แอมเนสตี้-นิติ มช. เปิดวงเสวนา นิรโทษกรรม คนผิดลอยนวลหรือลบล้างรัฐประหาร

ประชาไท 17 มิถุนายน 2555 >>>




แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จับมือนิติ มช. จัดงาน "แถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2555 สัญจรเชียงใหม่" เผยประเด็นการละเมิดสิทธิฯในไทยห้าประการ พร้อมเปิดวงเสวนา "นิรโทษกรรม : คนผิดลอยนวลหรือลบล้างรัฐประหาร" เสนอแนวทางปรองดองอย่างเป็นธรรมในยุคสังคมเปลี่ยนผ่าน
สำนักข่าวประชาธรรมรายงานว่าเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงาน "แถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2555 สัญจร ณ จังหวัดเชียงใหม่" และเสวนาในหัวข้อ "นิรโทษกรรม : คนผิดลอยนวลหรือลบล้างรัฐประหาร"
รายงานที่แอมเนสตี้ฯแถลงฉบับนี้ได้รวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2554 โดยให้ทั้งภาพรวมของห้าภูมิภาคและข้อมูลของแต่ละประเทศจากทั้งหมด 155 ประเทศ รายงานชี้ให้เห็นว่าการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มแข็งใน ทุกมุมโลก สำหรับประเทศไทยมีหลายประเด็นที่น่าห่วงใยเช่น การขัดแย้งกันด้วยอาวุธภายในประเทศ การลอยนวลพ้นผิด เสรีภาพในการแสดงออก  ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมือง และโทษประหารชีวิต

แอมเนสตี้เผยไทยมีการละเมิดสิทธิฯ 5 ประเด็น

นส.ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า งานศึกษาวิจัยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยของนักวิจัยอิสระจากแอมเนสตี้ พบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย 5 ประเด็น
ประเด็นแรก สถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ยังมีความขัดแย้งกันด้วยอาวุธในประเทศเช่นเดียวกับอดีตที่ผ่านมา ผู้ที่ถูกสังหารในระหว่างการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในภาคใต้ของไทย ส่วนใหญ่แล้วยังคงเป็นพลเรือน โดยมากกว่าครึ่งเป็นชาวมุสลิม ผู้ก่อการได้เริ่มใช้ระเบิดชนิดแสวงเครื่องมากขึ้น โดยพุ่งเป้าทำร้ายพลเรือนหรือโจมตีโดยไม่แยกแยะ การโจมตีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างความหวาดกลัวในบรรดาประชาชน
ประเด็นที่สอง มีการลอยนวลพ้นผิด โดยเฉพาะสองสถานการณ์ หนึ่ง คือ สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งนับเป็นปีที่แปดติดต่อกันที่ไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรา 17 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่คุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่กระทำการละเมิดสิทธิในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
ส่วนอีกสถานการณ์หนึ่ง คือ เหตุการณ์ความขัดแย้ง รุนแรงในเดือนพฤษภาคมเมื่อปี 2553 ซึ่งแม้ว่าจะดูเหมือนมีความก้าวหน้าในการดำเนินคดีบางคดี แต่ก็ยังไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานความมั่นคงที่ละเมิดสิทธิฯจากเหตุการณ์นั้น
ประเด็นถัดไป เป็นประเด็นเรื่องของ "เสรีภาพในการแสดงออก" ในรายงานฉบับนี้ระบุว่า เสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยยังคงถูกปราบปรามต่อไป ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 (ประมวลกฎหมายอาญา) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมถึงยังมีการคุกคามสื่อมวลชน ผู้ที่ถูกควบคุมตัวถูกตั้งข้อกล่าวหาและ/หรือถูกตัดสินลงโทษตามกฎหมายสองฉบับนี้ แอมเนสตี้ถือได้ว่าเป็นนักโทษด้านมโนธรรมสำนึก (หมายถึงผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังเพียงเพราะว่าเขาลุกขึ้นมาเรียกร้องอย่างสงบสันติ ด้วยความเชื่อและความคิดเห็นที่ต่างจากภาครัฐ) ซึ่งเราก็จะเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข
ประเด็นที่สี่ ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมือง ปีที่แล้วรัฐบาลไทยได้ให้สัญญาระหว่างการทบทวนสิทธิมนุษยชนตามวาระว่าจะสนับสนุนพันธกิจของนานาชาติเพื่อที่จะหยุดยั้งไม่ให้ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไปยังสถานที่ที่บุคคลดังกล่าวจะต้องถูกข่มขู่คุกคาม
อย่างไรก็ตามจนถึงปลายปีที่แล้ว ผู้ลี้ภัยเกือบ 150,000 คนอาศัยอยู่ตามค่ายผู้อพยพติด และชายแดนไทย-พม่า เนื่องจากเป็นเวลาห้าปีติดต่อกันที่รัฐบาลไม่ได้กำหนดระเบียบปฏิบัติในการคัดกรองผู้แสวงหาที่หลบภัย เป็นเหตุให้ผู้ที่ลี้ภัยเหล่านี้ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน เพราะฉะนั้นตัวเลขทางการของภาครัฐจะต่ำกว่าตัวเลขนี้มาก เพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ
อีกทั้งทางการไทยไม่สนับสนุนให้จัดอาหารและสิ่งช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ ให้กับผู้พักพิง และยังคงมีการจับกุมผู้แสวงหาที่หลบภัยข้ามชาติ มีการควบคุมตัวโดยไม่มีกำหนดและการส่งกลับ หรือบังคับส่งกลับไปยังประเทศที่เสี่ยงจะถูกคุกคาม
ประเด็นสุดท้าย ยังมีโทษประหารชีวิต แม้ว่าในปีที่แล้วเราจะไม่มีการประหารชีวิตนักโทษเลย แต่ว่ายังมีการลงโทษประหารชีวิตประมาณ 40 กรณี แม้ว่ารัฐบาลจะมีแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตละเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทนก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆในประเด็นนี้ นอกจากนี้ นักโทษในแดนประหารยังคงถูกล่ามโซ่ตรวนที่ขาตลอดการควบคุมตัว แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งเมื่อปี 2552 ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ก็อยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งนี้อยู่

แอมเนสตี้ร้องรัฐบาลไทยแก้ ม.112  เลิกโทษประหาร

นส.ปริญญา กล่าวอีกว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยหลายประเด็น ในประเด็นกฎหมายจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น โดยเฉพาะมาตรา 112 เราเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อให้สอดคล้องมาตรฐานสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะข้อบัญญัติที่อนุญาตให้บุคคลใดๆก็ตาม สามารถฟ้องร้องได้ รวมถึงขอให้มีการทบทวนเรื่องอัตราโทษที่สูงมาก และให้ชะลอการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนมีกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และก็ให้มีการยุติการเซ็นเซอร์เว็บไซต์โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อคุ้มครองกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
สำหรับประเด็นโทษประหารชีวิต เราเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการในการที่จะยุติการประหารชีวิตโดยทันที อีกทั้งเปลี่ยนแปลงกฎหมายจากการลงโทษประหารชีวิตมาเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทนตามแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนฉบับที่สอง ที่รัฐบาลได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2552 รวมทั้งให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่าง ประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ส่วนประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้ เราเรียกร้องให้ดำเนินการสอบสวนโดยทันที อย่างมีประสิทธิภาพ และอย่างไม่ลำเอียงกรณีการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกกรณี โดยเฉพาะในส่วนที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงมีส่วนเกี่ยวข้อง และให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมที่
ยุติการสนับสนุนและการให้เงินอุดหนุนการจัดซื้ออาวุธขนาดเล็ก และให้เข้มงวดต่อการบังคับใช้ระเบียบที่เกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืน รวมทั้งให้มีการแก้ไขกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพจากการปลอดพ้นการควบคุมตัวโดยพลการ เสรีภาพในการแสดงความเห็น  การรวมตัว และการชุมนุมโดยสงบ และเสรีภาพในการเดินทาง
ยุติการจับกุมตัวโดยพลการรวมทั้งประกันว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคน จะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นธรรม อีกทั้งต้องประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวสามารถเข้าถึงทนายความ ญาติพี่น้อง และได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม ให้หาทางสืบหาและแจ้งให้ทราบถึงที่อยู่ของทนายสมชาย นีลไพจิตรและบุคคลอื่นที่ถูกบังคับให้สูญหาย เพื่อประกันว่าจะมีการนำตัวผู้ที่รับผิดชอบต่อการสูญหายมาลงโทษ
รวมทั้งให้สัตยาบันรับรองต่ออนุสัญญาสากลว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และดำเนินการที่จำเป็นเพื่อบังคับใช้อนุสัญญาในระดับประเทศโดยทันทีหลังมี การให้สัตยาบัน
สำหรับเหตุการณ์พฤษภาฯ 53 เราเรียกร้องให้มีการประกันว่าจะมีการสอบสวนข้อเรียกร้องว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง อย่างรอบด้านและอย่างเป็นอิสระ และ ให้ประกันว่าผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวได้รับการเยียวยาช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ด้านประเด็นผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองนั้น อยากให้รัฐบาลเคารพต่อหลักการไม่ส่งกลับ รวมทั้งให้มีการสอบสวนกรณีการบังคับขับไล่ชาวโรฮิงญาจนทำให้ถึงแก่ชีวิต และให้ยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยอย่างไม่มีเวลากำหนดและโดยพลการ รวมทั้งให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย  ยุติการละเมิดใดๆ ที่กระทำต่อคนงานพลัดถิ่น ทั้งการค้ามนุษย์และการรีดไถ

