เหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ต้องยอมรับว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง เนื่องจากมีมวลชนเข้ามาร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
จากที่ "เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ" ถนนราชดำเนิน มาจนถึง "สี่แยกราชประสงค์" มวลชนจำนวนมากยืนหยัดอยู่โยง ตั้งแต่วันแรก 12 มีนาคม 2553 กระทั่งวันเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเมื่อพูดถึง "มวลชนคนเสื้อแดง" ที่ปักหลักอยู่ในครั้งนั้น แม้จะเป็นการประกอบเข้าหากันของหลายกลุ่ม แต่ "กลุ่มมวลชน" ที่ "คนเสื้อแดง" ให้การยอมรับว่าแข็งแกร่งและมีจำนวนมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ก็คือ "ชมรมคนรักอุดร" ที่นำโดย ขวัญชัย สาราคำ หรือที่คอการเมืองรู้จักกันดีในชื่อ ขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร
"ขวัญชัย" ยืนยันว่า "ชมรมคนรักอุดร" เป็นกลุ่มมวลชนที่มีอุดมการณ์เหนียวแน่น ทรงพลัง เพียงพอกับการที่ถูกหลายคนค่อนแคะว่า จ.อุดรธานี เป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า "ชมรมคนรักอุดร" นั้นเติบโตมาได้จาก "น้ำเสียง" ของ "ขวัญชัย"
"ผมเป็นเด็กวัดจาก จ.สุพรรณบุรี เรียนจบ ป.4 ด้วยความที่ชอบฟังรายการวิทยุมากๆ ในวัยเด็กต่างจังหวัดก็มีแต่วิทยุ ผมก็จะฟังทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรือข่าว พอออกจากวัดก็เข้ากรุงเทพฯ เพื่อหาหนทางเข้าสู่วงการเพลง ทันที" ขวัญชัยเปิดฉากชีวิต
"เด็กชายขวัญชัย" เริ่มจากการเป็นเด็กท้ายเรือ เมื่อได้พบกับ "วงดนตรีรวมดาวกระจาย" ในปี 2508 ก็ตัดสินใจเดินเข้าไปสมัครเป็น "เด็กยกของ" กับ "ครูสำเนียง ม่วงทอง" อดีตนักสร้างนักร้องชื่อดังสมัยนั้นทันที
"ตอนนั้นผมมีหน้าที่หลักคือ แบกกลอง ยกของในวง และซื้อโอเลี้ยงให้นักดนตรี ผมเป็นเด็กคอนวอย อยู่หลังเวที มีอยู่วันหนึ่ง ครูสำเนียงแกนอนหลับ แล้วตอนนั้นวงดนตรีรวมดาวกระจายมีวงดนตรีแบบตลกๆ ชื่อสี่เต่าไทย ที่จะมีเด็กผู้ชายไปเต้นตลกบนเวทีอยู่ 4 คน ซึ่งตั้งขึ้นมาล้อกับวงดนตรีสี่เต่าทอง ที่ดังมากในยุคนั้น วันหนึ่งสี่เต่าไทยมันขาดไปคนหนึ่ง ผมก็ถือเอาจังหวะที่ครูหลับ แต่งตัวเป็นตลกออกไปเต้นหน้าเวทีให้ครบเป็นสี่เต่าไทย พอครูตื่นขึ้นมาก็ดุผมเลยว่า เฮ้ยเอ็งขึ้นเวทีไปได้อย่างไร แต่หลังจากวันนั้นผมก็มีโอกาสได้จับไมโครโฟน ทำหน้าที่ประกาศโฆษณาให้เวทีมาเรื่อยๆ"
ทันทีที่ได้จับไมโครโฟน "ขวัญชัย" รู้ทันทีว่าจะทำอย่างไรให้ "ผู้ชม" ติดตรึงอยู่กับลีลาและน้ำเสียงของเขา
ขวัญชัยเล่าว่า จากนั้นเขาก็ย้ายมาอยู่วงดนตรีของ "เมืองมนต์ สมบัติเจริญ" เจ้าของเพลงดังชื่อ "เก็บเงินแต่งงาน" โดยทำหน้าที่ในฐานะ "โฆษก" วงดนตรีอย่างเต็มตัว
"การจัดรายการนั้นน้ำเสียงและพรสวรรค์ อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนสำคัญคือพรแสวงนะ อย่างผม จบ ป.4 จะครูพักลักจำว่าคนอื่นๆ คนดังๆ เขาพูดจากันอย่างไร แล้วที่ใช้เพิ่มเติมก็คือความจริงใจกับชาวบ้าน ชาวบ้านเลยไว้วางใจผม"
จากนั้นขวัญชัยก็เริ่มทดลอง "จัดรายการวิทยุ" ทางสถานีวิทยุเอเอ็ม ใน จ.อุดรธานี และ จ.ศรีสะเกษ จนเริ่มมีชื่อเสียง เขาก็หันเหไปจับธุรกิจ "สวนสนุกล้อมผ้า" หากินในพื้นที่ภาคอีสาน
"สวนสนุกล้อมผ้า" เก็บตั๋วเข้าชมของ "ขวัญชัย" ในสมัยนั้น ก็คล้ายๆ "หนังขายยา" ที่นิยมในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง แต่ "สวนสนุกล้อมผ้า" ของเขา จะมี "วงดนตรี" และ "หนังกลางแปลง" ไปฉายประกบเป็นหลัก
"จัดงานล้อมผ้าถือเป็นสิ่งที่ผมถนัดที่สุด เพราะคนในภาคอีสานชื่นชอบ แต่เมื่อทำมาระยะหนึ่งผมก็คิดจะปักหลัก เพราะไม่อยากพเนจรอีกต่อไป ก็เลยตัดสินใจอยู่ จ.ขอนแก่น ปี 2520 ไปจัดรายการวิทยุกองทัพภาคที่ 2 ขอนแก่น จัดรายการพร้อมกับทำโฆษณาถ่านไฟฉายตรากบ ทำโฆษณาปลากระป๋องตราเพชร ปี 2528 จากนั้นก็มาทำโฆษณาให้กับครีมซิงซิง ในปี 2529 ซึ่งทำให้ผมมีรายได้เดือนละหลักแสนเลยสมัยนั้น"
ช่วงนั้นแม้ "ขวัญชัย" จะโด่งดังระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่จุดสูงสุดของชีวิต จนเมื่อเขาได้พบกับ "เพื่อนเก่า" เด็กวัดจาก จ.สุพรรณบุรี บ้านเกิด ชื่อ สายัณห์ สัญญา
"จังหวะนั้น ผมก็ได้ร่วมสร้างตำนานเพลงสายัณห์ ในภาคอีสาน ด้วยการสนับสนุนการเปิดเพลงในคลื่นวิทยุ และจัดคอนเสิร์ตสายัณห์ ในพื้นที่ต่างๆ กระทั่งปี 2525 ก็ถือว่าสายัณห์ มีแฟนเพลงมากที่สุดในภาคอีสาน จนสื่อมวลชนในกรุงเทพฯ เอาชื่อขวัญชัย ไพรพนา ไปเขียนลงหนังสือพิมพ์ว่าเป็นนักจัดรายการที่ดังที่สุดในยุคนั้น"
ขวัญชัยเล่าว่า สิ่งที่บ่งบอกว่าชื่อเสียงของเขาโด่งดังที่สุดในช่วงนั้นคือ มีการ "อัดเทปการจัดรายการ" ไปเปิดในสถานีวิทยุทั่วทุกภาค แต่ที่ประสบความสำเร็จมากคือที่ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตนักจัดรายการที่เป็นหลักแหล่ง
"ผมเริ่มเก็บเงินเพื่อมาประมูลสถานีวิทยุเสียงสามยอด คลื่นมวลชนสัมพันธ์ 774 เอเอ็มสตูดิโอ ที่ จ.อุดรธานี แล้วก็จัดรายการจนเสียงสามยอด เรตติ้งอันดับ 1 ประสบความสำเร็จมาก เรียกได้ว่าปั๊มน้ำมันต่างๆ ในอุดรธานีเปิดกันหมด อัพเกรดนักจัดรายการ ป.4 อย่างผมให้มีรายได้มากมาย ถึงขนาดที่ผมกำเงินสดๆ ไปซื้อรถเบนซ์ได้เลยทีเดียว"
กระทั่งปี 2547 เขาก็ตัดสินใจทำสถานีวิทยุชุมชน เอฟเอ็ม 97.5 เมกะเฮิรตซ์ขึ้นมา ซึ่งตรงนี้เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ "ชมรมคนรักอุดร"
"ตอนนั้นผมจัดรายการกันกลาง "ตลาดเริ่มอุดม" อ.เมือง จ.อุดรธานี เลย จนกระทั่งปี 2548 ก็เกิดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผมก็ตรวจเช็กข้อมูลว่าอะไรเป็นอะไร ต้นตอของเรื่องมันเกิดจากอะไร ก็เริ่มมีการจัดรายการ ชี้แจงข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เรามี หนักเข้าก็สู้กันแรง เพราะในตลาดเมืองอุดร ส่วนใหญ่เขาก็สีเหลืองกันด้วย รายได้ก็เริ่มไม่มี จนกระทั่งก่อนการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ผมก็นัดแฟนรายการที่ชอบโทรศัพท์มาแสดงความคิดเห็น มากินข้าวกันที่บ้าน นึกว่าจะมากัน 10 กว่าคน แต่มากัน 50 กว่าคน แล้วก็มาคุยกัน เขาก็คุยกันว่า จะมีการตั้งเป็นชมรม ชื่อ "ชมรมคนรักอุดร" แล้วก็มีมติกันตั้ง มีประธาน กรรมการครบ แล้วให้ผมเป็นที่ปรึกษา"
ขวัญชัยเล่าว่า พอวันที่ 4 เมษายน 2549 ซึ่งมีการประกาศรายชื่อกรรมการชมรมในรายการทางสถานีวิทยุ ปรากฏว่ามีคนอุดรฯ มาสมัครเป็นสมาชิกชมรม 3 หมื่นกว่าคน พร้อมเงินบริจาคเต็มตู้รับบริจาค เพื่อสนับสนุนการทำงานของชมรม
"ชมรมไม่ได้ตั้งใจที่จะเข้ามาสู่การเมือง แต่เราเห็นว่าข้อมูลที่เรามีนั้นไม่ตรงกับที่กลุ่มพันธมิตรฯพูดกันบนเวที เราก็ชี้แจง แต่นั่นเรื่องกลับถึงกรุงเทพฯ มีการเอาเรื่องการจัดรายการที่ จ.อุดรธานี มาพูดกันบนเวทีพันธมิตร มีการเอาขึ้นพาดหัวข่าวในสื่อต่างๆ แต่เราไม่มีโอกาสที่จะชี้แจงอะไรเลย" ขวัญชัยเล่าถึงจุดหักเหของชมรมคนรักอุดร ที่เขายืนยันว่าถูกดึงเข้ามาร่วมในวิกฤติการเมืองแบบปฏิเสธไม่ได้ และนั่นทำให้เขาตัดสินใจตั้ง "เวทีชมรมคนรักอุดร" กลางเมืองอุดรธานี เพื่อพบปะและพูดคุยถึงสถานการณ์การเมืองและชี้แจงข้อกล่าวหาจากกรุงเทพฯ
"ตอนนั้นชื่อผมขึ้นไปอยู่บนเวทีพันธมิตรทุกวัน มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ซึ่งตรงนั้นก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชื่อผม ขวัญชัย ไพรพนา และ "ชมรมคนรักอุดร" โด่งดังขึ้นอีกครั้ง ในระดับประเทศ
"ขวัญชัย" ยอมรับว่า ชมรมคนรักอุดร โด่งดังขึ้นมาพร้อมกับภาพของความรุนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์ชมรมคนรักอุดร ปิดล้อมมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2549 เพื่อยื่นหนังสือให้อธิการบดี แต่ภาพข่าวที่ออกมากลายเป็นว่าพวกเขาไปปิดล้อม ไม่ให้ สุริยะใส กตะศิลา และไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำพันธมิตร ที่ไปร่วมงานเสวนาที่นั่นออกมา รวมไปถึงมีการทำร้ายร่างกาย
"ถึงวันนี้ผมก็ยังยืนยันนะว่าเราไปเพียงยื่นหนังสือแล้วก็จะกลับ แต่ที่กรุงเทพฯ ประกาศแล้วว่า พวกเราไปปิดล้อมไม่ให้แกนนำของเขาออกมาจากที่นั่น จากนั้นสื่อกระแสหลักในกรุงเทพฯ
ก็พาดหัวกันยกใหญ่ทั้งโทรทัศน์ ทั้งเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ แต่นั่นก็อีกเช่นกัน ที่ผมไม่มีโอกาสชี้แจง มันก็เลยทำให้ภาพของชมรมเสียหายมาตลอด"
จากวันนั้น "ชมรมคนรักอุดร" ก็ก้าวเข้าร่วมในวิกฤตความขัดแย้งของประเทศไทย โดยเริ่มจากการร่วมคัดค้าน "รัฐธรรมนูญ 2550" การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสนับสนุน "พรรคพลังประชาชน" เดือนธันวาคม 2550 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อ "ขวัญชัย" ตัดสินใจก้าวขึ้นเวทีการชุมนุมของ "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" ในการชุมนุมล้อมทำเนียบรัฐบาลปี 2552
"ตอนแรกๆ ผมพาคนมาบ้าง แต่ผมไม่เคยขึ้นเวทีเลย จนกระทั่งการชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดงปี 2552 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกเลยที่ผมขึ้นเวที เพราะมวลชนคนรักอุดรเรียกร้อง"
และจุดนั้นเองที่ทำให้ "ขวัญชัย" และ "ชมรมคนรักอุดร" ก้าวเข้าสู่การต่อสู้ทางการเมือง !!!