ข่าวสด 9 มิถุนายน 2555 >>>
กรณีนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยกรัฐธรรม นูญฉบับภาษาอังกฤษมายืนยันการตีความตามมาตรา 68 จนนำมาสู่ "คำสั่ง" ให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
โดยอ้างว่าในคำแปลระบุชัดเจนว่า การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของผู้ทราบ ไม่ใช่เรื่องของอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียวนั้น นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการด้านกฎหมาย โดยใช้ข้อมูลและหลักวิชาการมาเป็นเหตุผลในการแสดงคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
ในแง่หลักภาษานั้นประโยคที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับภาษาอังกฤษ เป็นรูปประโยคที่เรียกว่า ประโยคเชิงซ้อน (complex sentence) หรือที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า"สังกรประโยค"
ผมเห็นว่าการแปลความหมายของนายวสันต์นั้น เป็นการแปลแบบผิดๆ ถูกๆ ขึ้นอยู่กับการตีความของตัวเองมากกว่า
โดยหลักทั่วไปของการแปล เป็นเรื่องของอัตวิสัย (subjective) หรือมุมมอง หรือความเห็นส่วนบุคคล การแปลจึงขึ้นอยู่กับผู้แปลว่าจะแปลออกไปอย่างไร ในทิศ ทางใด
ทั้งนี้การแปลนั้นเป็นเรื่องของการถ่ายทอดสารจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง หัวใจสำคัญคือ ผู้แปลจะต้องแปลให้คนอ่านในอีกภาษาหนึ่งเข้าใจด้วย
ผมจึงอยากถามว่า การตีความครั้งนี้เกินอำนาจหน้าที่ของตนเองหรือไม่
การตีความรัฐธรรมนูญภาษาอังกฤษในครั้งนี้ สามารถแปลและตีความได้ทั้ง 2 แบบ คือ จะแปลว่าให้บุคคลทั่วไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ หรือจะให้ต้องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้นก็ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นการตีความในแบบของผมเอง
แต่สุดท้ายแล้วเราจะต้องดูจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมากกว่า และที่สำคัญต้องดูจากรัฐธรรมนูญที่เป็นฉบับภาษาไทยเท่านั้น จะทำให้เข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญได้ดีกว่า
นันทวัฒน์ บรมานันท์
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
ครั้งนี้เป็นหนแรกในชีวิตของผมเลยก็ว่าได้ ที่มีการตีความรัฐธรรมนูญจากภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องที่ใช้การไม่ได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วกฎหมายที่เขียนขึ้นนั้น จะพยายามเขียนให้ชัดเจนอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว เนื่องจากกฎหมายนั้นต้องบังคับใช้กับประชาชนกว่า 60 ล้านคนในประเทศ
การบัญญัติกฎหมายขึ้นมาก็ต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายต่อการใช้ ไม่ต้องมาตีความให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อน
และหากกฎหมายนั้นมีความคลุมเครือหรือไม่ครอบคลุม น่าสงสัย เราก็ต้องไปดูที่เจตนารมณ์ในตอนยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยยึดจากเจตนารมณ์ที่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรและมีกฎหมายรองรับเพื่อมาตีความตัวบทกฎหมาย
สำหรับการตีความเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ในมาตรา 68 นั้น ผมเห็นว่าไม่จำเป็นต้องไปดูเจตนารมณ์ที่ไหนอีก เพราะรัฐธรรมนูญระบุชัดแล้วว่า ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และเราไม่ควรหลงประเด็นไปกับการดูรัฐธรรมนูญฉบับภาษาอังกฤษ เพราะเป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้อง เราต้องยึดจากฉบับภาษาไทยเท่านั้น
ถ้าจะเอามาเทียบกันก็ต้องเป็นเรื่องของฉบับภาษาอังกฤษที่ไม่มีความชัดเจนจึงจะนำภาษาไทยมาเทียบ เพราะฉะนั้นแล้วรัฐธรรมนูญของไทยต้องใช้เฉพาะภาษาไทยเท่านั้น ไม่มีฉบับภาษาอังกฤษ
สำหรับประเด็นเรื่องการเสนอการตีความเช่นนั้น จะใช้ได้กับประชาชนคนไทยได้มากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่าไม่มีประชาชนคนไหนที่จะรับฟังหรือเข้าใจในเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
ยกตัวอย่างว่าหากกฎหมายไม่ชัดเจน เมื่อเราส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวกฎหมาย ก็ไม่มีใครสนใจภาษาอังกฤษ แต่จะใช้ตัวบทกฎหมายที่เป็นภาษาไทยมากกว่า และรัฐธรรมนูญเองก็ลงวันที่ประกาศใช้เป็นภาษาไทยแล้วมาแปลเป็นอังกฤษทีหลัง
ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการนั้น ส่วนมากเป็นเมืองขึ้น หรือประเทศที่มีภาษาราชการหลายภาษา เช่น เบลเยียม ที่ใช้ภาษอังกฤษและเยอรมัน ก็อาจมีการตีความรัฐธรรมนูญในหลายภาษาได้ แต่โดยหลักการแล้วเมื่อประเทศ ไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาราชการ การตีความกฎหมายจึงต้องยึดจากตัวกฎหมายที่เป็นภาษาไทยไม่ใช่ภาษาอังกฤษ
เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงการตีความมาตรา 68 ของรัฐธรมนูญปี 2550 ว่า "ขอให้ไปดูรัฐธรรมนูญฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษจะชัดเจน" เอ้ามาดูกัน
มาตรา 68 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีความว่า
"ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการ กระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐ ธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว..."