"สิทธิมนุษยชน" ในมุมที่เข้าใจได้ไม่ง่าย

ในช่วงการเสวนาในหัวข้อ "นิรโทษกรรม : คนผิดลอยนวลหรือลบล้างรัฐประหาร" รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เวลาพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน เรามักจะเห็นด้วยกับคำนี้เสมอ เช่นเดียวกับคำว่า "สิ่งแวดล้อม" และ "การพัฒนา"  ซึ่งสามคำนี้ เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ในโลกสมัยใหม่ มันจึงทำให้ดูราวกับว่าง่าย แต่ความจริงแล้วมันมีความยุ่งยาก ซับซ้อน
ขอยกกรณีตัวอย่างเรื่องเล่าสองเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า "สิทธิมนุษยชน" ไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่องแรก เกิดขึ้นในประเทศอิหร่านมีวิศวกรหญิงชาวอิหร่านชื่อว่า Ameneh Bahrami ถูกชายหนุ่มสาดน้ำกรดใส่เป็นเหตุให้ตาบอดและเสียโฉม โดยชายดังกล่าวเป็นคนที่หลงรักและมาสู่ขอ แต่เธอได้ปฏิเสธที่จะแต่งงานด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้หญิงคนนี้ผ่านการผ่าตัดมาแล้ว 17 ครั้ง แต่ยังคงมีร่องรอยอยู่ เรื่องที่ต้องคิด คือ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2547 ต่อมา พฤษภาคม 2554 ศาลอิหร่านตัดสินโดยให้สามทางเลือก
1. ให้จำเลยชดใช้ผู้เสียหาย 40,000 ยูโร (ประมาณ 2 ล้านบาท) ถ้าผู้หญิงรับเงินทั้งหมดก็ถือว่าลงโทษเสร็จสิ้น
2. ถ้ารับเงินครึ่งหนึ่งมีสิทธิทำให้ผู้ชายตาบอดข้างหนึ่ง และ
3. ถ้าไม่รับเงินเลยแต่มีสิทธิทำให้ผู้ชายตาบอดสองข้างด้วยการหยอดน้ำกรดข้างละ 5 หยด
คำถาม คือ ถ้าเป็นเราจะเลือกแบบไหน นี่คือสิ่งที่จะทดสอบแนวคิดเรื่อง "สิทธิมนุษยชน" ได้เป็นอย่างดี กรณีนี้ถูกผิดไม่รู้ แต่ในตอนแรกผู้หญิงคนนี้ตัดสินใจที่จะทำให้ผู้ชายตาบอดสองข้าง ขณะที่ผู้หญิงกำลังตัดสินใจ เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องของคนนอกประเทศบอกว่าการลงโทษแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้หญิงคนนี้จึงตัดสินใจเลือกคำตัดสินแรก เพื่อไม่ให้ประเทศอิหร่านเสื่อมเสียชื่อเสียงจากการถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน
เรื่องที่สอง ชาวโรฮิงยา ชนกลุ่มน้อยในพม่า หลังจากประเทศพม่าได้รับเอกราชชนกลุ่มนี้ถูกกดขี่อย่างมาก ต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างมาก จึงอพยพออกมาเรื่อยๆ ปีที่แล้วชาวโรหิงยาลอยเรือลำเล็กเข้าสู่น่านน้ำในประเทศไทย ทหารเรือไทยไปพบเข้า คำถามคือ เราจะทำอย่างไรกับชาวโรหิงยา ด้วยเหตุผลอะไร
มีเรื่องซุบซิบกันว่า ตอนแรก ทหารเรือไทยจะลากชาวโรหิงยาไปทิ้งไว้ในเขตทะเลหลวง แต่บังเอิญเรื่องนี้ไปเข้าหูนักข่าวบีบีซี (สำนักข่าวจากอังกฤษ) ทหารเรือจึงลากชาวโรหิงยาเข้ามาในเขตไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่า ทหารเรือไทยมีมนุษยธรรม
ที่ยกสองเรื่องมาพูดเพราะ เวลาเราพูดถึง "สิทธิมนุษยชน" ในหลายเรื่องไม่ใช่เรื่องที่เราจะสามารถเห็นพ้องกันไปทั้งหมดในสังคม บางเรื่องเรามีความรู้สึกเห็นด้วยบางส่วน บางเรื่องเห็นด้วยไม่ทั้งหมด บางเรื่องอาจจะไม่เห็นด้วยเลย สิ่งที่สำคัญ คือ มันมีเหตุผลที่รองรับการกระทำที่ดูราวกับละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน และมันทำให้การกระทำเหล่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้ สิทธิมนุษยชนจึงไม่ใช่เรื่องห่างไกล ความคิดความเชื่อของแต่ละคนมีส่วนที่ทำให้การละเมิดแบบนั้นเกิดขึ้นได้
   "เราคงต้องคิดและไตร่ตรอง หลายเรื่องมันปะทะ หลายเรื่องมันขัดแย้งกับความเชื่อความเข้าใจเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ เรื่องของความเจ็บแค้น อะไรต่อมิอะไรมันมีเหตุผลรองรับอยู่"

นิรโทษกรรม : เงื่อนไขและความเป็นไปได้

รศ.สมชาย กล่าวอีกว่า คนกลุ่มหนึ่งที่เสนอกฎหมายนิรโทษกรรม บอกว่าเป็นการลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าเป็นการช่วยเหลือคนผิด ฉะนั้น นิรโทษกรรมเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเมืองจึงย่อมทำให้บางคนได้ บางคนเสีย ตนมีประเด็นจะพูดอยู่ 4 ประเด็น
1. เงื่อนไขของการนิรโทษกรรม
2. นิรโทษกรรมกับกลักการทางกฎหมาย
3. ข้อถกเถียงในการนิรโทษกรรม
4. ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมในสังคมไทย
ประเด็นที่หนึ่ง นิรโทษกรรมมีเงื่อนไขหรือสภาพแวดล้อมอย่างไร ในโลกนี้ หลายประเทศออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้วประเทศ ไทยจึงไม่ใช่ประเทศแรกที่มีกฎหมายนิรโทษกรรม การนิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นในสังคมช่วงเปลี่ยนผ่าน (transitional period) หมายถึงสังคมที่กำลังเปลี่ยน คือ มีความขัดแย้งชุดใหญ่ทางอุดมการณ์ปรากฏขึ้น และนำไปสู่การทำผิดกฎหมายโดยกลุ่มคนจำนวนมาก (Mass violation) เช่น ในอเมริกาเคยมีการเถียงกันว่า "จะเอาคนดำไว้เป็นทาสอยู่รึเปล่า" คนครึ่งหนึ่งเห็นว่าควรมี อีกครึ่งหนึ่งเห็นว่าไม่ควรมี เถียงกันจนกระทั่งกลายเป็นสงครามกลางเมืองจนคนตายเป็นแสน หลังจากเรื่องนี้เกิดขึ้น ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการมีทาสชนะ แต่จะจับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเป็นล้านก็ทำไม่ได้ จะเห็นว่า สังคมที่มีการเปลี่ยนผ่านหรือมีความขัดแย้งทางอุดมการณ์ชุดใหญ่มักจะนำไปสู่ปัญหาแบบนี้ และนิรโทษกรรมจะถูกนำมาใช้ในสถานการณ์แบบนี้ ฉะนั้นการนิรโทษกรรมจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด
   "อยากให้เวลา เราเถียงกันเรื่องนิรโทษกรรม...อย่าเพิ่งอกสั่นขวัญแขวนว่า บัดนี้เรากำลังจะปล่อยคนผิดลอยนวล ให้ใจเย็นไว้ก่อน"
ประเด็นที่สอง นิรโทษกรรมและหลักการทางกฎหมาย นิรโทษกรรมโดยทั่วไป คือการกำหนดให้การกระทำบางอย่างบางสถานการณ์ไม่เป็นความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ ทั้งที่ตามปกติเป็นความผิด ในแง่นี้จึงสั่นคลอนต่อความสม่ำเสมอ (consistency) ของระบบกฎหมาย เพราะหมายถึงการยกเว้นบางคน ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคทางกฎหมาย แต่หากไม่มีการนิรโทษกรรมจะทำให้สังคมตกอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ หรือไม่อาจจะเดินหน้าต่อไปได้ ในทางกฎหมายใช้คำว่า Doctrine of Necessity หลักว่าด้วยความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ทำให้ต้องมีการนิรโทษกรรม
ประเด็นที่สาม ข้อถกเถียงบางประการเกี่ยวการนิรโทษกรรม คือ ความผิดประเภทไหนที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม เฉพาะความผิดทางอาญาหรือความผิดทางการเมือง (ความผิดทางการเมือง คือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีอุดมการณ์นำหน้า) เช่น ชุมนุมขับไล่รัฐบาล  ระหว่างชุมนุมเรียกร้องแล้วเกิดมีคนตาย คนที่ทำให้คนตายต้องรับโทษหรือไม่
ข้อถกเถียงที่ตามมา คือ ความเป็นธรรมในทางสังคม ระหว่างผู้กระทำความผิดกับผู้ที่ถูกกระทำ ถ้ามีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น เราจะพูดถึงความเป็นธรรมกับญาติพี่น้องของคนที่เสียชีวิตจากการกระทำอย่างไร 
นิรโทษกรรมอาจสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายบางอย่าง เช่น ในรวันดา มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้สอบถามคนที่ลงมือฆ่าว่า "ทำไมถึงฆ่าอีกฝ่าย ไม่กลัวถูกโทษหรือ" คนที่ฆ่าคนตายบอกว่าเขาไม่กลัวเพราะรู้ว่าจะมีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น เป็นต้น นิรโทษกรรมบ่อยๆ จึงเป็นปัญหา เพราะมีความเข้าใจเรื่อง "ทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ"
ประเด็นที่สี่ ข้อพิจารณาสำหรับสังคมไทย สังคมไทยไม่ใช่ไม่เคยมีนิรโทษกรรม มีบ่อยครั้งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการรัฐประหาร แต่เป็นการนิรโทษกรรมแบบอำนาจนิยม หมายความว่ารัฐประหารเสร็จก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเลย ไม่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียง
เรื่องที่เถียงกันว่าถ้าจะนิรโทษกรรม ใครบ้างที่อยู่ในขอบเขตของการนิรโทษกรรม ซึ่งจำแนกออกมาได้สามกลุ่ม คือ
1. ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารและกระบวนการที่ติดตามมาได้แก่ ทักษิณ และนักการเมือง
2. แกนนำการเคลื่อนไหวทั้งสองสี เหลือง และแดง ได้แก่ สนธิ ลิ้มทองกุล สุริยะใส กตะศิลา จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ฯลฯ
3. มวลชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทั้งเหลืองและแดง
ตนคิดว่าควรจำแนกให้ชัดเจน เพราะถ้าเหมารวมจะทำให้เกิดการถกเถียงแบบไม่ชัดเจน อย่างกลุ่มที่สองแกนนำเหลืองและแดงต่างประกาศชัดว่าพร้อมพิสูจน์ ก็สามารถปล่อยขึ้นศาลได้ กรณีถ้าจะนิรโทษกรรมกลุ่มที่หนึ่งแบบสามารถประนีประนอมได้ต้องมีเงื่อนไขตามมาว่า ไม่ตัดสิทธิที่จะนำคดีที่คนกลุ่มนี้เคยทำขึ้นศาลใหม่
กลุ่มที่ควรจะนิรโทษกรรมก่อนคือ กลุ่มที่สาม มวลชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทั้งเหลืองและแดง ซึ่งไม่ได้ทำความผิดทางอาญาอย่างชัดเจน
