เสียงสะท้อนถึงเลขาฯอภิสิทธิ์

ข่าวสด 16 พฤษภาคม 2555 >>>


จากกระแสสังคมออกมาวิจารณ์ถึง นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ 'อากง' นายอำพล ตั้งนพคุณ
นำไปสู่การถูกศาลตัดสินจำคุกและล้มป่วยจนกระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา
กรณีที่เกิดขึ้น นักวิชาการได้สะท้อนมุมมองว่าในฐานะผู้ มีอำนาจควรแก้ไขปัญหาด้วยการทำความเข้าใจก่อนจะนำกฎหมายเข้าจัดการหรือไม่ เพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลาย
รวมถึงบทเรียนที่ได้รับและทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

สาวิตรี สุขศรี
แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์


เรื่องนี้ต้นเหตุอาจจะไม่ใช่การนำข้อ ความจากโทรศัพท์ มือถือของอากงไปแจ้งความ เพราะมันเข้าข้อกฎหมาย และไม่ทราบความคิด ของนายสมเกียรติในฐานะผู้แจ้งความว่าคิดอย่างไร
เขาอาจมองว่าเป็น การปกป้องสถาบัน เป็นการเปิดช่องของมาตรา 112 ที่ใครฟ้องก็ได้ พอเข้าองค์ประ กอบก็เลยเกิดเรื่องขึ้น
ทั้งที่เรื่องนี้อาจจะจัดการโดยตัวเองได้ตั้งแต่แรก แต่ฝ่ายนั้นคิดว่าได้ทำตามกฎหมายก็มีฝ่ายเห็นด้วย แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะมองไปอีกอย่างหนึ่ง
ไม่ว่าจะถูกข้อหาใดก็ตาม ควรได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราว แต่กรณีอากงป่วยหนัก และไม่ได้รับการปล่อยตัว จึงเกิดเหตุขึ้น
บทเรียนที่สังคมไทยได้จากเรื่องนี้คือ ไม่ว่าใครก็มีสิทธิได้ รับผลกระทบเหมือนเรื่องนี้ได้ หากคุณวางโทรศัพท์มือถือไว้ แล้วมีใครเอาไปกดส่งให้กับใครสักคนที่พร้อมจะฟ้องศาล และกระบวนการนำไปสู่การจับกุมเจ้าของเครื่องโทรศัพท์ และถูกตัดสินให้จำคุก 20 ปี
เรื่องนี้อาจเกิดกับใครก็ได้หากยังมีปัญหาเรื่องกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอยู่ นี่คือสิ่งที่ได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้
การเสียชีวิตของอากงทำให้ปัญหาในเรื่องนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ที่ผ่านมาคนไทยอาจจะไม่เห็นชัดเจนว่ามาตรา 112 มีปัญหาอย่างไร ทำไมต้องออกมาเรียกร้องกัน เมื่อเกิดเหตุ การณ์นี้ขึ้นทำให้เรื่องชัดเจนขึ้น เริ่มมีการเรียกร้องมากขึ้น เรื่องน่าจะแรงขึ้น
ทางออกคือควรมีการพูดคุยกันว่ามาตรานี้มีปัญหาใช่หรือไม่ มีปัญหาตรงไหน ต้องแก้อย่างไร ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างคิดแต่มุมของตัวเอง แล้วปะทะกัน
เชื่อว่าเรื่องคงไม่จบง่ายๆ ฝ่ายที่ถูกกระทำก็รู้สึกว่าถูกฝ่ายรัฐฝ่ายผู้ใช้กฎหมายกระทำมามาก อาจต้องรื้อกระบวนการนี้
แต่หากฝ่ายมีอำนาจมองว่าเรื่องนี้เป็นการกระด้างกระเดื่อง เป็นพวกล้มเจ้า ปัญหานี้จะเกิดไปเรื่อยๆ จะรุนแรงขึ้นเพราะจะเกิดอารมณ์ขึ้นมาทั้งสองฝ่าย แม้จะมีเรื่องการปรองดองขึ้นมาก็ไม่จบ เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นตอของปัญหา

ธเนศวร์ เจริญเมือง
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่


ในสังคมตอนนี้มีคนจำนวนหนึ่งที่มีความคิดแบบหัวรุนแรงในความเชื่อของตัวเอง โดยไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมาจากสิ่งที่ตัวเองได้กระทำ ซึ่งนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ เป็นคนที่มีลักษณะเช่นนั้น
คือเป็นผู้มีตำแหน่งใหญ่ในพรรค เมื่อใครก็ตามส่งข้อความมายังโทรศัพท์มือถือของตัวเองก็คิดว่าเป็นคำพูดที่ไม่ดี จึงใช้ความที่เป็นคนหัวรุนแรงเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับอากงทันทีโดยไม่ได้ตรวจสอบก่อน
แม้เรื่องราวจะผ่านไปแล้วโดยอากงก็เสียชีวิต ในคุก แต่ผมคิดว่าควรมีการสอบถามนายสมเกียรติว่าตอนที่ได้รับข้อความคิดอะไรอยู่ รู้จักคนที่ส่งข้อความหรือไม่ เหตุใดจึงไม่โทร.ไปตรวจสอบพูดคุยก่อน
ในขณะนั้นนายสมเกียรติไม่ได้สนใจหรือคำนึงถึงเรื่องการตรวจสอบเลย แต่คิดว่าต้องการเชือดไก่ให้ลิงดู กระทั่งนำมาสู่ความเสียหาย
ยิ่งนายสมเกียรติเป็นถึงเลขาฯ ส่วนตัวของนายกฯ ในขณะนั้น การจะทำอะไรได้ขอความเห็นจากนายกฯ หรือไม่ หรืออาจจะขอความเห็นแล้วผู้ใหญ่ก็ให้การสนับสนุนด้วย
จากกรณีอากง มองว่าเบื้องต้นควรต้องเรียกมาพูดคุยกันก่อน เพื่อสอบ ถามให้ชัดเจนว่าบุคคลใดส่งข้อความมากันแน่
ดังนั้น บทเรียนหลัง จากนี้ผู้ที่มีตำแหน่งใหญ่ โตให้คุณให้โทษผู้อื่นได้ ก่อนลงมือทำอะไรต้องคิดให้มาก ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายกับประชาชน
หากกรณีที่ได้ยินกับหูเห็นกับตาแล้วไปแจ้งความดำเนินคดีเลยแบบนั้นไม่ว่ากัน แต่กรณีนี้เป็นข้อความ ซึ่งคนที่มีตำแหน่งระดับนั้นควรต้องตรวจสอบก่อนถึงจะถูก
ส่วนทางออกของปัญหาคือเมื่อเกิดความขัดแย้งเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็ต้องแก้ไขให้แสดงความคิดเห็นได้ ไม่ใช่พูดอะไรก็ผิดอย่างเดียว แต่ต้องดูตามสมควร ควรให้เสรีภาพแสดงความเห็น
ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะการห้าม แต่ต้องยอมรับว่าคนเสื้อแดงเองก็มีคนที่หัวรุนแรงไม่รับฟังความเห็นของคนอื่นเช่นกัน ขณะที่อีกฝ่ายก็เชื่อเฉพาะเรื่องของตัวเองทำให้เกิดปัญหาแตกแยก
ดังนั้น ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขหรือออกกฎหมายควรต้องคุยกันแล้วว่าจะแก้ไขกฎหมายอย่างไร ไม่เช่นนั้นปัญหาแบบนี้จะเกิดอีกเรื่อยๆ บ้านเมืองต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมาย หากมัวแต่กำหนดว่าแก้ไขได้แต่ห้ามแตะต้องมาตรานั้นมาตรานี้ก็คงขัดแย้งกันต่อไป

ขวัญระวี วังอุดม
นักสันติวิธี โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล


ตามกฎหมายในคดีฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาทนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าทุกข์ควรเป็นคนฟ้องร้องด้วยตนเอง นายสมเกียรติไม่ได้เป็นผู้ที่ถูกหมิ่นประมาทหรือ ผู้เสียหาย จึงไม่มีสิทธิ์ไปแจ้งความหรือดำเนินการฟ้องร้องได้
เนื่องจากมาตรา 112 ไม่ควรถูกนำมาใช้ฟ้องร้องใครทั้งสิ้น เพราะเป็นปัญหาตั้งแต่ตัวบทกฎหมายที่เปิดช่องให้ใครก็ตามไปแจ้งความดำเนินคดีได้ ทั้งเรื่องโทษที่รุนแรงเกินไป ไม่สมควรแก่เหตุ และเนื้อหาที่ มีถ้อยคำคลุมเครือ จนเกิดการตัดสินคดีตามความเห็นมากกว่า ข้อเท็จจริง
ปกติในการต่อสู้ทางคดีตามหลักสากล ศาลต้องให้ฝ่ายโจทก์เป็นคนพิสูจน์ว่าจำเลยผิดจริงหรือไม่ แต่กรณีอากง ศาลกลับให้จำเลยพิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์จริงหรือไม่ ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่ที่จำเลย
อีกทั้งเรื่องการหมิ่นประมาท ต้องได้รับการพิสูจน์ ด้วยว่า ถ้อยคำที่จำเลยหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริงหรือไม่ หากเป็นจริงต้องได้รับการละเว้นโทษ เพราะการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดง ความคิดเห็นไม่ได้ทำร้ายใคร หรือทำให้ใครเสียชีวิต
โทษรุนแรงที่สุดควรเป็นทางแพ่งก็เพียงพอแล้ว แต่กลายเป็นว่าการแสดงความคิด เห็นเป็นอาชญากรรม ต้องถูกลงโทษในคดีอาญา
หากย้อนดูในอดีต มีโทษไม่เกิน 7 ปีและไม่มีโทษขั้น ต่ำ แต่มาถูกแก้ให้โทษขั้นต่ำอยู่ที่ 3 ปี จนถึงสูงสุดคือ 15 ปี โดยคณะรัฐประหารในปี 2519
นับจากนั้นมา มาตรา 112 จึงกลายเป็นเครื่องมือการเมืองที่นำมากลั่นแกล้งและกล่าวหาผู้อื่น
ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูประบบกระบวนยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักสากล
มาตรา 112 จึงควรได้รับการแก้ไขหรือยกเลิก เพราะไม่เหมาะสมกับสังคมระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน