พธม. ขอส่งตัวแทน 200 คนเข้าสภา-ร่วมฟังการถก พ.ร.บ.ปรองดอง

ประชาไท 31 พฤษภาคม 2555 >>>


โฆษกพันธมิตรขอตอบใน 1 ชม. ขู่ยกระดับชุมนุมไล่ "ยิ่งลักษณ์" หากไม่ได้คำตอบ ชี้หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นจะเกิดเพราะรัฐบาลเป็นผู้กำหนดให้เกิด ด้านอภิสิทธิ์รับเหตุการณ์ในสภาส่งผลต่อภาพลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่จำเป็นต้องขอโทษเพราะไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แนะประธานรัฐสภาเปลี่ยนท่าทีจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

วันนี้ (31 พ.ค.) ว่า นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 โดยระบุว่า กลุ่มพันธมิตรฯ จะอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ที่บัญญัติให้บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการและหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนรัฐธรรมนูญ มาตรา 87 (2) และ 87 (3) ได้บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวขสอบการใช้อำนายรัฐทุกระดับ จึงจะขอส่งตัวแทนกลุ่มเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมสภาฯอาคารรัฐสภา จำนวน 200 คน
ทั้งนี้ จะให้เวลาในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว 1 ชั่วโมง และจะต้องแจ้งให้กลุ่มพันธมิตรฯทราบ แต่หากเลยจาก 1 ชั่วโมงไปแล้ว กลุ่มพันธมิตรฯยังไม่ได้รับคำตอบใด ๆ ทางกลุ่มจะประกาศยกระดับการชุมนุมทันที และต่อจากนี้ไปหาก พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ฉบับ ผ่านเข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมสภา ซึ่งอาจจะมีการเลื่อนไปพิจารณาต่อในวันที่ 5-7 มิ.ย.นี้ และอาจจะเป็นการลงมติแบบ 3 วาระรวด ทางกลุ่มพันธมิตรฯ จะยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทันที
   "เพราะถือว่าเป็นผู้ดูและฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ตอนนี้กลับทำลายกระบวนการยุติธรรมจดหมดสิ้น และทุกคนก็รู้ดีอยู่แล้วว่านายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ส่วนจะเป็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อหรือไม่นั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นจากลุ่มพันธมิตร แต่จะเกิดขึ้นหากรัฐบาลเป็นผู้กำหนดให้เกิด" นายปานเทพ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเหตุการณ์ความวุ่นวาย ระหว่างเสนอเลื่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปรองดอง 4 ฉบับ เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.) ว่า ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และภาพที่ปรากฏออกมาไม่เหมาะสม แต่ไม่จำเป็นต้องขอโทษ เพราะไม่ได้ทำผิดกฏหมาย
ประกอบกับฝ่ายค้านต้องการให้ระงับการพิจารณาร่าง พรบ.ปรองดอง เพื่อความถูกต้อง จึงต้องการให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ โดยการถอนร่าง พรบ. ทั้ง 4 ฉบับ ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏรก่อน เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเงิน อีกทั้งยังสร้างความขัดแย้งในสังคม ซึ่งนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถหลีกหนีความรับผิดชอบได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของบ้านเมือง และการสร้างความปรองดอง เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง ดังนั้นยืนยันว่าฝ่ายค้านจะเดินหน้าคัดค้านให้ถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าฝ่ายค้านสามารถทำงานร่วมกับประธานสภาผู้แทนได้ ในฐานะ ส.ส. แต่ประธานต้องเปลี่ยนท่าที ไม่ใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสมอีก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก