ศาล รธน. วินิจฉัยมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ชี้ขาด "จตุพร" พ้น ส.ส. เหตุหมดสภาพสมาชิกพรรคเพื่อไทย หลังถูกคุมขังโดยหมายศาล ถือเป็นบุคคลต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ (18 พ.ค.) องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธาน ได้ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยความเป็นสมาชิกภาพของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4) ประกอบมาตรา 101 (3) หรือไม่ ซึ่งบรรยากาศโดยรอบสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ช่วงเช้า ปรากฏว่ามีบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 100 คนเดินทางมาคอยให้กำลังใจกับนายจตุพร ท่ามกลางการจัดกำลังดูแลความเรียบร้อย 1 กองร้อย
นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี อ่านคำวินิจฉัยระบุว่า มีประเด็นที่ต้องพิจารณาก่อนวินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า กกต. ไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพากรเป็น ส.ส. ของนายจตุพรได้อีก เนื่องจาก กกต. ได้รับสมัครและประกาศรับรองให้นายจตุพรเป็น ส.ส. แล้ว ตามที่นายจตุพรร้องหรือไม่ เห็นว่าการดำเนินการของ กกต. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 40 ประกอบมาตรา 45 ที่กำหนดให้ กกต. ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อเพิกถอนรายชื่อผู้ที่ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นั้น เป็นขั้นตอนก่อนการเลือกตั้ง
แต่คำร้องที่ กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เป็นการขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส. สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ซึ่งก่อนการเลือกตั้งหาก กกต. พบว่ามีการขาดคุณสมบัติของผู้สมัคร โดยดำเนินการตามอำนาจไปแล้ว แต่ต่อมาภายหลังพบว่า ส.ส. คนใดมีเหตุที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง กกต. ก็มีอำนาจที่จะส่งเรื่องให้ประธานสภาฯ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ข้ออ้างของนายจตุพรจึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของนายจตุพรสิ้นสุดลงหรือไม่ จากข้อเท็จจริงตามคำร้องและการแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องรับฟังได้ว่า นายจตุพรได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 50 และสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 51 ต่อมาถูกฟ้องดำเนินคดีอาญาฐานก่อการร้าย ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งภายหลังเมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาในปี 2554 และมีการกำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. 54 ศาลได้ถอนประกัน นายจตุพรจึงถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. 54 เป็นต้นมา
ต่อมา กกต. เปิดรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่มีชื่อนายจตุพร เป็นผู้สมัครอยู่ในลำดับที่ 8 เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 54 และก่อนการเลือกตั้ง 3 ก.ค. นายจตุพรได้ยื่นคำร้องของอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต จนวันที่ 3 ก.ค. นายจตุพรจึงไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และได้ทำหนังสือแจ้งเหตุอันไมได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ยื่นต่อ ผอ.สำนักงานเขตวังทองหลางที่พิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุผลเพียงพอ
หลังการเลือกตั้ง กกต. ได้ประกาศรับรองผลให้นายจตุพรเป็น ส.ส. ในวันที่ 1 ส.ค. 54 พร้อมมีมติให้สำนักงาน กกต. ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ของนายจตุพร ซึ่ง กกต. ได้มีมติเสียงข้างมากในเวลาต่อมาให้ยื่นคำร้องต่อประธานสภา เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของนายจตุพรสิ้นสุดลงหรือไม่ คดีมีประเด็นต้องพิจารณาว่านายจตุพรเป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ไปใช้สิทธิหรือไม่ เห็นว่าในมาตรา 100 (3) ระบุว่า ผู้ต้องคุมขังโดยหมายของศาลไม่ให้เป็นบุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งนายจตุพรถูกดำเนินคดีอาญาฐานก่อนการร้าย ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณา
แต่เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา ศาลเพิกถอนสัญญาประกัน และนายจตุพรถูกควบคุมตัวไว้ใน เรือนจำ จึงเห็นได้ว่านายจตุพรเป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 100 (3)
นายนุรักษ์ กล่าวว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า นายจตุพรเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่มิให้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่ และเป็นเหตุให้นายจตุพรพ้นจากการเป็น ส.ส. หรือไม่ เห็นว่าหากพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 8, 19 และ 20 แล้ว มีเจตนาว่าผู้ที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องมีสัญชาติไทยไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตามที่กฎหมายกำหนด และต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 100 ได้กำหนดลักษณะบุคคลที่มิให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ 4 ลักษณะ ภิกษุ สามเณร ผู้มีสติฟั่นเฟือน ผู้ที่อยู่ระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และบุคคลที่ถูกจับกุมคุมขังโดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่ต้องห้ามไม่ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง โดยบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิในวันเลือกตั้งเป็นบทบัญญัติที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2492
ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองนั้น เริ่มมีบัญญัติในปี 2498 เป็นฉบับแรก ซึ่งก็ใช้เรื่อยมาและมีอีกหลายฉบับ เช่น 2511, 2517 และ 2524 สำหรับบทบัญญัติที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง จะบัญญัติบุคคลที่จะสามารถสมัครเข้าพรรคการเมืองได้ โดยบุคคลต้องห้าม จะระบุไว้เพียง ภิกษุ สามเณร นักบวช แต่เมื่อมีการตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 และ 2550 มีการบัญญัติลักษณะต้องห้ามไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคไว้ในแนวทางเดียวกัน
โดยเฉพาะฉบับปี 2550 มาตรา 8 เป็นการเขียนข้อความให้ล้อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 คือบุคคลที่ต้องห้ามมิให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างกับ พ.ร.บ. พรรคการเมืองในอดีตที่ผ่านมา โดยเป็นการบัญญัติให้ครอบคลุมถึงลักษณะต้องห้ามทั้ง 4 ลักษณะ รวมถึงต้องถูกคุมขังโดยหมายของศาล ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้บุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของกฎหมาย และระเบียบวินัยของพรรคการเมือง
การถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาของศาล โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำผิดที่มีความรุนแรง และมีเหตุให้ศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว อันเป็นวัตถุประสงค์ของการกำหนดลักษณะต้องห้ามดังกล่าว นอกจากนี้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และมีลักษณ ะต้องห้ามมิให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยเฉพาะการใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญกว่าบุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
ดังนั้นเมื่อผู้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไมได้ปฎิบัติตนอยู่ในกรอบของกฎหมาย จนถูกดำเนินคดี และต้องถูกคุมขังโดยหมายของศาล โดยไม่ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวในวันเลือกตั้ง ทำให้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 100 ( 3) ย่อมจะเป็นลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกพรรคตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 มาตรา 20 ประกอบมาตรา 19 และ มาตรา 8 เมื่อพิจารณามาตรา 20 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้ว บุคคลที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
นอกจากต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามในขณะที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแล้ว จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตลอดเวลาที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองด้วย หากผู้ใดมีลักษณะต้องห้ามเกิดขึ้นภายหลัง ย่อมมีผลให้สมาชิกภาพของผู้นั้นสิ้นสุดลง ดังนั้นเมื่อนายจตุพร เป็นบุคคลต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล จึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 100 (3) อันเป็นบุคคลต้องห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ส่งผลให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของนายจตุพรสิ้นสุดลงตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3)
มีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การสิ้นสุดสมาชิกภาพสมาชิกพรรคของนายจตุพร ทำให้สิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ตามมาตรา 106 (4) หรือไม่ รัฐธรรมนูญมาตรา 101 (3) บัญญัติให้บุคคลผู้มีคุณสมบัติสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ได้ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่กรณีการยุบสภาให้ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วันนับถึงวันเลือกตั้ง
และมาตรา 106 (4) ที่บัญญัติว่าสมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงเมื่อขาดคุณสมบัติตามาตรา 101 (3) แล้วเห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งส.ส. และกำหนดการระยะเวลาการเป็นสมาชิกพรรคก่อนการเลือกตั้งเพื่อให้สมาชิกพรรคการเมืองมีระเบียบวินัย ยึดมั่นเจตนารมณ์ทางการเมือง และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตลอดไป ให้พรรคการเมืองเป็นเสาหลักของปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจึงไม่เพียงต้องมีอยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องมีอยู่ตลอดเวลาของการเป็น ส.ส.
