ปฏิญญาหน้าศาล ย้ำอากงไม่ผิด เรียกร้อง รบ. แก้ 112 เรียกร้องสิทธิประกันตัวและระบบประกันสุขภาพในเรือนจำ

ประชาไท 16 พฤษภาคม 2555 >>>




เวลา 13.00 น. เมื่อ 13 พ.ค. 55 ที่ผ่านมา บริเวณบาทวิถี หน้าศาลอาญา รัชดา ประชาชนประมาณ 100 คนร่วมกิจกรรม เสวนา เรื่อง "อากงไม่ผิด" ซึ่งจัดโดย กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล โดยมีผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย อานนท์ นำภา ทนายความผู้ติดตามคดี นายอำพล หรือ “อากง SMS”, ก้านธูป นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกหมายเรียกในกระบวนการยุติธรรม และเป็นจำเลยของสังคมในคดี "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ซึ่งถูก "ล่าแม่มด" ตั้งแต่เธอยังไม่บรรลุนิติภาวะ, อาคม ศิริพจนารถ ทนายนักสิทธิมนุษยชน , รศ.สุดสงวน สุธีสร อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ
ทั้งนี้ก่อนการเสวนา ได้มีการอ่าน แถลงการณ์ ของกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล (Declaration of Justice) ฉบับที่ 1 ซึ่งอ่านโดยกวีเสื้อแดง ไม้หนึ่ง ก.กุนที ความว่า

ณ ทางคนเดิน หน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก

เรื่อง การเสียชีวิตของนักโทษการเมือง “อากง”

จากการเสียชีวิตของนายอำพล ตั้งนพคุณ หรือที่ประชาชนพร้อมใจเรียกท่านว่า “อากง” ผู้ถูกกล่าวหาด้วย มาตรา 112 แล้วถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวขณะต่อสู้คดี แม้จะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองตามหลักยุติธรรมสากลที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไทย นายอำพลถูกพิพากษาต้องโทษในอัตราสูงตามดุลยพินิจของตุลาการ นำมาสู่การคุมขังในทัณฑสถานอันแออัดและด้อยมาตรฐาน อาการเจ็บป่วยรุนแรงที่พึงได้รับการพิจารณาให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อเข้ารับการรักษาตามสิทธิพลเมือง กลับถูกเพิกเฉย ในที่สุด “อากง” ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555
กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล อันเป็นกลุ่มที่รวมตัวกัน เคลื่อนไหวให้ปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง ต้องการให้สถาบันหลักทั้ง 3 ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แสดงความรับผิดชอบดังต่อไปนี้
1. สถาบันนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นต้นธารของการออกกฎหมายมาตรา 112 อันเป็นเหตุให้ประชาชนเช่นนายอำพลถูกคุมขังโดยมิชอบ ต้องทบทวนถึงการคงอยู่ของกฎหมายมาตรานี้อย่างเร่งด่วนและซื่อตรงต่อประชาชน
2. สถาบันตุลาการ ซึ่งเป็นเครื่องมือของการใช้ตัวบทกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ต้องตรวจสอบตุลาการที่ใช้ดุลยพินิจเฉพาะกิจอยู่เหนือหลักการนิติธรรม จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตของประชาชน เพราะนอกจากไม่สามารถดำรงความยุติธรรมให้เกิดในสังคมไทยได้แล้ว ยังนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศในขั้นรุนแรงอีกด้วย
