ประชาไท 10 มิถุนายน 2555 >>>
ด้วยความเคารพ หลังจากศาลมีคำสั่งพิจารณารับคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เกี่ยวเนื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลหรือพรรคการเมืองซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 (รธน.) อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องจากการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 291 ของรัฐบาล รัฐสภา พรรคการเมือง และบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ยื่นโดยกลุ่ม ส.ส. ส.ว. และประชาชน จำนวน 5 สำนวน ปรากฏตามข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ 16/2555 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2555
รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 68 “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว...”
แม้ว่ามีนักวิชาการโดยเฉพาะนักกฎหมายจำนวนมากออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การที่ศาลตีความว่าตนมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาตามมาตรา 68 นั้นเป็นการตีความที่ผิดหลักการ เป็นการกระทำที่ใช่ไม่เพียงทำเกินหน้าที่เท่านั้นแต่เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจเลยในกรณีนี้
เพื่อปกป้องเกียรติยศและศักดิ์ศรีของสถาบันอันทรงเกียรตินี้ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกมาแถลงจุดยืนของตนถึงสองครั้งในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์โดยย้ำว่า “ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการถ่วงดุลในการตรวจสอบ” “ไม่ใช่การก้าวล่วงกำกับรัฐสภาแต่ให้มองในทางบวกว่าการรับคำร้องก็เพื่อทำให้ลดความตึงเครียด และความหวาดระแวงของสังคมที่มีต่อรัฐบาลและรัฐสภา” หรือแม้จากการให้สัมภาษณ์ครั้งล่าสุด ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญยังกล่าวอีกว่า “ส่วนการตีความมาตรา 68 นั้น ขอให้ไปดูรัฐธรรมนูญฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ จะชัดเจนว่าการยื่นคำร้อง เป็นเรื่องของผู้ทราบ ไม่ใช่เรื่องของอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียว”
การออกมาเน้นย้ำถึงสองครั้งของนักกฎหมายผู้ทรงคุณวุฒิผู้เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์การทำงานอย่างยาวนานเกือบจะทำให้นักกฎหมายทั้งหลายหลงเชื่อ หากแต่ไม่สามารถหาเหตุผลที่จะมาอธิบายตามตรรกะทางกฎหมายหรือแม้แต่หลักการทางรัฐศาสตร์ได้เลย และ/หรือหากจะมีกฎหมายให้อำนาจเช่นนั้นจริง ก็ยังต้องมาถกเถียงว่า เป็นการให้อำนาจที่ขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจในการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่และเป็นการขัดกับอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเองหรือไม่
ยิ่งท่านประธานอ้างว่า “ก็เพื่อทำให้ลดความตึงเครียด และความหวาดระแวงของสังคมที่มีต่อรัฐบาลและรัฐสภาลงได้” แล้ว แม้เป็นที่เข้าใจในความหวังดี แต่ก็อดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่าท่านมีอำนาจหน้าที่เช่นว่าตั้งแต่เมื่อไร หากท่านวินิจฉัยว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสภาในครั้งนี้ก่อให้เกิดความวุ่นวายและความขัดแย้งของคนในสังคม การรับไว้พิจารณาก็เพื่อลดความตึงเครียดและความหวาดระแวงของสังคม ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นความหวังดี แต่มีกฎหมายฉบับไหนให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจลดความตึงเครียดและความหวาดระแวงของคนในสังคมได้ การวิเคราะห์เหตุผลที่ท่านประธานให้ไว้ยิ่งทำให้เครียดและหวาดระแวงต่อพฤติกรรมที่ไม่อยู่ในร่องในรอยของท่านหนักเข้าไปใหญ่ เป็นการตีความให้มีอำนาจกว้างขวางอย่างไม่สามารถอธิบายได้โดยหลักวิชาการ
หลักกฎหมายมหาชนทั่วไปโดยหลักแล้ว องค์กรที่ใช้อำนาจในทางมหาชนจะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ ดังนั้น การกระทำการใดๆ จึงต้องเป็นขั้นเป็นตอนและเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด
ท่านยังอ้างต่อไปอีกว่า “ขอให้ไปดูรัฐธรรมนูญฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ” ผู้เขียนได้ตามไปศึกษาตามที่ท่านเสนอ จึงขอนำมาฝาก ดังนี้
ฉบับแปลของศาลปกครอง: Article 68 para 2 “In case where a person or political party has committed an act under paragraph one, the person knowing of such an act shall have the right to request the Prosecutor General to investigate its facts and submit a motion to the Constitutional Court for ordering cessation of such act...”
ฉบับแปลของ IFES Thailand (ฉบับแปลทางการ): Where a person or political party acts under paragraph one, the witness thereof has the right to report the matter to the Prosecutor General to investigate facts and to submit a request to the Constitutional Court for decision to order cessation of such act...”
หากจะให้ตีความแบบที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระนักรัฐศาสตร์ (ซึ่งน่าจะเอามาจากฉบับของศาลปกครอง) ได้ให้ไว้บนเฟสบุ๊คส่วนตัวแล้วว่า ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญคงเล่นตลกโดยการตีความเอาคำว่า "submit a motion/request to the Constitutional Court for ordering cessation of such act..." ไปขยายส่วน
1. right to request และ right to submit หรือ
2. to request และ to request to submit ซึ่งหากจะตีความแบบที่ท่านอาจารย์เกษียรเดา คือ ท่านประธานศาลตีความว่า บุคคลมีสิทธิยื่นได้ทั้งต่ออัยการและศาลรัฐธรรมนูญ (แบบแรก) ซึ่งหากจะตีความตามนั้นบวกกับการตีความตามหลักกฎหมายจะมีผลดังนี้ คือ การยื่นตามาตรา 68 นี้จะต้องกระทำพร้อมกันในสองลักษณะ (เนื่องจากกฎหมายใช้คำว่า “และ/and” เป็นตัวเชื่อมระหว่างประโยค) คือ
1. เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และ (พร้อมกับ)
2. ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ
กล่าวคือยื่นพร้อมกันทั้งที่อัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญจึงจะเป็นการยื่นที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ตามการตีความของท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ
คำถามต่อมาคือ แล้วใครเป็นผู้วินิจฉัยสั่งการ ก็ต้องตอบว่าเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะอัยการสูงสุดมีอำนาจเพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น ส่วนตรวจสอบได้ข้อเท็จจริงแล้วอย่างไรต่อก็ต้องบอกว่าไม่ต้องทำอะไร เพราะรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบเฉยๆ แปลกดี
เพื่อความชัดเจนอีกครั้งสำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตาม ศาลรัฐธรรมนูญอ้างมาตรา 68 ในการรับคำร้อง นักวิชาการมองว่าศาลไม่มีอำนาจรับคำร้องเพราะอะไร ขออธิบายโดยสังเขปดังนี้ (ผู้อ่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากงานเขียนและบทสัมภาษณ์ของนักวิชาการหลายต่อหลายท่านที่ได้ให้ความเห็นในกรณีนี้ไว้แล้ว)
1. ฟ้องใครได้บ้าง ? มาตรา 68 ระบุว่า “บุคคลหรือพรรคการเมือง จะใช้สิทธิเสรีภาพ (exercise the rights and liberties) เพื่อล้มล้างการปกครอง..” (วรรค 1) สภาไม่ใช่บุคคลแต่เป็นกระบวนการที่มาจากกลไกในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นหน้าที่ซึ่งสภามีอำนาจทำได้ตามมาตรา 291 กรณีนี้เป็นเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ (duty ดูมาตรา 74) ไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพ (rights and liberties) กล่าวคือ มีกฎหมายให้อำนาจไว้และได้ทำตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้นั้น และกระบวนการดังกล่าวไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือพรรคการเมืองแต่เป็นการกระทำในรัฐสภาอันเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ อีกทั้งหมวดดังกล่าวอยู่ในหมวดของ “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” (มาตรา 26-69) จึงไม่ควรเอามาปนกับเรื่องของหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
