สรุปความเห็น เป็นคำถาม 3 ข้อ
1. ศาลได้ปรับใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มาขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่าหรือไม่ ?
2. ศาลได้ตีความกฎหมายอย่างไม่ระวัง จนเป็นการจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง อีกทั้งเปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจ "คุมขัง" เป็นอาวุธทางการเมืองหรือไม่ ?
3. คำวินิจฉัยนี้ ทำให้เราควรหันมาปฎิรูปองค์กรตุลาการอย่างไร ?
ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้สิ้นสุดลง แต่สิ่งที่อาจยังไม่สิ้นสุดก็คือ “ภาพเหตุผลทางกฎหมายอันน่าสะเทือนใจ” ที่คงจะค้างคาในมโนภาพของนักนิติศาสตร์และประชาชนอีกหลายคน
หลังศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย สำนักงานศาลได้เผยแพร่เอกสาร “ผลการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เอกสารข่าวที่ 15/2555” มีคำอธิบายผลการพิจารณาตอนหนึ่ง ดังนี้
“…ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลในวันเลือกตั้งซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) ถือเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง และเมื่อผู้ถูกร้องมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวจึงมีผลให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) ผลของการสิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของผู้ถูกร้อง ทำให้ผู้ถูกร้องขาดคุณสมบัติความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (3) ซึ่งต้องสังกัดพรรคการเมือง และเป็นผลให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4)…”
คำอธิบายดังกล่าว มีเนื้อหาสอดคล้องกับคำวินิจฉัยที่ศาลได้อ่านและสื่อมวลชนได้รายงานไปแล้ว ซึ่งผู้ทำความเห็นจะได้อ้างถึงในความเห็นฉบับนี้
สรุปเหตุผลของคำวินิจฉัย
คดีนี้ศาลได้ตีความ “รัฐธรรมนูญ” ประกอบกับกฎหมายอีกฉบับ คือ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550” (เรียกย่อในความเห็นนี้ว่า “พ.ร.ป.”) โดยศาลได้ปรับใช้กฎหมายเกี่ยวโยงกันหลายมาตรา สรุปได้ดังนี้
รัฐธรรมนูญมาตรา 106 (4) “สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ… ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 101…”
รัฐธรรมนูญมาตรา 101 (3) “บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร…เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง…”
ข้อสังเกต: เมื่อศาลพบว่า รัฐธรรมนูญมิได้กำหนดเรื่องการสิ้นสุดของ “ความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง” ไว้ ศาลจึงนำ พ.ร.ป. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยขยายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้มีความครบถ้วนยิ่งขึ้นมาพิจารณาประกอบว่า ความเป็นสมาชิกพรรคของนายจตุพรได้สิ้นสุดลงหรือไม่ดังต่อไปดังนี้
พ.ร.ป. มาตรา 20 (3)“สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง เมื่อ...ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๙...”
พ.ร.ป. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง“ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกต้องเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง…”
พ.ร.ป. มาตรา 8วรรคหนึ่ง“ผู้มีสัญชาติไทย…และไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ...”
ข้อสังเกต: เมื่อศาลพบว่า มาตรา 8 เป็นมาตราที่เขียนข้อความให้ล้อตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้ว่าลักษณะต้องห้ามนั้นเป็นอย่างไร ศาลจึงย้อนกลับไปที่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 100 เพื่อพิจารณาว่า “ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” มีกำหนดไว้อย่างไร
รัฐธรรมนูญมาตรา 100 (3) “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง …ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย…”
ศาลอธิบายเพิ่มเติมว่า กฎหมายมีจุดประสงค์เพื่อให้บุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของกฎหมาย และระเบียบวินัยของพรรคการเมือง การถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาของศาลโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำผิดที่มีความรุนแรงและมีเหตุให้ศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยเฉพาะการใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญกว่าบุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
ดังนั้น เมื่อศาลพบว่า นายจตุพร “ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” ศาลจึงสรุปว่า “การถูกคุมขัง” ทำให้ “ความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย” สิ้นสุดลง ซึ่งส่งผลให้ “ความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ของนายจตุพรสิ้นสุดลงเช่นกัน
ความเห็นทางกฎหมาย
แม้ผู้ทำความเห็นจะมิได้ชื่นชอบนายจตุพรไปกว่านักการเมืองทั่วไป แต่ด้วยความเคารพต่อหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้ทำความเห็นจำต้องตั้งคำถามว่า การตีความกฎหมายในคดีดังกล่าว ได้ทำให้เกิดปัญหาสำคัญอย่างน้อยสามประการ ดังนี้ หรือไม่ ?