คำแปลภาษาอังกฤษฉบับทางการของรัฐสภาเองคือ
"Inthecasewhere a person or a political party has committed the act under paragraph one, the person knowing of such act shall have the right to request the Prosecutor General to investigate its facts and submit a motion to the Constitutional Court for ordering cessation of such act..."
อันนี้สงสัยท่านวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ จะเล่นเกมไวยากรณ์ ให้ผมเดานะ คือเล่นมุขว่า ตกลง "submit a motion to the Constitutional Court for ordering cessation of such act..." เนี่ย มันขยายส่วนไหน ?
ขยาย 1) "the person knowing of such act shall have the right to request the Prosecutor General to investigate its facts and (the right to) submit a motion..." หรือว่า
ขยาย 2) to request the Prosecutor General to investigate its facts and (request the Prosecutor General to) submit a motion...."
สรุปคือ วสันต์ใช้ความกำกวมของไวยา กรณ์อังกฤษว่าวลีหลังนี้อะไรเป็นประธานของกริยา submit ระหว่าง"the person" หรือ"the Prosecutor General" มาอ้างตีความแบบ 1) "the person" ขณะที่ในความเห็นผม ควรตีความไวยากรณ์ตรงนี้แบบ 2 ) "the Prosecutor General"
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่
รัฐธรรมนูญร่างขึ้นด้วยหลักการของประเทศไทย จึงถือเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่เหมือนกับครั้งอดีตที่เราร่างประมวลกฎหมายแพ่งเป็นภาษาอังกฤษแล้วค่อยแปลเป็นภาษาไทย
แต่รัฐธรรมนูญมีการร่างเป็นภาษาไทยก่อนอย่างแน่นอนแล้วจึงแปลเป็นภาษาอังกฤษ จึงไม่ถูกต้องที่จะไปดูจากภาษาอังกฤษ
แต่หากดูเป็นภาษาอังกฤษก็ยังชัดเจนว่า ต้องนำเรื่องเข้าสู่อัยการสูงสุดก่อนแล้วค่อยไปศาล ซึ่งในบริบทกรณีดังกล่าวระบุชัดเจนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องหยิบยกอะไรมาอ้างอิงอีก
อีกทั้งหลักการคือต้องตีความแล้วไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งกรณีนี้เขียนไว้ว่าให้ผู้พบเห็นแจ้งต่ออัยการสูงสุด
แต่หากประชาชนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย แล้วเราจะเขียนบทบัญญัติที่ระบุว่าให้ประชาชนยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่ออะไร ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องของประชาชนไปแล้ว และหากอัยการไม่เห็นด้วยศาลรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร
ตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยได้ยินว่ามีคนอ้างอิงรัฐธรรมนูญไทยเป็นอังกฤษ การกระทำดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้เกิดความกระจ่างแต่จะสร้างความขัดแย้งมากขึ้นจึงเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด
ทั้งนี้หากรัฐธรรมนูญระบุชัดแล้วพิจารณาตามถ้อยคำจากรัฐธรรมนูญได้เลย แต่หากไม่ชัดค่อยเปรียบเทียบดูจากภาษาอังกฤษได้ ซึ่งไม่ใช่กรณีนี้แน่นอน