ประชาไท 24 พฤษภาคม 2555 >>>
เสื้อแดงร้องรัฐบาลออก กม. นิรโทษกรรมผู้ต้องขัง ม.112 จุดเทียนดำไว้อาลัยกับความยุติธรรม
19.20 น. วานนี้ (22 พ.ค. 55) ที่หน้าลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ถนนราชดำเนิน เสื้อแดงกลุ่มสหพันธ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ ประมาณ 100 คน ได้จุดเทียนดำไว้อาลัยกับความยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับการไม่ให้สิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเฉพาะการเสียชีวิตในราชทัณฑ์สถานของนายอำพล(สงวนนามสกุล)หรืออากง SMS ผู้ต้องขังตาม ม.112 ทั้งนี้นอกจากการจุดเทียนดังกล่าวยังมีกิจกรรมอื่นเช่นการเล่นดนตรีและปราศรัยเรียกร้อง อธิบายวัตถุประสงค์และเหตุผลที่ต้องการให้คณะรัฐมนตรีออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ประสบภัยคุกคามจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
โดยในช่วงสายของวันเดียวกันนี้ทางกลุ่มดังกล่าวได้รวมตัวกันที่ลานอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ ม.112
โดยในหนังสือดังกล่าวได้อ้างว่าทางกลุ่มสหพันธ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพได้ติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนสากลที่เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อกรณีการใช้อำนาจของ ม.112 กับผู้กกล่าวหาดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมและถูกริดรอนสิทธิในการประกันตัว แม้ผู้ต้องหาบางรายชราภาพและเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์เฉพาะทางภายนอก แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิในการได้รับการประกันตัวจึงไม่สามารถออกมารับการรักษาได้ โดยหนังสือดังกล่าวได้มีการอ้างถึงกรณีการเสียชีวิตของ อากง SMS ในราชทัณฑ์สถาน ด้วยเหตุที่มิได้รับการประกันตัวเพื่อออกไปตรวจรักษาจากแพทย์เฉพาะทางตั้งแต่แรก
หนังสือจากสหพันธ์ฯนี้ ได้ระบุถึงเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมาว่าทางสหพันธ์ฯ ได้เคยเดินทางไปยื่น จม.เรียกร้องไปยังประธานศาลฎีกาให้ปล่อยตัวหรืออนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีนี้ทุกคน แต่ก็ไม่ได้รับการดำเนินการตามคำร้องขอ ทางสหพันธ์ฯ จึงสนับสนุนนายกฯ ได้ออก กม.นิรโทษกรรมผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องโทษ ตาม ม.112 ทุกคนอย่างเร่งด่วน ภายในวันที่ 12 มิ.ย. 55 นี้ เพื่อหยุดยั้งความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับกรณีอากง SMS
ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวได้มี พ.ต.ท.เสงี่ยม สำราญรัตน์ เลขาธิการออกมารับเรื่องแทนนายกรัฐมนตรี โดยตัวแทนกลุ่ม คือ นายอนุสรณ์ สมิทธ์กุล เลขาธิการสหพันธ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ ได้กล่าวถึงการออกมารับหนังสือนี้ว่า “พ.ต.ท.เสงี่ยม สำราญรัตน์ มารับเรื่องก็ชี้แจงว่าจะนำเรื่องดังกล่าวส่งให้กับท่านนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาตามลำดับขั้น แต่ก็ไม่ได้ยืนยันต่อข้อเรียกร้องในลักษณะที่เป็นไปได้เป็นรูปธรรม แต่ก็ได้แสดงถึงสถานการณ์ในปัจจุบันต่อข้อเรียกร้องของเราโดยรวม”
นายอนุสรณ์ สมิทธ์กุล เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “การจัดเวทีอภิปรายในวันนี้เพื่อชี้แจงเจตนาในการจัดกิจกรรม และเพื่อเป็นโอกาสที่จะเปิดให้กับพี่น้องมวลชนแนวร่วมที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้เป็นพื้นที่ที่มีความรู้สึกร่วมกันในเรื่องของการสูญเสียของชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ที่ต้องเสียชีวิตอย่างทรมานอันเนื่องมาจากการถูกลิดรอนสิทธิในการประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของหลักมนุษยชนสากล”
เลขาธิการสหพันธ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของทางสหพันธ์ว่า “เดิมทีก็เป็นแนวร่วมของน้องผู้นำนักศึกษา กับพี่น้องมวลชนในกลุ่มต่างจังหวัดที่มีจิตสำนึกและลุกขึ้นมารณรงค์เรื่องประชาธิปไตย และส่วนใหญ่เป็นพี่น้องมวลชนที่ผมได้ลงพื้นที่ไปสัมผัส จนกระทั้งเกิดสถานการณ์ที่มีการใช้มาตรา 112 ไปคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข คุณสุรชัย แซ่ด่าน และอีกหลายๆท่านด้วยมาตรา 112 ดังนั้นพวกเราที่เคยมีทัศนะต่อประชาธิปไตยเสรี ก็ได้รวบรวมกันเป็นแนวร่วม แล้วก็เดิมทีเมื่อปีที่แล้วเราได้จัดตั้งเป็นองค์กรสร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ แล้วก็ดำเนินกิจกรรมในเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชนในแนวทางการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย และยึดในหลักสันติวิธี”
“หลังจากเราเคลื่อนไหวปีที่แล้ว เราก็จับตาในประเด็นของเรื่องสิทธิการประกันตัวก่อน หลังจากนั้นปรากฏว่าสิ่งที่เราทำกิจกรรมไปนั้นไม่ได้เกิดผลตอบรับจากฝ่ายที่มีอำนาจ เราก็เลยปรึกษากัน จนกระทั้งมีเหตุอันเศร้าสลด คือการเสียชีวิตของนายอำพล หรือว่าอากง ก็ทำให้เราได้ปรึกษากันแล้ว่าการเคลื่อนไหวกิจกรรมในรูปแบบเดิมๆ การเคลื่อนไหวที่เพียงของให้ได้แสดงออกเริ่มไม่สามารถที่จะได้ผลต่อไปแล้ว ก็เลยได้ปรึกษากันแล้วก็มีกลุ่มแนวร่วมเข้ามามากมาย ก็เลยยกระดับจากองค์กรสร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ ขึ้นเป็นสหพันธ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ เพื่อที่จะดำเนินการต่อสู้ภาคประชาชนให้เป็นรูปธรรม แล้วก็มีคุณค่าของเสียงที่ฝ่ายมีอำนาจต้องรับฟัง” อนุสรณ์ สมิทธ์กุล กล่าว
เลขาธิการสหพันธ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ เปิดเผยถึงแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไปว่า “เรามองสานการณ์ในปัจจุบันเข้าขั้นวิกฤติต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังนั้นการที่เราเคลื่อนไหวกิจกรรมเราก็ได้ประกาศเป็นยุทธการการลุกขึ้นสู้ ยุทธการ 100 วันการเสียชีวิตของอากงคือวันที่เราจะไปเปิดประตูสู่อิสรภาพของพี่น้องผู้บริสุทธิ์ที่ถูกภัยคุกคามจากมาตรา 112 ดังนั้นเรามีมาตรการในการยกระดับ เราอุทิศเวลาอุทิศแรงกายเพื่อที่จะปลดปล่อยความทุกทรมานของพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ถูกทรมานเช่นเดียวกับอากง”