1. คดีร้ายแรงอยู่ในความสนใจของประชาชน ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายมาซับบรี กะบูติง กับพวกรวม 5 คน ในฐานความผิด “ร่วมกันก่ออันตรายโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใด อันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตโดยมีความมุ่งหมายเพื่อสร้างปั่นป่วน โดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน สะสมกำลังพลหรืออาวุธอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพื่อก่อการร้าย พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำตามหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นอั้งยี่ เป็นซ่องโจร มีวัตถุระเบิด ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ขนย้ายวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต และกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น” ต่อศาลจังหวัดนาทวี จำเลยสี่รายได้ยื่นหลักประกันเป็นโฉนดที่ดินมูลค่ารวม 2,400,000 บาทเพื่อขอปล่อยตัวจำเลยทั้งสี่คน อย่างไรก็ตามศาลได้มีคำสั่งว่า “ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เนื่องจากกรณีเป็นคดีร้ายแรงอยู่ในความสนใจของประชาชน หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี”
2. มูลเหตุแห่งคดี กระบวนการมาตรา 21 แห่งพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และการยื้อเวลาในการฟ้องคดี
สำหรับที่มาของจำเลยในคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากมีเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555 บริเวณตลาดนัดนิคมเทพา อ.เทพา จ.สงขลา ส่งผลให้มีอาสาสมัครทหารพรานได้รับบาดเจ็บจำนวนหกนาย และประชาชนบริเวณดังกล่าวอีกเจ็ดราย โดยก่อนที่จำเลย 4 ใน 5 ราย คือ นายมะซับบรี กะบูติ นายซุบิร์ สุหลง นายสะแปอิง แวและ นายอับบริก สหมานกูด จะถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีความมั่นคงนี้ ได้เคยถูกควบคุมตัวตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน 2554 ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) พร้อมกับชาวบ้านคนอื่นๆ อีก 5 ราย ซึ่งต่อมาญาติของผู้ถูกควบคุมตัวบางส่วนได้ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อศาลจังหวัดปัตตานี ด้วยเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีความจำเป็นในการควบคุมตัวผู้ถูกควบคุมตัวอีกต่อไป และศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งได้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้ง 8 ราย ได้แก่ นายสาแปอิง แวและ นายมะนาเซ สะมะแอ นายดลเลาะ เดนดาหยัด นายสุริยา แวนาแว นายอับริก สหมานกูด นายฮัมดี มูซอ นายมะซับรี กะบูติง และนายรอหีม หลำโสะ
อย่างไรก็ตามแม้ศาลจังหวัดปัตตานีจะได้มีคำสั่งปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 8 รายแล้ว ปรากฏว่าพนักงานตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ถูกควบคุมตัวบางรายไว้โดยอ้างว่ามีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและเข้าสู่กระบวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ นายมะนาเซ สะมะแอ และนายดลเลาะ เดนดาหยัด ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงให้เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) อันจะทำให้การฟ้องในคดีอาญาระงับไป แต่นายมะนาเซ และนายดลเลาะ ปฏิเสธไม่เข้าร่วมสู่กระบวนการตามมาตรา 21 แต่ขอต่อสู้คดีตามกระบวนการพิจารณาคดีอาญาตามปกติ โดยวันที่ 22 กรกฎาคม 2555 พนักงานอัยการจังหวัดนาทวีได้ยื่นฟ้องนายมะนาเซและนายดลเลาะ ต่อศาลในข้อหาเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและเหตุการณ์ระเบิดที่ตลาดนิคมเทพา วันที่ 2 เมษายน 2554 จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดี
ส่วนผู้ถูกควบคุมตัวที่เหลือ ได้แก่ นายมะซับรี กะบูติง นายซุบิย์ สุหลง นายสะแปะอิง แวและ และนายอับริก สหมานกูด ยังคงมีสถานะเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงและได้ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงหว่านล้อม ให้เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ กระทั่งหน่วยงานความมั่นคงได้ออกแถลงข่าวว่าทั้งสี่รายได้ยินยอมเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 และได้มีการปล่อยตัวชั่วคราวออกมา โดยผู้ต้องหาทั้งหมดได้ไปรายงานตัวต่อศาลอย่างสม่ำเสมอ
วันที่ 14 ธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานอัยการจังหวัดนาทวี จะต้องนำตัวผู้ต้องหาทั้งสี่รายมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลและเพื่อให้ศาลสอบถามถึงความสมัครใจของผู้ต้องหาทั้งสี่รายเพื่อเข้าสู่การฝึกอบรมตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ซึ่งต่อมาได้ขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจนทำให้ทราบถึงสิทธิของตนรวมถึงกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายและบางรายร้องเรียนว่ามีการบังคับขู่เข็ญ ทำร้ายร่างกายเพื่อให้เข้าสู่โครงการดังกล่าว ผู้ต้องหาทั้งสี่รายจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อแถลงถึงความไม่สมัครใจเข้าสู่กระบวนการมาตรา 21 และยินดีจะพิสูจน์ความจริงตามวิธีพิจารณาความอาญาปกติ พนักงานอัยการจึงขอเลื่อนการไต่สวน ศาลจังหวัดนาทวีจึงนัดอีกครั้งในวันที่ 23 มกราคม 2555 ในครั้งนี้ผู้ต้องหาทั้งสี่รายยังยืนยันที่จะไม่ร่วมเข้ารับการอบรมดังกล่าว ศาลจึงให้งดการไต่สวน ยกคำร้องของพนักงานอัยการและมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
การจะเข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดที่หลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์มีโอกาสในการกลับสู่สังคมโดยผ่านการอบรมและจะมีผลให้คดีอาญาระงับไปได้ซึ่งทางภาครัฐต้องการนำมาใช้เป็นกลไกแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้อีกกลไกหนึ่ง อย่างไรก็ตามขั้นตอนดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหา และผู้ต้องหาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด จึงจะเข้ารับการฝึกอบรมได้ เมื่อผู้ต้องหาไม่ยินยอมจึงต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความจริงตามปกติ ตลอดระยะเวลาหลังจากศาลยกคำร้อง ผู้ต้องหาทั้งสี่รายยังได้รับการติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเสนอให้เข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แต่ผู้ต้องหาทั้งสี่ยังยืนยันที่จะต่อสู้ตามกระบวนการปกติเช่นเดิมแม้จะมีการเลื่อนกำหนดนัดฟ้องมาแล้วถึง 4 ครั้งจากนัดเดิมในวันที่ 6 มี.ค. 55, 19 เม.ย. 55, 21 พ.ค. 55 และ 1 มิ.ย. 55 โดยไม่ได้แจ้งสาเหตุในการเลื่อนกำหนดฟ้อง แต่ผู้ต้องหาทั้งสี่ยังคงไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการตลอดมาทุกนัด จนกระทั่งพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่รายพร้อมกับจำเลยอีกหนึ่งคน ในวันที่ 26 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา และได้ขอรวมคดีกับคดีของนายมะนาเซ สะมาแอ และนายดลเลาะ เดนดาหยัดเป็นคดีอาญาที่ 1572/2554 โดยพนักงานอัยการได้คัดค้านการประกันตัวจำเลยทั้งหมด ศาลอนุญาตให้รวมคดีและมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเหตุข้างต้น
3. ปัญหาในการปล่อยตัวชั่วคราว
ในคดีอาญานั้นถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นจำเลยจึงต้องได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวเพราะเมื่อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นบุคคลผู้บริสุทธิ์แล้วจะมาจับกุมคุมขังไม่ได้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงได้รองรับสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาและจำเลยเป็นหลัก การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นเป็นข้อยกเว้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 นั้นกำหนดว่า การไม่ปล่อยตัวชั่วคราวกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งต่อไปนี้
1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน
3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
5) การปล่อยตัวชั่วคราวนั้นจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
ในคดีดังกล่าวศาลมีเหตุในการสั่งไม่อนุญาตด้วยองค์ประกอบหลักสามประการคือ หนึ่งเป็นคดีร้ายแรง สองคดีอยู่ในความสนใจของประชาชน และสามเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี แต่เหตุผลตามกฎหมายมีประการเดียวคือ เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ซึ่งเมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ราย ที่ได้มารายงานตัวตามกำหนดนัดของศาลและพนักงานอัยการทุกนัดตั้งแต่นัดไต่สวนกระบวนการตามมาตรา 21 จนถึงการนัดฟ้องซึ่งเลื่อนมาถึงสี่ครั้งก็ตาม ย่อมแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยในคดีดังกล่าวต้องการต่อสู้คดีและไม่ได้หลบหนี เมื่อพฤติการณ์ของจำเลยเป็นเช่นนี้บุคคลทั่วไปย่อมไม่อาจเข้าใจได้ว่าศาลยุติธรรมใช้ข้อเท็จจริงใดเป็นฐานในการวินิจฉัยว่าจำเลยจะหลบหนี
