ไต่สวนวันนี้ 3 ศพ

ข่าวสด 28 พฤษภาคม 2555 >>>


ศาลนัดไต่สวนวันนี้ 3 เหยื่อปืนเหตุการณ์พฤษภา 53 คดี "ด.ช.อีซา" กับอีก 2 หนุ่ม นปช. โดนยิงตายใต้ทางด่วนพระ ราม 4 เมียพร้อมด้วยลูกชาย 3 คนดีใจคดีถึงศาล เผยตลอด 2 ปี กังวลคดีจะเงียบ ไม่สามารถหาคนมารับผิดชอบได้ ขณะที่ "ครก.112" จัดรณรงค์ตั้งโต๊ะลงชื่อสนับ สนุนแก้ไข "ม.112" ได้แล้วเกือบ 4 หมื่นรายชื่อจากทั่วประเทศ เตรียมยื่นถึงรัฐสภาในวันที่ 29 พ.ค. นี้
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 พ.ค. ที่ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ ครก.112 จัดกิจกรรมรณรงค์ในหัวข้อ "บันทึก 112 วัน แก้ ม.112" โดยมีนักวิชาการ ประชาชนทั่วไป และกลุ่มคนเสื้อแดงมาร่วมกันอย่างคึกคัก พร้อมทั้งตั้งโต๊ะเปิดให้ร่วมลงชื่อสนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ อ่านแถลงการณ์ของครก.112 โดยสรุปว่า เป็นที่ประจักษ์ชัดว่านับแต่การรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นจำนวนมาก จากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ด้วยการตีความกฎหมายบนอุดมการณ์ที่ผิดหลักการประชาธิปไตย และตีความการกระทำผิดอย่างกว้าง จนแม้แต่การแปลหนังสือก็กลายเป็นการกระทำผิด ในการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับต่างๆ ได้ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหา และนักโทษคดีการเมือง 112 ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างต่อเนื่อง
แถลงการณ์ระบุว่า หลังจากได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งทำให้ประชาชนต่างคาดหวังว่า เหตุการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่เหตุการณ์ก็กลับไม่เป็นไปดังหวัง กรณีนายอำพล หรืออากง สร้างความรู้สึกสิ้นหวังให้แก่ประชาชนจำนวนมาก ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยกลุ่มต่างๆ จึงรวมตัวกับนักวิชาการ นักเขียน นักกิจกรรม ขึ้นเป็นคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามร่างกฎหมายของคณะนิติราษฎร์ ด้วยการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญยื่นกฎหมายเข้าสู่สภา แต่หลังจากครบการรณรงค์ 112 วันไปเพียง 3 วัน ก็เกิดเรื่องเศร้าขึ้น นายอำพลเสียชีวิตในเรือนจำ
แถลงการณ์ระบุอีกว่า นับตั้งแต่ ครก.112 รณรงค์อภิปรายปัญหาของกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ในทุกภูมิภาค ทั้งเหนือ กลาง ใต้ ตะวันออก อีสาน ครก.112 ได้รับการสนับสนุนจากผู้คนจำนวนมาก ประชาชนและนักกิจกรรมทางการเมืองเสื้อแดงทุกภาคส่วน จนกระทั่งบัดนี้มีผู้ลงชื่อแก้กฎหมายทั้งสิ้นจำนวน 38,281 คน โดยมีผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง 2,632 คน ตะวันออก 208 คน เหนือ 2,605 คน อีสาน 22,357 คน ใต้ 112 คน ในจำนวนนี้มีแบบฟอร์มที่เสียจำนวน 10,360 คน และมีรายชื่อที่พร้อมส่งรัฐสภาจำนวน 27,291 คน
   "แม้จะมีการต่อต้านจากชนชั้นนำ และปราศจากการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย ประชาชนคนรากหญ้าจำนวนมาก ก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าร่วมกับ ครก.112 เพื่อรวบรวมชื่อเสนอให้รัฐสภาแก้ไขกฎหมาย นี่แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ประชาชนเป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้การชี้นำของพรรคการเมือง แม้ว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนก็ตาม ปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์ จึงแสดงให้เห็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ที่อุดมการณ์สิทธิเสรีภาพได้หยั่งรากลึกลงยิ่งขึ้น ดังนั้น นักการเมืองจึงควรเข้าใจด้วยว่า ประชาชนไม่ได้เพียงต้องการนโยบายประชานิยม แต่ยังต้องการสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอีกด้วย" แถลงการณ์ระบุ