3. สถาบันบริหาร ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการองค์กรของรัฐทุกองค์กร ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาล ต้องตรวจสอบส่วนงานราชการที่มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการดูแลรักษาโรคของผู้ถูกคุมขัง และตั้งคณะกรรมการสอบสวนแพทย์พยาบาลผู้ละเลยการให้การรักษาพยาบาลอย่างไร้จรรยาแพทย์โดยทันที
กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจะติดตามการแก้ไขปัญหาของทุกสถาบันอย่างใกล้ชิดและจะเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนกว่านักโทษการเมืองจะได้รับการปล่อยตัว และศักดิ์ศรีความเป็นคนของนักโทษการเมืองทั้งที่ได้วายชนม์แล้วและยังถูกคุมขังได้รับกลับคืนมา

ด้วยความคาดหวัง

กลุ่มปฎิญญาหน้าศาล
13 พฤษภาคม 2555

วงเสวนาเริ่มต้นโดย อานนท์ นำภา ทนายความผู้ติดตามคดี นายอำพล หรือ “อากง SMS”

อานนท์ได้แย้งข้อกล่าวหาของอธิบดีศาลอาญา....ที่ว่าไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากเราถอนอุธร ว่า “ในความเป็นจริงเรายืนขอประกันตัวอากงมาทั้งหมด 8 ครั้ง แล้วก็เรามีใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าอากงเป็นโรคมะเร็งยื่นเข้าไปตั้งแต่ครั้งแรกๆแล้ว และทุกครั้งเราก็อ้าวเรื่องความเจ็บป่วย จริงๆมันมีหลักฐานยืนยันในคำสั่งศาลอุธร คือศาลอุธรทราบว่าอากงป่วย ที่มีคำสั่งว่าอาการป่วยแบบนี้มันไม่ถึงตาย ในเรือนจำมันก็มีสานพยาบาลที่รักษาได้ อันนี้เขาก็ยอมรับในคำสั่งของศาลเองว่า รู้ว่าป่วยแต่ว่ายังไม่ตายหรอก แล้วก็ในเรือนจำก็มีแพทย์ที่จะรักษา ในความเป็นจริงมันไม่มีครับในเรือนจำนี่
   "อาจารย์สุรชัย (แซ่ด่าน) เล่าให้ผมฟัง ในเรือนจำจริงๆมันจะมีหมอเวรที่จะเข้ามาอาทิตย์หนึ่งมา 2 ครั้ง 2 วันคือวันอังคารกับวันพฤหัสบดี แล้ววันหนึ่งมาใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมงกับนักโทษ 4 พันคน แล้วถ้ารวมกับเสาร์อาทิตย์ ก็ไม่ต้องพูดถึง ห้องก็เป็นห้องขัง ไปนอนก็ปิดประตูล็อค แล้วไปขี้ไปเยี่ยวคนป่วยหนักก็ช่วยกันเอง จริงๆแล้วในสัปดาห์ที่อากงเสียชีวิตมีคนตาย 3 คนในห้องเดียวกัน คือถ้าไม่ใช่อากง ไม่ใช่เคสที่มีคนสนใจเยอะเราก็ไม่สนใจว่าเขาตายอย่างไร จริงๆแล้วนักโทษที่อยู่ในราชทัณฑ์ตายกันเยอะมากในเรือนจำเพราะว่ามันไม่มีหมอที่เข้าไปให้การดูแลรักษา เจ็บแค่ไหนเขาก็แจกแค่พารา อย่างของอากงเจ็บมา 2 สัปดาห์ก่อนหน้าที่แกจะขอเข้าโรงพยาบาล เจ็บท้องมาเรื่อยๆแล้วก็มีคิวที่จะได้เข้าไปรักษานานมาก จนกระทั้งให้ อาจารย์หวาน(อ.สุดา รังกุพันธ์)คุยกับท่านอธิบดี เพื่อที่จะลัดคิวเข้าไปให้ได้รับการรักษาเร็วขึ้น แต่ว่าการทำให้มันเร็วขึ้นก็เร็วไม่พอที่จะช่วยชีวิตอากงได้ครับ"
ผมได้มีโอกาสได้เจอแก (อากง) ครั้งสุดท้ายก็ได้มีโอกาสคุยกันหลายๆเรื่อง แล้วก็ มันเหมือนหวยออกแล้วเรามีตีย้อนหลัง คือก็รู้สึกว่าอากงแกกระดี้กระด้าว่าจะได้ออกเร็วๆนี้ แล้วแกก็ฝากเรื่องที่แกปวดท้อง เขาไม่ยอมส่งโรงพยาบาลสักที จนกระทั้งอาจารย์หวานติดต่อไปที่ท่านอธิบดี อธิบดีก็เรียกน้องทนายอีกคนหนึ่งเข้าไปพบ จึงได้เข้าโรงพยาบาล
