4 ปีที่แล้ว กลุ่มเหมาอิสต์ในเนปาลได้สร้างปรากฏการณ์ "เนปาลโมเดล" ภาคหนึ่งขึ้นมาเมื่อนำมวลชนล้มสถาบันกษัตริย์ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมานานถึง 240 ปี ยุติสงครามกลางเมืองยืดเยื้อนาน 10 ปี คร่าชีวิตผู้คนถึง 1.6 หมื่นคน มีการคืนอำนาจให้รัฐสภาซึ่งได้ลงมติเอกฉันท์ให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตย ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ แยกกองทัพออกจากการเมือง ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ฯลฯ ตามด้วยการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยพรรคคอมมิวนิสต์กลุ่มเหมาอิสต์ชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นเป็นครั้งแรก
แม้พรรคคอมมิวนิสต์สายเหมาอิสต์จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลอีกทั้งยังครองเสียงข้างมากในรัฐสภา แต่การเมืองเนปาลก็ยังวุ่นวายไม่รู้จบ เกิดศึกช่วงชิงอำนาจไม่หยุดหย่อนระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์สายเหมาอิสต์กับพรรคคอมมิวนิสต์สายมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์และพันธมิตร จนต้องปรับเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 5 คน มีการเดินขบวนเผาบ้านเผาเมือง ฯลฯ ท้ายสุด สภาร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จทันตามเส้นตายภายในเที่ยงคืนวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา แม้สภาร่างจะขยายเวลามาถึง 4 ครั้ง กระทั่งศาลฎีกาชี้ขาดว่าไม่อาจยืดอายุสภาร่างได้อีกต่อไป
"เนปาลโมเดล" ภาค 2 ได้เกิดขึ้นเมื่อคณะรัฐมนตรีจาก 3 พรรคร่วมพร้อมใจกันยกทีมลาออกทั้งคณะเพื่อบีบบังคับให้นายบาบูราม ภัตตาไร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อรับผิดชอบกรณีทำให้การร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จตามกำหนด สืบเนื่องจากพรรคเหมาอิสต์ที่หลงตัวเองว่าครองเสียงข้างมากในรัฐสภาแถมยังไม่มีอำนาจตุลาการคอยมาถ่วงดุล ไม่ยอมฟังเสียงทักท้วงใดๆ ยืนกรานจะเดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ "ตามใจกู" แยกดินแดนออกเป็นรัฐ 14 รัฐ แม้ว่าฝ่ายค้านจะแย้งว่าแนวทางนี้จะยิ่งสร้างความแตกแยกทางเชื้อชาติมากขึ้นกว่าเดิม
แต่รัฐบาลเหมาอิสต์ก็แก้เกมด้วยการประกาศยุบสภาเปิดทางให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากไม่มีศาลมาชี้ขาดว่าการดื้อตาใสไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งของนายภัตตาไร นั้นขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ปล่อยให้ประชาชนเกิดความสับสนว่าตลอดช่วง 6 เดือนที่เกิดสุญญากาศทางการเมือง ใครเป็นผู้มีอำนาจสั่งการตัวจริง ในเมื่อไม่มีทั้งรัฐธรรมนูญและไม่มีทั้งรัฐสภาขณะที่รัฐบาลและประธานาธิบดีก็ไม่ได้รับอาณัติจากประชาชนอีกต่อไป
"เนปาลโมเดล" ซึ่งครั้งหนึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงเคยกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะนำมาใช้ในประเทศไทยบ้าง คงจะเป็นโมเดลที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ควรศึกษาให้ละเอียดว่าจะ "รักยาวให้บั่น" นั่นก็คือบั่นทอนความขัดแย้งทางความคิดต่างๆ บั่นทอนเหตุวุ่นวายทางการเมือง และ "รักสั้นให้ต่อ" ด้วยการต่อความขัดแย้งภายใต้เสื้อคลุมความปรองดอง ไม่เช่นนั้นอาจเกิดเหตุเผาบ้านเผาเมืองรอบสองขึ้นอีกเมื่อใดก็ได้