2. ใครยื่นได้บ้าง ? มาตรา 68 ระบุว่า "ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ..." ดังนั้น บุคคลธรรมดาย่อมไม่สามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เอง หากจะตีความตามภาษาอังกฤษที่ท่านประธานอ้างคงจะต้องยื่นทั้งสองที่ตามที่ได้กล่าวแล้ว
3. ยื่นต่อใคร ? มาตรา 68 ระบุ “ให้ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ..” กล่าวคือผู้ทราบการกระทำยื่นต่ออัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายตามคำร้องจริง จากนั้นให้อัยการยื่นต่อไปยังศาลเพื่อวินิจฉัยสั่งการต่อไป การที่ศาลรับไว้พิจารณาจึงไม่ชอบเพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้
4. ศาลมีอำนาจมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ ? เมื่อศาลไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาแล้วศาลจะมีอำนาจมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้นหากพิจารณาโดยตรรกะเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตามข้อกำหนดศาลฯ ข้อ 6 เพื่อใช้มาตรการชั่วคราวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ เป็นการเอากฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ามาบังคับการกระทำตามกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่า เป็นการใช้กฎหมายข้ามสายพันธ์เป็นหลักการที่หาคำอธิบายเชิงตรรกะได้ยากมาก
สรุปคือ ศาลไม่มีอำนาจ การมีคำสั่งรับไว้พิจารณาจึงไม่ชอบด้วยประการทั้งปวง อีกทั้งการมีคำสั่งเพื่อมีผลให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยอีกถือเป็นการออกคำสั่งที่ตนไม่มีอำนาจอย่างชัดเจน
เพื่อตอบคำถามว่าอัยการไม่ควรเป็นองค์กรเดียวที่ดำเนินการเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญเท่านั้น ประชาชนที่เห็นการกระทำดังกล่าวสามารถกระทำการใดเพื่อตอบโต้หากมีการกระทำเพื่อล้มล้าง รัฐธรรมนูญ ได้หรือไม่ คำตอบคือ “ได้” กล่าวคือปรากฏตามมาตรา 69 รัฐธรรมนูญ ซึ่งให้สิทธิประชาชนในการต่อต้านการกระทำเช่นว่าด้วยสันติวิธี ซึ่งเป็นหลักการที่สอดคล้องกับการใช้สิทธิและเสรีภาพชองประชาชนตามที่ปรากฎในชื่อหมวดของรัฐธรรมนูญส่วนนี้ อีกทั้งเป็นการเน้นย้ำว่ากระบวนการทางกฎหมายย่อมต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงกลั่นกรองก่อนนำขึ้นสู่กระบวนการทางศาลต่อไป
พิจารณาโดยตรรกะ (อย่างคนที่ไม่มีความรู้กฎหมาย) หากประชาชนสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างพร่ำเพรื่อเช่นนี้โดยไม่มีกระบวนการกลั่นกรองก่อน บ้านเมืองจะไม่วุ่นวายหรือ เพราะศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเครื่องมือทางการเมืองชั้นดีในการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามที่ทำไม่ถูกใจอีกฝ่ายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แล้วเสถียรภาพของรัฐในการบริหารจัดการจะอยู่ที่ไหน
ต่อบทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมยังคงเป็นที่เคลือบแคลง ล่าสุดได้มีเสียงสะท้อนจากพรรคประชาธิปัตย์โดยคุณเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช แสดงความกังวลต่อการประชุมสภาที่จะมีขึ้นว่า “ตนมีความกังกลหากรัฐสภาจะพิจารณาคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ชลอการพิจารณาลงมติแก้ไขในวาระ 3 ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในสภาได้เนื่องจากการอภิปรายส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายแต่เป็นความคิดเห็นทางการเมือง เกรงว่าคนที่ไม่รู้กฎหมายนำมาอภิปรายจะเป็นปัญหา ซึ่งตนทราบข่าวว่ามีการจองกฐินถล่มศาล ตนเห็นว่าไม่เหมาะเพราะจะไม่เป็นธรรมกับศาลที่ไม่สามารถชี้แจงได้”
