ธาริตชงกรณี กทม. ต่อสัญญา BTS เป็นคดีพิเศษ

โพสท์ทูเดย์ 28 พฤษภาคม 2555 >>>




ธาริตแจง มท. ย้ำอำนาจชัด กทม. ไม่มีสิทธิต่อสัญญารถไฟฟ้าบีทีเอส เตรียมเสนอเป็นคดีพิเศษ 27 มิ.ย. นี้ ใช้กฎหมาย 4 ฉบับเอาผิด

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอให้นำคดีจ้างเดินรถไฟฟ้า กทม. ให้เป็นคดีพิเศษ โดยนายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า หลังจากยื่นหนังสือขอให้ดีเอสไอตรวจสอบการทำสัญญาจ้างเดินรถระหว่างกรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งขณะนี้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือตอบกลับมายังดีเอสไอว่ากทม.ไม่มีอำนาจในการขยายสัญญาสัมป ไฟทานรถไฟฟ้าดังกล่าว และการกระทำของกทม.นั้นเป็นมีผลต่อสัญญาสัมปทานเดินรถ ซึ่งส่อว่าอาจเป็นการทำนิติกรรมอำพรางที่มีความเกี่ยวพันถึงกลุ่มทุน และกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม และน่าจะเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบของข้าราชการระดับสูงของกทม.ที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน
   “คดีนี้มีความซับซ้อนมากเพราะกระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน และงบประมาณการเงินการคลังของประเทศมากกว่าหมื่นล้านบาท จึงอยากให้ดีเอสไอรับคดีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษต่อไป” นายพร้อมพงศ์ กล่าว
นายธาริต กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ทำหนังสือยืนยันมาให้ดีเอสไอทราบถึงอำนาจการทำนิติกรรมระหว่างบีทีเอสและบริษัทกรุงเทพธนาคมวา ไม่อยู่ในอำนาจของ กทม. ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะจะมีผลต่อความบริบูรณ์ของสัญญาและเป็นเรื่องทางเพ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป
ในส่วนของดีเอสไอจะดำเนินการเฉพาะคดีอาญาเบื้องต้นหลังจากมหาดไทยยืนยันว่า กทม. ไม่มีอำนาจจึงถือได้ว่าคดีดังกล่าวมีมูล และดีเอสไอจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เพื่อรับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษในวันที่ 27 มิ.ย. นี้ และหาก กคพ. รับเรื่องไว้ขั้นตอนต่อไปดีเอสไอก็จะสอบเต็มรูปแบบโดยเชิญผู้ว่ากทม.และและผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อเท็จจริงและพิสูจน์ความบริสุทธิ์
นายธาริต กล่าวอีกว่า แม้จะมีการร้องเรียนเรื่องนี้ไป ป.ป.ช. และกรรมาธิการสภาฯลฯ แต่ดีเอสไอก็มีอำนาจตรวจสอบตามกฎหมายใหม่ในปี 2551 ว่ากลุ่มบริษัทธนายงมีการกระทำที่เข้าข่ายความผิดหรือไม่ เบื้องต้นหากเข้าข่ายความผิดจริงก็ต้องดูว่ามีเอกชนรายใดรู้เห็นเป็นใจ และเข้าข่ายให้การสนับสนุนเจ้าพนักงานในการกระทำความผิดหรือไม่
สำหรับการสอบความผิดในเรื่องรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น ดีเอสไอจะพิจารณาผิดตามกฎหมาย 4 ฉบับ ประกอบด้วย กฎหมายปฎิวัติฉบับที่ 58 ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและกทม.กลับใช้อำนาจเอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ซึ่งพบว่า กทม. มีการตัดตอนไม่ให้นำเรื่องเข้า ครม. และกฎหมายกีดกันทางการค้าหรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ซึ่งทำให้บริษัทธนายงได้รับผลประโยชน์กลุ่มเดียว
   “ส่วนการผิดในคดีเพ่งไม่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอ ต้องให้มหาดไทยและกทม.ไปฟ้องกันเอง ส่วนคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราในเบื้องต้นคดีมีมูลที่ต้องสอบต่อ แต่ผลสอบอาจจะผิดหรือไม่ผิดก็ได้ในปลายทาง” นายธาริต กล่าว