เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2555 ร้านหนังสือ Book Re:public จัดงานรำลึก 2 ปี 19 พฤษภาคม เสวนาปรองดองกับความเป็นธรรม ? คณะนิติราษฎร์ได้นำเสนอโร้ดแมปการขจัดความขัดแย้งตามสูตรของนิติราษฎร์
ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวว่า ตนไม่ชอบคำว่า ปรองดอง เพราะถูกคนกลุ่มหนึ่งนำไปใช้เรียบร้อยแล้ว และความหมายที่แท้จริงก็ถูกใช้อย่างบิดเบือน ส่วนข้อเสนอของเรา เราเคยคุยในหมู่นิติราษฎร์มาแล้วหลายครั้ง และได้ข้อสรุปตามคำประกาศนิติราษฎร์ฉบับที่ 34 (ซึ่งจะออกฉบับสมบูรณ์ประมาณเดือนมิถุนายน) คือ หนึ่งเราจะไม่นิรโทษกรรมทุกฝ่าย หรือยึดตามแบบข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า เพราะว่าสถาบันพระปกเกล้าไม่พูดเรื่อง ม.112 และใครทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
แต่สิ่งที่คณะนิติราษฎร์จะทำ คือ เราจะไม่นิรโทษกรรมกับเจ้าหน้าที่และผู้สั่งการทั้งหลาย เพราะประเทศไทยเกิดเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้งหลายหน ถ้าเรายอมให้ทำแบบนี้ต่อไปก็จะเกิดการฆ่าหมู่ทางการเมืองอีก ครั้งนี้ต้องยืนยันว่าจะไม่ทำแบบนั้นอีกต่อไป หมายความว่าเราเสนอให้สืบสวนข้อเท็จจริง และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่และผู้สั่งการให้หมด
ทีนี้มาดูรายละเอียดว่าเราจะทำแบบไหน ทุกวันนี้เวลาเราพูดเรื่องนิรโทษกรรมจะพูดแบบเหมารวมหมด ซึ่งเราไม่เอา ในขณะเดียวกันหลายฝ่ายก็รู้สึกอ่อนล้าจากความขัดแย้ง ก็อยากเคลียร์ให้จบ เราจึงเสนอว่าต้องแยกการกระทำออกมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 ออกมาเป็นชุด ดังนี้
1. การกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้สั่งการทั้งหลาย จะไม่มีการนิรโทษกรรม จะต้องมีการสืบสวนข้อเท็จจริงกันต่อไปว่าใครเป็นคนสั่ง ใครกระทำความผิด ซึ่งจากข้อเสนอนี้ก็มีข้อโต้แย้งว่า "ดูเจ้าคิดเจ้าแค้นมากเกินไป เจ้าหน้าที่ผู้น้อยที่ทำตามคำสั่งของผู้บัญชาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จะทำอย่างไร ทำไมถึงไม่ปล่อยเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย" อยากเรียนว่า ตามกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 17 เขียนไว้ว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการไปโดยสมควรแก่เหตุ ไม่เลือกปฏิบัติ ทำตามอำนาจของตุลาการ เจ้าหน้าที่ก็จะพ้นผิดโดยอัตโนมัติ หมายความว่า หากไม่กระทำเกินกว่าเหตุ เช่น เจตนาไปยิงคนตายด้วยสไนเปอร์ เลือกปฏิบัติ เจตนาฆ่า ก็จะพ้นผิดตามกฎหมายโดยไม่ต้องใช้การนิรโทษกรรม
2. กลุ่มผู้ชุมนุม หรือบรรดาประชาชนทั้งหลาย ซึ่งเราตั้งคำถามไว้ว่า คนที่ถูกกล่าวหา หรือมีความผิดละเมิดพรก.ฉุกเฉินหรือกฎหมายความมั่นคง และคดีอาญาที่ลหุโทษ มีความผิดเล็กๆน้อยๆ พวกนี้เสนอให้นิรโทษทันที
3. คือกลุ่มที่ไม่เข้ากลุ่มที่ 1 และ 2 คือ ประชาชนทั่วไปที่มีความผิดที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งการเมือง มีมูลเหตุจูงใจในทางการเมืองที่เชื่อมโยงมาตั้งแต่ 19 กันยาฯ เราไม่นิรโทษกรรมทันที แต่ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบว่าเกี่ยวกับ รัฐประหาร 19 กันยาฯหรือไม่ ถ้าเกี่ยวกับ 19 กันยาฯ นิรโทษ ไม่เกี่ยวกับ 19 กันยา ไม่นิรโทษต้องดำเนินคดีต่อ ในระหว่างที่กรรมการชุดนี้กำลังวินิจฉัยชี้ขาดว่าเกี่ยวกับความขัดแย้ง 19 กันยาฯหรือไม่ คนที่ถูกจับกุมคุมขังให้มีการปล่อยไปก่อน แล้วค่อยพิจารณาโทษ
