ศรีปทุมโพลล์ชี้ 9 เดือน ยิ่งลักษณ์ ผลงานเข้าตา 6 เรื่อง สอบตกสนิท 3 เรื่อง

มติชน 4 พฤษภาคม 2555 >>>


รองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและติดตามนโยบายภาครัฐ มหาวิทยาลัยศรีปทุม แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีผลการทำงานตามนโยบายของรัฐบาล นส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เนื่องในโอกาสครบรอบ 9 เดือนในการทำงานนับตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 โดยทำการสำรวจประชาชนจาก 18 จังหวัด คือ กรุงเทพ นนทบุรี สมุทรสงคราม อ่างทอง อยุธยา พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ พะเยา สุรินทร์ อุดรธานี นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา และปัตตานี จำนวน 1,528 ตัวอย่าง โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่  21-30 เมษายน 2555 มีผลการสำรวจที่น่าสนใจดังนี้ โดย 20 นโยบายเด่น ทำงานเข้าตาแค่ 6 เรื่อง กลางๆ 11 เรื่อง ตกสนิท 3 เรื่อง

ประเด็นนโยบาย ที่มีผลงานเข้าตาประชาชน คะแนนเฉลี่ยที่ได้ (เต็ม 10)

  1. การขึ้นเบี้ยผู้สูงอายุตามระดับอายุ สูงสุดเป็น 1,000 บาท 7.078
  2. การปรับเงินเดือนปริญญาตรี เป็น 15,000 บาท 6.682
  3. แรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน 6.627คืนภาษีผู้ซื้อรถคันแรก บ้านหลังแรก 6.466
  4. การจัดการยาเสพติดให้หมดใน 12 เดือน 6.358
  5. ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 23% ในปี 2555 6.056

ประเด็นนโยบายที่มีผลงานในระดับปานกลาง คะแนนเฉลี่ยที่ได้ (เต็ม 10)

  1. แจกแทบเล็ต พีซี แก่เด็ก ป.1 5.960
  2. จำนำราคาข้าวให้ชาวนาขายได้เท่าราคาขั้นต่ำของรัฐบาล 5.925
  3. พักหนี้ครัวเรือนอย่างน้อย 3 ปี 5.917
  4. สัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สายฟรีในที่สาธารณะ 5.890
  5. ทำสนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค 5.761
  6. ขจัดความยากจนให้หมดใน 4 ปี 5.758
  7. ปรับปรุงลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ 5.481
  8. แก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5.360
  9. ทำสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทย อันดามัน 5.241
  10. เก็บค่าบริการรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย 5.241
  11. ทำรถไฟคู่ขนานชานเมืองทั้งหมด 5.056

ประเด็นนโยบายที่มีผลงานสอบตกในสายตาประชาชน คะแนนเฉลี่ยที่ได้ (เต็ม 10)

  1. ขยายแอร์พอร์ทลิงค์ ไปฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทยา 4.930
  2. สร้างรถไฟฟ้าให้ครบ 10 สาย ใน กทม. 4.919
  3. ทำเขื่อน ถมทะเล จากปากน้ำถึงสมุทรสาคร สร้างเมืองใหม่ 4.602

เมื่อพิจารณาจากผลของการสำรวจแล้ว สามารถวิเคราะห์ได้ว่า นโยบายที่เข้าตาประชาชนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายที่ได้มีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่กลุ่มนโยบายที่เข้าตาในระดับปานกลาง ส่วนใหญ่เป็นเพียงแนวคิดที่เริ่มการปฏิบัติบ้าง แต่ยังไม่มีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนกลุ่มนโยบายที่สอบตกทั้ง 3 เรื่องนั้น จะเป็นเรื่องโครงการก่อสร้างขนาดเมกะโปรเจ็คที่ใช้ในการหาเสียง และยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย ยังมีขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ และต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก

ภาคอีสานให้ผ่านฉลุย แต่ภาคอื่นผ่านฉิวเฉียด

ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการทำงานตามคำสัญญาและนโยบายของพรรคเพื่อไทย โดยให้คะแนนภาพรวมทั้งประเทศ ได้คะแนนเฉลี่ย 5.77 จาก 10 คะแนน โดยภาคอีสานได้คะแนนสูงสุด คือ 6.60 ภาคเหนือ 5.73 ภาคกลาง 5.36 และ ภาคใต้ได้คะแนนผ่านอย่างฉิวเฉียดคือ 5.15 คะแนน
ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามในภาคอีสานให้รัฐบาลสอบผ่านในทุกประเด็นนโยบาย โดยเรื่องที่ได้ค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ เบี้ยผู้สูงอายุ และเรื่องที่ได้เฉลี่ยต่ำสุด คือ นโยบายรถไฟฟ้าให้ครบ 10 สายใน กทม.
ภาคเหนือ: ให้รัฐบาลสอบตก 4 ประเด็น เรียงจากคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุดจนถึงสูงสุด คือ
1) ทำเขื่อนถมทะเล
2) แก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
3) ทำสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทย อันดามัน และ
4) ขยายแอร์พอร์ทลิงค์ไปพัทยา
ภาคกลาง: ให้รัฐบาลสอบตก 7 ประเด็น เรียงจากคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุดจนถึงสูงสุด คือ
1) ทำเขื่อนถมทะเล
2) ทำสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทยอันดามัน
3) แก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
4) สร้างรถไฟฟ้าให้ครบ 10 สายใน กทม.
5) ขยายแอร์พอร์ทลิงค์ไปพัทยา
6) ทำรถไฟคู่ขนานชานเมือง และ
7) เก็บค่าบริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
ภาคใต้: ให้รัฐบาลสอบตก 9 ประเด็น เรียงจากคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุดจนถึงสูงสุด คือ
1) ทำเขื่อนถมทะเล
2) ทำรถไฟคู่ขนานชานเมือง
3) สร้างรถไฟฟ้าให้ครบ 10 สายใน กทม.
4) ขยายแอร์พอร์ทลิงค์ไปพัทยา
5) ปรับปรุงลุ่มน้ำ 25 แห่ง
6) เก็บค่าบริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
7)  ทำสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทย อันดามัน
8) แก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ
9) ทำสนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์การบินภูมิภาค

ใครเชียร์ ใครชัง นโยบายยิ่งลักษณ์

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ โดยเปรียบคะแนนเฉลี่ยที่ประเมินต่อผลงานตามนโยบาย น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร พบว่า
เพศ: ผู้ตอบเพศชายและเพศหญิงประเมินค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกัน (ค่าเฉลี่ย 6.1049 และ 6.0037 ตามลำดับ)
อายุ: พบว่ารัฐบาลได้คะแนนนิยมสูงสุด ในกลุ่มอายุ เกินกว่า 60 ปีขึ้นไป (ค่าเฉลี่ย 6.5794) และได้คะแนนนิยมต่ำสุด ในกลุ่มอายุ 41-60 ปี (ค่าเฉลี่ย 5.8162)
รายได้: พบว่ารัฐบาล ได้คะแนนนิยมสูงสุดในกลุ่มผู้มีรายได้ 10,000-24,999 บาท (ค่าเฉลี่ย 6.1989)  และได้คะแนนนิยมต่ำสุด ในกลุ่มผู้มีรายได้ 25,000-49,999 บาท (ค่าเฉลี่ย 5.5990)
อาชีพ: พบว่า รัฐบาลได้คะแนนนิยมสูงสุดในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา (ค่าเฉลี่ย 6.5463) และได้คะแนนนิยมต่ำสุดในกลุ่มราชการและรัฐวิสาหกิจ (ค่าเฉลี่ย 5.8738)
การศึกษา: พบว่ารัฐบาลได้คะแนนนิยมสูงสุดในกลุ่มที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา/ปวช. (ค่าเฉลี่ย 6.3674) และ ได้คะแนนนิยมต่ำสุดในกลุ่มปริญญาตรี (ค่าเฉลี่ย 5.8029) 
ทั้งนี้เนื่องจาก นโยบายที่รัฐบาลดำเนินการ มักจะเกิดผลดีโดยตรง ต่อผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้ต่ำ นักเรียน/นักศึกษา แต่ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ ผู้ที่มีอายุในวัยกลางคน ผู้มีรายได้ปานกลาง อาชีพราชการ และกลุ่มผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ทั้งนี้เพราะกลุ่มดังกล่าวไม่ได้ผลประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล และยังเป็นผู้เสียเปรียบในบางกรณี เช่น จากนโยบายขึ้นเงินเดือนปริญญาตรีแก่ผู้จบใหม่เป็น 15,000 บาท เป็นต้น
ดังนั้น ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจึงเป็น สิ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลยังไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องใดบ้าง และยังไม่สามารถได้ใจจากประชาชนกลุ่มใด เป็นประเด็นที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญและความจริงใจในการจัดการให้เกิดความสำเร็จในอนาคต ซึ่งจะมีผลต่อคะแนนนิยมของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลและการเลือกตั้งในอนาคต

ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง

ภาคเหนือ ร้อยละ 18.1, ภาคอีสาน ร้อยละ 32.1, ภาคกลาง ร้อยละ 24.8, ภาคใต้ ร้อยละ 25.1
เพศชาย ร้อยละ 50.1, เพศหญิง ร้อยละ 49.9
อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 16.0, 26-40 ปี ร้อยละ 41.7, 41-60 ปี ร้อยละ 36.3 และเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 6.1
รายได้ต่อเดือน ต่ำกว่า 10,000 บาท ร้อยละ 38.4, 10,000-24,999 บาท ร้อยละ 39.8, 25,000-49,999 บาท ร้อยละ 17.8 และ 50,000 บาทขึ้นไป ร้อยละ 4.1
อาชีพ นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 11.2 เกษตรกร/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 23.2 นักธุรกิจ ร้อยละ 10.6 ราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 21.7 พ่อค้า/แม่ค้า อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.8 อื่นๆร้อยละ 16.4
การศึกษา ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 13.7 มัธยมศึกษา/ปวช. ร้อยละ 21.3 ปวส./อนุปริญญา  ร้อยละ 17.1 ปริญญาตรี  ร้อยละ 40.2 สูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 7.6