18 พ.ค. 55 สมบัติ บุญงามอนงค์ (หรือ หนูหริ่ง หรือ บก.ลายจุด) บรรยายหัวข้อ “โลกคู่ขนาน Online-Offline กับอัตราเร่งดิจิตอล พายุ Social Network” ที่ The Reading Room สีลม ซอย 19 พูดคุยถึงยุคเปลี่ยนผ่านสู่วิถีชีวิตแบบดิจิตอล ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในช่วงชีวิตเรา กิจกรรมนี้อยู่ในโครงการ โรงเรียนพ (ล) บค่ำ ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 4 โดย The Reading Room ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต เพื่อศึกษาความเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมร่วมสมัยทั้งเรื่องเทคโนโลยี สื่อ ศิลปะ ขบวนการทางสังคม จัดในวันศุกร์ที่ 3 ของแต่ละเดือน
อินเตอร์เน็ตสร้างความเท่าเทียม เป็นพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์ไพร่
“ผมตื่นเต้นกับสิ่งที่เรียกว่า การปฏิวัติดิจิตอล ความวุ่นวายในไทย 5-6 ปีที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปฏิวัติดิจิตอล เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างมีนัยยะสำคัญ แรงเปลี่ยนที่แรงมากทำให้สิ่งที่มีอยู่เดินสั่นไปหมด คลื่นของยุคดิจิตอลได้กระทบโครงสร้างกิจกรรมและวัฒนธรรมเดิมๆ ให้เปลี่ยนโฉมไปเรื่อยๆ”
บก.ลายจุด เกริ่นถึง การปฏิวัติดิจิตอล โดยยกตัวอย่างประสบการณ์ที่ตนทำนิตยสารของ NGO เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นใช้พิมพ์ดีดไฟฟ้า ตอนนี้พิมพ์ดีดไฟฟ้าแทบจะหายไปแล้ว ช่วงแรกที่ใช้คอมพิวเตอร์ ยังอึ้งตอนที่รู้ว่าการกด ctrl+c และ ctrl+v สามารถ copy ข้อความแบบไม่ยั้งได้ เมื่อราว 2 ปีที่แล้ว การประกาศยกเลิกบริการโทรเลขของสำนักงานไปรษณีย์ทำให้หลายคนใจหายอยู่พัก แต่ที่จริงยังมีอีกหลายอย่างที่หายไปแบบเงียบๆ อย่าง เพจเจอร์ พิมพ์ดีด ฟิล์ม และแฟกซ์ก็ใกล้จะถึงเวลาเช่นกัน เราอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยที่มีนัยยะสำคัญและเกิดขึ้นรวดเร็วมาก
ยุคปฏิวัติอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นด้วยอัตราเร่งที่มากขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้อนๆกันเช่น เว็บ 2.0, Social network, Smartphone ทำให้อัตราเร่งเร็วขึ้น บิล เกตส์ เคยกล่าวว่าอินเตอร์เน็ตโตเร็วเหมือนชีวิตสุนัข (1 ปีของคนเท่ากับ 7 ปีของสุนัข) อินเตอร์เน็ตทำให้คนเท่าเทียมกันมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่คนไม่กี่คนเป็นผู้ชี้นิ้วกำหนดทิศทางการรับรู้ของคน เมื่อก่อนช่อง 7 คุณแดงเป็นผู้กำหนดทุกอย่าง แต่ในอินเตอร์เน็ต เรามีสิทธิเป็น someone เท่าๆ กับคุณแดง นักข่าวรายงานข่าวผ่าน Twitter ได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านบรรณาธิการ
“เชื่อว่าอัตราเร่งของอินเตอร์เน็ตมันยังไม่จบแค่นี้ วันข้างหน้าอัตราเร่งต้องเป็นพายุแน่นอน นี่ผ่านมาแค่กี่ปีเอง เรามาถึงแค่ยุค Smartphone ซึ่งเครื่องก็ยังแพงอยู่ Blackberry เคยเฟื่องสุดฤทธิ์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ไม่คิดว่าจะจบชีวิตอย่างน่าอนาถขนาดนี้ หลายอย่างเกิดและจากไปเร็วมาก Facebook ทำสถิติผู้ใช้ 50 ล้านคนได้ในเวลาแค่สองปี แต่เทคโนโลยีอื่นๆ ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะมีคนใช้ขนาดนั้น
อัตราเร่งเป็นเรื่องที่มีนัยยะสำคัญ เครื่องบินถ้าไม่บินที่ความเร็วถึงจุดหนึ่งก็บินไม่ขึ้น เรื่องบางเรื่องถ้าไม่มีพลังเร่งถึงจุดหนึ่งก็ไม่สามารถไปต่อได้ เมื่ออินเตอร์เน็ตมีอัตราเร่งถึงจุดหนึ่งจะเกิดปรากฎการณ์ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อย่างอาหรับสปริง (คลื่นการปฏิวัติในอาหรับและแอฟริกาเหนือ) ที่ก่อตัวจากโลกออนไลน์ และกระโดดออกมายังโลกออฟไลน์ เป็นปรากฏการณ์ที่ตลกเพราะเคลื่อนไหวโดยไม่มีแกนนำ พฤติกรรมออนไลน์จะไม่ถูกจำกัดโดยรูปแบบเดิมๆ”
บก.ลายจุด กล่าวถึงยุคอินเตอร์เน็ตในแง่การสร้างพื้นที่ให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์สามัญชนว่า
“เมื่อวานนี้ไปงานรำลึก 20 ปี เหตุการณ์พฤษภา 35 มีคนพูดอย่างน้อยใจว่าการศึกษาไม่บันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของประชาชน พูดก็พูดแบบผ่านๆไป แล้วเราจะเข้าถึงประวัติศาสตร์ของไพร่สามัญชนอย่างไร ก็เพียงแค่เสิร์ชใน Google สมัยก่อนถ้าจะรู้เรื่อง 6 ตุลา 2519 ตอนนั้นต้องไปเช่าสไลด์มาตลับหนึ่ง แล้วใช้เครื่องฉายสไลด์มาฉายดูทีละภาพ และเอาคนในเหตุการณ์มาเล่า แต่แค่ 20 ปี การเรียนรู้เปลี่ยนไปเร็วมาก”
เศรษฐศาสตร์ดิจิตอล กับต้นทุนเฉียดศูนย์
บก.ลายจุด กล่าวถึงการปฏิวัติดิจิตอลในแง่เศรษฐศาสตร์ว่า ส่งผลให้การผลิตต่างๆ สามารถลดต้นทุนได้มหาศาล หรือกลายเป็นต้นทุนเฉียดศูนย์ ต้นทุนแบ่งเป็น 2 ชนิด ต้นทุนคงที่กับต้นทุนผันแปร ตัวอย่างเช่น สำนักพิมพ์มีต้นทุนคงที่คือ นักเขียน ออฟฟิศ ซึ่งใช้งานได้เรื่อยๆ ต้นทุนผันแปรคือ กระดาษ หมึก รถขนส่ง ยิ่งพิมพ์มากยิ่งต้องซื้อมาก แต่การผลิตด้วยระบบดิจิตอล เช่น ทำเว็บข่าว ต้นทุนคงที่ก็คือนักข่าวและโดเมน ต้นทุนผันแปรหายไป คนดูเว็บ 1 คน หรือล้านคน ต้นทุนก็ไม่ต่าง มีการประเมินว่าภายใน 7-8 ปี หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษในสหรัฐอเมริกาจะหมดไป แล้วเข้าสู่ระบบการผลิตแบบดิจิตอล
“สมัยใช้กล้องฟิล์ม กว่าจะกดได้รูปหนึ่งสยองมาก ค่าฟิล์ม 5 บาทต่อใบ ค่าล้างและอัดอีก 5 บาท กดชัตเตอร์ทีเสีย 10 บาท แถมยังต้องถ่ายอีกภาพกันเสีย พฤติกรรมนี้ยังหลอนมาถึงการถ่ายรูปยุคดิจิตอลทั้งที่เห็นอยู่ว่ารูปใช้ได้ เดี๋ยวนี้ถ่ายรัวๆได้โดยไม่ต้องเสียดาย ในระบบเศรษฐศาสตร์ดิจิตอล ต้นทุนเป็นต้นทุนเฉียดศูนย์ ไม่ถึงขนาดศูนย์แต่เกือบๆ Blog Facebook ก็ใช้ฟรี เสียแค่ค่าอินเตอร์เน็ต ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ทำให้ทิศทางการผลิตแบบเดิมๆล่มสลาย และเหวี่ยงมาสู่การผลิตในอีกแบบ”