4. กลุ่มที่โดนคำพิพากษาตัดสินให้จำคุก หรือยังมีคดีติดตัว ที่เป็นคดีที่ริเริ่มมาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เสนอให้ (ตามข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหาร) เริ่มต้นคดีใหม่ทั้งหมด เช่น คดีทักษิณ ก็ให้เริ่มต้นใหม่คดีใหม่ แต่ไม่นิรโทษกรรมคุณทักษิณ
ฉะนั้นจะเห็นว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์ไม่ใช่ การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง
การที่จะทำให้ข้อเสนอนี้เป็นรูปธรรมได้ เราเสนอให้ทำในกรอบของรัฐธรรมนูญ เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องการขัดรัฐธรรมนูญ เช่น ถ้าทำในรูปของ พ.ร.บ. ก็อาจจะมีคนไปร้องว่า ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไปลบล้างคำพิพากษา ไปแทรกแซงอำนาจศาลหรือกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นจึงนำไปใส่ในรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ การเขียนในรัฐธรรมนูญยังมีข้อดีแฝงไว้ คือ ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอได้ โดยใช้ชื่อ 50,000 ชื่อ
ข้อเสนอของนิติราษฎร์มีมาก จนหลายคนงงว่า จะทำอะไรกันบ้าง ซึ่งภายในระยะหนึ่งปีข้างหน้าที่คิดว่าจะต้องทำให้มากขึ้น คือ
1. เรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหารตามที่ได้เสนอไปเมื่อปีที่แล้ว การลบล้างผลพวงรัฐประหารต้องทำเพื่อเป็นการทำลายสถาบันรัฐประหารในสังคมไทย ถ้าทำสำเร็จจะไม่มีใครกล้าทำรัฐประหาร
2. ดำเนินการขจัดความขัดแย้งตามสูตรของนิติราษฎร์ตามที่ได้กล่าวไป ซึ่งจะทำให้การสังหารหมู่ประชาชนยากมากขึ้นเพราะจะถูกดำเนินคดีหมด
3. คือ ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้แก่ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ และสถาบันการเมือง เพื่อปรับโครงสร้างของประเทศ ถ้าทำสำเร็จ โครงสร้างทางสมดุลอำนาจของประเทศจะเปลี่ยนไปมาก
อันนี้เป็นประเด็นในทางกฎหมาย ในทางการเมือง การปรองดองที่กำลังจะทำกันอยู่อย่างข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งตนเห็นว่ามีข้อดีอยู่ เช่นบทที่ว่าด้วยตัวอย่างการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองจากต่างประเทศ 10 ประเทศ อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องทฤษฎี เกี่ยวกับความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน และทฤษฎีเรื่องความปรองดองแห่งชาติ แต่สองส่วนที่ดีมากนี้ถูกทำลายลงทั้งหมดจากข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าฯเอง เพราะทฤษฎี เกี่ยวกับความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน และทฤษฎีเรื่องความปรองดองแห่งชาติ ไม่ว่าจะใช้ตำรากี่เล่มก็เหมือนกันหมด คือ ต้องพูดความจริง ประเด็นต้นเหตุความขัดแย้งต้องกล้าพูดออกมาให้หมดทุกเรื่อง แต่ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าไม่พูดเรื่อง ม.112 ใครทำรัฐประหารก็ไม่พูด เรื่องสถาบันกษัตริย์ก็ไม่ให้พูดแล้วจะปรองดองกันได้อย่างไร
ธีระ สุธีวรางกูร นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์ ใจความสำคัญจะอยู่กับสถาบันหลักๆ คือสถาบันพระมหากษัตริย์ กองทัพ และศาล เราจึงถูกตั้งคำถามมากว่าเป็นใครมาจากไหนถึงมาแตะในเรื่องที่สำคัญอย่างนี้ พวกเราคิดว่า เรื่องที่สมควรจะพูดบ้าง มันต้องควรมีคนพูด คนที่มีความสามารถพูดก็ไม่ยอมพูด เราก็เลยต้องออกมาพูด ในช่วงที่ผ่านมา เราก็เจอศึกหนักมากมาย
เราก็ต้องมาคุยกันว่าบทบาทของเราจะเป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญก็ต้องทำ การประกาศไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ทำให้กองทัพไม่พอใจ สิ่งที่มันจะเกิดขึ้น และเราต้องทำความเข้าใจ คือ อาจมีพรรคการเมืองไม่พอใจพวกเรา สถาบันต่างๆ อาจมองพวกเราว่าพวกอยู่ไม่สุข ตนต้องการรับฟังคำแนะนำด้วยว่าถ้าผมเจอเหตุการณ์แบบนี้ ผมควรจะปฏิบัติอย่างไร ความเห็นของท่านอาจจะเข้าสู่ที่ประชุมของนิติราษฎร์ด้วย
ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า เวลานิติราษฎร์เสนออะไรไป เราไม่ได้เรียกร้องให้พวกท่านเชื่อ หรือทำตาม ถ้าท่านอ่านแล้วก็เพิ่มเติมเหตุผล ณ ปัจจุบันสิ่งที่นิติราษฎร์ต้องการคือให้สังคมนำข้อเสนอนิติราษฎร์ไปพูดคุยกันด้วยเหตุผล อ่านแล้วจะเห็นแย้ง หรือเห็นต่าง ก็คุยกันด้วยเหตุผล นี่คือ สิ่งที่นิติราษฎร์เสนอโดยผ่านมุมมองของกฎหมาย
ในช่วงต่อมามีการเปิดโอกาสให้ซักถามเกี่ยวกับข้อเสนอการกำจัดความขัดแย้งสูตรนิติราษฎร์ โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังรายหนึ่งตั้งประเด็นว่า การไม่นิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ระดับเล็ก หรือการพยายามจะนำผู้สั่งการมาลงโทษอาจจะติดอยู่ตรงคำสั่งของ ศอฉ. จนโบ้ยความผิดมาเจ้าหน้าที่ผู้สั่งการระดับล่างว่าเกินกว่าเหตุ ผู้บังคับบัญชาก็ไม่ต้องรับผิด จะทำอย่างไร
ธีระ ตอบว่า ในทางกฎหมายเราต้องยึดก่อนว่า การไม่นิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่เป็นการทั่วไป ใครจะผิดหรือไม่ผิดเราต้องสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นก่อน ถ้ามีคำสั่งที่ผิดกฎหมายจริง แล้วเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งจริงโดยที่ไม่แน่ใจว่าคำสั่งนี้ชอบหรือไม่ชอบกฎหมาย ในกรณีนี้ผู้ปฏิบัติหน้าที่จะได้รับการคุ้มครอง ผู้บังคับบัญชาที่ออกคำสั่งจะต้องรับผิด แต่ถ้าผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งปฏิบัติเกินกว่าเหตุ ตรงนี้ผู้บังคับบัญชาก็ไม่มีการรับผิด เจ้าหน้าที่ก็อาจจะต้องรับผิดไปเนื่องจากว่า กฎหมายไม่ได้คุ้มครอง เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถชี้เฉพาะเจาะจงลงไปได้ว่าผู้บังคับบัญชาผิดหรือเจ้าหน้าที่ผิด มันต้องมีการสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน และเมื่อสอบข้อเท็จจริงมาแล้วคำสั่งเป็นอย่างไร ระดับการปฏิบัติเป็นอย่างไร ระดับผู้ออกคำสั่งผิดก็ต้องรับผิด ระดับผู้ออกคำสั่งไม่ผิดแต่ผู้ปฏิบัติผิดก็ต้องรับไป ข้อเสนอของนิติราษฎร์ไม่ได้ตั้งสมมุติฐานใครผิด ใครถูกตั้งแต่ในชั้นนี้เพียงแต่ว่า เราไม่นิรโทษกรรมทั่วไปเพื่อให้เกิดกระบวนการในการค้นหาความจริงเรื่องการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติการทางทหารว่า ถ้ามันผิด จะตกอยู่กับส่วนไหน อย่างไร
ปูนเทพ กล่าวเสริมว่า การกำหนดไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ระดับล่างแต่แรก มันจะช่วยส่งเสริมการค้นหาความจริงมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการออกคำสั่งระดับสูง ถ้าเราตั้งต้นแบบเดิมๆที่ผ่านมา คือนิรโทษกรรมระดับล่างหมด การค้นหาต่อไปว่าคำสั่งต่างๆมีผลอย่างไร จะไม่เกิดประโยชน์ ในการที่เจ้าพนักงานนั้นจะให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง แต่ถ้าเราตั้งในทางโครงสร้างกฎหมายว่า ถ้าทำตามหน้าที่โดยสุจริต มันมีคำสั่งมาจากเบื้องบน มีการยืนยันคำสั่งที่ได้รับ ก็จะกลายเป็นเงื่อนไขให้ศาลพิจารณาว่า ทำไปโดยคำสั่งผู้บังคับบัญชา ก็สามารถพ้นผิดได้ ท้ายที่สุดแล้วคนสั่งการต้องรับผิด ไม่ใช่เหมือนในอดีตที่ผ่านมาที่เราปล่อย และไม่ดำเนินการ
ในช่วงท้าย ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้วิพากษ์ข้อเสนอของนิติราษฎร์ 3 ประเด็นว่า ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่พยายามจะกันเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอันที่จริงมันไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเอาปืนไปยิงคน
"ผมคิดว่า ทุกครั้งที่เราละเว้นแต่คนเล็กคนน้อยที่เป็นทหารหรือตำรวจก็ตาม มันสืบไปไม่ถึงคนใหญ่เพราะมันต้องเริ่มต้นจากคนเล็ก ฉะนั้นการละเว้นคนเล็กคนน้อยต้องทำกันอย่างรอบคอบระมัดระวัง"
"อันที่สอง เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกติกาที่จะเปิดความขัดแย้งโดยไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของกันและกัน ถ้ารัฐธรรมนูญทำอย่างนี้ไม่ได้ ก็เป็นรัฐธรรมนูญเฮงซวย ล้าสมัย เพราะฉะนั้นมันจึงไม่น่าจะมีหมวดพิเศษหมวดหนึ่งที่ว่าด้วยการระงับความขัดแย้งโดยเฉพาะ แต่พอฟังอาจารย์ปิยบุตรแล้ว ประเทศไทยเราไม่สามารถปฏิวัติยึดอำนาจได้ มันมีกลุ่มที่มีพลังใกล้เคียงกันแล้วต่อสู้กันแบบไม่ยอมกันและกันแยะมาก มันอาจจะต้องการวิธีการที่อ้อม เราต้องเขียนธรรมนูญที่มันระงับ ควบคุมความขัดแย้งได้โดยตัวมันเอง บังเอิญว่าเราไม่มีฝ่ายใดชนะ ผมเชื่อเลยว่า คุณรัฐประหารใหม่ก็ไม่ชนะ โอกาสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะขนาดนั้นไม่มีเลย ดังนั้นมันอาจจะเป็นวิธีที่ดีก็ได้ แต่ผมก็ยังรู้สึกว่ามันทะแม่งๆ ถ้ารัฐธรรมนูญต้องออกมาแก้เฉพาะเป็นเรื่องๆ"
ประเด็นที่สาม คือเรื่องภาวะฉุกเฉิน ที่พยายามจะบอกว่า คนที่เข้าไปร่วมชุมนุมไม่ผิด ไม่ต้องรับผิดชอบทางด้านกฎหมาย ตนกลับรู้สึกว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อปี 53 เป็นการประกาศที่ไม่ชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น คือ การที่คนปิดราชประสงค์แล้วได้รับความเดือดร้อนทางการจารจรเป็นเรื่องปกติของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่มันกลับนำไปสู่ภาวะฉุกเฉิน คิดว่ามันเป็นความฉ้อฉลอย่างยิ่ง จึงคิดว่าน่าจะทำลายความชอบธรรมในการประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่พอมาคิดอีกทีหนึ่งว่าเป็นการกระทำของรัฐ จึงทำให้อำนาจตุลาการไม่สามารถเข้าไปยุ่งได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร เพราะถ้าปล่อยแบบนี้ก็เท่ากับยอมรับการประกาศภาวะฉุกเฉินที่ฉ้อฉล ซึ่งถ้าไม่ยอมรับประกาศภาวะฉุกเฉิน คนที่ไปชุมนุมมันก็ไม่ผิดตั้งแต่ต้น