ตอนท้ายของแถลงการณ์ระบุว่า จะยื่นร่างกฎหมายให้รัฐสภาในวันอังคารที่ 29 พ.ค. นี้ "จึงขอเชิญชวนผู้ที่ต้องการเห็นรัฐสภา ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของผู้แทนปวงชนชาวไทย ได้พิจารณาร่างกฎหมายนี้มารวมตัวกันที่หมุดคณะราษฎรเวลา 09.00 น. เราจะตั้งขบวนเดินนำรายชื่อทั้งหมดใส่กล่องสีดำไปยังรัฐสภา เพื่อมอบเอกสารให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ครก.112 จะยังไม่สลายตัว แต่จะติดตามและต่อสู้จนกว่าปัญหาอันเนื่องจากกฎหมายอาญามาตรา 112 และกรณีที่เกี่ยวข้องจะได้รับการแก้ไข และเปลี่ยนแปลงไปจนไม่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพประชาชนอีกต่อไป"
นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการชื่อดัง ให้สัมภาษณ์ว่า แม้ ครก.112 จะยื่นรายชื่อเพื่อเสนอแก้ไข ม.112 เข้าสภาในวันที่ 29 พ.ค. นี้ แต่ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังกับฝ่ายการเมืองที่จะผลักดันให้แก้ไขมาตรานี้ เพราะต้องผ่านข้อวินิจฉัยของประธานสภาก่อนว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิ์ที่เราจะขอแก้ไขกฎหมายได้หรือไม่ ถ้าผ่านก็ต้องไปเข้าคิวรอ และมีสิทธิ์ถูกแซงได้เสมอ เพราะมีกฎหมายที่ที่ประชุมสภาอาจเห็นความสำคัญมากกว่า นอกจากนี้ เหลือเวลาอีก 3 ปี ก็จะหมดวาระของสภาชุดนี้ เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวมาตรา 112 ไม่ใช่หวังว่าจะปลุกให้มีการแก้ไขทันที แต่หวังจะปลุกให้สังคมตื่นตัว และเข้าใจปัญหาว่าเราจะปล่อยให้ปัญหานี้เกิดขึ้นตลอดไปอย่างนี้ไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศชัดว่าจะไม่สนับสนุนแก้มาตรา 112 นายนิธิกล่าวว่า พรรคเพื่อไทย หรือพรรคอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่แตะต้องมาตรานี้ เพราะการเป็นนักการเมืองก็ต้องการที่อยากจะอยู่ในตำแหน่ง และอำนาจมากกว่าเสี่ยงที่จะทำอะไร ที่จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง แต่อาจจะเป็นอันตรายต่อตำแหน่งตัวเอง ดังนั้น ทุกพรรคการเมืองจึงเหมือนกันหมด
ต่อมาเวลา 15.30 น. เปิดเวทีเสวนา เรื่องปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์ โดยมีนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นายนิธิ นักวิชาการอิสระ และนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติราษฎร์ เข้าร่วม โดยนายวรเจตน์กล่าวตอนหนึ่งว่า หลังจากมีการโหมโจมตีคณะนิติราษฎร์อย่างรุนแรง ทำให้กระแสมาตรา 112 เป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น จากนี้ทางเดินแม้จะยาวแต่ต้องเดินต่อไป ดีใจที่มาถึงวันนื้ได้ คือมีรายชื่อพอสำหรับยื่นต่อรัฐสภา เพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ได้ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยง และจำเป็นต้องเกิดขึ้น
นายวรเจตน์กล่าวว่า ส่วนคำถามว่าจะสำเร็จหรือไม่นั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรากำลังพยายามที่จะพูดถึงเรื่องที่สำคัญที่สุดในสังคมไทย มาตรา 112 เป็นประเด็นที่สังคมไทยยังต้องพูดคุยต่อไป พรรคการ เมืองยังปฏิเสธที่จะพูดถึงประเด็นนี้ พรรคเพื่อไทยเองก็ปฏิเสธโดยเด็ดขาด แต่เห็นว่าความสำเร็จเป็นคนละเรื่องกับความพยายาม ความสำเร็จเป็นเรื่องของอนาคต ที่หลายคนบอกเร็วเกินไปนั้นกลับคิดว่าอาจจะช้าเกินไปแล้วหรือไม่ ฝ่ายชนชั้นนำต้องรู้ว่าความรู้สึกของผู้คนได้เปลี่ยนไปมาก และการปรับตัวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว การปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือการยกเลิกไปนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
   "อยากบอกฝ่ายการเมืองว่า ไม่ควรประเมินเรื่องนี้ต่ำเกินไป และจะละเลยเรื่อง 112 ไม่ได้ อำนาจการชี้ขาดในอนาคตไม่ได้อยู่ในมือชนชั้นนำอีกต่อไปแล้ว แม้กระทั่งคนเสื้อแดง อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อาจจะไม่เพียงพอต่อการชี้ขาดประเด็น 112 เพราะความคิดของคนไปไกลเกินไปกว่านี้แล้ว เรื่องนี้จะแยกคนว่าใครจะเดินต่อไปในเส้นทางประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หรือใครจะเดินอีกเส้นทางอื่นก็ว่าไป เป็นทางแยกที่ต้องตัดสินใจ จำนวนคนที่เดินไปทางแยกนี้อาจจะไม่มากนัก แต่อนาคตเชื่อว่าจะมากขึ้นตามลำดับ เชื่อว่าความคิดนี้อยู่ในสังคมแล้ว นักวิชาการเพียงทำหน้าที่อธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรม พลังทางสังคมได้ถูกปลุกขึ้น เมื่อตื่นแล้วก็จะไม่หลับใหลอีกต่อไป" นายวรเจตน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า จากการรณรงค์ในวันนี้มีผู้มาร่วมลงชื่อให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มขึ้นอีก จาก 38,281 คน เป็น 39,185 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ในวันที่ 28 พ.ค. นี้ศาลนัดไต่สวนคดีชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ที่คาดว่าเกิดจากการกระ ทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 3 คดี ประกอบด้วย คดีการเสียชีวิตของ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรืออีซา ถูกยิงเสียชีวิตที่ซอยโรงภาพยนตร์โอเอ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 นัดไต่สวนเวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา, คดีนายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล ถูกยิงที่หน้าอกเสียชีวิต บริเวณใต้ทางด่วน ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2553 นัดไต่สวนที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ และนายประจวบ ประ จวบสุข ถูกยิงที่หน้าอกเสียชีวิต บริเวณใต้ทางด่วน ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553 นัดไต่สวนที่ศาลอาญากรุงเทพใต้
นางรงค์ ประจวบสุข อายุ 46 ปี ภรรยาของนายประจวบ กล่าวว่า ในวันที่ 28 พ.ค. พร้อมด้วยลูกชายทั้ง 3 คน จะไปร่วมฟังศาลไต่สวนด้วย ดีใจมากที่วันนี้มาถึง ตลอด 2 ปีที่ผ่านมากังวลมากว่าคดีจะเงียบ และไม่สามารถหาคนมารับผิดชอบได้ แต่สุดท้ายความยุติธรรมก็มาถึงครอบครัวตน ในวันเกิดเหตุสามีถูกยิงขณะไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553 ขณะนั้นตนและลูก 3 คน อยู่ที่ จ.สุรินทร์ มีอาชีพทํานา ส่วนสามีมาทํางานในโรงงานถั่วที่กรุงเทพฯ เป็นคนรักประชาธิปไตย จึงไปร่วมชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่มคนเสื้อแดง