คำถามที่หนึ่ง: คำวินิจฉัยคุกคาม “ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” หรือไม่ ?
หลักนิติศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่นักกฎหมายทุกคนทราบดี คือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติของกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญย่อมใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งหลักการนี้บัญญัติไว้ชัดเจนใน มาตรา 6 แห่ง รัฐธรรมนูญ หลักสำคัญอีกสองประการ คือ หลักการตีความกฎหมายให้เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และ หลักว่าบทบัญญัติที่เฉพาะเจาะจงย่อมเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติทั่วไป
อย่างไรก็ดี ผู้ทำความเห็นไม่อาจแน่ใจได้ว่า ศาลกำลังสร้างบรรทัดฐานการตีความกฎหมายที่ผิดเพี้ยนอีกทั้งละเมิดรัฐธรรมนูญและหลักนิติศาสตร์ขั้นพื้นฐานดังกล่าวเสียเอง หรือไม่ ?
ผู้ทำความเห็นเห็นว่า คดีนายจตุพรเป็นเรื่องว่าด้วย “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” ซึ่งบทบัญญัติที่ศาลต้องนำมาปรับใช้โดยตรง ก็คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 แต่ศาลกลับนำ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรอง ในเรื่องที่ว่าด้วย “ความสิ้นสุดของความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง” มา “ตีความคร่อมทับ” ให้มีค่าบังคับเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 106 อย่างแปลกประหลาด
ผู้ทำความเห็นเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) กำหนดว่า “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” นั้นให้นำไปโยงกับเรื่อง “ลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครเป็น ส.ส.” ตาม มาตรา 102 ซึ่ง มาตรา 102 (3) ก็ได้โยงต่อไปยัง มาตรา 100 ซึ่งเป็นเรื่อง “ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” แต่ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดไว้โดยเจาะจงว่า ให้นำ “ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” เฉพาะกรณี มาตรา 100 (1) (2) และ (4) มาใช้กับ “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” เท่านั้น
กล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ประกอบกับ มาตรา 102 (3) ได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้ว่า แม้นายจตุพรจะถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลก็ตาม แต่การถูกคุมขังดังกล่าว (ที่มิได้ต้องโทษจำคุก) ก็มิได้เป็นลักษณะต้องห้ามที่นำไปสู่ “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” ของนายจตุพรแต่อย่างใด
ความน่ากังขาก็คือ ในคดีนี้ ศาลได้มุ่งตีความ รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4) และนำเรื่อง “ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” ไปปะปนกับเรื่อง“ความสิ้นสุดของความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง” โดยที่ไม่ได้นำบทบัญญัติและเจตนารมณ์ตาม มาตรา 106 (5) ที่กำหนดข้อยกเว้นเรื่อง “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” มาพิจารณาให้ถี่ถ้วนหรือไม่ ?