แกเข้าโรงพยาบาลไปโดยมีนักโทษในคดีหมิ่นฯเหมือนกัน 2 คนที่ช่วยพยุงไปในสถานพยาบาล แกก็ไปนอนที่โรงพยาบาลกลางของราชทัณฑ์อีก 3 คืนคือคืนวันจันทร์ ความโชคร้ายของกระบวนการยุติธรรมไทยคือแกไปนอนเฉยๆในโรงพยาบาลถึง 3 คืน เพราะวันจันทร์เป็นวันหยุดชดเชยวันฉัตรมงคล เช้าวันอังคารแกก็เสียชีวิตในตอน 9 โมงเช้าหลังจากที่ป้าอุ๊ (ภรรยาอากง) ขอเข้าไปเยี่ยมทราบจากหมอว่าแกเสียชีวิตแล้ว
สิ่งที่สะเทือนใจและเป็นที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการพยาบาลก็คือหมอพงษ์ศักดิ์ ที่เข้าไปร่วมชัณสูตรได้ตั้งข้อสังเกตุว่าอากงนอกจากเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งแล้วก็ที่มันรามไปตามช่องท้อง แล้วมันไม่มีร่องรอยการยื้อชีวิตแบบเคสปรกติ คือคนใกล้จะตายหมอจะปั้มหัวใจ คุณหมอพงษ์ศักดิ์ บอกว่ามี่ร่องรอยนี้ คืออากงตายไปเฉยๆ
ส่วนที่อธิบดีมาบอกว่าอากงเคยไปได้รับการรักษาฉายแสง 7 ครั้ง อันนี้ก็ไม่เป็นความจริง เท่าที่ผมทราบคือเคยไปรักษาไม่กี่ครั้ง แล้วก็ที่เป็นมะเร็งที่ตับที่ช่องท้องก็คือไม่มีใครทราบมาก่อน คือเดิมทีแกเป็นมะเร็งที่ต้นคอ แกก็ไปรักษาที่ต้นคอ แต่ว่ามะเร็งตับมีใครทราบจนกระทั้งมีการชัญสูตร ผลการชัญสูตรรออีก 2 สัปดาห์เราจะทราบว่ามีเรื่องอื่นอีกหรือปล่าว แพทย์ได้เอาของเหลวในร่างกายไปตรวจว่ามันมีพิษอยู่หรือปล่าว
อันนี้อยากเรียนให้ทราบว่าคนที่โกหกนอกจาก อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แล้ว ยังมีอธิบดีกรมอีกที่บอกว่ามีการรักษาอากงเป็นอย่างดี จริงๆแล้วไม่ใช่
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ถึงขนาดบอกว่าที่ไม่ให้ประกันอากงเพราะว่าอากงยื่นอุทธรณ์ จริงๆแล้วที่เขาถอนอุทธรณ์ก็เพราะว่าท่านไม่ให้ประกัน โดยให้เหตุผลว่าคดีกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดี คดีมีความร้ายแรงเกรงว่าจะหลบหนี นี่เป็นเหตุผลเบื้องต้นมาแบบนี้
หลังจากที่มีคำพิพากษาคดีอากง 20 ปีทีมทนายก็ได้ปรึกษากันรวมทั้งญาติๆ ว่าจะยื่นอุทธรณ์กันหรือเปล่า ทางอากงแกยืนยันว่าแกไม่ได้ทำและประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ และเราจะโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่ามันมีความพิกล แล้วก็โต้แย้งให้เห็นว่าคดีของอากงมันไม่มีความเป็นธรรมอย่างไร แล้วก็เอาเหตุผลที่เราโต้แย้งนี้ไปยื่นประกันอากงครั้งสุดท้าย คือยื่นไปพร้อมกับการยื่นอุธร อันนี้คือเหตุผลในการยื่นอุทธรณ์
คำพิพากษามีความพิกลอย่างไร ก็คือ ศาลชั้นต้นมีความเชื่อว่าอากงเป็นผู้กระทำความผิดมาตั้งแต่แรกๆของการพิจารณาด้วยซ้ำ เราอ่านเฉพาะคำพิพากษาเราอาจจะคล้อยตามคำพิพากษา ผมยกตัวอย่างศาลให้เหตุผลว่าอากงเป็นคนที่ชอบส่งข้อความ SMS อยู่เป็นเนืองๆ แต่ว่าเอกสารที่บริษัททรูมูฟฯอ้างมามันคือการรับข้อความเข้ามา แต่ศาลไปแปลว่ารับเป็นการออก คือมีพยานแวดล้อมอยู่แค่นี้ ว่าส่งอยู่เป็นประจำ นอกจากเบอร์คนร้าย เบอร์คนร้ายคือเบอร์ของ DTEC เบอร์ทรูมูฟฯของอากงก็ยังส่งอยู่เป็นประจำ ทั้งๆที่ความเป็นจริงเบอร์ทรูมูฟฯมันคือการรับข่าวเข้า
