กิตติศักดิ์ สฤษดิสุข: 24 มิถุนา วันสถาปนาอำนาจเป็นของราษฎร

ประชาไท 6 มิถุนายน 2555 >>>


24 มิถุนายน เคยเป็นวันชาติ ตามประกาศของรัฐบาลพระยาพหลฯ เมื่อปี พ.ศ. 2481 และมีการเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน ครั้งแรกในปีถัดมาโดยรัฐบาล จอมพล ป.
การเฉลิมฉลองมีเพียง 21-22 ปี หลังจากที่รัฐบาลสฤษดิ์ ประกาศให้ 5 ธันวาคม เป็นวันชาติตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา
เนื่องจาก 5 ธันวาคม เป็นวันชาติอย่างเป็นทางการมานานพอสมควร (“พอสมควร” หมายถึงไม่สั้น เมื่อเทียบกับความทรงจำของช่วงชีวิตคนหนึ่ง แต่ก็ไม่ยาว เมื่อเทียบกับชีวิตของประเทศ) ผมจึงเห็นว่าควรคงวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันชาติต่อไป อย่างน้อยตลอดรัชสมัยในหลวงองค์ปัจจุบัน
สิ่งที่ผมอยากเสนอ คือการรื้อฟื้นความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน ในฐานะวันที่อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 5 ธันวาคม
ผมมีความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงโลกทรรศน์ ความเชื่อของคน ที่เรียกรวมๆกันว่าวัฒนธรรม มีความหมายมากกว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย
ปีนี้ครบ 80 ปีของการคืนอำนาจสู่ราษฎร ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลที่มาจากราษฎร ใช้งบประมาณอย่างน้อยสักครึ่งหนึ่งของงานฉลองวันชาติ เพื่อใช้จ่ายในงาน 24 มิถุนา วันสถาปนาอำนาจเป็นของราษฎร และควรจัดเป็นงานที่มีความสำคัญยิ่งขึ้นตลอดทุกปีนับจากนี้ไป
ควรรักษาวันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันชาติ นอกจากความจริงที่ว่าช่วงชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ผูกพันกับในหลวงเจ้าของวันเกิดอย่างมาก ยังเป็นการไม่ถอนทิ้งรากเหง้าของชาติไทยอันเป็นราชอานาจักรมายาวนาน ถือเป็นการเหลียวหลัง ไม่ลืมอดีต
แต่ 24 มิถุนา วันสถาปนาอำนาจเป็นของราษฎร มีความสำคัญในแง่ที่ว่าประเทศไทยได้เปลี่ยนสู่ระบอบใหม่ อันมีสาระสำคัญอยู่ที่ศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของมนุษย์แต่ละคน และเป็นระบอบที่สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีในปัจจุบัน ถือเป็นการแลไปข้างหน้า สู่อนาคต
หากจะจัดให้ 24 มิถุนา เป็นวันสถาปนาอำนาจเป็นของราษฎร ขึ้นมาจริงๆ รัฐบาลอย่าไปกลัว “ขี้ปาก” ของพวกกลัวการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นคิด ว่าคิดล้มเจ้า(อีกแล้ว) เพราะการกระทำอย่างนี้ไม่ได้ทำลายเกียรติยศของเจ้าแต่อย่างใด กลับแต่จะทำให้เจ้าคงอยู่อย่างมีเกียรติท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ท่ามกลางการส่งต่อทางความคิดจากคนรุ่นหนึ่ง สู่รุ่นหนึ่ง
เฉพาะจัดงานฉลอง 24 มิถุนา ยังไม่พอในการสร้างสมดุลระหว่างวัฒนธรรมเดิมและวัฒนธรรมใหม่ ผมเสนอว่ารัฐบาลต้องกล้าที่จะทำ อย่างน้อยทุกอย่างที่ฝ่ายต้องการรักษาวัฒนธรรมเดิมพยามยามทำ เช่นชื่อ ปรีดี, พระยาพหลฯ, แปลก, ป๋วย, เลียง, ไขแสง, แคล้ว, นวมทอง, ป๋วย, กมลเกด, ทนายสมชาย เป็นต้น นำชื่อเหล่านี้ไปตั้งชื่อโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ถนน สะพาน ชื่องานรณรงค์ต่างๆ ทั้งระดับประเทศ จังหวัด จนถึงท้องถิ่นซึ่งมีผู้นำคนชั้นล่าง และทหาร ตำรวจชั้นผู้น้อยที่เสียชีวิตทั่วประเทศ
ที่ขาดเสียมิได้ คือถือโอกาส 80 ปีอันสำคัญนี้ รัฐบาลช่วยเปลี่ยนชื่อสถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นอย่างเชื่องโยง ผูกพันกับระบอบใหม่อย่างใกล้ชิด เป็นชื่อเดิมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เสียที
เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศ บ่งบอกว่าประเทศไทยไม่เหมือนเดิม คนไทยไม่สามารถคิดอะไร ชอบอะไรไปทางเดียวกันอีกแล้ว อย่าว่าแต่คนในสังคม แม้แต่พี่น้อง เพื่อนที่ทำงาน เพื่อนร่วมรุ่น อาจมีอะไรๆในหัวสมองต่อสังคม ต่อวิถีชีวิตที่แตกต่างกันได้
ผมจินตนาการถึงประเทศไทย ทุกปีวันที่ 5 ธันวาคม ประเทศฉลองวันชาติอย่างยิ่งใหญ่ และอีก 6 เดือนถัดมา วันที่ 24 มิถุนายน ประเทศฉลองวันสถาปนาอำนาจเป็นของราษฎร อย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน
จินตนาการเห็นสวนสมเด็จฯ ข้างรั้วมหาวิทยาลัยปรีดี
จินตนาการเห็นโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ อยู่ตรงหัวสะพานนวมทอง ไพรวัลย์
เมื่อนั้นประเทศไทยอันเป็นที่รักของผม จะกลายเป็นอารยะทางวัฒนธรรม ทางการเมือง และทุกๆด้าน