เพราะหากวิเคราะห์จากช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ที่นายสนธิ ลิ้มทองกุลออกมาให้สัมภาษณ์ว่าตราบใดที่ยังไม่เห็นเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญก็ถือว่าเป็นการยกประโยชน์ให้จำเลย นัยคือพันธมิตรไม่ต่อต้านการลงมติของสภาในการรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 (แต่ก็ไม่อาจชล่าใจเพราะพธม.เองหรือผู้ยื่นเองก็ยังมีจุดเกาะเกี่ยวกับประโยชน์ตรงนี้อยู่) อาการลอยเคว้งของศาลรัฐธรรมนูญจึงน่าเป็นห่วงเพราะขาดมวลชนหนุนหลัง การที่พรรคประชาธิปัตย์ออกตัวเช่นนี้จึงเป็นการสื่อความหมายบางประการต่อองค์กรตุลาการนี้
จากประวัติความเป็นมาของตุลาการตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 50 คือผลสืบเนื่องจากการทำรัฐประหาร โดยการทำรัฐประหารมีธงในการทำลายอำนาจการเมืองของทักษิณ ดังนั้น ตุลาการที่ถูกแต่งตั้งจึงเป็นที่เคลือบแคลงว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่อยู่ฝั่งตรงข้ามคุณทักษิณและสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์แทบทั้งสิ้นสืบเนื่องจากผลการทำงานที่ผ่านมา ทั้งผลงานยุบพรรคไทยรักไทย ยุบพรรคพลังประชาชน และพรรคอื่นๆ ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ ทำไมประชาธิปัตย์ถึงรอด ในช่วงปี 2553 และปี 2554 จากสองคดีที่มีผู้ร้องยื่นยุบพรรคประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์ชนะคดีด้วยเทคนิคทางกฎหมาย (แบบคลุมเครือ) แทบทั้งสิ้น มิได้พิเคราะห์ว่ามีความผิดตามข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างหรือไม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญถูกประจานว่ามีตุลาการบางคนประชุมเตรียมการเพื่อช่วยพรรคประชาธิปัตย์ หลักฐานชัดเป็นวีดิทัศน์เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญประชุมช่วยเหลือคดีพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอย่างร้ายแรงและขัดต่อหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา แต่ศาลไม่เพียงไม่ตั้งคณะกรรมสอบวินัยและลงโทษตุลาการที่ปรากฏในภาพวิดิทัศน์ดังกล่าว แต่กลับจะฟ้องเอาผิดผู้เผยแพร่วิดีโอดังกล่าวตาม พรบ.คอมพ์ฯ ว่าการเผยแพร่วีดิทัศน์ดังกล่าวเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน และล่าสุดกรณีศาลสั่งให้นายจตุพร พรหมพันธ์พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. เนื่องจากถูกจำคุกไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ที่ยังคงเป็นข้อกังขาของนักกฎหมาย
ทำไมต้องรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ต้องถามว่าเหตุการณ์ เม.ษ.-พ.ค. 53 เป็นผลสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติที่บิดเบี้ยวอันเป็นผลิตผลจากอำนาจเผด็จการใช่หรือไม่ เพราะฝ่ายที่ไม่ชอบทักษิณต้องการทำทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายโดยไม่สนหลักการสากลที่ทั่วโลกยอมรับเป็นเหตุให้ประชาชนออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมใช่หรือไม่ เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่สามารถใช้ได้เป็นการทั่วไปใช่หรือไม่ โดยเฉพาะมาตรา 237 เห็นได้ชัด เพราะเป็นบทบัญญัติให้สามารถยุบพรรคการเมืองจากการที่บุคคลเพียงคนเดียวในพรรคการเมืองกระทำความผิด ซึ่งตามหลักสากลแล้ว “บุคคลที่ไม่ได้กระทำความผิดย่อมไม่ต้องรับโทษ” หลักการเช่นนั้นเป็นธรรมแล้วใช่หรือไม่ นี่ยังไม่นับรวมมาตรา 68 ที่กำลังถกเถียงกันแบบไม่มีทีว่าว่าจะจบสิ้นง่ายๆ แล้วมีเหตุผลใดที่จะไม่แก้กฎหมายสูงสุดที่ประกอบด้วยหลักการที่บิดเบี้ยวเช่นนี้อีก