เรื่องนี้ ศาลอธิบายว่า แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 102 (3) จะไม่กำหนดให้ “การถูกคุมขัง” เป็นลักษณะต้องห้ามไม่ให้สมัครรับเลือกตั้ง แต่การสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. กับการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนและหลังต่างเวลากัน แม้ว่าบุคคลที่ถูกคุมขังโดยหมายของศาลมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง อันไม่เป็นลักษณะต้องห้าม แต่การพิจารณาการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. เป็นคนละกรณีกัน (นอกจากนี้ ยังอาจมีบางฝ่ายอ้างต่ออีกว่า คำร้องที่ส่งมาจากประธานสภาผู้แทนราษฎรในคดีนี้ ได้ขอให้ศาลตีความ “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) และ 106 (4) เท่านั้น มิได้กล่าวถึง มาตรา 106 (5) หรือ 102 (3) แต่อย่างใด)
คำอธิบายเช่นนี้ มิอาจรับฟังได้ เพราะนอกจากจะเป็นการนำเรื่อง “ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” มาปะปนกับ “ความสิ้นสุดลงของความเป็น ส.ส.” แล้ว ยังเป็นการผิดหลักการตีความกฎหมาย โดยการตีความรัฐธรรมนูญนั้น จะตีความเพ่งเล็งเฉพาะบางมาตราไม่ได้ แต่จะต้องตีความเชื่อมโยงรวมกันทั้งระบบ โดยเฉพาะในคดีนายจตุพรนั้น ศาลไม่อาจตีความ มาตรา 106 (4) โดยปราศจาก มาตรา 106 (5) ได้เลย เพราะต่างเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” ที่เกี่ยวโยงกับประเด็น “การถูกคุมขัง” ตามมาตรา 100 (3) ด้วยกันทั้งสิ้น
อีกทั้งยังเป็นตรรกะที่ผิดมาตรฐานมโนสำนึก เพราะหากศาลยอมรับว่า มาตรา 102 (3) ไม่ได้กำหนดให้ “การถูกคุมขัง” เป็นลักษณะต้องห้ามไม่ให้สมัครเป็น ส.ส. กล่าวคือ “ผู้ถูกคุมขัง” ย่อมสมัครเป็น ส.ส. ได้ แล้วเหตุไฉนศาลจึงมองว่ากฎหมายกลับสร้างมาตรฐานที่ขัดแย้งกันว่า “ผู้ถูกคุมขัง” ย่อมสิ้นสภาพความเป็น ส.ส. ?
ยิ่งไปกว่านั้น การยกกฎหมายลำดับรองขึ้นอ้างในคดีนี้ก็เป็นการยกอ้างกฎหมายที่มีปัญหา เพราะบทบัญญัติใน พ.ร.ป. ที่ศาลอ้างมาปรับใช้ในคดีนี้นั้น ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 8 ก็ดี มาตรา 19 ก็ดี หรือ มาตรา 20 ก็ดี กลับไม่มีส่วนใดเลย ที่บัญญัติเจาะจงให้ “การถูกคุมขัง” เป็นเหตุของ “ความสิ้นสุดของความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง” อันนำไปสู่ “ความสิ้นสุดลงของความเป็น ส.ส.”
พ.ร.ป. มาตรา 8 เพียงแต่บัญญัติว่า “ความสิ้นสุดของความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง” มีเหตุมาจากการมี “เหตุต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ”ซึ่งหากกลับไปพิจารณาเรื่องที่เป็นประเด็นแห่งคดี คือ เรื่อง “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” ก็จะพบว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ได้ยกเว้นอย่างเจาะจงมิให้นำเรื่อง “การถูกคุมขัง” มาเป็นเหตุของ “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” ได้ จึงเป็นการยืนยันว่า พ.ร.ป. มาตรา 8 เป็นกฎหมายที่มิได้บัญญัติเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับ “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” และมิอาจถูกตีความให้ขัดแย้งกับบทบัญญัติที่ยกเว้นเหตุไว้โดยเฉพาะเจาะจงในรัฐธรรมนูญได้
ดังนั้น การที่ศาลอธิบายว่า การนำกฎหมายมาตีความประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องสัญชาติ ก็ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. สัญชาติ เพราะรายละเอียดต่างๆ ไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องนำกฎหมายอื่น มาประกอบการวินิจฉัยเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริงนั้น ก็เป็นคำอธิบายที่ถูกต้อง เพียงแต่ไม่สามารถนำมาใช้ในคดีนี้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ได้กำหนดยกเว้นมิให้นำ “การถูกคุมขัง” มาเป็นเหตุของ “ความสิ้นสุดลงของความเป็น ส.ส.” โดยเฉพาะเจาะจงไว้แล้ว
ที่สำคัญที่สุด หากศาลตีความ รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4) โดยไม่คำนึงถึง มาตรา 106 (5) แต่กลับนำกฎหมายลำดับรอง คือ พ.ร.ป. มาตีความ “คร่อมทับ” เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแล้วไซร้ ก็เท่ากับว่าศาลได้ตีความให้กฎหมายลำดับรองในชั้น พ.ร.ป. ไปขัดแย้งกับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ซึ่งเป็นการตีความกฎหมายและใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 อย่างปฏิเสธไม่ได้
อนึ่ง หากผู้ใดอาศัยหลักนิติตรรกศาสตร์เบื้องต้น ก็อาจสรุปความเชื่อมโยงของกฎหมายทั้งหมดได้ว่า ในเมื่อ:
- รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (3) กำหนดว่า ผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
- รัฐธรรมนูญมาตรา 106 (4) ประกอบ 101 (3) กำหนดว่า ผู้ที่เป็น ส.ส. ต่อไป ต้องยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่อไป
- รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ประกอบ 102 (3) กำหนดว่าผู้ที่เป็น ส.ส. แล้ว แม้จะถูกคุมขัง (แต่มิได้ต้องโทษจำคุก)ก็ยังเป็น ส.ส. ต่อไปได้
- จึงพึงสรุปว่า:
- บุคคลที่ถูกคุมขัง (แต่มิได้ต้องโทษจำคุก)ย่อมยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และ เป็น ส.ส. ได้ และการตีความ พ.ร.ป. มาตรา 8 จึงนำไปเชื่อมโยงได้กับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (1) (2) และ (4) เท่าที่ไม่ขัดต่อ มาตรา 106 (5) เท่านั้น
คำถามที่สอง: คำวินิจฉัยคุกคาม “สิทธิเสรีภาพ” หรือไม่ ?
ความน่ากังวลอีกประการจากการตีความในคดีนี้ก็คือ ศาลกำลังตีความรัฐธรรมนูญไปในทางที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างกว้างขวางหรือไม่ ?
รัฐธรรมนูญ มาตรา 65 เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองให้บุคคลมีเสรีภาพในการ “ดำเนินกิจกรรมในทางการเมือง” ซึ่งย่อมหมายความรวมถึง การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และการลงสมัครเป็น ส.ส. ดังนั้น การจะตีความกฎหมายใด ย่อมต้องตีความอย่างระมัดระวัง กล่าวคือ การตีความกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพย่อมต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นเท่านั้น จะตีความกฎหมายให้จำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวางมิได้เป็นอันขาด
หากลองพิจารณา รัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) ที่กำหนดให้ “การถูกคุมขัง” เป็น “เหตุห้ามมิให้บุคคลไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” ก็จะพบว่าจำเป็นและสมเหตุสมผล เพราะมิเช่นนั้น ในวันเลือกตั้ง ก็จะเป็นวันที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่อาจคุมขังผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิด แม้แต่ผู้ที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งซึ่งหน้าได้ อีกทั้งกฎหมายก็ได้บัญญัติยกเว้นมิให้ “การถูกคุมขัง” ในวันเลือกตั้งไปตัดสิทธิบุคคลในการเป็น ส.ส. ตาม มาตรา 106 (5) อีกด้วย
อย่างไรก็ดี การที่ศาลตีความโดยนำ “เหตุห้ามมิให้บุคคลไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” ไปปะปนกับ “ความสิ้นสุดของความเป็น ส.ส.” นอกจากอาจจะขัดแย้งต่อหลักการตีความกฎหมายตามที่อธิบายมาแล้ว ยังเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจรัฐในระดับที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ มาจำกัดตัดสิทธิประชาชนทั่วไปได้โดยง่ายอีกด้วย
กล่าวคือ ศาลได้ตีความว่าผู้ใดที่ “ถูกคุมขัง” ย่อมสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และย่อมสิ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. เช่นกัน แต่ประเด็นที่ต้องขบคิดต่อไปก็คือ การนำเหตุ “การถูกคุมขัง” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) มาใช้จำกัดเสรีภาพทางการเมืองตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 65 นั้น ศาลหมายความถึงเฉพาะ “การคุมขังในวันเลือกตั้ง” เท่านั้น หรือไม่
หากลองพิจารณา “เหตุห้ามมิให้บุคคลไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” อื่นตาม มาตรา 100 เช่น มาตรา 100 (1) การเป็นภิกษุ สามเณร หรือ มาตรา 100 (4) เรื่องการเป็นบุคคลวิกลจริตแล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่า พ.ร.ป. มาตรา 8 มุ่งหมายให้นำลักษณะต้องห้ามดังกล่าวมาใช้โดยไม่จำเป็นว่าจะมีลักษณะต้องห้ามในวันเลือกตั้งเท่านั้นหรือไม่ เช่น หากสมาชิกพรรคการเมืองใดกลายเป็นบุคคลวิกลจริต แม้จะเป็นช่วงที่ไม่ใช่วันเลือกตั้ง ก็ย่อมสิ้นความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยผลของ พ.ร.ป. มาตรา 8
ด้วยเหตุนี้ การตีความของศาลที่รวบรัดเอา “การถูกคุมขัง” ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 100 มาเป็นเหตุในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนโดยโยงเข้ากับ พ.ร.ป. มาตรา 8 นั้น ซึ่งอาจกินความเกินไปกว่าวันเลือกตั้ง จึงมีผลพวงที่น่ากังขาอย่างยิ่ง
ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า “คุมขัง” นั้นมีความหมายทางกฎหมายที่กว้าง เห็นได้จาก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (12) ซึ่งนิยามคำว่า “คุมขัง” ว่า หมายความว่า “คุมตัว ควบคุม ขัง กักขังหรือจำคุก” ซึ่ง ย่อมเกิดผลที่แปลกประหลาดตามมาว่า การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หากเพียงได้ “คุมตัว ควบคุม หรือ ขัง” ประชาชน ซึ่งอาจหมายถึงว่าไม่ว่าในวันใด ก็จะสามารถส่งผลเป็นการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนคนธรรมดาทั่วไปที่ประสงค์เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จนเกินเลยไปกว่าความจำเป็นเหมาะสมตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ?
นอกจากนี้ หากการจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวถูกตีความให้กระทำได้โดยง่ายแต่เพียงนี้ ก็อาจเป็นโอกาสให้มีการใช้อำนาจกฎหมายในทางที่มิชอบ ฝ่ายการเมืองอาจอาศัยช่องทางตามกฎหมายฉุกเฉิน หรือแม้แต่กฎหมายของเจ้าหน้าที่ทั่วไปในการเข้า “คุมตัว ควบคุม หรือ ขัง” บุคคล หรือ ส.ส. นอกสมัยประชุม เพื่อคุกคามศัตรูทางการเมืองและนำบรรทัดฐานของคดีนายจตุพรมาเป็นเงื่อนไขในการปิดกั้นผู้ที่จะมาแข่งขันทางการเมืองก็เป็นได้
ดังนั้น จึงน่ากังขาเป็นอย่างยิ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กำลังตีความ พ.ร.ป. มาตรา 8 ประกอบ กับรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 จนกลายเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจรัฐคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนและคู่แข่งทางการเมืองหรือไม่ ?
คำถามที่สาม: คำวินิจฉัยคุกคาม “หลักการแบ่งแยกอำนาจ” หรือไม่ ?
แม้ศาลจะมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบถ่วงดุลมิให้ประชาชนได้ ส.ส. ที่ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน หากศาลกลายเป็นสถาบันที่มุ่งหมายปราบปรามนักการเมืองที่ศาลอาจมองว่าเป็นผู้ที่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมของศาลเสียแล้ว (ดังเช่นกรณีการตีความคดีคุณสมัคร ชิมไปบ่นไป) หรือ ตีความกฎหมายเรื่องเดียวกันแต่กลับผิดมาตรฐานอย่างอธิบายไม่ได้ (ดังเช่นกรณีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์) การเมืองการปกครองของประเทศชาติก็จะเกิดความโกลาหล เพราะอำนาจที่ยึดโยงโดยตรงกับประชาชนกลับถูกอำนาจตุลาการตีความกฎหมายอย่างแปลกประหลาดก่อให้เกิดผลที่ยากต่อการอธิบาย ไม่ว่าในทางนิติศาสตร์หรือโดยมาตรฐานมโนสำนึกของปุถุชนธรรมดาที่ไม่มีโอกาสคัดเลือกหรือวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้โดยง่าย
จึงน่าคิดเป็นอย่างยิ่งว่า หากประชาชนเกิดความกังวลว่า บัดนี้อำนาจอธิปไตยไม่อาจนำมาใช้ได้อย่างสมดุลแล้ว หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตอันใกล้ ประชาชนจะร่วมกันปฏิรูปอำนาจตุลาการและคืนความสมดุลแก่อำนาจอธิปไตยได้อย่างไร ?
บทส่งท้าย
การวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาล ดังเช่นความเห็นฉบับนี้ที่ประกอบขึ้นในวันเดียวกันกับวันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยนั้น มักจะถูกวิจารณ์ต่ออีกชั้นว่า ผู้ที่วิจารณ์เองก็ควรจะได้อ่านคำวินิจฉัยทั้งหมดเสียก่อน แต่ก็น่าคิดต่อว่า ในเมื่อกฎหมายกำหนดให้ตุลาการแต่ละท่านต้องทำคำวินิจฉัยส่วนตนให้เสร็จสิ้น “เป็นหนังสือ…ก่อนลงมติ” อีกทั้งยังกำหนดให้คำวินิจฉัย “มีผลในวันอ่าน” กฎหมายย่อมมุ่งหมายให้คำวินิจฉัยทั้งของศาลและตุลาการแต่ละท่าน ต้องทำเสร็จสิ้นพร้อมเผยแพร่ในวันอ่านใช่หรือไม่ ?
การเปิดเผยคำวินิจฉัยทันทีหลังอ่าน นอกจากจะสมเจตนารมณ์กฎหมายแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ศาลต้องทำคำวินิจฉัยอย่างละเอียดถี่ถ้วน อีกทั้งป้องกันไม่ให้ศาลหรือตุลาการมีโอกาสปรับแก้ถ้อยคำหรือปรับปรุงเหตุผลหลังจากได้ทราบความเห็นของประชาชนที่ฟังคำวินิจฉัย ที่สำคัญ การเปิดเผยอย่างครบถ้วนยังทำให้ประชาชนได้นำความเห็นของตุลาการเสียงข้างน้อยมาเป็นน้ำหนักถ่วงดุลความชอบธรรมของคำวินิจฉัยไปพร้อมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เสียงข้างอธิบายแต่เหตุผลของฝ่ายตนในคำวินิจฉัยกลาง โดยไม่ใส่ใจที่จะหักล้างเสียงข้างน้อยตามมาตรฐานทางกฎหมายที่พึงมี และใช้เวลานานกว่าจะเปิดเผยความเห็นจนประชาชนเสียงข้างน้อยก็ถูกเสียงข้างมากกลบทับไปหมดเสียแล้ว (ระเบียบศาลเปิดช่องให้ศาลมีเวลาโดยทั่วไปถึง 60 วัน นับจากวันลงมติก่อนจะส่งคำวินิจฉัยไปเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา)
ดังนั้น เมื่อศาลทราบดีว่า ประชาชน ตลอดจนสื่อมวลชนและนักวิชาการ ต่างให้ความสนใจต่อคดีรัฐธรรมนูญอันพึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามครรลองประชาธิปไตยปกติ แต่ศาลกลับไม่เผยแพร่คำวินิจฉัยทันทีหลังอ่านตามความมุ่งหมายของกฎหมาย และหลักกระบวนการยุติธรรมสากล ก็พึงพินิจว่า ควรเป็นศาลเองมิใช่หรือ ที่จะต้องร่วมรับผิดชอบพร้อมกับประชาชน กับการวิพากษ์วิจารณ์ที่พึงจะเกิดขึ้นตามครรลองประชาธิปไตย ? และเมื่ออำนาจตุลาการคืออำนาจแห่งเหตุผลที่คุ้มครองประชาชนจากทรราช จึงควรเป็นความรับผิดชอบของนักนิติศาสตร์โดยเฉพาะผู้รับเงินภาษีประชาชนมิใช่หรือ ที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบศาลแทนประชาชนอย่างแข็งขันและโดยสุจริตใจ ?
หากคำวินิจฉัยของศาลถูกตรวจสอบโดยการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ คำวินิจฉัยนั้นก็จะกลับมาเป็นภาพหลอนต่อสถาบันศาลและรัฐธรรมนูญเสียเอง