จริงๆแล้วคดีอากงศาลเชื่อหลักฐานเพียงแค่ชิ้นเดียวที่พิพากษาว่าอากงผิดคือเอกสารรายงานการใช้โทรศัพท์ของ Dtec ซึ่งเอกสารนั้นมันผิด พยานคนที่มาเบิกความว่ายืนยันว่าอากงว่าเอกสารนั้นเป็นความจริง ในชั้นสอบสวนไม่ได้เอกสารตัวนั้นเลย เอกสารตัวนั้นโผล่หลังจากที่มีการยื่นฟ้องแล้วมีการสืบพยาน ในชั้นสืบพยาน ในทางวิธีพิจารณาความพยานหลักฐานซึ่งพยานไม่ได้เบิกความในชั้นสอบสวนนี่มันคือมั่ว
หลังจากที่มีการสืบพยานเสร็จทางทนายก็มาคุยกันว่าคดีนี่จะเป็นอย่างไร เรามีความค่อนข้างเชื่อด้วยซ้ำว่าคดีนี้จะยก ผมอยากให้ป้าอุ๊เตรียมเสื้อมาให้อากงในวันที่ฟังพิพากษาจะได้ออกเลย แต่ปรากฏว่าศาลก็พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไป 20 ปี
ในฐานะที่เป็นทนายความประสพการณ์ในการทำคดีอาญาทั้ง 3 ท่านที่ร่วมทำแล้วก็มีทนายอาวุโส คือ ลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่าในทางอาชญาวิทยานี่ คนแก่อายุ 61 ปี โดนตำรวจหลายสิบนายอาวุธครบมือไปบุกจับถึงบ้านมีช่างภาพแสงวูบวาบถ้าทำจริงเขารับไปแล้ว แต่อากงไม่รับในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนก็ไม่ได้รับ จนกระทั้งในชั้นศาลก็ไม่ได้รับ จนถึงวันสุดท้ายที่ผมไปคุยกับอากงว่าอากงจะถอนอุทธรณ์อากงจะรับสารภาพหรือปล่าว อากงก็บอกว่าไม่รับ จะขอถอนอุธรให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คือถอนโดนที่ไม่รับว่าตัวเองเป็นคนกระทำความผิด ก็คือจะขออภัยโทษ
ทำไมเราถึงตัดสินใจถอนอุทธรณ์ ในเดือน ก.พ. นี้ คือมันมีสัญญาณพิเศษมาจากทางผู้ใหญ่หลายท่านว่าจะมีการอภัยโทษให้กับนักโทษคดีหมิ่นพร้อมกันในโอกาสที่สมเด็จฟ้าชายอายุครบ 60 ปีในเดือนกรกฎาคม ถ้าอากงไม่เสียชีวิตอีก 2 เดือนอากงก็จะได้รับอิสรภาพ ผมเสียดายอีก 2 เดือนอากงจะได้ออกจากเรือนจำแกก็รอไม่ไหว อาจเป็นเพราะสวรรค์ไม่ต้องการให้อากงไปขออภัยโทษทั้งๆที่ตนเองไม่ผิดจึงออกมาในช่องนี้ก็ได้
เลขานุการคุณอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้เอาเครื่องไปแจ้งความ แค่ใช้วิธีการ่ายรูปเอาเครื่องโทรศัพท์ของตัวเองแล้วเอากระดาษที่ถ่ายรูปไปแจ้งความ และเบอร์อื่นที่มีการส่งเป็นสิบๆเบอร์ก็ไม่มีใครไปแจ้งความสักเบอร์ ก็มีเพียงเลขาคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ทีไปแจ้งความหลังจากที่มีการสลายการชุมนุมแล้ว
ในครั้งสุดท้ายที่มีการยื่น อุทธรณ์ เราก็ประสานอาจารย์ 7 ท่านมาช่วยค้ำประกัน แล้วก็มีเงินจากกรมคุ้มครองสิทธิ์อีก 1 ล้านบาท ศาลก็ให้เหตุผลที่เราอ่านแล้วแน่นหน้าอกว่าคดีมีอัตราโทษร้ายแรงแล้วก็ที่จำเลยอ้างว่าป่วยนี่ยังไม่ถึงแก่ชีวิต และสถานพยาบาลในเรือนจำก็มีเพียงพออยู่แล้ว จนกระทั้งอากงเสียชีวิตแล้วผมได้อ่านข้อความนี้ย้อนหลัง มันเป็นความโหดร้ายของกระบวนการยุติธรรม
เคสของอากงมันมีความพยายามบิดเบือนเพื่อที่จะอำพรางความผิดของกระบวนการยุติธรรมและก็อำพรางความผิดของความโหดร้ายของมาตรา 112 โดยฝ่ายนิยมเจ้ามากๆ เข้าพยายามบิดเบือนปัญหาจริงๆของมัน ความโหดร้ายของ ม.112 และกระบวนการยุติธรรม อันนี้เราได้รับพินัยกรรมจากอากงฉบับหนึ่งเลยที่เราจะต้องสู้ต่อไป ทางครอบครัวของอากงอาจจะมีข้อจำกัดระดับหนึ่งในการต่อสู้เป็นเรื่องความปลอดภัยด้วย แต่ว่าเรานี้อากงได้มอบพินัยกรรมไว้ให้เราในการเคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องนี้ต่อไป ผมไม่อยากให้มีศพที่ 2 ที่ 3 ตามมา ให้อากงเป็นศพสุดท้ายของมาตรา 112

ก้านธูป นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกหมายเรียกในกระบวนการยุติธรรม และเป็นจำเลยของสังคมในคดี "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ซึ่งถูก "ล่าแม่มด" ตั้งแต่เธอยังไม่บรรลุนิติภาวะกล่าวว่า
เรื่องน่าเศร้าสลดใจนี้เกิดจากศาลและกระบวนการยุติธรรมที่มันไม่มีความเป็นธรรม อากงต้องถูกกล่าวหาทั้งๆที่ไม่มีความผิด ศาลและกระบวนการยุติธรรมไม่เพียงละเมิดสิทธิเสรีภาพในการประกันตัว ไม่ใช่แค่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการพูด การแสดงออก แต่ว่าละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเราทุกคน
ที่สุดแล้วหนูคิดว่าอากงจากไปเร็วเกินกว่าจะได้รับความยุติธรรม อากงอาจตายไปแล้วแต่ชื่ออากงจะจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของพวกเราทุกคน ที่พวกเราจะทวงคืนความยุติธรรมกลับมาสู่สังคมนี้ จะทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราที่ศาลหลงลืมไป และอยากให้ทุกคนร่วมสู้ต่อไปด้วยกัน
อาคม ศิริพจนารถ ทนายนักสิทธิมนุษยชน เริ่มต้นโดยกล่าวถึง รัฐธรรมนูญ 2550 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ เราจะเอากฎหมายเผด็จการมาสวนกลับกลุ่มอำนาจอำมหิตซึ่งเขารักการใช้อำนาจเผด็จการ เพราะเขาไม่เคยโต้แย้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กลับส่งเสริมไม่ให้แก้ไขด้วยซ้ำ เริ่มที่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมายใด กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ในมาตรา 93 ส่วนที่ 4 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีความผิด ฉะนั้นอากงในชั้นพิจารณาในชั้นศาลถือว่ามีความผิดไหมครับ และสมควรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไหมครับ และถ้าไม่ได้ถือว่าอำมหิตหรือเปล่า แม้กระทั่งตัวกฎหมายขัดหรือแย้งไม่ได้ แล้วด้วยความเคารพต่อความเห็นของศาล แต่ความเห็นของศาลจะขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ไหม ไม่ได้นะ เพราะบัญญัติตัวบทกฎหมายสำคัญกว่า ยังไม่ได้แต่ทำไมคำสั่งของศาลใช้บังคับขัดรัฐธรรมนูญมาตรานี้ได้ มาตรา 6
ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ว่าให้ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจำเลยเป็นคนกระทำความผิดและเป็นผู้ทำความผิดจึงพิพากษาลงโทษ แต่ในคดีนี้ข้อเท็จจริงพวกเรารู้เห็นกันทั้งโลกแล้วว่าไม่มีใครเห็นอากงเป็นผู้ส่ง SMS ใช่ไหม จะถือว่าเห็นคนกระทำความผิดได้ไหม ไม่ได้ แล้วอากงผิดเพราะอะไร
อาคมย้อนไปพูดถึงกรณีเขายายเที่ยงโดยอ้างถึงคนอยู่เชิงเขามีหลักฐานการซื้อขายโดยสุจริตที่เป็นชาวบ้าน มีความผิดติดคุก 6 ปี แต่คนระดับนายกรัฐมนตรีตัดถนนขึ้นไปถึง 10 กิโลเมตร และไปสร้างบ้านบนยอดเขา และเป็นประธานอนุรักษ์ป่าเขาใหญ่ อัยการท่านลงความเห็นว่าขาดเจตนา ถ้าเมืองไทยมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่รู้หรือขาดเจตนาในการกระทำความผิด สมควรไหมครับที่ควรมีนายกรัฐมนตรีชื่อสุรยุทธ์ จุลานนท์ เขาสอยดาวก็เช่นกัน จึงขอเรียกร้องให้พี่น้องทุกคนรวมตัวกันแล้วทำเรื่องถึงอัยการสูงสุดเพื่อรื้อฟื้นคดีใหม่เพื่อหาคนมาเข้าคุกให้ได้
คดีของสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อเทียบกับคดีอากง กลับได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างมี่เงื่อนไข ทั้งๆที่สนธิ ลิ้มทองกุล น่าจะหลบหนีมากกว่า เพราะเดินทางไปได้ทั่วประเทศทั่วโลก และอากง ยากจนขนาดนี้ ความรู้ก็ไม่มี แล้วเลี้ยงหลานอีกตั้ง 3-4 คน เป็นคนยากจนไม่มีญาติพี่น้องที่ไหนแล้วทำไมกลัวหลบหนีล่ะ ข้อนี้พี่น้องเสื้อแดงเราเจ็บปวดหัวใจมากๆนะ นี่คือความต่างระดับของกระบวนการยุติธรรมที่พี่น้องกำลังได้รับอยู่

รศ.สุดสงวน สุธีสร อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า ทั้งหมดเป็นความผิดของราชทัณฑ์หรือปล่าว ตอบว่า ใช่ แต่เป็นปลายเหตุ ต้นเหตุอยู่ที่ไหน อยู่ที่ศาลทำไมไม่ให้ประกันตัว เราไม่เถียงว่าการเป็นมะเร็งนั้นต้องตาย แต่ว่าการเป็นมะเร็งสามารถยื้อชีวิตได้ถ้ามีการดูแลอย่างดี ถ้าได้รับสิทธิการประกันตัว มาอยู่กับครอบครัว อากงก็จะไม่เคลียด คนเป็นมะเร็งเขาเครียดไม่ได้ อากงเป็นกรณีอุทธาหรณ์เป็นตัวอย่างให้เราเห็นแล้วว่าการอยู่ในเรือนจำถ้ามีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นสามารถจะมีอันเป็นไปได้
เราน่าจะเสนอศาลดีไหมเรื่อง house arrest (การถูกกักบริเวณภายในบ้าน) ที่อองซาน ซูจี เขาโดน เขาจำคุกภายในบ้าน เป็นไปได้ไหม แล้วก็ให้ใช้คนในชุมชนช่วยดูแลหรือให้ตำรวจช่วยดูแลไม่ให้ออกจากบ้านมา หรือจะใช้ EM หรือ Electronic Monitoring มาติดข้อมือหรือข้อเท้า ซึ่งอันนี้เราอาจจะต้องไปร้องขอบรรดาสถานทูตต่างๆ ขอบริจาคเงิน เพราะว่าราชทัณฑ์เราเคยมีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่ว่างบประมาณไม่มี สิทธิการเป็นคนเมื่ออยู่ในเรือนจำเหมือนว่าเราไม่มีสิทธิการเป็นคน เราเหมือนเป็นสิ่งของสิ่งหนึ่งเหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตสิ่งหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ว่าไม่ได้รับการปฏิบัติเยี่ยงคน เพราะในการดูแลงบประมาณมันไม่มี จริงๆไม่อยากจะว่าราชทัณฑ์มาก แต่ว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ ราชทัณฑ์เป็นแค่ปลายเหตุ