เพื่อให้เป็นที่เข้าใจเนื่องจากมาตรา 291 เปิดให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตราดังกล่าวจะต้องกระทำผ่าน “รัฐสภา” เท่านั้น จากการแก้มาตรา 291 ที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมจำนวนหลายมาตราไม่สามารถทำได้โดยกลไกรัฐสภา ดังนั้นจึงต้องแก้มาตรา 291 ไปก่อนเพื่อตั้ง ส.ส.ร. มาแก้ทั้งฉบับ ซึ่งหากศาลชี้ว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือจะต้องกลับมาแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ที่ระบุว่า “ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม.. ให้สภาพิจารณาเป็นสามวาระ” จากการสังเกตการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในช่วงเดือนที่ผ่านมาอาจจะกล่าวได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับด้วยวิธีนี้อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 5-36 ปี (ขึ้นอยู่กับว่าแก้จำนวนกี่มาตรา) ในเวลานี้เป็นขั้นตอนของการรับร่างฯ วาระ 3 ของ ซึ่งการแก้ไขมาตรา 291 มาตราเดียวยังทำให้บ้านเมืองวุ่นวายได้ถึงเพียงนี้
แล้วอย่างไรต่อไป ด้วยเหตุผลประการทั้งปวง ผู้เขียนจะขอเรียกร้องที่รัฐสภาจะเพิกเฉยต่อคำสั่งศาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ และ/หรือตอบโต้ด้วยการชี้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ และทำหน้าที่ของรัฐสภาต่อไป เพราะหากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ไม่ได้รับการแก้ไข ความขัดแย้งจะยิ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่มีวันจบสิ้น
แม้มีนักวิชาการบางท่านมีความเห็นตรงกันว่าไม่ควรปฏิบัติตามแต่เสนอให้รัฐสภารอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แล้วระหว่างเวลาดังกล่าวจะต้องทำอย่างไรในเมื่อมีคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องมีหนังสือชี้แจงภายใน 15 วัน หากรัฐสภาทำหนังสือชี้แจงตามที่ศาลได้มีคำสั่งมานั้นและ/หรือไม่ดำเนินการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 การกระทำดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้โดยนัยแล้วหรือไม่ เพราะการกระทำการใดที่เป็นการแสดงออกถึงการยอมรับว่าอำนาจดังกล่าวมีอยู่จริง ทั้งที่ไม่มีอยู่จริง จะถือเป็นการสถาปนาอำนาจนอกรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่หรือไม่ ถือเป็นการทำลายกลไกการปกครองระบอบประชาธิปไตย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และเป็นการสร้างบรรทัดฐานขึ้นในสังคมไทย เพราะการไม่ปฏิเสธและไม่ตอบโต้เท่ากับเป็นการยอมรับ ซึ่งอาจจะถูกนำมาสร้างเป็นบรรทัดฐานต่อไปได้
เมื่อพิจารณาแล้วว่าการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่ไม่ชอบตามกฎหมายจริง เช่นนี้ ประชาชนควรออกมาแสดงพลัง/แสดงความคิดเห็นให้มากว่าอำนาจที่แท้จริงเป็นของประชาชน อำนาจตรวจสอบรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน อย่าให้นักกฎหมายเพียงไม่กี่คนมาทำอะไรที่ลิดรอนอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอีก
กรณีการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงถือเป็นอภิมหากาพ์ที่อาจจะไม่จบลงง่ายๆ จนกว่ามีีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพ่ายแพ้กันไปในที่สุด ที่สำคัญเนื้อเรื่องตอนต่อไปฝ่ายประชาชนจะพ่ายแพ้ต่ออำนาจตุลาการเพื่อให้เกิดการสถาปนาอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอย่างสมบูรณ์ หรือจะเป็นการช่วงชิงจังหวะจากการเพลี่ยงพล้ำเองของผู้มีอำนาจเพื่อการประกาศชัยชนะของประชาชน ตัวเล่นสำคัญที่จะทำให้เรื่องราวพลิกผันต่อไปหาใช่ใครอื่นแต่คือคนไทยทุกคนที่จะร่วมกันต่อสู้บนเส้นทางประชาธิปไตยเส้นนี้ ส่วนบทสรุปจะลงเอยอย่างไรคงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป