แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะลี้ภัยทางการเมือง ออกเดินทางตรวจพื้นที่ 6 จังหวัด 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-14 มิถุนายน 2555 เพื่อแยกภาพการทำงานในส่วนของ "บริหาร-นิติรัฐ" ออกจากกัน
แต่ในมุมของผู้นำฝ่ายค้านอย่าง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" มองว่า ประเด็นร้อนในรัฐสภาขณะนี้กลับเกี่ยวโยงกับ "ยิ่งลักษณ์และครอบครัว" โดยตรง ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างผลพวงรัฐประหาร ทั้งร่างกฎหมายปรองดอง เพื่อปูทางให้พี่ชายกลับบ้าน
ทำให้ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตั้งสมมติฐาน เดาใจ-อ่านเกมเขียนกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากนี้ไว้หลายกรณี
"วิรัตน์ กัลยาศิริ" วิเคราะห์ว่า กรณีที่รัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ก่อนที่จะมีการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ปิดสมัยประชุมสภา อาจทำให้มีการลงมติโหวตในช่วงวันที่ 15-19 มิ.ย. 55
ส่งผลให้มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในช่วงวันที่ 4-8 ก.ค. 55 ตามกระบวนการรัฐธรรมนูญตามมาตรา 150 ระบุว่า "ร่าง พ.ร.บ. ใดที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้ประธานสภานำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วัน เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา"
และตามมาตรา 151 ระบุตอนหนึ่งว่า กรณีที่ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ หรือพระราชทานคืนมายังรัฐสภาภายใน 90 วัน รัฐสภาจะต้องหารือกันใหม่ และยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา"
ซึ่งจำนวนเสียง 2 ใน 3 จากจำนวนสมาชิกรวม 644 คน (ส.ส. 500 คน ส.ว. 144 คน) เท่ากับว่า หากรัฐบาลต้องการเดินหน้าต่อ จะต้องคุมเสียงในการประชุมร่วมรัฐสภาให้ได้ จำนวน 428 เสียง
จังหวะดังกล่าว ฝ่ายรัฐบาลอาจต้องใช้ "ราคาต่อรอง" ที่สูงขึ้น เพื่อดึงปัจจัยที่ยังไม่แน่นอนให้กลับมาอยู่ฝ่ายตน ทั้งกลุ่ม ส.ส.ภูมิใจไทย จำนวน 34 เสียง ที่ยังคงยึดโยงนโยบายเทิดทูนสถาบัน และกลุ่ม ส.ว.สรรหา จำนวน 68 คน ที่ยังมีท่าทีครึ่ง ๆ กลาง ๆ
ขณะเดียวกัน ในโหมดรัฐสภาฟากฝ่ายค้าน ปชป. จะส่งทีมกฎหมายลุกขึ้นอภิปราย เพื่อฉายภาพให้เห็นความพยายามที่รัฐบาลจะเดินหน้า "กดดันพระราชอำนาจ" ทันทีที่มีการเดินหน้าโหวตรัฐธรรมนูญ
โดยเริ่มต้นจากการเขียนปฏิทินให้เห็นว่า เป็นช่วงเวลาที่อยู่ในช่วงที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ดำเนินการในขั้นตอนไต่สวนวันที่ 5-6 ก.ค. 55 เพื่อประกาศคำวินิจฉัยว่ามีความผิดตามมาตรา 68 หรือไม่
"จังหวะนั้น อาจจะมีความพยายามจากกระบวนการใต้ดิน ใช้มวลชนออกมาชุมนุมเรียกร้อง เพื่อแสดงท่าทีเรียกร้องให้ร่างกฎหมายดังกล่าวบังคับโดยเร็ว หลังจากที่รัฐสภาได้เห็นชอบตามกระบวนการเรียบร้อยแล้ว"
ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายอีกครั้ง โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการปะทะกันระหว่างมวลชนจากทั้งฝ่ายสนับสนุน-คัดค้าน ส่งผลให้เกิดการจลาจลในประเทศ กลายเป็นปัจจัยให้กองทัพต้องออกมาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอีกครั้ง
โดยแกนนำ ปชป.บางกลุ่มประเมินว่า หากเหตุการณ์เลวร้ายไปถึงจุดนั้น กองทัพอาจทำได้เพียงประกาศ "กฎอัยการศึก" แทนที่จะลุกขึ้นมา "ปฏิวัติ" เหมือนครั้งก่อน ซึ่งวิธีหลังประชาชนอาจไม่เอาด้วย เพราะส่งผลกระทบด้านลบมากกว่าบวกและมีการตีความกฎหมายไปไกลตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ระบุตอนหนึ่งว่า "ถ้าคดีอาญาใดที่เกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกมีเหตุพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญานั้นในศาลทหารก็ได้"
