ผู้หญิงกับการเมือง ฟาตู เบนซูดา: อัยการสูงสุดแห่งศาลอาญาระหว่างประเทศ

ประชาไท 18 มิถุนายน 2555 >>>




นางฟาตู เบนซูดา (Fatou Bensouda) วัย 51 ปี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการยุติธรรมของสาธารณรัฐแกมเบีย เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอัยการสูงสุดแห่งศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2555
นอกจากเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเลือกสู่ตำแหน่งระดับสูงในกระบวนการยุติธรรมของโลกแล้ว เธอยังเป็นชาวแอฟริกันคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้อีกด้วย
นางเบนซูดาประกาศในพิธีสาบานตนว่าเธอจะมุ่งมั่นต่อภารกิจในการนำตัวผู้ก่ออาชญากรรมสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมสากล
   “เราต้องไม่ถูกชักนำโดยคำพูดและการโฆษณาชวนเชื่อของผู้ทรงอิทธิพลเพียงไม่กี่คนที่มุ่งหมายจะหลบเลี่ยงความยุติธรรม แต่เราต้องมุ่งความสนใจและสดับตรับฟังเสียงของเหยื่อนับล้านที่ยังคงทุกข์ทนกับอาชญากรรมทั้งมวล”
ฟาตู เบนซูดา เกิดและเติบโตที่ Banjul เมืองหลวงของประเทศแกมเบีย บิดาของเธอเป็นข้าราชการและมารดาเป็นแม่บ้าน
หลังจบการศึกษาระดับมัธยมที่บ้านเกิด เบนซูดาเดินทางไปศึกษาต่อด้านนิติศาสตร์ที่ประเทศไนจีเรีย เธอได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมสาขานิติศาสตร์จาก University of IFE (ปัจจุบัน คือ OAU University) เนติบัณฑิตจาก Nigeria Law School, Lagos, ประเทศไนจีเรีย และปริญญาโทจาก International Maritime Law Institute in Malta เธอกลับบ้านเกิดและเริ่มชีวิตการทำงานครั้งแรกที่กระทรวงการยุติธรรมเมื่อปี 1987 ในตำแหน่งผู้ช่วยอัยการ
เบนซูดาใช้เวลาสิบเอ็ดปีบนเส้นทางวิชาชีพไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการในปี 1998 ก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของกระทรวงยุติธรรมโดยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในปี 2000
กลางปี 2000 นางเบนซูดาลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีฯเพื่อไปรับตำแหน่งผู้บริหารของ The International Bank of Commerce แต่ในที่สุดเธอตัดสินใจหวนกลับมาเดินบนถนนสายยุติธรรมอีกครั้งหนึ่ง เธอสารภาพว่าสิ่งที่เธอค้นพบในภาคธุรกิจคือ “มันไม่ใช่ที่ทางของฉัน” เบนซูดาบอกว่าที่ที่เธอคิดถึงอยู่ตลอดเวลาคือศาลสถิตยุติธรรม
พลันที่หันหลังให้ภาคธุรกิจ นางเบนซูดาก้าวเข้าสู่วงการการยุติธรรมระดับสากลในฐานะคณะที่ปรึกษากฎหมายและอัยการในการสอบสวนคดีอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในรวันดา และได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษากฎหมายในปี 2004
นับจากนี้ไป นางเบนซูดาในฐานะอัยการสูงสุดแห่งศาลอาญาระหว่างประเทศที่มีสมาชิก 121 ประเทศทั่วโลก จะต้องเดินหน้านำตัวผู้ก่ออาชญากรรมที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติ 15 คดีที่มีการนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ และทั้ง 15 คดีนี้เป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในทวีปบ้านเกิดของเธอเอง
เบนซูดายืนยันว่า “ฉันเป็นแอฟริกันและฉันภูมิใจในความเป็นแอฟริกัน แต่ฉันคิดว่าฉันไม่ได้รับเลือกให้มาสู่ตำแหน่งนี้เพราะความเป็นแอฟริกัน ฉันเชื่อว่าประวัติการทำงานของฉันพิสูจน์ข้อนี้ได้ ฉันได้รับการรับรองโดยสหภาพแอฟริกา แต่ฉันคืออัยการของทั้ง 121 ประเทศสมาชิก และนี่คือสิ่งที่ฉันมุ่งมั่นที่จะทำจนครบวาระ”
เบนซูดาเล่าให้กลุ่มผู้สื่อข่าวฟังถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอเลือกเรียนกฎหมายว่า เธอเติบโตมากับสังคมที่มีความรุนแรงในครอบครัวให้เห็นอยู่เสมอ แม้ความรุนแรงนั้นจะไม่ได้เกิดในครอบครัวของเธอเองซึ่งบิดามีภรรยาสองคนอยู่ร่วมบ้าน แต่มันเกิดอยู่ทั่วไปในประเทศแกมเบียรวมทั้งในชุมชนของเธอ
   “ฉันรู้สึกแย่กับสิ่งที่เห็นแต่ไม่อาจทำอะไรได้ในตอนที่เป็นเด็ก มันเป็นความรู้สึกที่ติดอยู่ในใจว่าความรุนแรงเช่นนี้ต้องไม่เกิดขึ้น และมีบางสิ่งบางอย่างที่ฉันต้องทำเมื่อโตขึ้น”
เบนซูดามีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เธอตั้งใจไว้ไม่เพียงแต่ในประเทศบ้านเกิดเท่านั้น เธอยังได้วางกฎเกณฑ์ใหม่ในกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพการสืบสวนสอบสวนและการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อเด็กและการทารุณกรรมทางเพศ
ศาลอาญาระหว่างประเทศมีภารกิจสำคัญในการที่จะนำความยุติธรรมมาสู่บรรดาผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงที่มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมือง การดำเนินคดีกับผู้มีส่วนก่อความรุนแรงดังกล่าวนี้มีผลสำคัญยิ่งต่อการป้องกันความขัดแย้งในอนาคต รวมถึงการสร้างความมั่นใจในความยุติธรรมต่ออาชญากรรมการทารุณกรรมทางเพศซึ่งกลายเป็นเครื่องมือในการทำสงครามรูปแบบใหม่ เช่นที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในหลายประเทศ เช่น พม่า กัมพูชา คองโก และเคนย่า โดยผู้สั่งการ คือ ผู้บัญชาการทหาร เจ้าหน้าที่รัฐ และแม้แต่ประธานาธิบดี
เบนซูดาย้ำว่าการให้ความช่วยเหลือเหยื่อคือแก่นกลางของความยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ และสิ่งนี้คือแรงบันดาลใจและความภูมิใจของเธอ