นักปรัชญาชายขอบ: “ปล่อยนักโทษการเมือง” คือความรับผิดชอบทางศีลธรรมของรัฐบาลเพื่อไทย

ประชาไท 6 มิถุนายน 2555 >>>


เมื่อยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เราจำเป็นต้องยอมรับข้อเสนอ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ของนิติราษฎร์ ซึ่งมีผลให้การดำเนินการของ คตส. เป็นโมฆะ และคดีต่างๆ ของคุณทักษิณต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ
การปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวโดยอ้างว่าทักษิณได้ประโยชน์ หรือเป็นข้อเสนอล้างผิดให้ทักษิณ (ที่จริงไม่ได้ล้างเพียงแต่ยืนยันสิทธิในการพิสูจน์ตนเองภายใต้หลักความเสมอภาคทางกฎหมาย) ย่อมเท่ากับปฏิเสธหลักนิติรัฐ นิติธรรม เพราะเป็นการยอมรับสภาพความเป็นนิติรัฐ นิติธรรม ของระบบอำนาจที่ได้มาจากการทำรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตย
ที่สำคัญการปฏิเสธเช่นนั้นยังเป็นการสร้าง “มายาคติ” ว่า “ทักษิณคือศูนย์กลางของปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง” ทั้งที่ปัญหาที่แท้จริงคือการรัฐประหารทำลายหลักการแห่งนิติรัฐ นิติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย
ทว่าตลกร้ายของสังคมไทยคือ ทำไมมวลชนของคนชั้นกลางในเมืองรับไม่ได้อย่างเด็ดขาดกับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่เสียภาษี แต่ยอมรับได้กับรัฐประหารและกระบวนการเอาผิดนักการเมืองและพรรคการเมืองโดยระบบอำนาจของรัฐประหาร
การรับไม่ได้เด็ดขาดกับความผิดน้อยกว่า (การทำผิดกฎหมาย) กับการยอมรับได้และให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันแก่ความผิดที่มากกว่า (ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มระบอบประชาธิปไตย) ในกรณีตัวอย่างนี้ เป็นเรื่องไม่อาจเข้าใจได้ หรืออธิบายไม่ได้ด้วยตรรกะที่อ้างอิงหลักจริยธรรมทางการเมือง หลักการ อุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือหลักนิติรัฐ นิติธรรม
ฉะนั้น การแก้ปัญหาความขัดแย้ง หรือการสร้างความปรองดองจะไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้าไม่กลับไปหาหลักการ หรือยึด “หลักการ” เป็นตัวตั้ง
แต่ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองที่แก้ไม่ตก เพราะมันถูกทำให้เป็น “เกมการเมือง” และเป็นเกมการเมืองที่มีเป้าหมายเพื่อกำจัดทักษิณให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม ซึ่งที่จริงการขจัดทักษิณหรือนักการเมืองคนใดเป็นเรื่องที่ทำได้และควรทำหากเขาทำผิดกฎหมายตามที่กล่าวหาจริง แต่วิธีการขจัดต้องเป็นวิธีการที่ถูกต้องตามหลักนิติรัฐ นิติธรรมในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น
ถ้าอีกฝ่ายไม่ยอมรับว่าได้ใช้วิธีที่ผิดแล้วเปลี่ยนมาใช้วิธีที่ถูก การแก้ปัญหาขัดแย้งหรือการสร้างความปรองดองก็ไม่อาจเป็นไปได้
พูดจำเพาะเจาะจงกว่านั้นคือ ฝ่ายที่ไม่ยอมรับว่าได้ใช้วิธีที่ผิด ไม่ยอมรับข้อเสนอให้วิธีที่ผิดเป็นโมฆะคือฝ่ายที่ไม่ต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ต้องการสร้างความปรองดอง ต้องการเพียงอย่างเดียวคือขจัดทักษิณ เพราะเห็นว่าทักษิณคือคู่แข่งทางการเมืองที่น่ากลัว และทำให้สถานะอำนาจของฝ่ายตนไม่มั่นคงเหมือนเดิม
คำถามคือ คุณทักษิณ แกนนำ นปช. และรัฐบาลเพื่อไทยจะสร้างความปรองดองกับฝ่ายที่ไม่ต้องการความปรองดองได้อย่างไร ?
