื่อน อย่าทำบ่อยๆ จะมีปัญหา คนเสื้อแดงโกรธนะ  รับโทรศัพท์ หูชาหมดเลย
ดิฉันถือว่า รัฐบาล ก็คือรัฐบาล เป็นส่วนหนึ่งของผู้ปกครอง  แต่ดิฉันไม่เห็นด้วยกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง ที่บอกว่านายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าอำมาตย์  ที่จริงไม่ใช่หรอก ที่จริงแล้ว ท่านต่างหากที่เป็นอำมาตย์ตัวจริง เพราะอำมาตย์ ขึ้นมาโดยไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน คุณลอยมาเลย แล้วใช้อำนาจในฐานะผู้ปกครองที่ไม่ได้ ยึดโยงกับประชาชน
ส่วนคุณยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่อำมาตย์ เพราะมาจากการเลือกตั้ง แต่มาอยู่ในฐานะผู้ปกครองที่มาจากประชาชนเลือกขึ้นมา เรียกว่า คุณยิ่งลักษณ์เป็น หัวหน้าของไพร่ ไม่ใช่อำมาตย์ (หัวเราะ)
นอกจากที่มาไม่ยึดโยงกับประชาชนแล้วยังต้องดูที่อำนาจด้วย ประเภทศักดินา เจ้าพระยานาหมื่นนั่นแหละ ดูแต่ละคน เงินเดือนเท่าไหร่ มีอำนาจเท่าไหร่ เรียกว่าจัดการหัวหน้าไพร่ได้ หัวหน้าไพร่ทั้งหลายยังต้องหงอ ขนาดไพร่เลือกมา อำมาตย์ชี้นิ้วทีเดียวไปเลย (หัวเราะ)

จากคำปราศรัยของคุณทักษิณ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. แม้จะมาขอโทษภายหลัง แต่แสดงว่าขณะนั้น เชื่อว่าจะปรองดองกับอำมาตย์ได้

เขาก็เป็นมนุษย์ จึงขึ้นอยู่กับข้อมูล ถ้าคนป้อนข้อมูลเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ และเป็นคนที่รักคุณทักษิณ ก็มีผลทำให้เชื่อ เพราะไม่ใช่คำพูดศัตรู อีกอย่างคนเรามีแนวโน้ม เลือกฟังเรื่องที่เราชอบ ถ้าเรื่องที่ไม่ค่อยชอบ ต้องพูดหลายที แต่เรื่องที่ชอบนี่ พูดทีเดียวก็ปิ๊งเลย นี่เป็นมนุษย์ธรรมดา
คุณทักษิณ เป็นนักธุรกิจ วิธีคิดของนักธุรกิจเขา ต้องลืมอดีต มิเช่นนั้น เขาตั้งต้นใหม่ไม่ได้ เช่น บางเรื่องที่เจ๊ง เขาต้องลืมทิ้งให้หมด ไม่งั้นถ้าจะนั่งคร่ำครวญ  อาฆาตพยาบาท ว่าใครทำให้เจ๊ง จะไม่มีเวลาเริ่มต้นใหม่

อาจารย์ไม่โกรธ กับคำพูดตอนนั้นของคุณทักษิณ

ไม่โกรธ เราต้องเข้าใจ ยิ่งเขาเป็นพันธมิตรในการต่อสู้ เรายิ่งไปโกรธเขาไม่ได้ แต่เรามีสิทธิแนะนำหรือเตือน แต่ถ้าไม่นับเป็นเพื่อนก็ไม่เตือน คงคอยสมน้ำหน้าว่า ดีแล้วต่อไปจะเจอผลการกระทำนั้นเอง

จุดอ่อนของคุณทักษิณ คืออะไร

ท่านก็อาจจะมีจุดอ่อน ว่าท่านอยากกลับบ้าน ข้อต่อมาคือ เขาเป็นนักธุรกิจ ที่ต้องการเริ่มต้นใหม่ นักธุรกิจจะไม่อาฆาตพยาบาท บางทีไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร เพราะต้องเริ่มกันใหม่ หรือบางทีสู้กันไม่ชนะ ก็เป็นพวกกันเลย นั่นคือวิธีคิดแบบนักธุรกิจ

วิธีคิดของเครือข่ายอำมาตย์ แตกต่างจากนักธุรกิจอย่างไร

วิธีคิดเครือข่ายระบอบอำมาตย์ เป็นวิธีคิดของคนที่ไม่มีอนาคต จึงหวงแหนอดีต แต่ฝ่ายประชาธิปไตยเป็นวิธีคิดที่มีอนาคต จึงไม่อาฆาตพยาบาท เพราะจะไปสร้างเอาใหม่ข้างหน้า
บางครอบครัว ลูกที่มีความสามารถจะไม่อยากได้มรดก ถ้าพี่น้องอยากได้ ก็เอาไปเลย  แต่ลูกที่ทำอะไรไม่ค่อยเป็น ไม่มีความสามารถ อย่างเช่นพวกอำมาตย์ พวกจารีตนิยม เขาจะไม่ยอมเสียมรดกจะหวงแหน แตกต่างกันระหว่างวิธีคิดคนกล้าสร้างอนาคต คนที่ไม่มีความสามารถจึงต้องกอดอดีต จะหวงแหนสิ่งที่ตัวเองมี คือระบอบอำมาตย์ จะมีความอาฆาตพยาบาท จะไม่ยอมปล่อย เพราะไม่มีอนาคต
คนที่อยู่กับอนาคตได้สบาย จะเป็นคนที่ไม่อาฆาตพยาบาทและไม่ติดยึดกับอดีต ฉะนั้น บางครั้ง จึงเป็นจุดอ่อน อย่างกรณีคุณทักษิณ เขาจะไม่คิดว่า เครือข่ายอำมาตย์ กำลังหวงแหน และตอนนี้หนังม้วนเก่า มาแล้ว อย่างคุณแก้วสรร อติโพธิ เอาเรื่องเก่ามาพูดอีก เรื่องเก่าๆ เริ่มมา คดีคุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ก็เริ่มมา หนังม้วนเก่าเริ่มมา
ฉะนั้น จึงกลายเป็นจุดอ่อนของพวกเราที่มองไปอนาคตจะไม่ค่อยมองจุดนี้ เพราะวิธีคิดของนักธุรกิจ ต้องมองเห็นทุ่งหญ้า ไม่ใช่มองเห็นแต่ทะเลทราย ต้องพูดเรื่องความเป็นไปได้ ไม่ใช่พูดแต่ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่นี่มันไม่ใช่ธุรกิจ เราไม่ได้อยู่กับพวกเสรีนิยมด้วยกันนะ เราอยู่กับพวกจารีตนิยมสุดโต่ง สุดขั้วในประเทศไทย จะกลายเป็นจุดอ่อน เพราะเราไม่รู้เขาทั้งหมด คิดว่าเขากับเราเหมือนกัน แต่เขากับเราไม่เหมือนกัน

ในขบวนเสื้อแดง ก็มีเรื่องที่ประกาศว่าจะไม่ลืม เช่น กรณีการบาดเจ็บล้มตาย

ปัญหาคนตาย นี่ไม่ใช่เรื่องอดีต นี่เป็นเรื่องปัจจุบัน ถ้าเราจะก้าวไปข้างหน้า เราต้องจัดการกับเรื่องนี้ให้ดี อันนี้ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อำนาจยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ต้องโหยหา อดีตของเรามีแต่ถูกกระทำ อดีตของไพร่ ทาส ไม่ได้มีใครโหยหา
ถ้าในฐานะนักต่อสู้ เราจะลืมเรื่องพวกนี้ไม่ได้ เราเป็นผู้ถูกกระทำ เราไม่ได้อาฆาตพยาบาทสำหรับตัวเรา แต่นี่คือบทเรียนที่ต้องแก้ไข ถ้าทำเป็นลืมๆ ก็จะเกิดซ้ำ แต่คนไทยชอบลืม
กรณีคนเสื้อแดงเสียชีวิต แม้พูดแล้วเหมือนอาฆาตพยาบาท ก็ยอม เพราะคุณต้องจำ ว่าประชาชน ถูกกระทำอย่างไร จะ 80 ปี หรือ 100 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาชนถูกกระทำอย่างไร จะลืมไม่ได้ ที่ผ่านมาประวัติศาสตร์ เขียนโดยระบอบอำมาตย์

จะไปด้วยกันอย่างไร กับวิธีคิดลืมเพื่อมองโลกใหม่และจดจำการถูกกระทำในฐานะนักต่อสู้

นี่คือการต่อสู้ของเรา ต้องการโลกที่สดใส เศรษฐกิจรุ่งเรือง การปกครองที่มีความเสมอภาคยุติธรรม โลกของเราดีสำหรับคนทุกคน ดีแม้กระทั่งคนที่เป็นอำมาตย์ ถ้าเขารู้ว่าเขาต้องพอ ต้องหยุด แล้วไม่ใช่เราไปอาฆาตพยาบาทแล้วจะไปฆ่าเขาให้ตายหมด แต่ต้องทำให้เกิดความจริงและความยุติธรรม

มองเกมการเมืองตอนนี้จะเดินต่ออย่างไร

ก็อีกไม่นาน เพราะเกมนี้ เขาต้องการให้จบรัฐสภา เดินหน้าถอดถอน ส.ส. ที่โหวต 416 คน อาจจะจบเห่ โดนข้อหากบฎ อาจติดคุกอีก
เครือข่ายระบอบอำมาตย์ ไม่ใช่บุคคลคนเดียวนะ ในรัฐธรรมนูญ 2550 เกื้อหนุนเครือข่ายระบอบอำมาตย์ ทั้งองค์กรอิสระและตุลาการต่างๆ คล้ายเขาสร้างปราสาทขึ้นมาแล้วเราจะไปทำให้ปราสาท กลายเป็นอะไรสักอย่างของไพร่ เขาก็จำเป็นต้องหวงแหน เขาอุตส่าห์วางกับ ค้ำจุน เครือข่าย โดยอำนาจ 3 ฝ่าย มีอำนาจตุลาการ ฝ่ายเดียว ที่ไม่ยึดโยงประชาชน จึงต้องให้อำนาจตุลาการเหนือกว่าอีก 2 อำนาจคือ บริหารและนิติบัญญัติ เช่น มาตรา 68  เขาก็ต้องตีความแบบนั้น แต่นี่ก็เป็นระเบิดพลีชีพอยู่แล้ว  แบบประชาธิปัตย์ กล้าทำในสภาแบบนั้น ก็จบแล้ว

จะเกิดการรัฐประหารหรือไม่

ก็มีโอกาสทั้งนั้น แต่ถ้ากรณีตุลาการได้ผล ก็ไม่จำเป็นต้องทำรัฐประหาร แต่ถ้าไม่ได้ผล ก็คงทำรัฐประหาร ซึ่งที่แล้วมา เขาเลือกทำรัฐประหารก่อน จากนั้น จึงมาเขียนกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนแม่บทกฎหมาย แล้วสร้างขุมกำลังในองค์กรอิสระ แต่เมื่อเลือกตั้งแล้วแพ้ เขาจึงให้ผู้ชนะเลือกตั้งอยู่สักพักไม่ให้น่าเกลียด
ส่วนพรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาล คงเชื่อว่าถ้าถอยจะทำให้อยู่ได้นาน แต่นานเท่าไหร่ก็ยังไม่รู้

อนาคตอันใกล้ จะเป็นอย่างไร

มีทั้งภาพร้ายและภาพดี ภาพร้ายคือ ส.ส.เพื่อไทย โดนข้อหากบฏตามมาตรา 68 และถูกฟ้องอาญา ยุบพรรคเพื่อไทย นี่คือภาพร้าย ถ้าภาพดี คือตุลาการไม่ตัดสินแบบนั้น ก็ไม่ใช่ภาพดีทีเดียวนะ เพราะคงประคองไป แต่อย่างไรเสีย พรรคเพื่อไทยก็คงถูกยุบ ไม่กรณีใดก็กรณีหนึ่ง ถ้าไม่โดนกรณีนี้ ก็อาจจะโดนคดีคุณจตุพร พรหมพันธุ์ ที่หาว่าพรรคไปรับรองสมาชิกทั้งที่รู้ว่าขาดความเป็นสมาชิก แต่ความจริงพรรครับรองเพราะคิดว่าไม่ขาดความเป็นสมาชิกพรรค
เขาจะค่อยๆ จัดการ ขั้นที่ 1 คือ ให้พรรคอยู่ในพื้นที่ไม่อันตรายสำหรับเขา แต่พอคุณก้าวเข้าสู่การแก้รัฐธรรมนูญ หรือที่เสนอ พ.ร.บ.ปรองดอง ก็เข้าสู่ เรดโซนแล้ว เข้าสู่อันตรายมาก เขาต้องเตะฉาก ให้ออกมา แต่จะอยู่นานแค่ไหน ก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่งั้นก็ต้องถอยไป ไม่มายุ่งเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องปรองดอง แล้วจะอนุญาตให้คุณอยู่อีกสักระยะหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ เรารู้ว่าต้องรบใหญ่และรบยาว จึงต้องจัดลำดับความสำคัญเรื่องต่างๆ ด้วยเหตุผล ไม่ใช่เรื่องอารมณ์