   "สิ่งที่ต้องระมัดระวัง นิรโทษกรรมมิใช่การลืมโดยไม่ค้นหาความจริงว่าอะไรเกิดขึ้น ต้องค้นหาความจริงว่าอะไรเกิดขึ้น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสังคมไทยที่ผ่านมา เราไม่เคยได้ข้อเท็จจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีความรุนแรงของรัฐกับประชาชน เราไม่เคยมีข้อมูลว่าอะไรเกิดขึ้น พอนิรโทษกรรมเกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็เลิกกันไป พอเลิกกันไป มันทำให้เราไม่รู้เลยว่า การใช้อำนาจ หรือใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชนเกิดขึ้นที่ใคร เกิดขึ้นที่นักการเมือง เกิดขึ้นที่ผบทบ. เกิดขึ้นที่นายทหารระดับล่างยิงกันมั่วซั่ว หรือเกิดขึ้นจากการที่ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงก่อน เราไม่รู้อะไรเลย ถ้าเกิดเรารู้มันจะทำให้เรามองต่อไปได้ เช่น ถ้าเรารู้ว่าความรุนแรงเกิดขึ้นโดยรัฐ โดยนักการเมือง หรือโดยทหารก็ตาม จะทำให้เรามองหากลไกที่จะจัดการความรุนแรงอันนั้นได้ ถ้าเราไม่รู้ว่าความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นโดยใคร ด้วยปัจจัยอะไร มันทำให้เรายังต้องเผชิญกับความรุนแรงของอำนาจรัฐอยู่เนือง เนือง"

อาจารย์มหิดลเสนอหกแนวทางสร้างยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนปรองดอง

นส.ขวัญระวี วังอุดม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เวลาเราพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม จะมีประเด็นถกเถียงว่า จะนิรโทษกรรมใครบ้าง หากลองดู พ.ร.บนิรโทษกรรม สี่ฉบับที่เสนอในรัฐสภาก็จะพบว่ามีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป
หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการรัฐประหาร 18 ครั้ง และทุกครั้งหลังจากการรัฐประหารก็จะตามมาด้วยการนิรโทษกรรมทุกครั้ง
ในเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา อย่างเช่น 6 ตุลาฯ 19 พฤษภาฯ 35 พฤษภาฯ 53 หรือแม้แต่เหตุการณ์ในภาคใต้ เราจะเห็นว่ามันไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย คือมักจะมีการสร้าง "วาทกรรม" "ความชอบธรรม" เพื่อจะเป็นเหตุผลรองรับการใช้ความรุนแรงเหล่านั้น
อย่างเหตุการณ์พฤษภาฯ 53 มีการตั้งข้อหาล้มเจ้า โดยมีการประกาศผังล้มเจ้าขึ้นมา คนจำนวนมากก็ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะคนเสื้อแดงที่ถูกคนในสังคมมองว่า ต้องการล้มล้างสถาบันฯ แต่เมื่อไม่นานมานี้ ดีเอสไอซึ่งเป็นคนออกผังนี้เพิ่งจะออกมาปฏิเสธว่าแผนผังนี้ไม่มีจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเหตุผลนี้ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามประชาชน
ร่าง พ.ร.บนิรโทษกรรม ที่พูดถึงกัน ฉบับแรกเสนอโดยสนธิ บุญยรัตกลิน โดยให้นิรโทษกรรมทุกฝ่ายรวมทั้งตัวเองที่เป็นคนทำรัฐประหารด้วย ส่วนของคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ให้นิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาแต่ไม่ให้นิรโทษกรรมคนที่สั่งทำร้ายประชาชน ทั้งสองฉบับบนี้มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน
เวลาที่สังคมเกิดความขัดแย้งรุนแรง หรือช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคม ในประเทศอื่นเขาจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ความท้าท้ายอันนี้ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับรัฐบาลที่เข้ามาบริการประเทศใหม่ คือไม่ใช่รัฐบาลที่ทำการละเมิดสิทธิ แต่มีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้ว  ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้แต่ละประเทศ อย่างเช่น บางประเทศถ้ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดมีเป็นจำนวนมาก อาจจะไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่เป็นคนในสังคม จะเรียกร้องความยุติธรรมจากใคร ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
มีนักวิชาการที่รวบรวมข้อมูล การจัดการปัญหาความขัดแย้ง (ความยุติธรรม) ในประเทศที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เขาก็สรุปได้ว่าอย่างน้อย การเปลี่ยนระบอบการเมืองและการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะได้มาซึ่งความยุติธรรม
จุดมุ่งหมายของความคิดเรื่อง "ยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน" มีอยู่ สองอย่าง คือ
1. การแก้ไขโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในอดีต ชดเชยเยียวยาให้กับผู้สูญเสีย นอกจากนี้ต้องมีการป้องกันไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สอง