การต่อสู้ของคุณทักษิณเดินมาถึงจุดนี้ได้ เพราะมีพลังประชาชนจำนวนมหาศาลสนับสนุน แน่นอนว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยอาจรัก ศรัทธาในตัวคุณทักษิณ แต่ประชาชนที่รักประชาธิปไตยทุกคน ไม่ว่าเขาจะชอบหรือเกลียดคุณทักษิณก็ตาม เขาย่อมรับไม่ได้กับการทำรัฐประหารและการเอาผิดโดยรัฐประหาร
ฉะนั้น คุณทักษิณจึงถูกปกป้องทั้งโดยประชาชนที่รักเขา และถูกปกป้องโดยปริยายจากประชาชนทุกคนที่รักประชาธิปไตย
เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของคุณทักษิณ แกนนำ นปช. และรัฐบาลเพื่อไทยต้องยึด “หลักการ” เป็นตัวตั้ง ต้องสร้างประชาธิปไตยและความยุติธรรมให้ได้
การปรองดองด้วยภาษาที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรียกว่า “เจรจาต้าอ่วย” หรือ “ทอดไมตรี” ให้อำมาตย์นั้น ไม่อาจเป็นไปได้ เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะยอมทำตัวเป็น “เครื่องมือ” ของอำมาตย์เหมือนที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ยอม แต่ประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลเพื่อไทยจะยินยอมหรือ
โดยเฉพาะผู้ที่บาดเจ็บ สูญเสียสมาชิกของครอบครัวและญาติมิตรของเขาไป และชาวบ้านธรรมดาที่ยังอยู่ในคุก คนเหล่านี้เขาควรจะได้รับความยุติธรรมอันดับแรก
อาจารย์สมศักดิ์เคยเสนอมานานแล้วว่า รัฐบาลควรย้ายนักโทษคดี ม.112 มาอยู่ในคุกนักโทษการเมือง ควรออกกฎหมายนิรโทษกรรมคนเสื้อแดงที่อยู่ในคุกก่อน เพราะทำได้ง่ายกว่า พ.ร.บ.ปรองดอง และล่าสุดเขายังยืนยันอีกว่า
ผมยังเห็นและยืนยันว่า เรื่องเร่งด่วน ที่คุณทักษิณ-เพื่อไทย-นปช. ควรทำให้สำเร็จโดยเร็ว คือ ทำอย่างไร จะช่วยให้นักโทษการเมืองเป็นอิสระ... เห็นใจคนติดคุก 2 ปีกว่า ยิ่งเหตุการณ์ที่สร้างความหวังไว้สูงเมื่อสัปดาห์ก่อน แล้วต้องผิดหวัง (นึกว่าจะได้ออก) เป็นอะไรที่ผมเห็นว่า คุณทักษิณ-เพื่อไทย-นปช. ควรต้องตระหนักในความรับผิดชอบทางคุณธรรม (moral responsibility) ต่อพวกเขาอยู่ (มติชนออนไลน์ 4 มิ.ย. 55)
ผมคิดว่าความรับผิดชอบทางศีลธรรมต่อประชาชนผู้เสียสละเป็นสิ่งที่รัฐบาลที่มาจากการต่อสู้ของพวกเขาไม่อาจปฏิเสธได้ คุณทักษิณบอกว่าได้ส่งคนไปดูแลทุกคนที่เดือดร้อน นั่นก็เป็นสิ่งที่ดี แต่พวกเขาเหล่านั้นต้องได้รับความเป็นธรรมทั้งจากรัฐบาลของเขาเองและจากระบบยุติธรรม
การนิรโทษกรรมให้คนระดับชาวบ้านธรรมดาเป็นเรื่องที่อธิบายกับสังคมได้ไม่ยาก ในทางการเมืองก็ไม่น่าจะยากจนเกินไป เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หมอวรงค์แห่งพรรคประชาธิปัตย์เองยังพูดผ่านรายการ “คม ชัด ลึก” ว่าเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้คนระดับชาวบ้านธรรมดา จึงเป็นเรื่องเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมรัฐบาลเพื่อไทยไม่ริเริ่มทำเรื่องนี้ก่อนตามข้อเสนอของอาจารย์สมศักดิ์
แน่นอนว่า ความเป็นจริงของปัญหาที่คุณทักษิณ แกนนำ นปช. และรัฐบาลประสบอยู่อาจซับซ้อนและยากลำบาก แต่ ณ วันนี้สังคมต้องการนักการเมือง และพรรคการเมืองที่มีความสามารถเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” และเส้นทางการสร้างความปรองดองก็เป็นไปไม่ได้ถ้าไม่ยึดหลักการเป็นตัวตั้ง ฉะนั้น ทางเลือกจึงมีทางเดียวคือยืนยันหลักการ ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมเป็นประชาธิปไตยและความยุติธรรมให้ได้
คุณทักษิณ แกนนำ นปช. และรัฐบาลต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยและความยุติธรรมบนหลักเสรีภาพและความเสมอภาค ต้องเริ่มจากง่ายไปหายากปล่อยนักโทษการเมืองก่อน พร้อมๆ กับส่งสัญญาณหรืออธิบายกับสังคมอย่างต่อเนื่องในเรื่องความยุติธรรม ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน
การทำงานเพื่อปากท้องของประชาชนก็ต้องทำ แต่การเดินหน้าทางเศรษฐกิจจะยั่งยืนไม่ได้ ถ้าไม่สร้างระบอบประชาธิปไตยให้ยั่งยืน
แม้แต่ความปรองดอง หรือการที่คุณทักษิณจะกลับบ้านอย่างปลอดภัยก็ไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้าไม่ดำเนินไปตามหลักการแห่งนิติรัฐ นิติธรรมตามที่กล่าวมาได้สำเร็จ และสิ่งที่สังคมต้องการมากเวลานี้คือนักการเมืองและพรรคการเมืองที่แสดงบทบาทอย่างชัดเจนว่าพวกเขาคือ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง”
มันจะเป็นเรื่องที่เสียโอกาสมากเพียงใดที่เมื่อเดินมาถึงจุดนี้แล้ว คุณทักษิณ แกนนำ นปช.และรัฐบาลเพื่อไทยไม่สามารถจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง !