การเมือง ปมอีสวอเตอร์ทำ ปชป. เสี่ยงถูกยุบพรรค

โพสท์ทูเดย์ 21 พฤษภาคม 2555 >>>




เรืองไกรเผย ปชป. เสี่ยงถูกยุบพรรคหลังไม่แจ้งเงินบริจาคจากบริษทอัสวอเตอร์ในบัญชี ธาริตระบุพบมีมูลผิดจริง

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวว่า กรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ระบุว่าได้ยื่นเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จากกรณีรับเงินบริจาคจาก บริษัท อีสวอเตอร์ ว่า คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการที่ปชป.เปิดบัญชีกับธนาคารกรุงไทยเพื่อขอรับเงินบริจาคเข้าศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เมื่อเดือน พ.ย. 2553 โดยช่วงแรกเว็บไซต์ของพรรคแจกแจงรายชื่อผู้บริจาค ซึ่งมีชื่อบริษัท อีสวอเตอร์บริจาคให้ 1 ล้านบาท
แต่เมื่อตรวจสอบรายงานงบดุลของพรรคในปี 2553 กลับพบว่าไม่มีการแจ้งเงินบริจาคจำนวนดังกล่าวไว้ในรายการบัญชี ตนจึงยื่นเรื่องให้นายอภิชาติ สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว และทราบว่ามีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมาสอบปากคำผู้ร้องแล้ว โดยขอให้เรียกบัญชีธนาคารกรุงไทยมาตรวจสอบว่า พรรคเปิดบัญชีไว้โดยใคร มีเงินเข้าบัญชีกี่รายการ ออกจากบัญชีกี่รายการ และปิดบัญชีเมื่อใด เพราะเคยลองนำเงินไปฝากตามเลขที่บัญชีดังกล่าว ปรากฏว่าพนักงานธนาคารแจ้งว่าบัญชีปิดไปแล้ว
   "ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบัญชีเคยมีอยู่จริง และเนื่องจากรายงานเงินบริจาค เดือน พ.ย. 2553 ที่แจ้ง กกต. ไม่พบรายการรับบริจาคจาก อีสวอเตอร์ วนชัยกรุ๊ป และกลุ่มบริษัทกัฟล์ อีกทั้งในงบการเงินของพรรคปี 2553 ก็ไม่มีการรายงานเกี่ยวกับเงินบริจาคดังกล่าว จึงสงสัยว่าจะเป็นการทำบัญชีขึ้นมา 2 ชุดหรือไม่"นายเรืองไกรกล่าว
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ควรตรวจสอบว่า พรรคลงบัญชีครบถ้วนถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ แต่ยังไม่ทราบว่าคืบหน้าไปถึงไหน ซึ่งกรณีการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 65, 71, 82 ประกอบมาตรา 42 วรรคสอง ซึ่งมีโทษถึงขั้นยุบพรรค
ด้าน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ดีเอสไอได้รับการร้องทุกข์กล่าวโทษจากนายเรืองไกรไว้แล้ว โดยการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบมีมูลความผิด จึงได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.ศันทนะ แก้วทับทิม รองผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 รับไปสืบสวนข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบยังไม่แล้วเสร็จ แต่กรณีดังกล่าวมีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามไม่ให้บริษัทที่รัฐเข้าไปถือหุ้น หรือบริษัทที่อยู่ในกำกับของรัฐบริจาคเงินให้พรรคการเมือง และห้ามพรรคการเมืองรับเงินบริจาคจากบริษัทเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐที่มีอำนาจบังคับบัญชาใช้อำนาจสั่งการให้หน่วยงานในกำกับบริจาคเงินให้พรรคการเมืองของตัวเอง ซึ่งในกรณีนี้บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่หน่วยงานรัฐเข้าไปถือหุ้นกว่าร้อยละ 50 โดยตนจะทำหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายธาริต กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวหากพบมูลความผิดจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยดีเอสไอจะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) รับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากความผิดไม่อยู่ในบัญชีแนบท้ายความผิดตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมาคณะกรรมการคดีพิเศษ ประจำเดือน พ.ค. นี้ทันหรือไม่