2. ต้องสถาปนาความจริงให้สังคมได้รับทราบว่าที่ผ่านมามันเกิดอะไรขึ้น ต้องสถาปนาหลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน ให้ลงหลักปักฐานในสังคม
แนวทางที่นำมาใช้ในเรื่อง "ยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน" มีอยู่หกหลักใหญ่ 
แนวทางแรก ดำเนินคดีอาญา หมายความว่าเราต้องนำผู้กระทำผิด ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ เพราะจะนำมาสู่การสร้างบรรทัดฐานให้สังคมรู้ว่า ไม่มีใคร (แม้แต่รัฐเอง) สามารถใช้อำนาจล่วงเกินละเมิดสิทธิของประชาชนได้อีก นอกจากนี้ยังช่วยเยียวยาทางจิตใจให้กับผู้สูญเสีย อีกทั้งยังเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยแสวงหาความจริงได้
แนวทางที่สองคือ การแสวงหาความจริง ส่วนใหญ่ประเทศที่มีความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้น พอเหตุการณ์ผ่านไปแล้วจะมีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อเปิดโปงข้อเท็จจริงเบื้องต้นจนนำไปสู่การถกเถียงกันในสังคมว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง และใครเป็นผู้ใช้ความรุนแรงนั้น ซึ่งแนวทางนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด แต่เป็นหนทางหนึ่ง อาจจะต้องให้ศาลเข้ามีส่วนร่วมด้วยในการแสวงหาข้อเท็จจริง
แนวทางที่สาม ชดเชยเยียวยา ซึ่งควรดำเนินการทันที ทั้งในแง่ของการเยียวยาทางจิตใจ และเงินชดเชย
แนวทางที่สี่ ต้องมีการปฏิรูปสถาบันและกลไกอื่นๆของรัฐ เพราะว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ มันเกิดจากประเทศที่มีระบอบเผด็จการ โดยเฉพาะเผด็จการทหาร ถ้าต้องการก้าวพ้นความรุนแรงต้องปฏิรูปองค์กรเหล่านี้ ประเทศที่นำแนวทางนี้มาใช้และได้ผลดีที่สุดคือประเทศอาร์เจนติน่า ซึ่งหลังสิ้นสุดยุครัฐเผด็จการทหารแล้ว มีการปฏิรูปกองทัพให้เล็กลง มีการลดงบประมาณของกองทัพ  สามารถตรวจสอบได้
แนวทางที่ห้า ปลดคนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงที่ผ่านมา ถ้าเป็นข้าราชการก็ไม่สามารถที่จะมาทำงานในตำแหน่งหน้าที่นั้นได้อีก เพราะเขาเชื่อว่าคนเหล่านี้ ถ้าสามารถกลับเข้ามาได้ก็ยังคงอำนาจนั้นไว้ ประเทศส่วนใหญ่ที่นำแนวคิดนี้ไปใช้คือ ในยุโรปตะวันออก หลังการล่มสลายของระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ แต่แนวทางนี้ก็ยังมีปัญหา คือ หลังจากรัฐบาลใหม่ที่ขึ้นมาก็ออกกฎหมายไล่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งเป็นการกระทำที่เหวี่ยงแหเกินไป ไม่สามารถแบ่งได้ว่าใครเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้กำลังเกินกว่าเหตุหรือไม่
แนวทางสุดท้ายคือ การนิรโทษกรรม ประเทศไทยใช้บ่อยมาก และจะเห็นว่าแนวทางที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ ประเทศไทยไม่เคยใช้เลย ใช้อย่างเดียวคือ การนิรโทษกรรม เพื่อเริ่มต้นกันใหม่ ซึ่งมันทำให้สังคมไทยไม่เคยเรียนรู้
เวลาประเทศไทยนำโมเดลนิรโทษกรรมของแอฟริกาใต้มาใช้ มักจะบอกว่าเป็นแนวทางที่ดีสุดแล้ว แต่มันไม่ใช่ เพราะจริงๆแล้วมันเป็นการนำโมเดลของแอฟริกามาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของตนเองในการที่จะให้ตนเองดำรงอยู่ในอำนาจนั้นต่อไปได้
นอกจากนี้กระบวนการที่มาของคณะกรรมการค้นหาความจริงก็ไม่ชอบธรรมแบบแอฟริกาใต้ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอชื่อ แต่ของไทยรัฐบาลคู่ขัดแย้งเลือกกันเอง  มันจึงทำให้ประเทศไทยยังไม่แสวงหาความยุติกรรมได้จริง
ในแอฟริกาใต้คณะกรรมการมีอำนาจที่จะเรียกให้ทุกคนมาให้การข้อเท็จจริง ถ้าไม่มาถือว่ามีความผิดทางอาญา แต่ในประเทศไทยไม่ได้มีสิทธิแบบนั้นมันจึงเป็นอุปสรรคในการที่ คอป. จะเรียกทั้งฝ่ายทหารมาให้การ ฝ่ายคนเสื้อแดงก็ไม่วางใจ คอป. เพราะมาจากการเลือกของรัฐ
   "สิ่งเหล่านี้มันจึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราอยู่กับคนที่พูดเพียงแค่ว่า ปรองดอง ปรองดอง แต่ว่ามันไม่ได้เป็นการปรองดองที่มุ่งไปสู่ความยุติธรรมที่แท้จริง ความยุติธรรมที่แท้จริงต้องเปิดเผยความจริง"