มาตรา 7 ทวิ ระบุว่า "ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามความในมาตรา 7 นั้น จะให้ศาลทหารในทุกท้องที่หรือแต่บางท้องที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามที่กล่าวในมาตรานั้น เท่ากันหรือมากน้อยกว่ากันก็ได้"
ซึ่งอาจส่งผลให้บางคดีความที่อยู่ในกระบวนการศาลปกติถูกขึ้นศาลทหาร และหากมีผลลัพธ์สุดท้ายที่ "ยุบพรรคการเมือง" ก็จะนำไปสู่การจัดตั้ง "รัฐบาลพระราชทาน" เพราะครั้งนี้ไม่มีสัญญาณว่าใช้บริการ ปชป.เป็นรัฐบาลอีก
เนื่องจากในการจัดตั้งรัฐบาลก่อนหน้านี้ ปชป.ไม่สามารถควบคุมการบริหารประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวได้ ทั้งที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
ส่วนกรณีต่อมา หากรัฐบาลตัดสินใจ "ไม่โหวต" ในสมัยประชุมนี้ เพื่อรอดูฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้ศาลกลายเป็นตัวชี้วัดอนาคตของ "กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ทันที
แกนนำฝ่ายค้านบางส่วนประเมินว่า หากศาลมีคำวินิจฉัยว่า "ผิด" จะส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกตีตก ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการ มาตรา 68 ในวรรคสามและสี่ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญที่นำไปสู่การยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี
แต่จะไม่ทำให้รัฐบาลผิดรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ไม่สามารถทำตามถ้อยแถลงนโยบายเร่งด่วน 1 ใน 16 ได้สำเร็จ เพราะถือว่ารัฐบาลได้เริ่มกระบวนการแล้ว โดยเทียบเคียงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเสมือนกับกรณีที่รัฐบาลเดินหน้านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ที่สุดท้ายใน 1 ปีแรกมีเพียงไม่กี่จังหวัดเท่านั้นที่ทำสำเร็จ ถือว่าได้มีการพยายามเกิดขึ้นแล้ว
ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลยังมีความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป ก็สามารถเสนอต่อที่ประชุมให้แก้ไขรายมาตราได้ ซึ่งจังหวะนั้น ปชป. ได้ลับอาวุธรอตอบโต้ เพื่อฉายภาพให้ชัดเจนยิ่งขึ้น กรณีที่รัฐบาลต้องการแก้ไขมาตรา 309 เพื่อล้มล้างผลพวงปฏิวัติ
กรณีที่สามเป็น "ความน่าจะเป็น" ที่แกนนำ ปชป. หลายฝ่ายห่วงที่สุด คือหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า "ไม่ผิด" จะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อตามมาตรา 150-151 ทันที ซึ่งท้ายที่สุดจะนำมาสู่การมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 99 คน
ซึ่ง "ถาวร เสนเนียม" วิเคราะห์ เมื่อถึงเวลานั้น ประเทศอาจรั้งความต้องการของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไว้ไม่อยู่ ถึงแม้ฝั่งตรงข้ามจะใช้คำกล่าวอ้างว่า ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้ง ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ก็ตาม
เขาบอกว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ร. 77 คน จากทุกจังหวัดนั้น มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นคนที่รัฐบาลสามารถแทรกแซงได้ถึง 45 คน ซึ่งมาจากพื้นที่ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา
ส่วน ส.ส.ร. ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 22 คนนั้น จะต้องได้รับการโหวตเลือกจากรัฐสภา ซึ่งแน่นอนว่า "เสียงข้างมาก" จะสามารถล็อกสเป็กคนที่ต้องการไว้ได้ดังใจ
"ดังนั้นผมวิเคราะห์ว่า ส.ส.ร. จำนวน 67 คน จาก 99 คน จะทำให้ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในรูปแบบที่เขาต้องการได้สำเร็จ เพราะเป็นจำนวนที่มากกว่ากึ่งหนึ่ง จะสามารถทำอะไรก็ได้"
ทั้งหมดเป็นสมมติฐาน 3 ทาง ที่ฝ่ายค้านประเมินล่วงหน้าว่า หากเพื่อไทยขยับทางไหน ก็พร้อมจะเดินหน้าคัดค้านต่อทันที !!