มรสุมคดียุบพรรค ปมเงินบริจาคหลอน-ประชาธิปัตย์ คุณสมบัติ "จตุพร" เขย่าขวัญ-เพื่อไทย

ประชาชาติธุรกิจ 26 พฤษภาคม 2555 >>>




ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ "จตุพร พรหมพันธุ์" พ้นจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย สร้างแรงสะเทือนไปไกลเกินกว่าการดึงให้พ้นจากเก้าอี้ผู้แทนอันทรงเกียรติ
"ประชาธิปัตย์" (ปชป.) หยิบเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า "จตุพร" ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรค ในวันเลือกตั้ง ทำให้ไม่มีคุณสมบัติการรับสมัครเป็น ส.ส. ซึ่ง "เพื่อไทย" รู้ทั้งรู้ว่า "จตุพร" จะไม่มีคุณสมบัติ แต่หัวหน้าพรรคก็ยังรับรองส่งลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 8 ถือเป็นความผิดตาม "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. 2550" มาตรา 139 ที่ระบุว่า
   "ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้ง ได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือ สมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาท ถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี"
เมื่อหัวหน้าพรรค หรือ กรรมการบริหารพรรค ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของพรรคการเมือง เข้าข่ายมีส่วนรู้เห็นด้วย ก็จะถูกโยงเข้ากับ มาตรา 94 (2) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ระบุว่า "กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. หรือ ระเบียบหรือ ประกาศของคณะกรรการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม" ก็อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้เช่นกัน
"น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์" แกนนำเสื้อหลากสีก็ได้มายื่นร้องให้ยุบ "พรรคเพื่อไทย" ในประเด็นเดียวกันก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยให้ "จตุพร" พ้นสภาพ ซึ่งเวลานี้ขั้นตอนอยู่ในชั้นการหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
แหล่งข่าวจากสำนักงานกฎหมายและคดี ของ กกต. ระบุว่า หากฝ่ายตรงข้ามนำกรณีที่ "จตุพร" ถูกศาลสั่งให้สิ้นสภาพการเป็น ส.ส. มาต่อยอดยุบพรรคเพื่อไทย ก็จะข้อถกเถียงด้านกฎหมายขึ้นมาอีก
   "หากยกมาตรา 139 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาเป็นช่องทางเอาผิด ก็จะต้องดูว่าจะสามารถครอบคลุมถึงกรณีของผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อด้วยหรือไม่ เพราะต้องดูเจตนาว่าพรรคเพื่อไทย หรือ นายจตุพร จงใจ หรือฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ และหลังจากมีการรับสมัครเลือกตั้ง กกต. ก็ประกาศรับรองคุณสมบัติของผู้สมัครให้ลงรับเลือกตั้งได้ ดังนั้น จึงต้องกลับมาดูกันอีกครั้ง"
ส่วนจะนำไปสู่การยุบพรรคตาม มาตรา 94 (2) หรือไม่นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า "จะต้องกลับมาดูว่า การกระทำของพรรคเพื่อไทย หรือ ของนายจตุพร ส่งผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมหรือไม่ หากมองแค่เรื่องการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง คงมองเป็นเรื่องการทุจริตได้ยาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อต่อสู้ของฝ่ายตรงข้ามว่าจะใช้กฎหมายข้อไหนมาอ้าง และสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับศาลจะตัดสินว่าเป็นอย่างไร"
ข้อเท็จจริงทั้งหมดอาจการันตีลมหายใจ "จตุพร" และ "พรรคเพื่อไทย" ระดับหนึ่งว่ายังมีลุ้น ไม่ถึงขั้นเสียวถูกยุบพรรคอีกคำรบ
ขณะที่ ปชป. ลั่นกลองศึก "ยุบพรรค" ฝั่งเพื่อไทยจึงเตรียมโต้กลับด้วยอาวุธในมือ เพื่อปูทางลาก "ประชาธิปัตย์" ลงก้นเหวในวาระเดียวกัน โดยเปิดเกมโต้กลับจากเงินบริจาค 1 ล้านบาท ของ "บริษัทจัดการ และพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)" หรือ "อีสท์ วอเตอร์" เป็นการเปิดเกมโต้กลับ "พรรคประชาธิปัตย์" บนเวทีคนเสื้อแดง ในวาระครบรอบ 2 ปี สลายการชุมนุมราชประสงค์ "จตุพร" บอกว่า ความผิดของเขาไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย แต่ขอให้ ปชป. เตรียมตัวรับคดียุบพรรคไว้ให้ดีเช่นกัน
   "อยากให้พรรคประชาธิปัตย์เตรียมตัวให้ดีกับกรณีรับเงินบริจาคจากบริษัทอีสท์ วอเตอร์ 1 ล้านบาท เพราะเป็นบริษัทที่มีหน่วยงานรัฐถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ต่อจากนี้จะรอดูว่าเขาจะรอดจากเรื่องนี้ได้อย่างไร"
"คดีอีสท์ วอเตอร์" มีต้นเรื่องมาจาก "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" อดีต ส.ว. ที่ได้ทำเรื่องขอให้ กกต. ยุบพรรค ปชป. ตามมาตรา 71 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง เพราะเข้าข่ายเป็นบริษัทต้องห้ามมิให้พรรคการเมืองรับเงินบริจาค
"เรืองไกร" แจงว่า "พรรคประชาธิปัตย์" ได้เปิดบัญชีกับธนาคารกรุงไทย เพื่อขอรับเงินบริจาคเข้าศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เมื่อเดือน พ.ย. 2553 โดยในเว็บไซต์ของพรรค มีการแจ้งข้อมูลถึงบริษัทอีสท์ วอเตอร์ ว่า บริจาคเงินให้ 1 ล้านบาทร่วมอยู่ด้วย แต่รายละเอียดดังกล่าวกลับไม่มีรายงานไว้ในงบดุลของพรรค
   "ผมสงสัยว่าจะมีการทำบัญชีขึ้นมา 2 ชุด เพราะรายงานเงินบริจาคที่แจ้งกับ กกต. ไม่มีรายการของบริษัทอีสท์ วอเตอร์ และผมยังสงสัยอีกว่า พรรคลงบัญชีครบถ้วนตามความจริงหรือไม่ ผมเชื่อว่าคดีนี้มีความชัดเจนมากกว่าคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยมีก่อนหน้านี้เสียอีก"
กรณีดังกล่าวทำให้เก้าอี้ "พรรคประชาธิปัตย์" ร้อนฉ่า ผู้เกี่ยวข้องแต่ละคนต้องลุกขึ้นมาชี้แจงรายละเอียด
ใบเสร็จทุกใบ หลักฐานทุกชิ้น ถูก "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โทรศัพท์สายตรงถึงข้าราชการในทำเนียบ ให้รวบรวมหลักฐาน แฟกซ์ตรงถึงอาคารรัฐสภา
หลักฐานที่ "สาทิตย์" นำหลักฐานขึ้นมากางบนโต๊ะ-ชี้แจง มีทั้งแคชเชียร์เช็ค และใบเสร็จรับเงิน ยืนยันว่าพรรคไม่ได้รับประโยชน์จากเงินดังกล่าว และได้มีการรายงานไปที่ กกต. ตามกระบวนการที่ถูกต้อง ซึ่งไม่น่าจะส่งผลให้ยุบพรรคได้
เขาชี้แจงเหตุผลของการเปิดบัญชีกลางก่อนที่จะนำเงินส่งกองทุนสำนักนายกฯ ด้วยความเห็น 3 ประการ
1. เหตุการณ์ภัยพิบัติเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ปชป. เพียงแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเปิดบัญชีรับเงินจากผู้บริจาค 191 ราย จำนวน 36 ล้านบาทเศษ ก่อนที่จะโอนเงินทั้งหมดให้กับกองทุนสำนักนายกฯ
   "หลักฐานที่สามารถยืนยันได้ดีที่สุด คือ ใบเสร็จรับเงินที่ถูกส่งมอบให้กับผู้บริจาคจำนวน 191 ราย ซึ่งออกโดยกองทุนสำนักนายกฯ ซึ่งเป็นข้อมูลชัดเจนว่าจำนวนเงิน 36 ล้านบาทเศษ ถูกโอนไปให้จริงหรือไม่"
2. การตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ช่วงภัยพิบัติ หากมีผู้ที่มีจิตอาสาต้องการบริจาคเงินช่วยเหลือประชาชน จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเดินทางไปบริจาคที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้เพียงอย่างเดียว
   "บางคนเขาสะดวกที่จะเดินทางมาพรรค เพราะเห็นว่าเราเป็นรัฐบาลอยู่แล้ว จะบริจาคให้คุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี หรือบริจาคให้ผมที่เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เขาก็เห็นว่า เงินทั้งหมดก็ต้องถูกส่งต่อเพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่ดี"
3. ย้อนรอยถึงคำประกาศ กกต. กรณีเกิดภัยพิบัติ ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถบริจาคทรัพย์สินหรือสิ่งของได้ไม่เกิน 300,000 บาท จากช่วงสถานการณ์ปกติที่บริจาคได้ไม่เกิน 3,000 บาท
   "ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติ กกต. จะประกาศระเบียบพิเศษในราชกิจจานุเบกษา ว่าให้ ส.ส. สามารถให้หรือรับของบริจาคได้เกิน 3,000 บาท ซึ่งมันทำกันมาหลายครั้ง ตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิ และน้ำท่วมใหญ่ ดังนั้นการที่ ปชป.จะเปิดบัญชีรับเงินบริจาคไว้ก่อนก็เป็นไปตามระเบียบของ กกต. เช่นกัน"
ขณะที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรค สำทับว่า "มันชัดว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับบริจาคเงินมาจากบริษัทอีสท์ วอตอร์" เพราะ "เราเป็นแค่ตัวกลาง"
แม้ "กรมสอบสวนคดีพิเศษ" หรือ "ดีเอสไอ" จะออกตัวแรงเตรียมสอบสวนเรื่องเงินบริจาคของ "อีสท์ วอเตอร์" ว่ามีความผิดทางอาญาหรือไม่ แต่ "อภิสิทธิ์" บอกว่า "อย่าเพิ่งไปคาดหวังว่าผิดจริง เพราะหลายครั้งดีเอสไอชอบสร้างประเด็นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง เช่น คดีของนายจตุพร ดีเอสไอเคยบอกว่ามีมูล ตอนหลังก็บอกว่าตรวจสอบแล้วไม่มีปัญหา จึงสั่งไม่ฟ้อง แต่การทำงานแบบนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปแล้ว ซึ่งมันทำให้สังคมสงสัยถึงบทบาทการทำหน้าที่ของดีเอสไอด้วยเหมือนกัน"
คำชี้แจงของ "อภิสิทธิ์" คำชี้แจงจากปาก "สาธิต" เป็นมุมหนึ่งของผู้ที่ถูกกล่าวหา แต่ผู้ที่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่าง "สดศรี สัตยธรรม" กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง ที่รับผิดชอบเรื่องเงินบริจาคพรรคโดยตรงกลับเห็นว่า
   "ทำไมเงินบริจาคต้องผ่านหลายต่อ ทำไมไม่บริจาคให้โดยตรง พรรคประชาธิปัตย์ต้องชี้แจงตรงนี้มาให้ได้ ต้องดูถึงเจตนาของการบริจาค เพราะกฎหมาย พ.ร.บ.พรรคการเมือง ไม่ได้เขียนไว้ให้พักเงินไว้ก่อน เปรียบเทียบว่าบริษัทหนึ่งบริจาคเงิน 1 หมื่นบาท เข้าบัญชีพรรคการเมือง แล้วพรรคเก็บไว้ 5 พันบาท แต่อีก 5 พันบาทเข้ากองทุนการกุศลหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องพิสูจน์ตรงนี้ เพราะหากบริษัทที่ถือหุ้นโดยรัฐบริจาคเข้าพรรคแม้แต่ 10 บาทก็มีความผิด"
ข้ออ้างที่ "พรรคประชาธิปัตย์" ยืนยันว่าเงินที่ได้รับจากการบริจาค ทั้ง 36 ล้านบาท จาก 191 บริษัท แล้วส่งต่อให้สำนักนายกฯทั้งหมด พร้อมมีใบเสร็จรับเงินส่งไปถึงผู้บริจาค เป็นเครื่องการันตีความโปร่งใส "สดศรี" บอกว่า "พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องแสดงหลักฐาน หากมีหลักฐานก็ไม่จำเป็นต้องกังวล แต่ก็น่าจะชี้แจงตั้งแต่แรก เหมือนกับบริษัทหนึ่งที่จะต้องรายงานรายรับ รายจ่ายของบริษัทให้กระทรวงพาณิชย์ทราบ เหมือนข้าราชการ กกต. ท่านอื่น รวมถึงดิฉันมีเครื่องเพชร มีสมบัติ ก็ต้องรายงานให้หลวงทราบเหมือนกัน"
วันนี้ขั้นตอนของสำนวนเงินบริจาค "อีสท์ วอเตอร์" กำลังอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นอนุกรรมการของ กกต.ซึ่งกำลังเรียก "อีสท์ วอเตอร์" มาให้ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับเงินบริจาคก้อนนี้
แม้เป็นเพียงเงินแค่ 1 ล้านบาท แต่ก็อาจทำให้ "พรรคประชาธิปัตย์" สั่นคลอนได้ เป็นไปตามที่ฝ่ายกฎหมาย "พรรคเพื่อไทย" ประเมินไว้
เพราะเรื่องนี้ "พรรคเพื่อไทย" ไม่จำเป็นต้องเปลืองเนื้อ-เปลืองตัว หากมีตัวแทนอย่าง "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" เป็นผู้เดินเกมทั้งหมด
มหากาพย์ยุบพรรครอบใหม่กำลังอุบัติขึ้น "พรรคเพื่อไทย" และ "พรรคประชาธิปัตย์" กำลังถูกผลักขึ้นเวทีชก มี กกต. รับหน้าที่เป็น "กรรมการห้ามมวย" ส่วน "ศาลรัฐธรรมนูญ" เป็นผู้ให้คะแนนชี้ขาดข้างเวที
ต้องดูว่าระหว่างทาง "พรรคประชาธิปัตย์" กับ "พรรคเพื่อไทย" ใครจะอยู่ หรือ ไป แต่จากข้อมูลเบื้องต้น "ฝ่ายสีแดง" หลังมีโอกาสลอยตัว-สบายใจมากกว่า