โลกยุคเปลี่ยนผ่าน ใครจะอยู่ใครจะไป อยู่ที่วิสัยทัศน์
บก.ลายจุด กล่าวว่าการปฏิวัติดิจิตอลทำให้โครงสร้างสังคมวัฒนธรรมต่างๆ ที่มีอยู่เดิมกำลังถูกครอบ สิ่งใหม่ไม่ได้มาถีบสิ่งเดิมออกไป แต่สองสิ่งจะอยู่คู่กันก่อน เหมือนอีกามาขี้ปล่อยเมล็ดพืชใส่ต้นไม้ใหญ่ เมล็ดนั้นงอกต้นใหม่ออกมาครอบต้นไม้เดิมเรื่อยๆ กระทั่งกลืนทุกอย่างที่เป็นสิ่งเดิม กลายเป็นสิ่งใหม่ ตอนนี้เรากำลังอยู่ระหว่างตอนที่ถูกครอบ แต่ยังเห็นสิ่งเดิมอยู่ เมื่อสิ่งเดิมถูกครอบหมดแล้ว คนจะอยู่ได้ก็คือคนที่มีวิสัยทัศน์ สามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของโลก ประเมินรูปการเศรษฐกิจสังคมการเมืองในอนาคตออกแล้วนำจุดนั้นมาใช้ประโยชน์ในการวางที่ทางให้ตัวเอง ยกตัวอย่างคนทำธุรกิจ Web hosting ที่ตนเคยคุยด้วยสมัยก่อน (50 เม็กกะไบต์ เดือนละ 3000 บาท) ตอนนั้นเจ้าของบอกว่าทำแล้วได้กำไรเล็กน้อยมาก แต่ไม่สนใจ เพราะไม่คิดว่าในอนาคตคนจะต้องแห่กันมาใช้อินเทอร์เน็ต
การล้มละลายของโกดักเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย โกดักเป็นบริษัทแรกๆ ที่ผลิตกล้องดิจิตอลมาขาย แต่กลับเลิกล้มไป เพราะผู้บริหารดูถูกการถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิตอลซึ่งเป็นของใหม่ว่าภาพห่วย สู้กล้องฟิล์มซึ่งมีการคิดค้นพัฒนามายาวนานไม่ได้ อีกทั้งถ้าสนับสนุนกล้องดิจิตอลมากๆ จะทำให้ฟิล์มจะขายไม่ได้ แต่หลังจากนั้น มีผู้ผลิตรายอื่นๆพัฒนากล้องดิจิตอลมาแข่งขันกันจำนวนมาก สิบกว่าปีผ่านไป กลับกลายเป็นว่าฟิล์มหาซื้อยาก
อัตราเร่งในชีวิตของเราแตกต่างกัน เห็นได้จากโฆษณาของการรถไฟ
บก.ลายจุด พูดถึงการเกิดของเว็บ 2.0 ว่าเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของคนต่อสื่อมวลชน เมื่อก่อนสื่อพูดอะไรคนจะเชื่อหมด เวลาคนจะยืนยันว่าสิ่งที่ตัวเองเล่าเป็นความจริงก็มักพูดว่า ก็เขาออกทีวี เขาลงหนังสือพิมพ์ สื่อมีสถานะเป็นผู้รับรองความจริง แต่พอมีเว็บ 2.0 เกิดขึ้น ข่าวออกแบบหนึ่ง แต่จะมีคอมเม้นมาพูดอีกแบบแล้วทะเลาะกัน เป็นการวิจารณ์สื่อที่ทำงานเร็วกว่าสมาคมนักข่าวหรือสมาคมวิชาชีพที่ตรวจสอบกันเองเสียอีก
ความเป็นมหาชนทำงานเองในทุกๆ เรื่อง เข้าตีความเชื่อ วิถีทาง วัฒนธรรมแบบเดิมหมด ปีที่ผ่านมาบางคนลอยกระทงหน้าคอม การอวยพรปีใหม่ก็เปลี่ยนรูปแบบหลายครั้งในเวลาไม่กี่ปี จากการ สคส. เปลี่ยนเป็นอีการ์ด เปลี่ยนเป็น SMS แล้วเป็น What’s app ใน Smartphone บางคนอาจขบถรักษาจุดยืนกลางกระแสที่เชี่ยวกราดได้ อย่าง อ.เกษียร เตชะพีระ ที่ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ (แต่มี ipad ?) ซึ่งตนนับถือคนแบบนี้ แต่ไม่มีใครขวางกระแสได้
เวลาคนเถียงกันระหว่างฝ่ายที่จะวิ่งเข้าหาความเปลี่ยนแปลงกับฝ่ายที่บอกว่าค่อยเป็นค่อยไปได้ไหม แล้วคุยกันไม่รู้เรื่อง จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ขัดกัน เขาเห็นสิ่งเดียวกัน กำลังไปที่เดียวกัน แต่ว่าคนวิ่งด้วยอัตราเร่งที่ต่างกัน โลกตอนนี้มันมีคนทุกยุค ต้องทำความเข้าใจช่องว่างตรงนี้เราอยู่บนอัตราเร่งที่ต่างกัน ทำให้เขาไม่เข้าใจเรา
“ผมคิดว่าคนที่บ้าที่สุดคือคนที่ซื้อแฟกซ์เครื่องแรก จะมีคำถามว่าซื้อไปทำอะไร แพงก็แพง การซื้อแฟกซ์ในยุคที่คนอื่นยังไม่ใช้แฟกซ์กันมันเป็นเรื่องที่พะอืดพะอมมาก จะส่งหาใคร ทำไมไม่ส่งจดหมาย จนวันที่ใช้แฟกซ์กันทั้งเมือง คนถึงเปลี่ยนไปถามว่าทำไมยังไม่มีแฟกซ์ เราอยู่ในโลกที่มีอัตราเร่งต่างกัน คนที่วิ่งเป็นจรวดบอกว่าทำไมไม่เปลี่ยนสักที คนที่เดินอัตราเท้าก็บอกว่าจะรีบไปไหน เช่นคนผลิตโฆษณาการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่เขาไม่เข้าใจว่า อัตราเร่งของการรถไฟไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการ ทุกวันนี้มีแต่คนเรียกร้องรถไฟความเร็วสูง”
บก.ลายจุด สรุปว่าเมื่อสิ่งใหม่ถูกคิดค้นขึ้น ไม่ว่าจะแปลกแค่ไหน แต่ถ้ามันประหยัดกว่า ถูกกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า ประชาธิปไตยมากกว่า (เปิดโอกาสให้ใครก็ได้เป็นแบบคุณแดงช่อง 7 ได้) คนที่ยอมรับสิ่งนั้นก็จะค่อยๆสะสมตัวเรื่อยๆถึงปริมาณหนึ่ง จนกลายเป็นยุคเปลี่ยนซึ่งคนส่วนใหญ่เอาสิ่งนั้น
ตัวป่วนในโลกไซเบอร์ ไม่ต้องเขียนกฎหมายปราบ แต่สร้างวัฒนธรรมออนไลน์
เรื่องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ บก.ลายจุดเสนอแนะว่าเราควรจะเข้าใจว่าเป็นการ “แลกเปลี่ยน” ทางความคิด ไม่ใช่การ “เอาชนะ” ทางความคิด สิ่งที่ต้องทำในการแลกเปลี่ยนความคิดมี 2 อย่าง
1. สื่อสารความคิดให้ชัดเจนที่สุด ให้คู่สนทนาเข้าใจได้มากที่สุด
2. รับฟังและอ่านความคิดอีกฝ่าย เข้าใจเขาให้มากที่สุด ไม่ว่าเราจะขยับความคิดตัวเองหรือไม่ แต่ก็ได้แลกเปลี่ยนไปแล้ว ไม่จำเป็นว่าอีกฝ่ายต้องเชื่อตาม ขอให้สื่อชัด ฟังชัด แล้วก็หยุด ไม่จำเป็นต้องเถียงเพื่อเอาชนะ พยายามทำสิ่งนั้นให้เป็นวัฒนธรรม
“คนเล่นอินเตอร์เน็ทเหมือนคนที่เพิ่งออกจากคุก เหมือนเพิ่งมีเสรีภาพ ไม่มีกำแพง ไม่มีผู้คุม ก็ใส่กันเต็มที่ แต่สังคมพลาดตรงที่ไปเขียนกฎหมายมาครอบ สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่กฎหมายแต่คือวัฒนธรรม แต่เราไม่ได้สร้างวัฒนธรรมในโลกออนไลน์ให้ดี เราพูดถึงสิ่งนี้น้อยมาก ไม่ว่าจะฝ่ายไหนสีอะไรพูดถึงสิ่งที่ก้าวหน้าแต่ไม่สร้างวัฒนธรรมที่ก้าวหน้าเลย สังคมเราขาดวัฒนธรรมประชาธิปไตย”
บก.ลายจุด ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงคำว่า วัฒนธรรม ในมุมมองของตัวเอง
“ที่เห็นรำๆ เอื้อนไปเอื้อนมา ไม่ใช่วัฒนธรรม แต่มันคืออดีตที่เราสต๊าฟไว้ให้เรามองเห็นผ่านกาลเวลา จริงๆ มันไม่มีใครแต่งตัวนางรำแบบนั้นให้เห็นในชีวิตจริง วัฒนธรรมเป็นสิ่งมีชีวิต มีตัวตนจริงๆ ตื่นขึ้นมาก็ทำสิ่งนี้ คุณกินกาแฟ คุณใช้อินเตอร์เน็ตนี่แหละคือวัฒนธรรม คุณทำสิ่งนั้นจริงๆ ไม่ต้องทำพิธีกรรมเล่นอินเตอร์เน็ตเล่นทวิตเตอร์ร่วมกันปีละครั้ง แบบนั้นเขาเรียกการอนุรักษ์ วัฒนธรรมมันจะเคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ และเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับชีวิต ไม่ฝืดไม่ฝืน การใส่ชุดไทยปีละครั้งมันไม่ใช่วัฒนธรรม มันเป็นแค่การเอามาโชว์ อนุรักษ์ว่าเราเคยมีสิ่งนี้อยู่”
สังคมไทยขาดวัตถุดิบทางความคิดที่มีคุณภาพ วิจารณ์ NGOs ตกเทคโนโลยี
บก.ลายจุดกล่าวว่าตนสนใจ Wikipedia เพราะมองว่า Wikipedia เป็นฐานความรู้ที่เป็นตัวช่วยทดแทนระบบการศึกษาที่สิ้นหวังได้ มีคนเคยถามว่าทำไมคนไทยยังเชื่อว่าโคตรเหง้าของเรามาจากรัฐสุโขทัย ก็เพราะความรู้ในระบบที่จำกัดมีให้เราแค่นี้ แต่ Wikipedia มันขยายความรู้ไปได้ไกล ความรู้ที่ผลิตออกมามันเป็นอีกแบบหนึ่ง ทำให้เรายืนอยู่บนความจริง
“เมื่อโลกเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศที่การผลิตต้องใช้ความรู้ สติปัญญา แต่เราไม่ได้ลงทุนกับเรื่องแหล่งข้อมูลที่เป็นวัตถุดิบทางความคิด สังคมจะก้าวไปอย่างไร ถ้าดินประเทศไทยแห้งขนาดนี้ ไม่มีสารอาหารขนาดนี้ เราจะผลิตอะไร นี่คือสิ่งที่กังวล”
บก.ลายจุด ยังวิจารณ์ NGOs ไทยว่าไม่ค่อยนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการสื่อสารกับผู้คนภายนอก การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบเก่าๆ มันไม่สามารถรู้ได้ว่าใครหรือคนกลุ่มไหนที่กำลังตามหาเรา หรืออยากเข้ามาช่วย แต่ Social network เป็นประตูเชื่อมให้คนที่มีความต้องการสอดคล้องกันได้มาเจอกัน NGOs ไม่สามารถเป็นผู้นำทางความคิดในสังคมได้เพราะเทคโนโลยีที่ใช้อยู่มีประสิทธิภาพต่ำ ทั้งยังมีทัศนะเกี่ยวกับตัวเองว่า small is beautiful ซึ่งเป็นแนวคิดเฉพาะของ NGOs ไทย ชอบทำตัวเหมือนเป็นหนูในท่อ ทำงานหนักแต่คนก็ไม่รู้จักไม่เข้าใจความคิด
ในช่วงการถามแลกเปลี่ยน ผู้ฟังถามว่าการเป็นนักเคลื่อนไหวหน้าจอคอม หรือ Clicktivism แสดงความเห็น กด Like กด Share Retweet แต่ไม่ออกไปประท้วงบนถนนนั้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงจริงๆ หรือไม่ บก.ลายจุด ตอบว่า แม้แต่คลิกก็เปลี่ยนแปลงสังคมได้ การคลิกมีผลทำให้คนลงไปบนท้องถนนมากขึ้น มีหลายคนที่เคลื่อนไหวหน้าจอคอมแต่ก็ลงไปบนถนนด้วย
ช่วงแลกเปลี่ยนยังมีการตั้งคำถามว่า การกด Like ใน Facebook มันแปลว่าอะไรได้บ้าง ผู้ฟังบางส่วนมองว่าการกด Like ไม่ได้มีความหมายในตัวมันเอง Like ไม่ได้แปลว่าชอบเสมอไป จำนวน Like ในแฟนเพจอาจไม่ได้บอกจำนวนผู้นิยมชมชอบ แต่แสดงถึงความสนใจติดตามของผู้คน การ Retweet ก็ไม่ได้แปลว่าต้องเห็นด้วย ตรงกันข้าม อาจแปลว่าไม่เห็นด้วยแต่อยากประจาน