ส่วนการถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 102 (3) จะไม่กำหนดให้เป็นลักษณะต้องห้ามไม่ให้สมัครรับเลือกตั้งแต่การสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. กับการใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนและหลัง ต่างเวลากัน แม้ว่าบุคคลที่ถูกคุมขังโดยหมายของศาลมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง อันไม่เป็นลักษณะต้องห้าม แต่การพิจารณาการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. เป็นคนละกรณีกัน หากในวันเลือกตั้งบุคคลดังกล่าวถูกคุมขังอยู่ย่อมถือว่า เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ และเมื่อพิจารณาตามคุณสมบัติของ ส.ส. ซึ่งต้องเป็นสมาชิกพรรคคากรเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง อันเป็นคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามมาตรา 101 (3)
ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4) ที่บัญญัติให้สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง เมื่อขาดคุณสมบัติตามมาตรา 101 แล้ว เห็นว่าคุณสมบัติของบุคคลที่จะสมัคร ส.ส. ซึ่งต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง มิใช่ต้องมีอยู่เฉพาะวันสมัคร แต่ต้องมีอยู่ตลอดระยะเวลาการเป็น ส.ส. เมื่อขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดก็จะส่งผลให้สิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.
สำหรับการพิจารณาเกี่ยวกับความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นเห็นว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญจะบัญญัติหลักเกณฑ์สำคัญที่เกี่ยวกับการปกครองประเทศ ส่วนรายละเอียดสำคัญที่จะช่วยขยายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้มีความครบถ้วนยิ่งขึ้นนั้น รัฐธรรมนูญบัญญัติให้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับพรรคการเมืองนั้น บัญญัติให้ตราขึ้น เป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 ซึ่งเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามพ.ร.บ.ดังกล่าว ในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมืองจะบัญญัติไว้ในมาตรา 8, 19 และ 20
อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 106 เป็นการวางหลักเกณฑ์กว้างๆ ในการที่ ส.ส. ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพแต่การวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นหรือไม่ ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัตินั้น ๆ เช่นเรื่องสัญชาติ ก็ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.สัญชาติ เพราะรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องนำกฎหมายอื่น มาประกอบการวินิจฉัยเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริง มิใช่เป็นการนำกฎหมายที่ต่ำกว่า หรือมีบทบัญญัติที่ขัดแย้งในกรณีที่สิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็นส.ส.มาขยายหรือตีความให้เป็นโทษตามที่นายจตุพรยกขึ้นอ้างแต่อย่างใด และไม่ใช่การกำหนดเหตุขึ้นใหม่
ดังนั้น เมื่อการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของนายจตุพรสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (3) จึงทำให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายจตุพรสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (4) ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 เสียง ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายจตุพร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (4) ประกอบมาตรา 101 (3) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
โดยก่อนที่ตุลาการเริ่มอ่านคำวินิจฉัย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งกับนายจตุพรว่า นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ขอถอนตัวจากคดีนี้ เนื่องจากภรรยาของนายจรัญ มีคดีฟ้องร้องกับนายจตุพรอยู่ จึงมีตุลาการนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยเพียง 8 คน
แต่ในระหว่างที่นายอุดมศักดิ์ อ่านคำวินิจฉัยอยู่นั้นก็ได้มีเสียงสัญญาณเตือนภัย (ไฟไหม้) ดังขึ้นประมาณ 10 วินาทีก็เงียบ ส่งผลให้การอ่านคำวินิจฉัยหยุดลงไปช่วงขณะหนึ่ง แต่นายอุดมศักดิ์ กล่าววว่า “ขออ่านต่ออะไรจะเกิดก็ค่อยว่ากัน” ทำให้การอ่านดำเนินต่อไปจนจบ ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็เร่งตรวจสอบว่าเกิดจากสาเหตุขัดข้องของสวิทช์ไฟในลิฟสปาร์คขึ้น จึงตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารมาซ่อม
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับตุลาการเสียงข้างน้อย 1 เสียง คือนายชัช ชลวร ที่เห็นว่า กรณีดังกล่าวนั้น เห็นว่า การสิ้นสุดของ ส.ส. จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะไม่สามารถเอากฎหมายอื่นที่มีศักดิ์ต่ำกว่ามาประกอบการพิจารณาได้ อีกทั้งเมื่อกกต.พิจารณารับรองผลไปแล้วก็ถือว่ามีผลถูกต้องสมบูรณ์ไปแล้ว กกต. ก็ไม่มีอำนาจวิจิฉัยชี้ขาดในประเด็นดังกล่าวแล้ว อีกทั้งเห็นว่า ที่ กกต. ส่งมานี้เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตีความในข้อสงสัยของ กกต. เองซึ่งห็นว่าทำไม่ได้