เราไม่อยากพูดเฉพาะว่าเพื่อนนักโทษของเรา เพราะมองภาพของนักโทษทั้งหมดด้วย สิทธิในการประกันตัวต้องมี เราไม่อยากให้เรือนจำกักขังเฉพาะคนไม่มีสตางค์เท่านั้น นักโทษที่มีเส้นไม่ต้องอยู่ใช่ไหมในเรือนจำนี่
นักกฎหมายต้องอ่านตามตัวอักษร ตีความตามลายลักษณ์อักษรทุกอย่าง แต่ขณะนี้ลายลักษณ์อักษรอย่างเดียวมันไม่พอ เพราะเนื้อหาการกระทำผิดมันมากมาย ทำไมคนเราถึงกระทำความผิด และอย่างคดีเรื่องของการเมือง ท่านผู้พิพากษาท่านไม่มีความเข้าใจเพราะว่ากฎหมายไทยไม่มีอาชญากรรมการเมือง เพราะฉะนั้นท่านได้ใช้กฎหมายธรรมดามาปรับใช้กับกฎหมายที่มีปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ ท่านก็เลยมองว่าเราเป็นโจรจริงๆ คนไม่ดีจริงๆ
กรณีนักโทษที่สิ้นสุดหรือคดีที่เด็ดขาดแล้ว สุดสงวน สุธีสร เสนอว่า เราต้องคิดทางใหม่ เช่น นอกจากhouse arrest แล้วจะไปอยู่บ้านกึ่งวิถีได้ไหม ให้คนเหล่านั้นไปอยู่บ้านนี้ อาจจะออกมาใช้ชีวิตข้างนอกแล้วกลับไปนอนบ้านนี้ บ้านกึ่งวิถีจะมีอยู่หลังหนึ่งในเรือนจำไทยมี 1 หลัง ชื่อว่า “บ้านสวัสดี” กลางวันให้เขาออกไปหาภรรยาเขา อยู่ที่บ้านเขาตอนเย็นกลับมา หรือจะให้เขาอยู่วันเสาร์อาทิตย์ มันน่าจะเป็นเงื่อนไขซึ่งศาลน่าจะสามารใช้ดุลยพินิจพิจารณา วิธีการต่างๆมันอยู่ที่ศาล เราควรเสนอทางเลือกให้ศาลพิจารณา เพราะคนที่อยู่ในเรือนจำจะถูกตราบาปทันทีว่าเป็นไอ้ขี้คุก เราไม่อยากให้ใครถูกตราบาป เพราะรับโทษเสร็จแล้วเขาต้องไปอยู่ในสังคม ถ้าเขารู้สึกว่าเขาเป็นคนขี้คุกปั๊บเขาจะรู้สึกตกต่ำในตัวเขาเอง เขาจะไม่มีความรักในตัวเขาเอง ดังนั้นเขาจะกล้ากระทำผิดซ้ำไง

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เสนอว่าผู้พิพากษาควรจะไปอบรมเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ก่อนอันดับแรก ไม่ใช่มาบอกว่ามีจริยธรรมคุณธรรม หรือเป็นคนดีแล้ว
อยากให้วิเคราะห์ว่า SMS ของอากงส่งถึงเลขาคุณอภิสิทธิ์ เป็นท่านผู้พิพากษาต้องวิเคราะห์ดูว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แพร่หลาย คนทั้งสังคมรับรู้กันหรือปล่าวเบื้องต้น แต่เป็นที่รับรู้ในสังคมว่า SMS นั้นไม่มีใครรู้เลย มีเพียงเลขาคุณอภิสิทธิ์รู้เพียงผู้เดียว และ ต้องวิเคราะห์ต่อว่า SMS อันนั้นสังคมรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็น SMS นั้นแล้ว เห็นแล้วรู้สึกเชื่อ รู้สึกไม่ดีต่อสถาบันหรือไม่ แต่กลายเป็นว่าไม่มีใครรู้เลยว่า SMS นั้นส่งไปอะไร ทุกวันนี้คนในสังคมก็รู้สึกจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เหมือนเดิม เพราะว่าคนไม่รู้ว่า SMS เขียนไปว่าอะไร หรือไม่
สิทธิการประกันตัวของคนที่ถูกกล่าวหาทั้งหมด เพราะได้เจอกับตัวเอง ตนเป็นคนงานเขาเรียกหลักประกันถึง 2 แสนบาท ถามว่าคนงานอย่างพวกเราทำงานอยู่ 2 ปียังไม่ถึง 2 แสนบาทเลย เมื่อเรียกหลักทรัพย์ถึง 2 แสนบาทมันทำให้เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นการเข้าถึงการประกันตัวนี่ มันจะต้องมีหลักที่ง่ายกว่านี้ อย่างเช่น มีสถานที่อยู่อาศัยที่มั่นคง เป็นที่รับรู้กัน ว่าจะอยู่ตรงนี้ไม่หลบหนีไปไหน ศาลก็ใช้ดุลยพินิจให้กลับไปอยู่บ้านได้ หรือใช้ตัวเองประกันตัวเอง หรือใช้คนในครอบครัวประกัน ใช้ความเป็นคนที่มีบัตรประชาชนประกันกันเองก็ได้ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ แต่กลายเป็นว่าต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัว
กรณีที่ไม่ใช่ญาติจะยุ่งยากมากขึ้น เพราะบ้านจนอยู่แล้วถามว่าจะเอาเงินที่ไหนไปประกันตัว ก็ต้องพึงพาบริษัทที่ขายประกัน กลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินมากๆ บริษัทขายประกันนี่ เพราะเราต้องไปซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทประกัน ในขณะที่เราไม่สามารถไปยืมหลักทรัพย์ของคนที่ไม่ใช่ญาติมาประกันได้ แต่เราสามารถซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทประกัน ประกันได้ เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในเรือนจำหลายคนประกันตัวแค่หมื่นเดียว ประกันตัวแค่ 2 หมื่น แต่เขาไม่สามารที่จะหาเงินมาประกันตัวได้ เขาก็ต้องติดคุกไป บางคนติดคุกเพราะแทนค่าปรับ กลายเป็นว่าคนที่อยู่ในเรือนจำมันมีแต่คนจน คนรวยก็ใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัว
อยากให้คนที่อยู่ในเรือนจำคดีถึงที่สุดจริงๆ มี 3 ศาล ที่สุดแล้วถ้าเราสู้ถึงฎีกาก็ควรจะต้องไปติดคุกในชั้นฎีกา ไม่ใช่มีติดคุกในศาลชั้นต้น หรือติดคุกในระหว่างที่ไม่มีเงินประกันตัวในชั้นตำรวจหรือฝากขังอย่างงี้ ถ้าเราได้สิทธิแบบนี้ คนที่แออัดในเรือนจำก็น้อยลง เมื่อคนที่อยู่ในเรือนจำน้อยลงมันก็นำไปสู่เรื่องของการรักษาพยาบาลหรือการดูแลนักโทษในเรือนจำที่มีประสิทธิภาพก็จะมีสูงขึ้น
จิตราได้เชิญชวนวันอังคารที่ 15 พ.ค. นี้ เวลา 10.00 น. จะนัดเจอกันที่ทำเนียบรัฐบาล ประตู 4 ตรงข้าม ก.พ.เราจะยื่นหนังสือต่อนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หัวข้อที่เราจะยื่นหนังสือคือ ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมถึงนักโทษ ม.112 ข้อ 2 เราจะเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีต้องทบทวนการแก้ไขมาตรา 112 ข้อ 3 สิทธิการประกันตัวและการดูแลรักษาพยาบาลนักโทษในเรือนจำทั่วประเทศ รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล ต่อไปนี้ไม่ใช่แค่เข้าไปค้นมือถือและยาเสพติดในเรือนจำทั่วประเทศเท่านั้น คุณต้องเข้าไปดูเรื่องสิทธิการประกันตัวและการดูแลรักษาพยาบาลนักโทษในเรือนจำทั่วประเทศให้เขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
และกิจกรรมวันที่ 19 พ.ค. เราจะมีการรวมตัวกันตรงลานพระบรมรูป ร.6 เวลา 16.00 น. เพื่อจะเดินขบวนมาที่ราชประสงค์ ให้เตรียมตัวเตรียมป้าย แต่งผีแต่งตัวเป็นนักโทษมาเอง เราจะเดินขบวนโดยใช้หัวข้อยกเลิกมาตรา 112 เพื่อทำให้คนทั่วไปและมวลชนเสื้อแดงได้เห็นว่า มาตรา 112 เราจำเป็นต้องยกเลิก และเวลา 1 ทุ่ม จะมีการจุดเทียนรำลึกถึงคนตายหน้าวัดปทุม ขอเชิญชวนทุกคนที่เห็นด้วยมาร่วมกิจกรรมนี้