กรุงเทพธุรกิจ 26 พฤษภาคม 2555 >>>
"นิพิฏฐ์" ชี้ พ.ร.บ.ปรองดอง ระคายเคืองเบื้องสูง ชี้ ยกเลิกผู้มีความผิด 112 ขู่ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญระงับ
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยระบุว่า ก่อนที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ จะเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ (พรบ.ปรองดอง) ได้มีการยกเว้นไม่คุ้มครองผู้ที่มีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 แต่ได้มีการแก้ไขภายหลังจากพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะส.ส. จากคนเสื้อแดง โดยตัดข้อความดังกล่าวออกไปจึงทำให้หาก พรบ. ดังกล่าวนี้ผ่านสภา ผู้ที่เข้าข่ายที่มีความผิดตาม ม.112 ก็จะได้รับการยกผิดไปด้วย ดังที่ระบุใน ม.3 (1) ว่า “การกล่าววาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องเพื่อให้มีการต่อต้านรัฐให้ถือว่าไม่มีความผิด”
แหล่งข่าวจากคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการปรองดอง (กมธ.ปรองดอง) ที่มีพล.อ.สนธิ เป็นประธาน กมธ. กล่าวว่า การเสนอร่าง พรบ. ดังกล่าวเป็นการทำร้ายระบบนิติรัฐที่เอาอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติไปแทรกแซงอำนาจตุลาการ ยังเป็นการทำร้ายพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แต่เดิมคดีความที่ตัดสินไปแล้วต้องมีการออกกฏหมายพระราชทานอภัยโทษ แต่มาตรา 4 กลับให้ฝ่ายนิติบัญญัติมาก้าวล่วงแทน โดยระบุว่าศาลมีคำสั่งพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ถือบุคคลนั้นไม่เคยกระทำความผิด และถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวไป
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการปรองดอง กล่าวว่า มาตรา 3 (1) เป็นการเขียนกฏหมายซ่อนให้มีการยกเลิกผู้ที่มีความผิดในประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งตนเชื่อว่าประชาชนจะไม่ยอมรับเพราะเป็นเรื่องระคายเคืองเบื้องสูงและเป็นการแสดงให้เห็นว่าขบวนการล้มเจ้ามีอยู่จริง โดยเฉพาะ ส.ส.เพื่อไทย ที่มาจากกลุ่มเสื้อแดงน่าจะผลักดันเรื่องนี้
โดยครั้งเมื่อประชุมกรรมาธิการปรองดองและผลสรุปของสถาบันพระปกเกล้าออกมาเสนอแนวทางปรองดอง 3 แนวทาง ซึ่ง พล.อ.สนธิ ก็เคยพูดว่าแนวทางข้อที่ 3 คือการยกเลิกคำพิพากษาไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ แต่พอมาวันนี้กลับมาเสนอกฏหมายโดยเสนอแนวทางที่มีลักษณะดังกล่าวซึ่งสุดขั้วที่สุด แสดงให้เห็นว่า การกระทำของ พล.อ.สนธิ เป็นเช่นไร
ทั้งนี้หากมีการพิจารณากฏหมายในสภา แม้เสียงของผู้ที่คัดค้านจะไม่สามารถต้านทานได้ แต่ประชาธิปัตย์ก็จะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการออกกฏหมายไปยกเลิก ม.309 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ เพราะลำดับชั้นของ พ.ร.บ. เล็กกว่ารัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ พ.ร.บ. ดังกล่าวยังมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะผู้ที่จะเห็นชอบด้วยกฏหมายดังกล่าวที่มีส.ส. เสื้อแดงประมาณ 20 คน ที่มีคดีก่อการร้ายในระหว่างการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2552-2553 ซึ่งร่างดังกล่าวนี้คงเป็นการเขียนกันเองของ ส.ส. และเชื่อว่าคงไม่ผ่านความเห็นของคณะกรรมการกฤษฏีกา เพราะถ้าหากผ่านความเห็นต่อหน่วยงานดังกล่าว ก็คงจะไม่สามารถมาเป็นร่างดังกล่าวได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตามหากมีการคืนทรัพสินย์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษายึดทรัพย์ไปแล้ว ก็ควรต้องคืนเงินให้แก่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกฯ เช่นกัน เพราะ ก็เคยถูกศาลตัดสินไปยึดทรัพย์ไปชอบแล้วเช่นดียวกัน