ข่าวสด 2 พฤษภาคม 2555 >>>
'เหวง' ล่าชื่อ ส.ส. ยื่นถึงมือนายกฯ เปิดช่องสอบคดี สลายม็อบ 91 ศพ
'หมอเหวง' ล่าชื่อ ส.ส. ร่วมพรรคเพื่อไทย 25 รายชื่อยื่นนายกฯ ให้รัฐบาลพิจารณายอมรับอำนาจ 'ศาลอาญาระหว่างประเทศ' เพื่อเปิดช่องให้เข้ามาดำเนินคดีกับผู้สั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์เมษาฯ เลือด และพฤษภาฯ อำมหิต 2553 ด้าน 'ธิดา' ประธาน นปช. ลุยเปิด 14 หมู่บ้านเสื้อแดงที่นราธิวาส ขณะที่ ครม. รับทราบการดำเนินการของ 'ปคอป.' เดินหน้าส่งเสริมจัดเวที 'ประชาเสวนา' เพื่อนำไปสู่สังคมแห่งความปรองดอง
เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 1 พ.ค. ที่รัฐสภา นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. รับทราบการ ดำเนินการของคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ซึ่งพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ. ปรองดอง) และพบว่ามีหลายเรื่องที่มีข้อสังเกตว่าสาเหตุความรุนแรงจนถึงเดือน พ.ค. 2553 มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งการเมือง มุมคิดทางการเมืองที่แตกต่าง การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม รวมถึงผู้กระทำความผิดมีเหตุจูงใจมาจากการเมือง จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง
นายอนุสรณ์กล่าวว่า ปคอป. เห็นว่าจากการพิจารณาแนวทางของ กมธ.ปรองดอง ควรส่งเสริมการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ทุกฝ่าย ในสังคมไทยเข้าถึงสาเหตุของความขัดแย้ง และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเผยแพร่ความรู้ด้วยการจัดเวทีประชาเสวนา โดยกำหนดประเด็นพูดคุยว่าด้วยรากเหง้าของสาเหตุความขัดแย้งและแนวทางสร้างความ ปรองดอง เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง โดยจะขอความร่วมมือจากสถาบันพระปกเกล้าขอคู่มือและแนวทางปฏิบัติจัดทำเวทีประชาเสวนาและจัดอบรมบุคลากรเพื่อทำหน้าที่วิทยากรที่รัฐบาลจะนำไปใช้ในการดำเนินงานต่อไป ซึ่งจะมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาด ไทย เป็นหน่วยงานหลักจัดเวทีประชาเสวนา และเปิดโอกาสให้หน่วยงานหรือสถานศึกษาที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ โดย ปคอป. เห็นชอบและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางการจัดทำเวทีประชาเสวนา และให้คณะอนุกรรมการนำเสนอผลดำเนินการและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับฟังจากประชาชนภายใน 60 วัน
วันเดียวกัน นางธิดา โตจิราการ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า วันที่ 5 พ.ค. นี้ ตนพร้อมด้วยนายจตุพร พรหมพันธุ์ และแกนนำ นปช. อีกหลายคนจะร่วมเดินทางไปเปิดหมู่บ้านเสื้อแดง 14 หมู่บ้านในตำบลบูกิต บริเวณสนามหน้ารถไฟบูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส การเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงในพื้นที่นราธิวาสครั้งนี้เนื่องจากเป็นการร้องขอของชาวบ้านในพื้นที่เพื่อต้องการใช้เป็นเวทีแสดงออกในการนำเสนอแต่เรื่องดีๆ และเป็นการแสดงสัญลักษณ์เสื้อแดง ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และขณะนี้ได้ประสานกับทาง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่ด้าน ความมั่นคงลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านดังกล่าวแล้วเช่นกันและไม่มีใครขัดข้อง
"ส่วนการดูแลรักษาความปลอดภัยภายในหมู่บ้านนั้นผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านจะจัดระบบกันเอง มีมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาภายในหมู่บ้านเพื่อก่อเหตุร้าย ซึ่งจะเป็นการช่วยเจ้าหน้าที่สอดส่องดูแลกลุ่มคนร้ายได้เป็นอย่างดี ส่วนการจัดกิจกรรมภายในหมู่บ้าน นปช.และแกนนำจากส่วนกลางจะคอยเป็นพี่เลี้ยง คาดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร หากสำเร็จอาจจะขยายไปยังหมู่บ้านอื่นต่อไป" นางธิดา กล่าว
ที่ห้อง 214 อาคารรัฐสภา 2 มีการสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่องประเทศไทยกับศาลอาญาระหว่างประเทศ จัดโดยอนุคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเรื่องบทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในส่วนของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กมธ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วงสัมมนาเชิญนักวิชาการมาร่วมพูดคุย อาทิ นายพนัส ทัศนียานนท์ นักวิชาการอิสระ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.สุดสงวน สุธีสร อาจารย์ ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ นางวารุณี ผอ.กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ มีกลุ่มคนเสื้อแดง 100 กว่าคนเข้าร่วมรับฟังด้วย
นายสุนัย ส.ส.เพื่อไทย เริ่มต้นกล่าวถึงจุดประสงค์การสัมมนาว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ลงสัตยาบันเป็นภาคีกับศาลไอซีซี ดังนั้นการที่ไทยจะร้องให้พิจารณาคดีใดๆ ก็แล้วแต่จึงยังไม่สามารถกระทำได้เป็นเฉพาะกรณี เพราะยังไม่มีนิติสัมพันธ์ แต่ใช่ว่าไม่มีช่องทางการยอมรับให้เกิดเขตอำนาจศาล ซึ่งบทที่ 12 วรรค 3 ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ระบุชัดเจนว่า รัฐใดที่ถึงแม้มิได้เป็นภาคีสมาชิกของธรรมนูญกรุงโรมก็อาจยอมรับเขตอำนาจของศาลในการพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งได้ โดยการทำคำแถลงเป็นหนังสือยอมรับเขตอำนาจศาลยื่นต่อจ่าศาล โดยไม่ต้องผ่านสภาฯ และรัฐที่ยอมรับเขตอำนาจศาลสำหรับคดีต้องให้ความร่วมมือกับศาลตามที่กำหนดไว้ในภาค 9 ของธรรมนูญฯ โดยไม่ชักช้าและโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
นายสุนัยกล่าวว่า ส่วนที่กังวลว่าการไปร้องกับศาลไอซีซีจะเป็นการดูถูกศาลไทยนั้น เราต้องเข้าใจว่าไม่ได้เป็นการดูถูกศาลไทย เพียงแต่อยากหาความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 อีกทั้งเราอยู่ในภาวะปรองดองกัน จึงไม่อยากให้เรื่องนี้ร้อนระอุจนมาเป็นประเด็นทางการเมืองอีก จึงควรนำปัญหาออกไปพิจารณาไว้นอกประเทศจะดีกว่าหรือไม่ แต่เบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ
นายสุนัยระบุต่อไปว่า เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา น.พ.เหวง โตจิราการ ล่ารายชื่อ ส.ส.เพื่อไทย 25 รายชื่อเพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณายอมรับอำนาจศาลไอซีซีในส่วนที่เกี่ยวกับอาชญากรรมสังหารประชาชนกลางกรุงเทพฯ เมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 โดยให้เสนอต่อ รมว.ต่างประเทศ หรือ รมว.ยุติธรรม เพื่อส่งมอบคำประกาศให้แก่นายทะเบียนของศาลไอซีซีเพื่อให้ศาลไอซีซีจะได้มีเขตอำนาจดำเนินการพิจารณาตามอำนาจที่ตราไว้ในธรรมนูญกรุงโรมที่ประเทศไทยรับรองไว้แล้วกับผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติดังกล่าว ถือเป็นการเยียวยาทางจิตใจให้กับผู้ที่เสียชีวิต และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์การฆ่าประชาชนอีกในอนาคต
"ทางคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ซึ่งมีทั้ง ส.ส.ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทยจะเดินทางไปศาลอาญาระหว่างประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2555 เพื่อปรึกษาหารือ รวมทั้งจะเชิญมาในงานสัมมนาของกรรมาธิการ โดยให้อัยการ ศาล ทหาร ตำรวจ เข้ามาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็พร้อมสนับสนุนเพื่อให้ระบบของศาลยุติธรรมเข้าสู่ความเป็นระบบสากลมากยิ่งขึ้น" นายสุนัย กล่าว
ด้านนายปิยบุตรระบุว่า หากประเทศไทยจะยอมให้มีการลงสัตยาบันต่อศาลไอซีซี หรือศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งแต่ในวันนี้ เพื่อให้พิจารณาดำเนินคดีสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ก็จะไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากมีผลบังคับนับตั้งแต่วันแรกที่ลงสัตยาบันนับออกไปอีก 60 วัน เพราะการดำเนินคดีจะไม่สามารถย้อนหลังได้ แต่ก็ยังมีช่องทางตามบทที่ 12 วรรค 3 ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่กำหนดการประกาศรับเขตอำนาจศาล ซึ่งจะมีผลต่อเหตุการณ์หรือคดีที่ต้องการให้นำมาพิจารณาเป็นพิเศษเฉพาะกรณี เช่น ที่ประเทศยูกันดา และไอวอรี โคสต์ ที่ได้ประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลให้มีผลย้อนหลังดำเนินคดีที่ต้องการได้ โดยรมว.ต่างประเทศสามารถลงนามในสัตยาบันได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านช่องทางรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งดีใจเพราะยังมีเงื่อนไขอื่นๆ เข้ามาประกอบ เช่น เข้าข่าย 4 ฐานความผิดร้ายแรงหรือไม่ ได้แก่ อาชญากรรมการทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ มนุษยชาติ สงคราม การรุกราน
นายปิยบุตรกล่าวอีกว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศยังต้องคำนึงถึงกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศว่าได้เสร็จสิ้นจนไม่สามารถดำเนินคดีต่อได้ รวมถึงไม่มีความเป็นกลาง ไม่อิสระ และล่าช้า นอกจากนี้ ถ้าหากมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ถือว่าคดีนั้นดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้ว ดังนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะนำคดีสลายการชุมนุมขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ไม่ใช่รับเรื่องแล้วจะพิจารณาคดีเลย จะต้องไต่สวน เพราะจากสถิติที่ผ่านมาในช่วง 10 ปี มีคดีเข้าสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ 3,000 คดี มีเพียง 15 คดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล และแยกเป็น 7 คดี ยังอยู่ในระหว่างที่อัยการไต่สวน ส่วนที่เหลือ 8 คดี ยังไม่เป็นคดีอย่างเป็นทางการ
นายพนัสระบุว่า ประเทศไทยลงนามเป็นสมาชิกไอซีซีตั้งแต่ปี 2543 แต่จนถึงปัจจุบันประเทศไทยก็ยังไม่ลงสัตยาบัน เพราะยังมีประเด็นถกเถียง มาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญที่ยังต้องถกเถียงพอสมควร ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะหลักสำคัญสุดของธรรมนูญกรุงโรมระบุชัดเจนในหลักป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดลอยนวลเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นใคร สถานภาพใด ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เมื่อทำผิดก็มีสถานะเท่าเทียมกัน จะอ้างเอกสิทธิ์คุ้มกันจากกฎหมายภายในหรือต่างประเทศ เช่น ส.ส. ส.ว. ก็อ้างไม่ได้ "ซึ่งไม่ใช่แค่ศาลเสริม แต่เป็นซูเปอร์คอร์ตเลย" ส่วนที่มองว่าการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลไม่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 คงจะเป็นข้อถกเถียงกันแบบหัวชนฝา เช่นเดียวกับกรณีการถกเถียงการทำเอ็มโอยูกับประเทศกัมพูชา ซึ่งหากจะทำจริงคงต้องทบทวนและพิจารณาอย่างถ่องแท้ว่าจะทำได้แค่ไหน
นายพนัสชี้ด้วยว่า การนำคดีขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศยังมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการพิจารณา ซึ่งคดีโดยทั่วไปการสั่งฟ้องเป็นอำนาจของอัยการ แต่กรณีขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ อัยการไม่มีอำนาจสั่งฟ้องคดี เพราะการสั่งฟ้องจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอาญาระหว่างประเทศด้วย โดยการพิจารณาในแต่ละขั้นตอนมีผลไม่ผูกพันกัน และยังมีความยาก เพราะจะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ ต้องดูว่าเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงเพียงพอหรือไม่ ศาลทำหน้าที่ดีหรือไม่ และถ้าเกิดรัฐบาลมีการนิรโทษกรรมกลับกลายแสดงว่ารัฐก็ไม่เต็มใจที่จะยอมรับเขตอำนาจศาล โดยไม่ต้องลงสัตยาบันก็มีข้อดีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 25 (3) ทำให้อัยการสามารถเปิดคดีได้ เช่นกรณีศึกษาของประเทศฮอนดูรัสที่เกิดรัฐประหารและประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมีคนฝ่าฝืนและถูกจับเป็นจำนวนหลายพัน กระทั่งมีผู้เสียชีวิต 20 คน โดยเป็นการเจตนาฆ่า 8 คน และอีก 12 คน เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยถือว่าเรารุนแรงกว่า แต่ที่ฮอนดูรัสเป็นภาคี เราไม่ใช่ แต่หากเราประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล อัยการสามารถอ้างเปิดคดีได้เลย
ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นายวิชา มหาคุณกรรม การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนคดีสั่งสลายม็อบเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยมิชอบจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ราย ให้สัมภาษณ์ถึง ความคืบหน้าในการไต่สวนคดีว่า วันนี้ได้เชิญ พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีชันสูตรพลิกศพคนเสื้อแดงของกองบัญชาการตำรวจ นครบาลมาให้ถ้อยคำถึงการเข้ามาทำหน้าที่ในคดีดังกล่าว ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที
นายวิชาเผยว่า พล.ต.ต.อนุชัย ให้ข้อมูลว่า มีคดีรับผิดชอบอยู่ 22 ศพ มีหน้าที่เพียงกำกับดูแลควบคุมเท่านั้น คนที่รู้เรื่องดีที่สุดได้แก่ พ.ต.อ. จำนวน 3 คน ที่ร่วมเป็นพนักงานสอบสวน ดังนั้นทาง ป.ป.ช. จะทำเรื่องขอให้ทั้ง 3 คน มาให้ถ้อยคำต่อไป
นายวิชากล่าวว่า เบื้องต้น พล.ต.ต.อนุชัย ไม่ได้ยืนยันว่าการเสียชีวิตทั้ง 16 ศพ ที่ศาลรับไว้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพแล้วเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือไม่ บอกเพียงว่า
1. การเสียชีวิตเกิดขึ้นในบริเวณที่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ และ
2. เจ้าหน้าที่มาปฏิบัติหน้าที่อ้างว่ามาตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
สำหรับการไต่สวนคดีนี้จะต้องรอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพทั้ง 16 ศพก่อน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงทุกอย่างครบถ้วนจึงจะเดินหน้าทำคดีต่อไปได
วันเดียวกัน น.พ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่าจากกรณีที่ตนทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ 855/2555 เมื่อวันที่ 20 มี.ค. พร้อมแนบรายชื่อส.ส.พรรคเพื่อไทย จำนวน 25 รายชื่อ เพื่อขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติยอมรับเขตอำนาจศาลเฉพาะกรณีในส่วนที่เกี่ยวกับอาชญากรรมสังหารประชาชนกลางกรุงเทพฯ เมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 นั้น เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ต้องการให้มีการลงสัตยาบันร่วมกับศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะตามเงื่อนไขนับแต่วันลงสัตยาบันออกไปอีก 60 วัน จึงจะสามารถเริ่มพิจารณาดำเนินคดีที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่มีผลนับย้อนหลัง ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นบุคคลที่เกี่ยวโทษกับเหตุการณ์ก็จะรอดอย่างง่ายดาย
น.พ.เหวง กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีการฆ่าประชาชนในที่สาธารณะอีก เราจึงเสนอให้เป็นการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลพิเศษตามบทที่ 12 วรรค 3 ของธรรมนูญกรุงโรม ที่แม้ประเทศนั้นไม่ได้เป็นภาคี (ลงนามสัตยาบัน) ถ้ารัฐประกาศรับรองเขตอำนาจศาล ศาลอาญาระหว่างประเทศก็จะสามารถพิจารณาคดีนี้ได้ โดยนายกฯ ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรีอาจจะสามารถลงนามโดยส่วนตัวหรือจะเป็นการมอบหมายแทนต่อรมว.ยุติธรรมหรือรมว.ต่างประเทศ ทั้งนี้ ต่างก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งสองฝ่ายว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ และยังไม่ต้องผ่านการประชุมร่วมรัฐสภา ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นแค่การแสดงเจตจำนงฝ่ายเดียวนั่นเอง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการร้อง ดำเนินคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศจะได้ประสิทธิภาพสูงสุดในผลตรวจสอบของคดี