   "อยากจะฝากคำกล่าวของทนายอาร์เจนติน่าคนหนึ่งชื่อ ฌอน เมนเดช เป็นทนายชาวอาร์เจนติน่าที่ต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน และสิทธินักโทษการเมือง...ว่า การปรองดองที่แท้จริงไม่สามารถถูกบังคับยัดเหยียดด้วยกฎหมายหรือคำสั่งใดๆ มันต้องสร้างขึ้นมาในจิตใจของมวลหมู่สมาชิกในสังคม ผ่านกระบวนการตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน การปรองดองต้องการความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เราไม่อาจเรียกร้องหรือคาดหวังถึงการอภัย เว้นเสียแต่ว่าคนที่ถูกเรียกร้องให้ทำการให้อภัยนั้นได้รับรู้อย่างถ่องแท้แล้วว่าพวกเขาและเธอกำลังจะให้อภัยต่อสิ่งใด การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ภายหลังจากที่มีการแก้ไข และชดเชยให้กับเหยื่อในสิ่งที่พวกเขาสูญเสียไปแล้ว มันจะเป็นการสร้างความอยุติธรรมรอบใหม่ให้กับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในอดีต หากเราไปเรียกร้องการให้อภัยจากเหยื่อในขณะที่บรรดาคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการให้อภัยนั้นไม่เคยแสดงออกหรือสำนึกผิด หรือยอมรับในความผิดที่พวกเขาได้กระทำลงไปเลยแม้แต่น้อย"

อาจารย์ มช. เชื่อให้สัตยาบันศาลอาญาระหว่างประเทศ ปลดล๊อควิกฤต ช่วยให้เกิดความเป็นธรรม

นายทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่มีการถกเถียงกันมากและไม่จบสิ้น บนพื้นฐานที่ว่ามันยังไม่มีการทำให้ข้อเท็จจริงชัดเจน ว่าอะไรเป็นอะไร
เหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ที่เกิดขึ้นมาแล้วสองปี ยังไม่มีการยอมรับว่าใครเป็นผู้กระทำผิด มีความชอบธรรมที่จะฆ่าหรือไม่ฆ่าหรือไม่
เวลาเราพูดถึง เรื่อง สิทธิมนุษยชน ไม่ได้หมายความว่า ทุกเรื่องที่มีการละเมิดสิทธิสามารถตีคลุมว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเช่น มีคนกล่าวอ้างว่า คนที่ไปใช้สิทธิในการชุมนุมทางการเมืองบางส่วนใช้ความรุนแรงต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งอันนี้จะเรียกว่าเป็นการละเมิดสิทธิทั่วไป คือ มีปัจเจกชนคนหนึ่งละเมิดสิทธิคนอื่น มีการแจ้งความต่อรัฐ ข้อกล่าวหานี้เกิดขึ้นกรณีที่มีการยิงเอ็ม 79 ประเด็นนี้มักมีคนจำนวนมาก บอกว่า คนที่ทำนายว่าจะมีเอ็ม 79 ลงมา มันเป็นส่วนหนึ่งของผู้ชุมนุมเสื้อแดง ฉะนั้นเสื้อแดงละเมิดสิทธิฯ สิ่งที่เสื้อแดงโดนมันสมควรแล้ว อันนี้จึงเป็นปัญหามาก เพราะไม่มีใครมาจัดให้ชัดเจนว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของประชาชนหรือปัจเจกชนถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐหรือผู้มีอำนาจ ไม่ใช่กรณีเอกชนละเมิดสิทธิเอกชน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า คนยิงเอ็ม 79 ไม่ผิด แต่มันมีความหมายอีกนัยหนึ่ง คือ รัฐมีหน้าที่หาว่าใครเป็นคนทำ เพราะถ้ารัฐไม่สามารถหาได้ว่าใครเป็นคนทำ จะมีปัญหาตามมาว่า ตกลงแล้ว ผู้ที่มาชุมนุมเป็นอาชญากรทั้งหมดหรือไม่
มันจึงนำมาสู่คำถามถัดมาว่า คนจำนวนหนึ่งรู้สึกตกใจกับการที่มีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม หรือกฎหมายปรองดองเพราะเขามีความคิดชุดหนึ่ง ชุดเดียวกันว่าคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมเมื่อปี 2553 เป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรหรือผู้ก่อการร้าย เพราะฉะนั้นไม่ควรนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นการแบบเหมารวม
ที่กล่าวถึงประเด็นนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ใครบ้างที่ต้องรับผิด แบบที่ไม่ควรละเว้นโทษ ละเว้นความผิด ในทางกฎหมายสิทธิมนุษยชน ผู้ที่มีอำนาจและสามารถเลือกที่จะใช้อำนาจประหารประชาชนหรือไม่ใช้ แต่กลับเลือกที่จะใช้อำนาจนั้นประหารประชาชน บุคคลเหล่านั้นไม่ควรได้รับการยกเว้นโทษและยกเว้นความผิด
ธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศจะให้ลักษณะบางอย่างของการกระทำที่เรียกว่า ไม่ว่าใครเป็นคนทำหรือทำเมื่อไหร่ก็ตาม จะถือว่าเป็นความผิดตลอดเวลา ซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ ได้แก่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำลายล้างชาติพันธุ์ การก่ออาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ
สิ่งที่ถูกพูดถึงมาก คือ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ เพราะกินความหมายค่อนข้างกว้าง กินความตั้งแต่ความขัดแย้งในช่วงสงคราม จนถึงความขัดแย้งที่ไม่ต้องเป็นสงครามก็ได้ อย่างในบ้านเราไม่มีสงครามอย่างชัดเจน แต่มีความขัดแย้ง และละเมิดสิทธิ และการละเมิดสิทธิเกิดจากผู้ที่มีอำนาจ ซึ่งสามารถเลือกได้ที่จะไม่ใช้อำนาจแต่กลับใช้อำนาจในการสังหาร จนก่อให้เกิดอาชญากรรม
ลักษณะเหตุการณ์ของประเทศไทยที่เข้าข่าย อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ มีสองเหตุการณ์ใหญ่ (ซึ่งสองเหตุการณ์นี้ได้มีคนทำรายงานถึงสหประชาชาติ) คือ
1. สงครามยาเสพติดสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งมีคนตายไปกว่า 2,000 คน
2. การแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีคนตายจำนวนหนึ่ง
ประเด็นคือ มีความขัดแย้ง ความสูญเสีย มีคนเจ็บปวด โกรธแค้นเกลียดชังกันอยู่ สิ่งหนึ่งที่มันจะเกิด คือ การถกเถียง เหมือนสังคมไทยตอนนี้ คือเถียงไปเรื่อยๆ แบบไม่มีข้อสรุป ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์จากการถกเถียงแบบนี้ คือ ผู้มีอำนาจสั่งฆ่า เพราะ คดีมีอายุความ
ฉะนั้นจึงเห็นว่า รัฐไทยควรให้สัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อทำให้คนที่กระทำความผิดต้องรับผิดและต้องรับโทษ
การเรียกร้องให้รัฐไทยซึ่งได้ลงนามในธรรมนูญไปแล้ว ดำเนินการให้สัตยาบันเพื่อให้มีผลกับรัฐไทย จะมีผลดีดังต่อไปนี้
1. ทำให้คดีรัฐบาลทักษิณสั่งทำสงครามยาเสพติด จนมีคนตายกว่า 2,700 คนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (สำหรับคนไม่ชอบทักษิณ)
2. ทำให้คดีทักษิณทำสงครามต่อต้านโจรก่อการร้าย จนมีคนตายกว่า 2,000 คน รวมถึงทนายสมชาย เข้าสู่กระบวนการ
3. การใช้กำลังผ่านมาตรการของรัฐบาลทั้งหลาย ที่สร้างความเสียหายต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกครั้ง สามารถนำเข้าสู่กระบวนการเยียวยาได้ มิต้องพะวงว่าจะประกาศนิรโทษกรรม อาทิเช่น พฤษภาทมิฬ  10 เมษฯ พฤษภาฯ 53 ฯลฯ
4. ในอนาคตถ้าเกิดความแย้งที่มีลักษณะใกล้เคียงกันอีก ผู้ที่มีอำนาจในตอนนั้นจะระมักระวังตัวเองว่าจะถูกดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศไทย หลักประกันนี้จะทำให้ผู้มีอำนาจจำต้องใช้มาตรการที่คำนึงถึงชีวิตของประชาชนมากขึ้น
5. อาชญากรตกอยู่ในเขตอำนาจศาลสากล แม้ผู้กระทำความผิดจะหนีไปอยู่ที่ไหน ก็นำเข้าสู่กระบวนการได้ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในเขตอำนาจศาล ก็สามารถส่งไปขึ้นศาลได้ทันที หากรัฐนั้นๆ ยังไม่เข้าร่วม ก็อาจอาศัยความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ หรือมติคณะมนตรีความมั่นคงบีบให้ส่งขึ้นศาลได้
6. มวลชนที่สนับสนุนผู้นำอาชญากรคนนั้นหมดข้อกังขาต่อกระบวนการยุติธรรม ที่จะนำมาดำเนินคดีต่อผู้นำรัฐทั้งหลาย เนื่องจากมิใช่ศาลภายในที่อาจมีเรื่องการสลับขั้วทางการเมือง ทำให้ประชาชนทุกฝ่ายยอมรับผลการตัดสินได้ โดยมิอาจอ้างเรื่อง "อคติ" ของศาล
7. ประชาชนทุกกลุ่มจะได้รับการคุ้มครองมิว่ากลุ่มใดสีใด หรือมีความแตกต่างหลากหลายอย่างไร เนื่องจากรัฐบาลใดหากละเมิดสิทธิของประชาชน ก็ถือเป็นอาชญากรเฉกเช่นเดียวกัน และประชาชนก็มีสิทธิในการส่งเรื่องไปฟ้องคดียังศาลเช่นกัน
8. รัฐสามารถปรับปรุงแนวทางในการจัดการปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย ที่กระทบกระเทือนความมั่นคงของรัฐ ที่ชอบธรรมอ้างได้ทั้งในและต่างประเทศ หากเป็นไปตามกรอบของธรรมนูญนี้ ส่วนผู้ปฏิบัติการในสถานการณ์ก็จะมีหลักประกันที่ชอบธรรมในการไม่ทำตามคำสั่งประหัตประหารของผู้บังคับบัญชา หากตนจะต้องตกอยู่ในฐานะอาชญากรระหว่างประเทศ ดังปรากฏว่าทหารในหลายประเทศ อาจปฏิเสธคำสั่งที่มิชอบต่อกฎหมายได้ และนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรมทหารให้สอดคล้องในหลายประเทศ
9. ความเปลี่ยนแปลงนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปฝ่ายความมั่นคงและสงบเรียบร้อยของรัฐ ให้มีลักษณะคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น เนื่องจากเมื่อเหยื่อใช้กระบวนการเยียวยาภายในจนหมดสิ้นแล้ว ก็ยังสามารถมุ่งสู่การเยียวยาในศาลอาญาระหว่างประเทศได้ ทำให้รัฐมิอาจประกาศกฎหมายภายในมานิรโทษกรรมตนเองให้รอดพ้นจากกระบวนการยุติธรรมในศาลอาญาระหว่างประเทศ
10. การสร้างหลักประกันผ่านกระบวนการนี้ จะนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองที่ประชาชนตัวเล็กๆ จะได้มีหลักประกันว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้โดยไม่ถูกประหัตประหารจากอำนาจรัฐ หรือมวลชนฝั่งตรงข้ามโดยการเพิกเฉยของรัฐอีกต่อไป เนื่องจากมีหลักประกันระหว่างประเทศมาเพิ่มเติม
   "ถ้าเรารู้สึกว่าการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มันจะปล่อยคนผิด ปล่อยคนที่ควรจะได้รับการลงโทษ หรือเราไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติในประเทศไทย จนทำให้ พ.ร.บ ปรองดอง ฉบับใด ฉบับหนึ่งที่ออกมาไปยกเว้นความผิด หรือยกเว้นโทษให้กับคนที่เราคิดว่าควรได้รับโทษ มันยังไม่หมดสิ้นหนทางตลอดกาล มันยังเหลืออยู่"
   "การให้สัตยาบันศาลอาญาระหว่างประเทศ ไม่ใช่เพื่อดึงต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน แต่เพื่อสร้างหลักประกันสุดท้ายว่า กระบวนการภายในที่มันหมดสิ้นเสียแล้ว เรายังมีกระบวนการระหว่างประเทศรองรับอยู่ เป็นหลักประกันอีกกระบวนการหนึ่ง"