ทั้งนี้ความไม่เป็นธรรมในคดีดังกล่าวยิ่งเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเมื่อพบว่าจำเลยสองคนคือนายมะนาเซ สะมาแอ และนายดลเลาะ เดนดาหยัดซึ่งมีการฟ้องคดีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 นั้น ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ และขณะนี้คดีอยู่ระหว่างนัดตรวจพยานหลักฐาน ในขณะที่จำเลยทั้งสี่รายซึ่งฟ้องเป็นคดีเดียวกัน มูลเหตุคดีเดียวกัน ความร้ายแรงของคดีเท่ากัน กลับไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว การอ้างเหตุร้ายแรงของคดียิ่งฟังไม่ขึ้นในกรณีดังกล่าว
พฤติการณ์ที่ต่างกันระหว่างจำเลยทั้งสี่รายกับจำเลยสองรายที่ฟ้องไว้แล้วก็คือ ควานสนใจของประชาชนต่อคดีดังกล่าวเนื่องจากจำเลยทั้งสี่เดิมถูกวางไว้ว่าจะเป็นกลุ่มแรกที่เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แต่โครงการดังกล่าวยังไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากจำเลยไม่สมัครใจ จำเลยสี่รายจึงเป็นที่สนใจมากกว่าจำเลยสองรายที่ฟ้องไปแล้ว อย่างไรก็ตามความสนใจ ความรู้สึกของประชาชนนั้นไม่สามารถนำมาอ้างเป็นเหตุทางกฎหมายในการปล่อยตัวชั่วคราวได้
การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาลพิจารณาจากความรู้สึกของประชาชนเคยมีกรณีศึกษามาแล้วหลายกรณี ตัวอย่างเช่น กรณีการขอปล่อยตัวชั่วคราวของนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรืออากงจำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่มารายงานตัวต่อศาลและพนักงานอัยการทุกครั้งแต่ศาลกลับให้เหตุผลในการไม่อนุญาตว่าจำเลยจะหลบหนีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 ว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาของข้อหา ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและองค์รัชทายาท นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบความรู้สึกของปวงชนชาวไทย หากให้จำเลยปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง แล้วคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยและผู้ขอประกันทราบโดยเร็ว" จนกระทั่งปัจจุบันนายอำพลเสียชีวิตไปแล้วในเรือนจำ หลังจากที่ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วกว่าแปดครั้งก่อนที่นายอำพลจะเสียชีวิต มีข้อสังเกตว่าในคดีความมั่นคง ศาลยุติธรรมมักจะให้เหตุผลซึ่งเกี่ยวข้องความรู้สึกของประชาชนร่วมด้วยทั้งที่ไม่ใช่เหตุผลตามกฎหมายอันแสดงให้เห็นถึงการใช้ดุลพินิจที่ปราศจากความเป็นอิสระและเป็นกลาง
4. บทส่งท้าย
ปัญหาในคดีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำเลยขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะคดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีปัญหาทับซ้อนหลายมิติ ยังผลให้มีการตัดสินใจที่ผิดพลาดต่อแนวทางในการต่อสู้คดี สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยยังขาดประสิทธิภาพที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงทนายความที่สามารถให้คำปรึกษาแก่ผู้ต้องหา ความพยายามหว่านล้อม บังคับ ขู่เข็ญของเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ไปจนถึงการเลื่อนกำหนดนัดฟ้องของอัยการออกไปทั้งที่ผู้ต้องหายืนยันต้องการต่อสู้คดี รวมถึงการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลซึ่งไม่ได้อยู่บนฐานของข้อเท็จจริงในคดี
สิทธิในการพิจารณาอย่างสะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม รวมถึงสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง สิ่งที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความมั่นคงต้องการนั้นไม่ถึงขนาดให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่สิ่งที่ผู้ต้องหาและจำเลยที่กำลังเผชิญหน้ากับการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องการมีเพียงอย่างเดียวคือความเป็นอิสระเป็นกลางและความโปร่งใสของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม