พิพากษาจำคุก "จีรนุช" 8 เดือน ฐานปล่อยกระทู้ขัด กม. โผล่เว็บประชาไท ระบุผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

มติชน 30 พฤษภาคม 2555 >>>




เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 พฤษภาคม ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร อายุ 44 ปี ผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท จำเลย ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14 (3) ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาบ้างลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี
คดีนี้คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พนักงานอัยการฟ้องเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2553 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 เมษายน-3 พฤศจิกายน 2551 ต่อเนื่องกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยผู้ดูแล (Web master) เว็บไซต์ประชาไท จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้นำข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อยู่ในความควบคุมของจำเลย อันเป็นข้อมูลมีเนื้อหาดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จำนวน 10 กระทู้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ในความควบคุมของจำเลย เหตุเกิดที่ แขวงจอมพล เขตจตุจักร, แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และทั่วราชอาณาจักรไทย เกี่ยวพันกัน จำเลยปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความทั้ง 10 กระทู้ ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และนำเข้าสู่เว็บบอร์ดของเว็บไซต์ประชาไท แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยจะเป็นผู้นำข้อความกระทู้ทั้ง 10 เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือจงใจ สนับสนุนให้กระทำความผิดดังกล่าวในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับเป็นความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) และฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจหรือสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดดังกล่าว
แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ดูแลเว็บไซต์แก้ไขกรณีมีความข้อความที่ไม่เหมาะสมว่าควรมีระยะเวลานานเพียงใดกรณีนี้จะถือว่าผู้ดูแลเว็บไซต์ต้องรับผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวทันที หลังนำเข้าข้อความที่ไม่เหมาะสมเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตนั้นนับว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการฐานะตัวการ แต่จำเลยจะอ้างว่าไม่ทราบมีกระทู้ดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยมิได้คำนึงถึงภาระหน้าที่ในฐานะผู้ดูแลเว็บไซต์เพื่อให้หลุดพ้นในการรับผิดดังกล่าวและทำให้บทบัญญัติตามกฎหมายไม่มีสภาพบังคับนั้นย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ศาลเห็นว่า หากจำเลยมีความใส่ใจดูแล ตรวจสอบตามหน้าที่ควรใช้เวลาตรวจสอบเมื่อเห็นข้อความที่ไม่เหมาะสมควรลบข้อความดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์ในระยะเวลาอันสมควรเพราะหากปล่อยเวลาให้นานไปกว่านี้อาจนำข้อความไปเผยแพร่ต่อก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อผู้เกี่ยวข้อง เสียหายต่อความมั่นคงของประเทศชาติได้ เห็นได้ว่ามี 1 กระทู้ ที่ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์เป็นเวลานานถึง 20 วัน เกิดกำหนดเวลาอันควรที่จำเลยควรจะตรวจสอบและนำข้อมูลดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ถือได้ว่าจำเลยให้ความยินยอมโดยปริยาย จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้ยินยอมให้มีการกระทำความผิด
ที่จำเลยนำสืบว่า หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นที่เว็บไซต์ประชาไทมากขึ้น จึงมีการเปิดมาตรการในการควบคุม โดยมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูลที่นำเข้าสู่เว็บไซต์ หากพบมีข้อความลักษณะที่ไม่เหมาะสม ก็สามารถนำออกได้โดยไม่ต้องรับอนุญาตจากจำเลยนั้น
ศาลเห็นว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้ให้บริการแต่ยังไม่เพียงพอภาระหน้าที่ของจำเลยในการควบคุมดูแล ที่ให้มีการกระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในการควบคุมของจำเลยมีอยู่เช่นใดก็คงมีอยู่เช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนจุดประสงค์ของเว็บไซต์ที่ต้องการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง มุ่งเน้นในเรื่องสิทธิที่ถูกต้องในส่งเสริมประชาธิปไตยนั้น ศาลยอมรับว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองซึ่งรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ เพราะเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นสะท้อนถึงธรรมาภิบาลและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ หรือองค์กรนั้นๆ การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทั้งด้านบวกและด้านลบย่อมเป็นโอกาสในการนำไปปรับปรุงประเทศ องค์กรและตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
แต่เมื่อจำเลยเปิดช่องทางให้แสดงความคิดเห็นในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อคิดเห็น หรือข้อมูลที่อาจกระทบกระเทือน ถึงความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นที่ต้องเคารพเช่นกัน เมื่อจำเลยกระทำผิดตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นจำเลยจึงมิอาจอ้างซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเพื่อให้หลุดพ้นจากความผิดได้ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ลงโทษจำคุกดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
ภายหลัง น.ส.จีรนุช กล่าวว่า สำหรับคำพิพากษาในครั้งนี้ ไม่ได้เกินความคาดหมายที่คิดไว้ นอกจากนี้แล้วยังเห็นว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ควรจะแก้ไขไม่ควรผนวกรวมการควบคุมเนื้อหาไว้ เนื่องจากส่วนของเนื้อหามีกฎหมายอาญาอยู่รองรับอยู่แล้ว ส่วนในเรื่องของคดีจะปรึกษากับทางทีมทนายความก่อน ว่าจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีคดีนี้ของเว็บไซต์ประชาไทถูกมองว่ากลายเป็นคดีตัวอย่างของผู้ให้บริการเว็บไซต์อื่นด้วยหรือไม่ น.ส.จีรนุช กล่าวว่า คงไม่เกี่ยวกันเพราะถ้าในคดีมีช่องทางการต่อสู้สามารถต่อสู้คดีได้ ต้องดูในรายละเอียดอีกที แต่ในส่วนของเว็บบอร์ดที่ใช้พูดคุยของประชาไท ปิดไปสองปีแล้ว คงคิดหนักว่าจะกลับมาเปิดอีกหรือเปล่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่อ่านคำพิพากษานั้นมีกลุ่มมวลชนเสื้อแดง และผู้สื่อข่าวในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจและมอบดอกไม้ให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก