ประชาไท 30 พฤษภาคม 2555 >>>
หอผีบ้านในชุมชนอีกหลายแห่ง ซึ่งแต่เดิมไม่มีรูปอะไร ตั้งเป็นศาลไว้เฉยๆ บัดนี้ก็มีที่นอนหมอนมุ้ง และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ เหมือนผีเป็นคน บางแห่งปั้นรูปขนาดใหญ่ขึ้น (มักทำเป็นรูปตา-ยาย) แล้วแต่งประวัติของสองสามีภรรยาซึ่งเป็นผู้ตั้งชุมชนไว้ให้เสร็จ ความเป็นบุคคลหรือความเป็นตัวตนนั้น ในแง่หนึ่งก็ดีเพราะเฮี้ยนหนักขึ้น ผู้คนทั้งกลัวทั้งรัก แต่ความเป็นสถาบันก็สำคัญ เพราะถ้าอยากให้อยู่ยั่งยืนยาวนานต่อไปในอนาคตได้ บุคคลก็ต้องมีความสำคัญน้อยลง แต่ต้องให้ความเป็นสถาบันเด่นกว่า เพราะสถาบันนั้นถูกล้มยากกว่าบุคคลแยะ" - นิธิ เอียวศรีวงศ์
หลังจากที่ได้ อ่านบทความ "นิธิ เอียวศรีวงศ์" เขียนถึง "นางนากพระโขนง" ผีที่มี "ตัวตน" รุ่นบุกเบิกของเมืองไทย ผมคิดว่า ผมน่าจะเล่าการก่อตัวของความเป็น "สถาบัน" ในทางทฤษฎีกฎหมายมหาชน เพื่อขยายความสังเขปบ้าง ว่า "สถาบัน" คืออะไร ? และจะโยงสู่ข้อความคิดเกี่ยวกับ "สถาบันกษัตริย์" (ในตอนท้าย) ต่อไป ก่อนอื่นพิจารณาทราบฐานความคิดกันก่อนว่า "สถาบัน" จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องครบองค์ประกอบ 3 ประการหลักๆ:
1. หน้าที่ทางภารกิจหรือวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน (fonctions)
2. อำนาจที่เป็นกิจจะลักษณะหรือมีความชัดเจน (บทบัญญัติทั้งหมดในทางกฎหมาย - กฎเกณฑ์ที่เป็นนามธรรม) (pouvoir organisé)
3. ปัจเจกบุคคลที่เข้าไปขับเคลื่อนภารกิจตามบทบัญญัติของกฎหมายให้บรรลุวัตถุประสงค์
เมื่อครบทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ เราจึงเรียกว่าเป็น "สถาบัน" (Institution) [1] ย่อมไม่ใช่ ปัจเจกชน หรือ ตัวบุคคล อีกต่อไป เพราะเมื่อปัจเจกชนเหล่านี้เข้าไปดำรงอยู่ในสถาบันแล้ว ความเป็นส่วนบุคคลของเขาแท้ ๆ จะไม่มีและจะเป็นของรัฐแทน
ปัจเจกชนที่เข้าไปปฏิบัติการใน "สถาบัน" เขาจะมีสถานะเพียง "หนูถีบจักร" หาก "หนู" (ปัจเจกชน) ตัวนั้นตาย กลไกหรือจักรยังดำรงอยู่และจะมี "หนู" ตัวอื่นๆ เข้าไปถีบจักรสืบเนื่องไม่ขาดสาย - กลไกรัฐ หรือสถาบันการเมืองของรัฐ จึงไม่ชะงักไปพร้อมกับ "ตัวบุคคลที่เข้าไปอยู่ในองค์กรที่ตายจากไปหรือพ้นจากตำแหน่ง" เพราะ ความเป็นสถาบัน จะดำรงอยู่อย่างสืบเนื่องโดยพลังของกฎเกณฑ์ที่เป็นนามธรรมก็คือ บทบัญญัติทั้งหลายของกฎหมายที่เกี่ยวกับภารกิจหน้าที่ของสถาบันนั้นๆ
ดังกล่าวเป็นประเด็นที่ผมต้องการขยายความคำว่า "สถาบัน" ในบทความนิธิ และในย่อหน้านี้ อาจนอกประเด็นบทความ แต่เพื่อความครบถ้วนทางเนื้อหา - เวลาที่เราพูดถึง "สถาบัน" เรามักจะคิดแต่ "หน่วยงาน" หรือ "องค์กร" ในรูปนั้นอย่างเดียว แต่ตามนัยทางทฤษฎี ไม่ว่าจะเป็น การเลือกตั้งก็ดี, กรรมสิทธิ์ก็ดี, นิติกรรมสัญญาก็ดี, รัฐบาลก็ดี ฯลฯ ล้วนเป็น "สถาบัน" ทั้งสิ้น เพราะครบถ้วนตามองค์ประกอบ ๓ ประการดังกล่าวข้างต้น (ท่านผู้อ่านลองคิดไปพลางๆ)
หากเราโยงเข้าสู่ประเด็น "กษัตริย์" ก็เช่นกัน หาก "กษัตริย์" ขาด หน้าที่ทางภารกิจที่ชัดเจน, มีอำนาจที่ไม่เป็นกิจจะลักษณะหรือมีอำนาจตามพระราชอัธยาศัยเยอะ เช่นนี้ แม้ตำแหน่ง "กษัตริย์" จะมี ปัจเจกบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่ง (แม้ตำแหน่งนั้นจะมีกฎหมายรองรับด้วยก็ตาม) แต่ "กษัตริย์" ก็หาได้กลายเป็น "สถาบัน" ไปไม่ หากแต่ยังคงเป็น "ปัจเจก หรือ ตัวบุคคล" อยู่ ไม่มีความเป็นสถาบัน เช่นนี้ เมื่อบุคคลตาย, สถานะทางอำนาจย่อมตายไปด้วย นี่เป็นการอธิบายในทางนิติศาสตร์ว่าด้วยความเป็น "สถาบัน"
อ้างอิง
1. ท่านที่สนใจศึกษาข้อความคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับ 'ทฤษฎีว่าด้วยการจัดตั้งสถาบัน' ควรดู : ไพโรจน์ ชัยนาม. สถาบันการเมืองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ภาค1 ความนำทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง. กรุงเทพฯ, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2524. หน้า3-4 ; โภคิน พลกุล. เอกสารประกอบการบรรยายวิชา หลักกฎหมายมหาชน. พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง. กรุงเทพฯ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2525. หน้า 77-80